รายงาน : ถึงคิวนักศึกษาออกโรง จี้กองทัพหยุดเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิมุสลิมชายแดนใต้

 

 

สันติอาสาสักขีพยาน

         

การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มนักศึกษาตั้งแต่สมัย 14 ตุลา 2516 วันมหาวิปโยค เป็นเหตุการณ์ที่นักศึกษาและประชาชนในประเทศไทยมากกว่า 5 แสนคนรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลเผด็จการ จอมพลถนอม กิตติขจร จนเกิดการปฏิรูปการเมืองในที่สุด

 

แต่พวกเขาเหล่านั้นก็ต้องถูกเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการอย่างทารุณ มีทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก และบางคนก็ต้องหนีไปอยู่ในป่า จับปืนต่อสู้กับระบอบการปกครองของรัฐในขณะนั้น เช่นเดียวกันกับปัญหาภาคใต้ในปัจจุบันที่มีนักศึกษาจากส่วนกลางและในพื้นที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ก็ต้องถูกจับตามองจากเจ้าหน้าที่รัฐ และล่าสุดมีนักศึกษาที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนต้องถูกเชิญตัวไปสอบสวนพร้อมกับต้องถูกซ้อมทรมาน

         

ที่ผ่านมา นักศึกษาร่วมภาคีจากพื้นที่และส่วนกลาง ได้จัดโครงการลักษณะการเรียนรู้วัฒนธรรมของภาคใต้พร้อมทั้งการเยี่ยมเยียนพื้นที่และบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบเพื่อให้นักศึกษาได้เข้าใจถึงแก่นแท้ของปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีรูปแบบการแถลงการณ์เรียกร้องความไม่ธรรมประเด็นต่าง ๆ ต่อมามีการชุมนุมที่มัสยิดกลางของนักศึกษาที่ร่วมกับประชานในพื้นที่ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม - 4 มิถุนายน 2550 หลังจากนั้นนักศึกษากลุ่มอื่นเริ่มตื่นตัว มี่การจัดอบรมให้ความรู้เรื่องกฎหมายให้แก่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับอยุติธรรมด้วยสันติวิธี แต่การเคลื่อนไหวของนักศึกษาก็ต้องเป็นที่สงสัยและหวาดระแวงของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้เปลี่ยนยุทธการการป้องกันความมั่นคงของประเทศ

 

นักศึกษาจำนวนหนึ่งที่เป็นนักกิจกรรมทางด้านสังคมต้องตกเป็นเป้าของทางการ และบางส่วนต้องออกจากมหาวิทยาลัย มีบัณฑิตและนักศึกษาจาก มอ.ปัตตานี ถูกจับตัวในข้อกล่าวหาเป็นแกนนำก่อความไม่สงบ และขณะนี้พวกเขาเหล่านั้นอยู่ในระหว่างการประกันตัว และอยู่ระหว่างการดำเนินคดี

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2551 ที่ผ่านมา นักศึกษาซึ่งเป็นนักกิจกรรมจากมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา และพลศึกษาวิทยาเขตยะลาจำนวน 7 คน ถูกเชิญตัวไปสอบสวน พวกเขาเหล่านี้ทำงานเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและเสรีภาพให้แก่ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในนามของ คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ โดยจะมีหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง จนกระทั่งวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2551 นักศึกษาที่ถูกเชิญตัวไปสอบสวนดังกล่าว จำนวน 5 คนได้รับการปล่อยตัว แต่ระหว่างที่ควบคุมตัวนั้นส่วนหนึ่งถูกซ้อมทรมานเพื่อให้รับสารภาพด้วย

         

เหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 นาย อาเฎ็ฟ โต๊ะโก เลขาธิการเครือข่ายนักศึกษาไทยมุสลิม และ รองประธานชมรมมุสลิม มหาวิทยาลัยรามคำแหง อีกทั้งเป็นแกนนำอีกคนหนึ่งในการชุมนุมประท้วงที่มัสยิดกลาง จังหวัดปัตตานี เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2550 ได้ถูกเชิญตัวไปสอบสวนที่ค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส แต่ก็ได้รับการปล่อยตัวในที่สุด ซึ่งก่อนหน้านั้น เจ้าหน้าที่รัฐมักจะไปหาเขาที่บ้านอยู่บ่อยครั้ง ในขณะเดียวกันแกนนำการชุมนุมที่มัสยิดกลางคนอื่นก็ต้องอยู่อย่างระมัดระวังตัว และเคยถูกค้นบ้านด้วยหลายครั้ง

