Skip to main content
sharethis

ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาค ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ จัดการสัมมนาเชิงปฎิบัติการโครงการส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ด้านความหลากหลายทางเพศตามหลักการยอกยาการ์ตา (The Yogyakarta Principles) (หมายเหตุ- ดาวน์โหลด หลักการยอกยาการ์ตาฉบับแปล จากเว็บไซต์กลุ่มสะพาน)


 


 


โดยนัยนา สุภาพึ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานอนุกรรมการด้านส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาค กล่าวถึงที่มาของหลักการยอกยาการ์ตา ซึ่งเป็นแนวทางปฎิบัติตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศว่า เกิดจากการประชุมของนักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน ที่เมืองยอกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปลายปี 2549 โดยเห็นตรงกันว่า มีหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นแนวทางปฎิบัติเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมานานแล้ว โดยรัฐบาลหลายประเทศก็ร่วมลงนามและให้คำมั่นว่าจะปฎิบัติตามหลักการสิทธิมนุษยชนนั้น ซึ่งนั่นก็หมายถึงการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย แต่ก็ยังพบว่าคนรักเพศเดียวกัน หรือคนข้ามเพศก็ยังถูกเลือกปฎิบัติและยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในระดับปฎิบัติในกฎหมายระดับประเทศว่า เมื่อคนถูกละเมิดจะคุ้มครองอย่างไร ดังนั้น ในเวทีนานาชาติครั้งนั้น จึงประชุมกันเพื่อพิจารณาว่าจะนำกฎหมายสิทธิมนุษยชนมาใช้อย่างไร โดยส่วนของประเทศไทย มีนักกฎหมาย คือ ศ.วิทิต มันตราภรณ์ ร่วมลงนามด้วย


 


ศาสตราจารย์วิทิต มันตราภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในหัวข้อ "หลักการยอกยาการ์ตามีความหมายอย่างไรต่อประเทศไทย" ว่า ในหลักการยอกยาการ์ตาได้สรุปกฎหมายระหว่างประเทศที่ควรปฎิบัติตามเอาไว้ โดยมีข้อดีคือ นอกเหนือจากหลักการแล้ว ยังระบุว่าควรจะต้องทำอะไรบ้างไว้ด้วย เช่น ระบุว่าต้องมีกฎหมาย มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ มีทรัพยากรให้ เอื้อในการทำกิจกรรม รวมทั้งมีการระบุถึงเรื่องของความรับผิดชอบด้วย โดยพูดถึงการเยียวยาผู้ที่ถูกละเมิด และการปกป้องสิทธิของกลุ่มที่เคารพสิทธิผู้อื่น


 


อย่างไรก็ตาม จากหลักการทั้ง 29 ข้อ ของหลักการยอกยาการ์ตา ศ.วิทิต กล่าวว่า สรุปได้เป็นหลักการสำคัญ 2 ข้อคือ 1.อย่าเลือกปฎิบัติ เพราะการกระทำทางเพศเป็นสิ่งส่วนตัว บุคคลจะเป็นอะไรก็เป็นสิทธิของเขา อยากให้เคารพในสิ่งที่เขาเป็น และ 2.อย่ารุนแรง ต่อใครไม่ว่าเขาจะเป็นอะไรก็ตาม ไม่ได้ขอให้ชอบหรือไม่ชอบ แต่อย่าปฎิบัติรุนแรงกับเขา


 


ศ.วิทิต กล่าวต่อว่า เป็นสิ่งที่เศร้ามากที่เกิดความรุนแรง เช่น มี 20 กว่าประเทศที่ลงโทษผู้ที่มีความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน ถึงขั้นจำคุกตลอดชีพหรือประหารชีวิต หรือทาลิบัน ในอัฟกานิสถาน จะปฎิบัติต่อคนที่เป็นเกย์ หรือรักเพศเดียวกัน โดยฝังทั้งเป็น เอาหินมาขว้างใส่ นี่คือความุรนแรง ซึ่งผิดในทุกมิติ เพราะไม่ว่า เราจะชอบหรือไม่ ก็ไม่มีสิทธิใช้ความรุนแรงกับใครทั้งนั้น


 


 