         

การชุมนุมที่มัสยิดกลางอย่างสันติของนักศึกษาและประชาชน ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม - 4 มิถุนายน 2550 มีนักศึกษาจากส่วนกลาง โดยมีนายตูแวดานียา ตูแวแมแง เป็นแกนนำ กล่าวว่า

         

"เหตุที่พวกเขาต้องเคลื่อนไหว เนื่องจากมีเพื่อนจากกรุงเทพฯ บอกว่า ทำไมนักศึกษาจากภาคใต้ ไม่มีการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ปัญหาภาคใต้เลย ทั้งที่มีการยิงทุกวัน ในขณะนั้นได้ลงพื้นที่และเห็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านมากขึ้น จึงต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนที่นี่"

         

ประเด็นร้อนที่นักศึกษาเรียกร้อง คือ กรณีของนางสาวฮายาตีที่ถูกข่มขืน และได้มีการแถลงการณ์และขอความเป็นธรรมจากกระทำครั้งนี้

         

และล่าสุดวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2551 ตัวแทนองค์กรนักศึกษา 9 เครือข่ายประมาณ 80 คน ได้รวมตัวกันละหมาดฮายัต บริเวณหน้าค่ายอิงคยุทธบริหารจังหวัดปัตตานี เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐให้ยุติการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัย และให้ปล่อยตัวทันทีเมื่อรู้ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ พร้อมทั้งได้มีแถลงการณ์และยื่นหนังสือแถลงการณ์และจดหมายเปิดผนึก โดยมี พ.อ.คุณวุฒิ หมอแก้ว ผู้บัญชาการทหารบกจังหวัดปัตตานีรับจะส่งเรื่องต่อ

         

ในแถลงการณ์ได้เรียกร้องความเป็นธรรมจากกรณีต่างๆ อย่างกรณีทหารพรานมะรอเซะ ตาเยะ ไล่ยิงนายมะรอมิง อาลีมามะ ชาวบ้านในพื้นที่บ้านตันหยง ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา และกรณีนายอมีนูดีน กะจิ ครูสอนศาสนาอิสลามโรงเรียนรุ่งโรจน์วิทยา ต. บ้านนา อ.จะนะ จ.สงขลา ถูกทำร้ายร่างกายระหว่างถูกควบคุมตัวสอบสวนที่ บก. ตชด. 43 อ.นาทวี จ.สงขลา   

         

สำหรับแถลงการณ์ของนักศึกษาครั้งนี้ คือ

         

1. รัฐต้องให้ความสำคัญและยอมรับความหลากหลายในอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ศาสนา วิถีชีวิตและวัฒนธรรม

         

2. องค์กรนักศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และนักศึกษาทั่วประเทศขอประณามการซ้อมทรมานประชาชนผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคงในพื้นที่และประชาชนทั่วประเทศ

         

3. ขอเรียกร้องให้ภาครัฐรับผิดชอบกรณีเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจโดยมิชอบในการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีการซ้อมทรมานนักศึกษาทั้ง 7 คนและนายอมีนูดีน กะจิ ระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่

         

4. ขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐมีการบังคับใช้กฎหมาย และดำเนินการทางกระบวนยุติธรรมที่เคารพหลักนิติธรรม และคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนอย่างเท่าเทียม

         

5. ขอเรียกร้องให้ทางการเร่งดำเนินการสอบสวนประชาชนผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง หากมีการสอบสวนพบว่า ประชาชนผู้บริสุทธิ์ให้ดำเนินการปล่อยตัวโดยเร็ว

         

ทั้งนี้ หากพบว่ามีการซ้อมทรมานและละเมิดสิทธิมนุษยชน ตลอดจนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนในพื้นที่และประชาชนภายในประเทศอีก นักศึกษาในพื้นที่และนอกพื้นที่นักศึกษาทั่วประเทศจะดำเนินการเคลื่อนไหวทันที

         

พ.อ.คุณวุฒิ หมอแก้ว ผู้บัญชาการ ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียน กล่าวว่า นักศึกษากลุ่มนี้เป็นนักกิจกรรม มีความทุกข์ และสนใจเรื่องการเมือง และเป็นพลังบริสุทธิ์ เพราะได้ถามพวกเขาว่า มากันยังไง เขาบอกว่า ช่วยกันออกค่ารถมากันเอง การแสดงความคิดเห็นอย่างนี้เป็นเรื่องที่ดี เพราะให้คุยกัน การคุยกันสองทาง จะช่วยให้เรื่องที่ซับซ้อนคลี่คลายได้

         

นอกจากนั้น พ.อ. คุณวุฒิ ยังกล่าวได้อีกว่า เรื่องที่นักศึกษาร้องเรียนมานั้นไม่รู้ว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร คงต้องตรวจสอบอีกครั้ง เพราะยอมรับว่าไม่รู้เรื่องมาก่อน เพราะคงต้องถามคนที่เกี่ยวข้อง และจะให้ดีต้องไปคุยกับนักศึกษาทีถูกจับเหล่านั้นโดยตรง          

         

สำหรับข้อมูลจากการรายงานของศูนย์ข่าวอิศรา นายกูยิ อีแต และพวกนักศึกษาที่มีชะตากรรมเดียวกัน เล่าให้ฟังโดยสรุปว่า "วันที่ 27 มกราคม 2551 เวลา 07.30 น.ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจำนวน 20 คนเข้ามาตรวจค้นในห้องพักที่ร่วมกันเช่าอยู่อาศัย ยึดทรัพย์สินต่างๆ ในห้องพัก เช่น คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค โทรศัพท์มือถือ 7 เครื่อง, กล้องถ่ายรูป, เตาแก๊สปิกนิก,อัลบั้มภาพถ่าย สิ่งสำคัญที่เจ้าหน้าที่ใช้เป็นหลักฐานสำคัญใช้ในการกล่าวหา คือ อุปกรณ์บันทึกข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือ แฮนดีไดร๊ฟ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตรวจดูแล้วพบภาพถ่ายและภาพศพคนเสียชีวิต"

           

"นายอิสมาแอ เต๊ะ เป็นคนแรกที่ถูกทำร้ายร่างกายเพราะเป็นเจ้าของคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค และบอกไม่ได้ว่าภาพในแฮนดีไดร๊ฟ นั้นได้มาอย่างไร เพราะยืมกันใช้จนไม่รู้ใครบันทึกอะไรไว้บ้าง"

         

"ผมเองก็ถูกทำร้ายเนื่องจากตอบคำถามไม่เป็นที่พอใจ เมื่อเขาถามว่าตู้เสื้อผ้าเป็นของใคร? ผมตอบว่าเป็นของทุกคน คือใช้ร่วมกัน" นายกูยิเล่าให้ฟัง

         

"จากนั้นเขาก็พาพวกเราทั้งเจ็ดคนไปยังสถานที่ที่เรียกว่า ฉก.11 นายอิสมาแอ นายอับดุลเลาะห์ ถูกตบหน้า ถูกตีด้วยพานท้ายปืน จากนั้นเขาใช้ไม้ยาวสองศอกพันด้วยผ้าแล้วทุบตามร่างกายพวกเราทุกคน เพื่อต้องการให้รับว่า เป็นพวกของคนร้าย (ผู้ก่อความไม่สงบ) เป็นเวลากว่า 5 ชั่วโมงที่พวกเราถูกซักถามและถูกซ้อม" นายกูยิ เล่าต่อ

         

"เมื่อเวลาบ่ายสองโมง จึงได้พาพวกเราไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ปัตตานี พวกเราถูกควบคุมตัวและสอบสวนทุกวันพร้อมๆกับซ้อมทำร้ายร่างกายพวกเรา แม้แต่กลางคืนก็ถูกสอบสวนจนบางคนไม่ได้หลับไม่ได้นอนติดต่อกันทั้งวันทั้งคืน"

         

"พวกเราถูกควบคุมตัวไว้ 9 วัน ก็ถูกนำตัวมายังหอนาฬิกาเมืองยะลา แล้วเขาก็ปล่อยตัวพวกเราที่นั่น เมื่อเวลาประมาณเที่ยงคืน ระหว่างวันจันทร์กับวันอังคาร (วันที่ 6 ก.พ.51) พวกเรารู้ทีหลังว่า มีทนายความและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ช่วยเราด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลที่จังหวัดปัตตานี"