อลิสา พันศักดิ์ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 2550 เล่าว่า ขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญ 50 ได้พยายามผลักดันให้เพิ่มคำว่า ความเท่าเทียมกันของชาย หญิงและความหลากหลายทางเพศ แต่ตกไปตั้งแต่แรก จนเมื่อผลักดันให้เพิ่มคำว่า ห้ามการเลือกปฎิบัติ ก็ถึงกับมีการหยุดการประชุม โดยในสภาร่างฯ มีผู้ใหญ่คนหนึ่งพูดว่า "ผมยอมไม่ได้หรอกที่จะเห็นเกย์ออกทีวี" โดยมีการระบุชื่อด้วย ซึ่งแค่คำๆ นั้นของผู้ใหญ่คนหนึ่ง ทำให้หลายคนเกรงที่จะผลักดันประเด็นนี้ โดยโหวตกันหลายรอบมาก และสุดท้ายก็ตกไป  อย่างไรก็ตาม สุดท้ายได้ขอให้ใส่ไว้ในบันทึกเจตนารมณ์ ว่าคำว่าเพศในวรรค 3 นั้นให้หมายรวมถึงบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วย เนื่องจากหากมีปัญหา จะได้นำเจตนารมณ์มาตีความในชั้นศาลต่อไป (มาตรา 30 วรรค 3 การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกาย หรือสุขภาพสถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือสังคม ความเชื่อ ทางศาสนาการศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบท บัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้)


 


 


ชี้หลักการยอกยาการ์ตาปฎิบัติไม่ได้ ถ้าคนยังไม่เข้าถึงประชาธิปไตย


รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า หลักการยอกยาการ์ตา จะเป็นผลในทางปฎิบัติได้ต้องอาศัยความเข้าใจทั้งของรัฐและภาคประชาชน โดยด้านภาครัฐ จากดีเบตว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 จะพบว่า หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยสภา ประเด็นเรื่องสิทธิ จะไม่ใช่เรื่องที่นักเลือกตั้งไทยคำนึงถึง โดย ศ.เสน่ห์ จามริก อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. เคยกล่าวไว้ว่า ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย มักเข้าใจกันว่าเป็นเรื่องสิทธิทางการเมือง เพราะฉะนั้น เวลาต่อสู้เรื่องสิทธิ คนมักพูดเรื่องสิทธิทางการเมือง เช่นสิทธิในการชุมนุม สิทธิในการแสดงความคิดเห็น แต่จะไม่เคยหมายรวมถึงจินตนาการในทางเพศ เพราะเราไม่เคยเห็นมิติในทางสังคมหรือเศรษฐกิจของสิทธิ


 


รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ กล่าวเสริมว่า ไม่แต่นักการเมือง นักวิชาการไทยที่เข้าไปร่างรัฐธรรมนูญก็จะเห็นประเด็นสิทธิในมิติทางการเมืองเท่านั้น ดังนั้น การผลักดันจึงไม่ใช่เฉพาะการผลักดันตัวหลักการยอกยาการ์ตา แต่ต้องทำให้คนไทย เข้าใจว่าสิทธิมีมิติทางอื่นอยู่ด้วย โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจและสังคม


 


ในส่วนภาคประชาชน หลักการยอกยาการ์ตาได้พูดไว้ชัดเจนว่า ทุกส่วนต้องมีบทบาทในการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิ ภาคประชาชน ความหลากหลายทางเพศของสังคมในบริบทไทย หลักการยอกยาการ์ตาถูกเขียนโดยครอบคลุมสถานการณ์ที่หลากหลาย หากยกตัวอย่างในต่างประเทศ สังคมมากมายที่ใช้ความรุนแรงทางตรงกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่น เป็นคนข้ามเพศถูกไล่กระทืบได้


 


อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ กล่าวต่อว่า แต่ในสังคมการเมืองไทย การกีดกัน หรือความรังเกียจสภาพที่เรียกว่า ความหลากหลายทางเพศมันซับซ้อนและแยบยลมาก โดยจะเห็นว่า คนไทยไม่ได้ลุกขึ้นไล่ทุบตี LGBT (เลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กช่วล ทรานสเจนเดอร์) แต่ออกมาในเชิงหยอกปนตลก คนที่เป็น LGBT จะหัวเราะก็โกรธ แต่จะโกรธเพราะถูกทำร้ายก็ไม่ใช่ ทำให้การจะสื่อว่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศถูกกีดกัน สื่อไม่ได้ง่ายๆ ดังนั้น ต้องทำให้เห็นว่าสังคมนี้ ความชอบ ไม่ชอบหรือรังเกียจมันร้ายกาจ เพราะออกไปในเชิงเล่นตลก ไม่ได้ใช้ไม้มาตี มันมีลักษณะที่ก้ำกึ่ง ปนด้วยรสนิยมแบบชนชั้นกลางอยู่  


 


รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ได้ยกตัวอย่างโดยกล่าวถึงกรณีที่มีการวิจารณ์ศูนย์บริการโลหิต สภากาชาด ที่ไม่รับบริจาคโลหิตจากกลุ่มเกย์ว่า แบบฟอร์มของคนที่ต้องการบริจาคโลหิตไม่ได้ทำให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศน้อยใจ แต่คำถามในแบบฟอร์มมันตอกย้ำความเข้าใจว่า คนที่ความหลากหลายทางเพศมีความผิดปกติบางอย่าง โดยเป็นการตอกย้ำอคติที่มีอยู่แล้วให้มากขึ้นอีก ทั้งนี้ สาเหตุที่ต้องชี้แจงกับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ก่อน เพราะเชื่อว่า จะเป็นที่ที่พร้อมจะเข้าใจได้มากที่สุด


 


ดังนั้น รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ได้เสนอว่า ต้องสื่อสารให้เห็นถึงความซับซ้อนของรากฐานความเกลียดชัง ซึ่งเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมที่ซับซ้อนมาก ทำให้ความรุนแรงทางตรงที่เกิดกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นไปในลักษณะที่ทำตัวเอง เช่น ฆ่าตัวตาย


 


ทั้งนี้ รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ กล่าวว่า ถ้าผลักดันหลักการยอกยาการ์ตาได้ ก็มีผลดีต่อการทำงานของขบวนการที่เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่จะมีภาษา หลักการที่อ้างถึงได้ เมื่อเรียกร้องประเด็นเฉพาะ ไม่ว่าเรื่องบริจาคโลหิต การเกณฑ์ทหาร อย่างไรก็ตาม อยู่ดีๆ จะออกมาผลักดันหลักการยอกยาการ์ตาเลยก็จะกระโดดข้ามช็อตเกินไป ดังนั้น สิ่งที่ควรจะทำต่อไป คงต้องทำให้เห็นถึงความซับซ้อนแยบยล ของการกีดกัน ของการใช้ความรุนแรง ต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศในสังคมนี้ ว่า รัฐไม่ได้เอาคนที่มีความหลากหลายทางเพศไปแขวนคอ ไม่มีใครใช้ไม้ตี LGBT แต่ความรุนแรงมันซับซ้อน ต้องอธิบายตลกประเภทตบหัวแล้วลูบหลัง สื่อสารให้สังคมเห็นภาพเหล่านี้


 


"และต้องพยายามผลักดันหลักการสำคัญว่าด้วยความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างหลากหลาย เพราะการพยายามทำให้สังคมไทยมีความอดทนอดกลั้น ไม่ใช่คุณูปการเฉพาะกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่เป็นคุณูปการใหญ่ของสังคมการเมืองไทย เพราะสังคมการเมืองไทยเป็นประชาธิปไตย แต่เพียงโครงสร้างและหน้าตา แต่เราไม่มีจิตวิญญาณของความเป็นประชาธิปไตย เราไม่มีความอดทนอดกลั้นต่อคนที่ไม่เหมือนเรา" รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ กล่าวและว่า หลักการยอกยาการ์ตานั้นจะไม่สามารถปฎิบัติได้ ถ้าประชาธิปไตยไม่ใช่ state of mind ของคน


 


แนะ 6 ข้อเสนอ นำไทยสู่ผู้นำด้านสิทธิมนุษยชนในเอเชีย


ด้าน ศ.ดร.ดักลาส แซนเดอร์ จุฬาฯ กล่าวว่า หลักการยอกยาการ์ตา ตั้งอยู่บนหลักการ 2 ประการของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ คือ ความเป็นสากลและการไม่เลือกปฎิบัติ ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่สนับสนุนสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เห็นได้จากการรับรองสนธิสัญญาสิทธิ 6 ฉบับ อาทิ กติการะหว่างว่าด้วยสิทธิพลเมืองและทางการเมือง อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฎิบัติทางเชื้อชาติทุกรูปแบบ เป็นต้น ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านทางใต้ อย่างมาเลเซีย หรือสิงคโปร์ไม่ได้เซ็นทั้ง 6 ฉบับเหมือนอย่างที่ไทยรับรอง


 


นอกจากนี้ ไทยเป็นประเทศหนึ่งในเอเชียที่บัญญัติหลักการเรื่องสิทธิมนุษยชนในรัฐธรรมนูญ และยังมีชื่อเสียง เรื่องการอดทนอดกลั้นต่อคนที่มีรักเพศเดียวกัน ไทยไม่เคยออกกฎหมายเฉพาะเจาะจง หรือโจ่งแจ้ง ต่างจากมาเลเซีย พม่าและสิงคโปร์ ซึ่งมีกฎหมายอาญาลงโทษต่อคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งตกทอดจากยุคอาณานิคมของอังกฤษ นอกจากนี้ในสิงคโปร์ยังห้ามการก่อตั้งองค์กรของคนรักเพศเดียวกัน


 


เขาเชื่อว่า ประเทศไทยมีโอกาสอย่างมากที่จะต่อยอดจากพันธกิจด้านสิทธิที่มีอยู่ และก้าวเป็นผู้นำในเอเชียด้านสิทธิมนุษยชนได้ โดยได้เสนอ 6 ข้อคือ 1.เสนอให้ห้ามการเลือกปฎิบัติจากสาเหตุความโน้มเอียงทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ ในสถานประกอบการ เพราะการกระทำเช่นนี้ถูกห้ามในซีกตะวันตก ส่วนในเกาหลีใต้มีการเสนอกฎหมายทำนองนี้ เมื่อปีที่แล้ว แต่รัฐบาลที่มีอำนาจในขณะนี้ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม นอกจากนี้ ในการร่างกฎหมายเรื่องการห้ามการเลือกปฎิบัติทางเพศที่กำลังพิจารณากันอยู่ โดยควรขยายวงออกไปเพื่อห้ามการเลือกปฎิบัติทั้งหมด ทั้งเรื่องสัญชาติ และความโน้มเอียงทางเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศด้วย


 


2.เสนอให้ไทยรับรองเพศใหม่ของคนข้ามเพศ ซึ่งหลายประเทศมีการรับรองแล้ว ไม่ว่า อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น บางส่วนของจีน เกาหลีใต้ จีน หรือสิงคโปร์


 


3.ไทยควรให้การรับรองสิทธิและหน้าที่ ความรับผิดชอบของคู่ของคนรักเพศเดียวกันเช่นเดียวกับคู่รักต่างเพศ เพื่อรับรองสิทธิต่างๆ รวมถึงสิทธิในการรับมรดก สิทธิในการตัดสินใจทางการแพทย์ สิทธิพักอาศัยในประเทศไทยในกรณีคู่รักต่างชาติ ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุไว้


 


4.เสนอให้ริเริ่มโครงการในโรงเรียน เพื่อไม่ให้นักเรียนถูกกลั่นแกล้งจากการมีโน้มเอียงทางเพศ ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก โดยจะเป็นการคุ้มครองสิทธิในการศึกษา ซึ่งไทยได้รับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม


 


5.เสนอให้โรงเรียนสอนเรื่องความแตกต่างหลากหลายทั้งทางเพศ และเพศสภาพ เพื่อไม่ให้นักเรียนรู้สึกเป็นทุกข์ เพราะความไม่รู้ ไม่เข้าใจเพศวิถีของตนในวัยรุ่ยอาจนำสู่การฆ่าตัวตาย ซึ่งทำให้เกิดการหยุดชะงักของการเรียนรู้


 


6.หลักการยอกยาการ์ตามีนัยสำคัญต่อนโยบายด้านการต่างประเทศของประเทศไทย ดังนั้น จึงเสนอให้ใช้หลักการนี้เป็นเครื่องชี้แนวทาง เพราะที่ผ่านมา ในฐานะสมาชิกด้านความมั่นคงของสหประชาชาติ ประเทศไทยไม่เคยลงคะแนนให้ความสนับสนุนการรับรองฐานะที่ปรึกษาให้แก่องค์กรกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน แม้จะมีการล็อบบี้จากองค์กรพัฒนาเอกชนในไทย นอกจากนี้ ยังไม่เคยรับรองแถลงการณ์ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่ให้ความรับรองสิทธิเรื่องความหลากหลายทางเพศ ทั้งที่ไทยให้ความรับรองได้โดยไม่จำเป็นต้องมีที่นั่งหรือเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด กระทรวงต่างประเทศควรจัดประชุมร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนของไทยที่ทำงานด้านสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นประจำทุกปี เช่นที่มีในหลายประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในประเด็นระดับภูมิภาคและนานาชาติ และจุดยืนของประเทศไทยต่อประเด็นเหล่านี้


 


 


 


 


00000


ดาวน์โหลด หลักการยอกยาการ์ตาฉบับแปล จากเว็บไซต์กลุ่มสะพาน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net