         

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการทำร้ายร่างกายและข่มขู่เพื่อให้รับสารภาพ นับว่าเป็นการกระทำที่ผิดและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างยิ่ง และเจ้าหน้าที่เองก็ไม่มีความชอบธรรมแต่อย่างใดที่จะกระทำเพราะอารมณ์โกรธเคือง หรืออะไรก็ตาม เหตุการณ์ครั้งนี้ นักศึกษาจำนวนหนึ่งจึงตัดสินใจให้มีการฟ้องเรียกร้องความเป็นธรรมเพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่ประชาชนและสังคมได้เรียนรู้การต่อสู้แบบสันติวิธีและเห็นความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

         

นางสาวไลลา เจ๊ะซู นักศึกษามอ.ปัตตานี คณะศึกษาศาสตร์ กล่าวว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นเจตนารมณ์ให้สาธารณชนได้รับทราบถึงสถานการณ์ภาคใต้ว่า ขณะนี้ผู้ต้องสงสัยได้รับการซ้อมทรมานในขณะที่มีการสอบสวน ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างยิ่ง จึงอยากให้สาธารชนและประชาชนทั่วประเทศได้รับทราบ และร่วมกันตระหนักช่วยกันเป็นปากเสียงให้รัฐบาลได้รับทราบถึงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาต่อไป

 

ในเวทีการประชุม นโยบายและแนวทางปฏิบัติสันติวิธีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจัดโดย กอ.รมน. ศอ.บต. และศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ค่ายสิรินธร จังหวัดยะลา ได้พูดถึงเรื่องนี้ในที่ประชุม และเจ้าหน้าที่ฝ่ายกำลังท่านหนึ่งกล่าวว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่อาจมีความผิดพลาดบ้าง เพราะขณะนั้นเจ้าหน้าที่อาจมีอารมณ์ความโกรธบ้าง

         

นับว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัว เพราะหากเจ้าหน้าที่รัฐบอกว่าเป็นเรื่องธรรมดา และเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่อาจมีบ้าง หรือบอกว่าก็อาจมีสิ่งที่ผิดพลาดกันบ้างนั้น ดูเป็นสิ่งเล็กน้อยในสายเจ้าหน้าที่รัฐ แต่สำหรับผู้ถูกกระทำ อาจเจ็บจำไปตลอดชีวิต กลายเป็นความทรงจำที่ไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคลแต่เกี่ยวพันถึงภาพลักษณ์ของสถาบันทหารเลยทีเดียว

         

ความจริงเจ้าหน้าที่ได้รับคำสั่งให้มาปฏิบัติหน้าที่ ต้องทำตามหน้าที่ มิใช่ทำตามอารมณ์ เพราะนี่เป็นภารกิจของชาติ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เกิดเป็นมนุษย์ย่อมมีอารมณ์ได้เป็นธรรมชาติ แต่ถ้าต้องการปฏิบัติหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพต้องสามารถควบคุมตัวเองได้ เรื่องนี้เป็นปัญหาขององค์กรมิใช่ภาระรับผิดชอบเฉพาะปัจเจกบุคคล ถ้าองค์กรไม่สามารถบรรเทาความเครียดหรือฝึกในการควบคุมอารมณ์ของผู้ปฎิบัติหน้าที่ได้แล้ว นโยบายใดของฝ่ายบริหารย่อมเป็นแต่ลมปากไม่อาจบรรลุความสำเร็จ

         

การเคลื่อนไหวของนักศึกษาด้วยการละหมาดฮายัต เป็นลัญลักษณ์แห่งการกระทำที่สันติ การละหมาดเป็นวิธีการที่ช่วยให้มนุษย์มีสติ และชาวมุสลิมละหมาดวันละ 5 เวลา ก็เพื่อให้มนุษย์เรามีสติต่อเนื่องตลอดวันเวลา การละหมาดจึงเป็นสัญลักษณ์เตือนให้เจ้าหน้าที่ควรมีสติอยู่เสมอ เมื่อปฏิบัติหน้าที่

 

ถ้าหากทำได้ ทหารอาจเป็นที่รักของประชาชน และสันติสุขก็คงจะพอหวังได้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กับ 4 อำเภอของเรา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท