ความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน: กรณีศึกษาประเทศอาร์เจนตินา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การเกิดขึ้นของแนวคิดและกระบวนการ “ความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน” (Transitional Justice) มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับประวัติศาสตร์การเมืองของหลาย ๆ ประเทศ และหนึ่งในนั้นก็คือประเทศอาร์เจนตินา อาร์เจนตินาตกอยู่ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการทหารในช่วง ค.ศ. 1976-1983 ช่วงระยะเวลาเพียง 7 ปีนี้ มีประชาชนตกเป็นเหยื่อการใช้ความรุนแรงของรัฐหลายหมื่นคน หลังจากอาร์เจนตินา “เปลี่ยนผ่าน” ไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยพลเรือนใน ค.ศ. 1983 มีการพยายามสร้างกระบวนการแสวงหาความจริงและความยุติธรรมให้แก่ประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อทันที ด้วยเหตุนี้เอง แนวคิดและกระบวนการนี้จึงถูกขนานนามว่า “ความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน” อันหมายถึงการแสวงหาความยุติธรรมที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการเปลี่ยนผ่านของระบอบการปกครอง

ถึงแม้ว่าเส้นทางในการแสวงหาความจริงและความยุติธรรมของประชาชนชาวอาร์เจนตินาจะระหกระเหินและใช้เวลานานไม่น้อย แต่องค์กร International Center for Transitional Justice (ICTJ) ก็อ้างว่า อาร์เจนตินาน่าจะเป็นประเทศที่มีกระบวนการความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านดีที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง[1] การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านในอาร์เจนตินาสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดกระบวนการแบบเดียวกันในประเทศอื่น การต่อสู้ขององค์กรและขบวนการประชาชนในอาร์เจนตินามีความโดดเด่นตรงที่มีความต่อเนื่อง ยืดหยุ่นและมั่นคงมากกว่าในหลาย ๆ ประเทศ แม้จะต้องเผชิญอุปสรรคนานัปการ[2] ประสบการณ์ของประเทศอาร์เจนตินาจึงเป็นต้นแบบหนึ่งที่ประเทศต่าง ๆ นิยมนำมาศึกษา

ระบอบเผด็จการทหารและรัฐก่อการร้าย ค.ศ. 1976-1983

ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ประเทศอาร์เจนตินาผ่านวงจรของการมีระบอบเผด็จการทหารสลับกับรัฐบาลพลเรือนเป็นระยะ ๆ ระบอบเผด็จการทหารครั้งล่าสุดที่สถาปนาขึ้นจากการรัฐประหารในวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 1976 เกิดขึ้นพร้อมกับระบอบเผด็จการทหารในเกือบทุกประเทศทั่วทั้งภูมิภาคละตินอเมริกา อันเป็นผลพวงจากสงครามเย็น สหรัฐอเมริกาหวาดกลัวการแผ่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ตามทฤษฎีโดมิโน สหรัฐฯ จึงส่งเสริมให้กองทัพเข้ามาแทนที่รัฐบาลพลเรือนในพื้นที่ทั่วโลกที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของตน

วอชิงตันส่งเสริมแนวคิดที่มุ่งมั่นใน “หลักการความมั่นคงแห่งชาติ” (Doctrine of National Security) ซึ่งเป็นอุดมการณ์ต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์ ซีไอเอใช้ปฏิบัติการ Operación Cóndor สร้างความร่วมมือแบบพหุภาคีในหลายประเทศ กล่าวคือ อาร์เจนตินา บราซิล โบลิเวีย ชิลี อุรุกวัยและปารากวัย ปฏิบัติการนี้สร้างความร่วมมือในด้านข่าวกรองและการกวาดล้างประชาชนที่มีความคิดเห็นตรงกันข้ามกับรัฐบาล

ในช่วงปลายทศวรรษ 1950 ตั้งแต่ก่อนสถาปนาระบอบเผด็จการทหารเต็มรูปแบบ กองทัพอาร์เจนตินาได้จ้างคณะทำงานชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนและแอลเจียร์ เทคนิคการต่อต้านการก่อความไม่สงบของรัฐบาลทหารอาร์เจนตินาจึงเป็นการผสมผสานภายใต้การชี้นำของผู้เชี่ยวชาญจากอเมริกาและฝรั่งเศส โดยเฉพาะหลัก “doctrine de guerre revolutionnaire” ซึ่งมีพื้นฐานอยู่บนสมมติฐานว่า การทำสงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบคือ สงครามที่ต้องเอาชนะจิตใจและความต้องการของประชากรในทุก ๆ ด้าน กองทัพต้องใช้ทุกวิธีการ แม้กระทั่งภัยสยองโดยรัฐหรือรัฐก่อการร้าย เพื่อทำลายแรงสนับสนุนศัตรูในทุกหนทาง[3]

ในขณะเดียวกัน อาร์เจนตินาก็มีกองทัพจรยุทธ์ติดอาวุธที่ดำเนินตามแนวทางมาร์กซิสต์และเปรอนนิสต์หลายกลุ่ม กลุ่มใหญ่ที่สุดคือ ขบวนการ Montoneros และ ERP ซึ่งมีการโจมตีทหารและตำรวจด้วยอาวุธในพื้นที่ชนบท กองทัพมักอ้างว่า ขบวนการเหล่านี้มีสมาชิกเป็นหมื่นคน แต่ข้อมูลที่เปิดเผยในภายหลังพบว่า ขบวนการเหล่านี้มีสมาชิกรวมกันไม่เกินสองพันคนและมีแค่ประมาณ 400 คนเท่านั้นที่ติดอาวุธ ในขณะที่ทหารในกองทัพอาร์เจนตินามีถึงประมาณ 200,000 คน[4] อีกทั้งขบวนการเหล่านี้ยังอ่อนแรงจนหมดพลังไปตั้งแต่ ค.ศ. 1977 แต่ก็กลายเป็นข้ออ้างให้กองทัพทำ “สงครามสกปรก” (dirty war) เพื่อกวาดล้างฝ่ายก่อความไม่สงบที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ

ตาม “หลักการความมั่นคงแห่งชาติ” การต่อสู้กับกลุ่มก่อความไม่สงบไม่ใช่แค่การต่อสู้กับกองกำลังติดอาวุธเท่านั้น แต่ต้องกวาดล้างปัจเจกบุคคลที่มีแนวความคิดก้าวหน้าเสรีนิยมไปพร้อม ๆ กัน ดังที่นายพลวิเดลา ประธานาธิบดีคนแรกในยุคเผด็จการทหาร (ค.ศ. 1976-1981) กล่าวไว้ว่า “ผู้ก่อการร้ายไม่ใช่แค่คนที่ฆ่าด้วยปืนหรือวางระเบิด แต่หมายถึงใครก็ตามที่ให้ท้ายการกระทำนี้ด้วยแนวคิดที่ต่อต้านตะวันตกและต่อต้านอารยธรรมคริสต์ศาสนาของเรา”[5]

การกวาดล้างประชาชนที่มีแนวคิด “อันตราย” เหล่านี้ จึงลงมือกระทำกันอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะวิธีการที่เรียกกันว่า “การทำให้สาบสูญ” (disappearances) ประชาชนจำนวนมากถูกกองกำลังติดอาวุธทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบบุกเข้าไปจับกุมตัวในบ้านยามวิกาล ถูกนำตัวไปไว้ในค่ายกักกันลับที่มีถึง 250 แห่ง ถูกทรมานอย่างทารุณ ก่อนจะถูกฆ่าทิ้ง ศพถูกนำไปทิ้งในหลุมฝังและมีจำนวนมากถูกยัดกระสอบทิ้งจากเครื่องบินลงในทะเล มีรายงานด้วยว่า มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ถูกทิ้งลงทะเลทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่[6]

ตัวเลขของผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายในสถานการณ์รัฐก่อการร้ายนี้ ยังมีตัวเลขที่ไม่แน่ชัด ตามตัวเลขของคณะกรรมการติดตามสอบสวนกรณีผู้สูญหายแห่งชาติ (CONADEP) ระบุไว้ที่ 8,961 ราย แต่ CONADEP เองก็ประเมินไว้ว่าน่าจะมีมากกว่า 9,000 ราย องค์กรนิรโทษกรรมสากลประเมินไว้ว่ามีมากกว่า 15,000 ราย ส่วนองค์กรสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ประเมินไว้ที่ประมาณ 30,000 ราย[7] ตัวเลข 30,000 คนนี้เป็นตัวเลขที่ได้รับการอ้างอิงถึงบ่อยที่สุดในเอกสารต่าง ๆ

การกวาดล้างประชาชนอย่างเป็นระบบของรัฐบาลทหารก่อให้เกิดความกลัวไปทั่วทั้งสังคมอาร์เจนตินา มีความเชื่อที่มีมูลความจริงอยู่ไม่น้อยว่า ประชาชนคนใดก็ตามอาจถูก “ทำให้สาบสูญ” ไป หากเขาคนนั้นมีชื่ออยู่ในสมุดจดที่อยู่/เบอร์โทรศัพท์ของคนที่ถูกกองทัพ “ทำให้สาบสูญ” ไปก่อนหน้านั้น ประชาชนที่ถูกจับไปจำนวนมากเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี อีกทั้งทารกของผู้หญิงที่ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวไว้ในค่ายกักกัน จะถูกพรากจากมารดาและนำไปยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของครอบครัวนายทหาร คาดกันว่าจำนวนทารกเหล่านี้มีถึง 500 คน[8]

รัฐบาลเผด็จการทหารของอาร์เจนตินา มีประธานาธิบดีที่เป็นนายทหารจากกองทัพ 4 คนคือ ประธานาธิบดีฆอร์เก ราฟาเอล วิเดลา (1976-1981) ประธานาธิบดีโรแบร์โต เอดูอาร์โด วิโอลา (มีนาคม-ธันวาคม ค.ศ. 1981) ประธานาธิบดีเลโอโปลโด กัลตีเอรี (ธันวาคม 1981-มิถุนายน 1982) และประธานาธิบดีเรย์นัลโด บิจโนเน (1982-1983) ระบอบเผด็จการทหารของอาร์เจนตินาเริ่มสั่นคลอนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งต้องปิดฉากและหลีกทางให้ระบอบประชาธิปไตยในที่สุด

ปัจจัยที่ทำให้ระบอบเผด็จการทหารของอาร์เจนตินาสิ้นสุดลงมีหลายสาเหตุด้วยกัน ทั้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากภายในและภายนอกประเทศเกี่ยวกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน กลุ่มแม่แห่งพลาซาเดมาโย (Mothers of the Plaza de Mayo) เป็นองค์กรประชาชนของกลุ่มแม่ที่ตามหาลูกที่สูญหายไป ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ ค.ศ. 1977 และประท้วงทุกวันพฤหัสบดีหน้าทำเนียบรัฐบาล องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศก็ส่งตัวแทนมาที่อาร์เจนตินาหลายครั้ง ปัญหาเศรษฐกิจและการคอร์รัปชั่น ตลอดจนการตัดสินใจผิดพลาดของรัฐบาลและกองทัพในการทำสงครามเกาะมัลวินัส/ฟอล์กแลนด์กับประเทศอังกฤษ ปัจจัยทั้งหมดนี้ทำให้รัฐบาลทหารตัดสินใจคืนอำนาจให้ประชาชน แต่ก่อนจะถ่ายโอนอำนาจให้รัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง กองทัพได้ออกกฤษฎีกานิรโทษกรรมให้ตัวเอง รวมทั้งสั่งให้ทำลายเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการกวาดล้างประชาชนในช่วงที่ตนเองอยู่ในอำนาจด้วย[9]

ประธานาธิบดีราอูล อัลฟอนซินและ CONADEP

ราอูล อัลฟอนซิน นักการเมืองจากพรรค Radical Party หาเสียงจนชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีพลเรือนคนแรกหลังยุคเผด็จการทหาร คำมั่นสัญญาประการหนึ่งที่เขาใช้ในการหาเสียงจนได้คะแนนจากฐานเสียงชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงานก็คือ เขาจะดำเนินคดีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสังหารหมู่ประชาชน เมื่อได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี อัลฟอนซินต้องเผชิญกับแรงกดดันทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งคือประชาชนที่คาดหวังให้เขาทำตามสัญญา ส่วนอีกด้านหนึ่งคือกองทัพที่ยังคงเข้มแข็งและทรงอิทธิพลอำนาจ อัลฟอนซินจึงจำเป็นต้องแสวงหายุทธศาสตร์บางอย่างที่จะรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลพลเรือน รักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับกองทัพเอาไว้ และตอบสนองข้อเรียกร้องของประชาชนไปพร้อม ๆ กัน รัฐบาลอัลฟอนซินจึงดำเนินนโยบายที่ต่อมาจะถูกเรียกกันแพร่หลายในชื่อว่า “ทฤษฎีสองปิศาจ”

“ทฤษฎีสองปิศาจ” เป็นวาทกรรมทางการเมืองที่สร้างขึ้นเพื่อชักนำให้ประชาชนเชื่อว่า การกวาดล้างประชาชนของกองทัพในยุคเผด็จการทหารนั้น เกิดมาจากความจำเป็นที่ต้องตอบโต้ต่อการก่อการร้ายของฝ่ายซ้ายและขบวนการติดอาวุธ กระนั้นก็ตาม กองทัพได้กระทำการเกินกว่าเหตุในปฏิบัติการดังกล่าว จึงควรมีการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาไต่สวนหาข้อเท็จจริงเพื่อนำตัวผู้กระทำการเกินกว่าเหตุนั้นมาลงโทษ แต่กระบวนการทั้งหมดนี้ไม่ควรสั่นคลอนต่อเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยที่เพิ่งตั้งมั่น ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุดที่จะนำไปสู่ความสงบและความปรองดองของสังคมก็คือ จำกัดเวลาและจำนวนผู้ที่จะนำมาดำเนินคดี โดยเน้นลงโทษเฉพาะผู้บังคับบัญชาเท่านั้น

การสร้างวาทกรรม “ทฤษฎีสองปิศาจ” ขึ้นมา ทำให้รัฐบาลอัลฟอนซินสามารถหลีกเลี่ยงไม่ต้องท้าทายตั้งคำถามต่อปฏิบัติการกวาดล้างประชาชนของรัฐบาลเผด็จการทหาร ไม่ต้องตั้งคำถามต่อกองทัพในฐานะสถาบัน ยอมรับว่ามีความผิดเกิดขึ้นเฉพาะในบางกรณีที่ถือว่ากองทัพกระทำเกินกว่าเหตุ แล้วโยนความรับผิดไปที่ตัวบุคคลบางคนแทน โดยเน้นความผิดของผู้บังคับบัญชาเป็นหลัก รวมทั้งต้องเอานำตัวผู้นำกองกำลังจรยุทธ์มาดำเนินคดีด้วย แนวคิดนี้ตรงกันข้ามกับข้อเรียกร้องขององค์กรประชาชนในอาร์เจนตินา เช่น กลุ่มแม่แห่งพลาซาเดมาโย กลุ่มสิทธิมนุษยชน CELS (Center for Legal and Social Studies) ฯลฯ ซึ่งเรียกร้องให้ลงโทษทหารทุกคนที่เกี่ยวข้อง โดยไม่คำนึงว่ารับคำสั่งมาหรือไม่ การไต่สวนดำเนินคดีไม่ควรจำกัดแค่ตัวบุคคล แต่ควรตรวจสอบไปถึงโครงสร้างพื้นฐานของสถาบันกองทัพ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก แต่สังคมอาร์เจนตินาโดยรวมก็ยอมรับวาทกรรมของรัฐบาลอัลฟอนซินในระดับหนึ่ง[10]

ประธานาธิบดีอัลฟอนซินดำเนินตามยุทธศาสตร์นี้ด้วยการเสนอให้กองทัพชำระตัวเองในระดับจำกัด มีการตกลงลับ ๆ ระหว่างรัฐบาลกับผู้นำกองทัพว่า กองทัพดำเนินการสอบสวนและส่งรายชื่อผู้กระทำผิดให้แก่รัฐบาลประมาณ 30 ชื่อ แลกกับการที่ประธานาธิบดีจะต้องอภัยโทษให้แก่ผู้ถูกลงโทษเหล่านี้ก่อนสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่ง นั่นคือ ภายใน ค.ศ. 1989 หมายความว่านายทหารเหล่านี้จะต้องโทษราว 6 ปี รัฐบาลหวังว่าวิธีการนี้จะทำให้รัฐบาลทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ตอนหาเสียง ในขณะเดียวกันก็ไม่กระทำการที่เป็นการคุกคามต่อกองทัพจนเสถียรภาพของรัฐบาลต้องสั่นคลอน

แต่เมื่อถึงเวลาปฏิบัติจริง กองทัพกลับส่งรายชื่อมาแค่ 9 ชื่อ ซึ่งเป็นนายทหารที่อยู่ในคณะรัฐบาลทหารเผด็จการ ส่วนรัฐบาลต้องการลงโทษทั้งบุคคลในรัฐบาลไปจนถึงนายทหารตำรวจที่เป็นสัญลักษณ์ของการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในปีแรกของการเป็นรัฐบาล (ค.ศ. 1983) รัฐบาลอัลฟอนซินรุกคืบด้วยการยกเลิกกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเองของกองทัพ ด้วยเหตุผลว่ากฎหมายนิรโทษกรรมนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในขณะเดียวกันก็ประกาศใช้กฎหมายฉบับใหม่ที่จำกัดการรับผิดทางอาญาต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนและจำกัดเขตอำนาจศาลที่พิจารณาคดีเหล่านี้[11]

นับตั้งแต่รัฐบาลทหารพ้นจากอำนาจไป ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ปรากฏต่อสาธารณชนมากขึ้นเรื่อย ๆ มีการค้นพบหลุมฝังศพของเหยื่อที่ถูกสังหารหมู่ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนพยายามกดดันรัฐบาลมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการร่วมสองสภา และให้อำนาจพิเศษแก่คณะกรรมการชุดนี้ในการสืบสวน รัฐบาลอัลฟอนซินเกรงว่า หากมีการตั้งคณะกรรมการร่วมสองสภาขึ้นจริง อาจทำให้เกิดความขัดแย้งกับกองทัพขึ้น รัฐบาลจึงหาทางออกด้วยการชิงตัดหน้าตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาก่อนในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1983 โดยแต่งตั้งบุคคลที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับจากสังคมเข้ามาดำรงตำแหน่ง คณะกรรมการที่รัฐบาลอัลฟอนซินแต่งตั้งขึ้นมีชื่อว่า “คณะกรรมการแห่งชาติเพื่อไต่สวนกรณีที่บุคคลถูกทำให้สาบสูญ” (National Commission on the Disappearance of Persons) หรือที่มักเรียกกันด้วยอักษรย่อจากชื่อในภาษาสเปนว่า CONADEP

CONADEP เป็นคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งมาทั้งหมด ในตอนแรกนั้น ประธานาธิบดีอัลฟอนซินต้องการให้ผู้นำด้านสิทธิมนุษยชนเข้ามาร่วมดำรงตำแหน่ง แต่เนื่องจากอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้มีจำกัด เช่น ไม่สามารถออกหมายเรียกพยานมาให้ปากคำ เป็นต้น ผู้นำด้านสิทธิมนุษยชน เช่น อะโดลโฟ เปเรซ เอสกีเวล เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ รวมทั้งผู้นำองค์กรสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ จึงประท้วงด้วยการปฏิเสธคำเชิญ สุดท้ายแล้ว ผู้เข้ามาดำรงตำแหน่งประธาน CONADEP คือเอร์เนสโต ซาบาโต นักเขียนนวนิยายผู้มีชื่อเสียง ส่วนสมาชิกคนอื่น ๆ มาจากหลายภาคส่วน ทั้งด้านสื่อมวลชน กฎหมาย วัฒนธรรม ศาสนา ฯลฯ[12]

อำนาจหน้าที่ของ CONADEP จึงเป็นเพียงแค่คณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริง แต่ผลงานของ CONADEP กลับสร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างที่รัฐบาลอัลฟอนซินนึกไม่ถึง แม้จะมีขอบเขตอำนาจจำกัด แต่คณะกรรมการ CONADEP ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงการทำงานอย่างแข็งขันและทุ่มเทในระดับสูง เพียงไม่ถึงหนึ่งปีหลังจากได้รับการแต่งตั้ง ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1984 CONADEP ก็จัดทำรายงานชุด Nunca Más (Never Again) ออกมาเผยแพร่สู่สาธารณชน รายงานฉบับนี้กลายเป็นหนังสือขายดีสูงสุดในประเทศอาร์เจนตินาภายในชั่วข้ามคืน เนื้อหาในรายงานรวบรวมรายชื่อของบุคคลที่ถูกกองทัพและตำรวจจับไปกักขังในค่ายกักกัน ทรมานและฆาตกรรม มีรายละเอียดของเวลาและสถานการณ์แวดล้อม เช่น สถานที่ที่ถูกคร่ากุมตัว ปากคำของพยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์ ฯลฯ แต่ละคดีถูกบันทึกไว้เป็นแฟ้มแยกต่างหากอย่างละเอียด รวมแล้วเป็นเอกสารทั้งหมดหนากว่า 50,000 หน้า

ถึงแม้เอกสารของ CONADEP จะครอบคลุมได้ไม่ถึงเก้าพันคดีดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น แต่ความละเอียดถี่ถ้วนและหนักแน่นของข้อเท็จจริงที่คณะกรรมการชุดนี้จัดทำได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้รายงาน Nunca Más มีบทบาทอย่างยิ่ง ประการแรกคือ ข้อเท็จจริงที่รายงานฉบับนี้เปิดเผยให้สังคมอาร์เจนตินาได้รับรู้ ยิ่งทำให้เกิดกระแสกดดันจากประชาสังคมให้ดำเนินคดีต่อกองกำลังฝ่ายความมั่นคงที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ประการที่สอง รายงานของ CONADEP สามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีในศาลได้อย่างน่าเชื่อถือ แม้จนเมื่อเวลาผ่านมากว่ายี่สิบปีแล้ว รายงานของ CONADEP ก็ยังถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในการดำเนินคดีในปัจจุบัน ประการที่สาม รายงานของ CONADEP มีความเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์เท่า ๆ กับหลักฐานทางกฎหมาย และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้าง “ความทรงจำ” เกี่ยวกับยุครัฐก่อการร้าย ประการที่สี่ ผลงานของ CONADEP ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการก่อตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริงในอีกมากมายหลายประเทศ ทั้งในภูมิภาคละตินอเมริกา เช่น ประเทศอุรุกวัย ชิลี เอลซัลวาดอร์ เอกวาดอร์ กัวเตมาลา ฮอนดูรัสและเปรู ตลอดจนในภูมิภาคอื่นของโลก โดยเฉพาะในประเทศแอฟริกาใต้[13]

อาจกล่าวได้ว่า ถึงแม้ CONADEP เป็นคณะกรรมการที่มาจากการแต่งตั้ง และอันที่จริงก็เป็นเครื่องมือที่รัฐบาลอัลฟอนซินคาดหมายว่าจะใช้จำกัดการดำเนินคดีไม่ให้กระทบกระเทือนกองทัพในฐานะสถาบัน แต่คณะกรรมการ CONADEP สามารถรักษาความเป็นอิสระของตนและสร้างผลงานได้อย่างน่ายกย่อง แม้จะอยู่ภายใต้เงื่อนไขจำกัดก็ตาม

ใน ค.ศ. 1985 มีการนำตัวนายทหาร 9 คนที่เคยอยู่ในรัฐบาลทหารมาดำเนินคดีเป็นผลสำเร็จ การดำเนินคดีครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลทหารเพิ่งพ้นอำนาจไปเพียง 18 เดือน มีพยานมาให้ปากคำถึง 800 ราย ครอบคลุมประมาณ 700 คดีในแฟ้มของ CONADEP นายทหารทั้ง 9 คน ซึ่งในจำนวนนั้นมีอดีตประธานาธิบดีวิเดลา ประธานาธิบดีวิโอลาและประธานาธิบดีกัลตีเอรี รวมอยู่ด้วย ทั้งหมดถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ในข้อหาลักพาตัว ฆาตกรรม ทรมาน ฯลฯ

การดำเนินคดีครั้งประวัติศาสตร์นี้ แม้ได้รับความสนใจและคำชมเชยมาก แต่ในขณะเดียวกันก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงจากหลาย ๆ ฝ่าย โดยเฉพาะองค์กรสิทธิมนุษยชนและขบวนการประชาชน ซึ่งเห็นว่าควรนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นระดับผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใต้บังคับบัญชา โดยอ้างหลักการพิจารณาคดีอาชญากรสงครามที่นูเรมเบิร์ก ซึ่งศาลไม่ยอมรับข้อแก้ตัวของจำเลยว่าได้รับคำสั่งมา

ถึงแม้ในด้านหนึ่ง ประธานาธิบดีอัลฟอนซินจะยอมอ่อนข้อให้กองทัพค่อนข้างมาก แต่ในอีกด้านหนึ่ง เขาก็สร้างคุณูปการหลายอย่าง เรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เขาริเริ่มไว้ก็คือ การปฏิรูปกองทัพ เพื่อป้องกันไม่ให้กองทัพกลับมาทำรัฐประหารยึดอำนาจอีก เขาได้พยายามปฏิรูปกองทัพในด้านต่าง ๆ ดังนี้ 1) จำกัดความรับผิดชอบของกองทัพไว้เฉพาะการป้องกันประเทศจากศัตรูภายนอกเท่านั้น ห้ามมิให้กองทัพมีบทบาทในด้านความมั่นคงภายในประเทศ 2) ย้ายการทำงานด้านหน่วยข่าวกรองและการปราบจลาจลออกไปจากความรับผิดชอบของกองทัพ 3) ปรับระบบการศึกษาภายในวิทยาลัยกองทัพ ยกเลิกการปลูกฝังอุดมการณ์แบบเดิม ๆ และเปิดโอกาสให้นักศึกษาทหารได้ศึกษาวิชาของฝ่ายพลเรือน 4) กองทัพต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของพลเรือน ประธานาธิบดีจะดำรงตำแหน่งผู้นำเหล่าทัพ รัฐมนตรีกลาโหมและเสนาธิการแต่ละเหล่าทัพเป็นพลเรือน 5) ลดจำนวนนายทหารระดับสูง 6) ลดงบประมาณป้องกันประเทศลงครึ่งหนึ่งเพื่อลดการใช้จ่ายของกองทัพ 7) ลดจำนวนการเกณฑ์ทหารลงเหลือหนึ่งในสาม 8) ปลดนายทหารจำนวนมากออกจากตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจ

ก้าวถอยหลังของความยุติธรรม

การดำเนินคดีนายทหารและความพยายามปฏิรูปกองทัพของรัฐบาลอัลฟอนซินทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้น มีการสร้างความปั่นป่วนไปทั่ว เช่น การลอบวางระเบิดในสถานที่ต่าง ๆ รวมทั้งการก่อกบฏของหน่วยทหารต่าง ๆ ถึง 3 ครั้งใน ค.ศ. 1986-7 เพื่อประนีประนอมกับกองทัพและรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลไว้ ในที่สุดรัฐบาลอัลฟอนซินก็จำต้องออกกฎหมาย 2 ฉบับ ซึ่งทำให้การแสวงหาความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านของอาร์เจนตินาต้องก้าวถอยหลัง

กฎหมาย “Full Stop” และ “Due Obedience” ที่ออกมาใน ค.ศ. 1986 และ 1987 ตามลำดับ คือความพยายามที่จะผ่อนปรนให้กองทัพและยับยั้งมิให้เกิดการกบฏของทหารขึ้นอีก กฎหมาย “Full Stop” กำหนดเวลาเส้นตาย 60 วัน พ้นจากนี้ไปแล้ว ศาลจะไม่รับฟ้องคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนในยุคเผด็จการเพิ่มเป็นคดีใหม่อีก ส่วนกฎหมาย “Due Obedience” คือการคุ้มครองทหารระดับกลางและระดับล่างให้ไม่ต้องรับผิด โดยอาศัยข้ออ้างว่าเป็นการทำตามคำสั่งของนายทหารระดับสูง กฎหมาย 2 ฉบับนี้เปรียบเสมือนการออกกฎหมายนิรโทษกรรมกลาย ๆ นั่นเอง ส่งผลให้การไต่สวนดำเนินคดีต้องหยุดชะงักไปหลายร้อยคดี

ความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านของอาร์เจนตินายังต้องเผชิญอุปสรรคขวากหนามอีกมาก ใน ค.ศ. 1989 ปัญหาเศรษฐกิจทำให้ประธานาธิบดีอัลฟอนซินต้องลาออกจากตำแหน่งก่อนกำหนด เปิดทางให้การ์โลส เมเนมจากพรรค Justcialist ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแทน ถึงแม้อัลฟอนซินต้องหลุดจากตำแหน่งไปก่อนที่จะทันได้ทำตามข้อแลกเปลี่ยนที่ให้ไว้กับกองทัพ แต่เมเนมก็ทำให้แทนด้วยการใช้อำนาจประธานาธิบดีอภัยโทษให้แก่นายทหารทั้ง 9 คนที่เคยถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตไปก่อนหน้านี้ คนเหล่านี้จึงใช้โทษในคุกไปเพียงประมาณ 4 ปีเท่านั้น เงื่อนไขทั้งหมดดูเหมือนจะดับความหวังของประชาชนที่มุ่งหมายจะเห็นแสงสว่างของความยุติธรรม

การค้นหาช่องทางและพื้นที่ของขบวนการประชาชน

ถึงแม้กฎหมายนิรโทษกรรมและการอภัยโทษของประธานาธิบดีทำให้นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษไม่ได้ แต่องค์กรและขบวนการประชาชนในอาร์เจนตินาไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ ในช่วงทศวรรษ 1990 การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านในอาร์เจนตินาอาศัยช่องทางและพื้นที่อื่น ๆ เข้ามาทดแทน ซึ่งประกอบด้วย 4 ช่องทางหลัก ๆ คือ 1) การเรียกร้องค่าชดเชยให้เหยื่อ 2) การแสวงหาความจริงและรวบรวมข้อมูลของผู้ถูกทำให้สาบสูญ 3) การตามหาและลงโทษผู้ลักพาตัวทารก และ 4) การแทรกแซงจากต่างประเทศ

การเรียกร้องให้ชดเชยค่าเสียหายต่อเหยื่อเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ยุครัฐบาลอัลฟอนซินแล้ว ประเด็นนี้มีผลลัพธ์ชัดเจนในยุครัฐบาลเมเนม เมื่อประธานาธิบดีออกกฤษฎีกาใน ค.ศ. 1991 ให้รัฐจ่ายเงินค่าชดเชยต่อประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อ ถึงแม้นโยบายจ่ายเงินชดเชยของเมเนมจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการตบหัวแล้วค่อยลูบหลังประชาชนหลังจากออกอภัยโทษให้นายทหารไปก่อนหน้านี้ กระนั้นก็ตาม การชดเชยค่าเสียหายก็คือการตอกย้ำความรับผิดชอบของรัฐต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น

นอกจากภาคประชาชนแล้ว หน่วยงานรัฐบางหน่วยก็มีบทบาทด้วย สำนักสิทธิมนุษยชนในสังกัดกระทรวงมหาดไทยยังคงดำเนินการแสวงหาความจริงต่อไป ข้อมูลส่วนใหญ่ได้มาจากปากคำของเหยื่อและครอบครัว ถึงแม้การดำเนินคดีในศาลจะยุติลง แต่แรงกดดันจากกระแสสังคมทำให้นายทหารระดับกลางเริ่มรู้สึกตัวเองตกเป็นแพะรับบาป มีทหารบางคนออกมาสารภาพความผิดที่ตนเองเคยก่อไว้ในยุคเผด็จการทหาร และที่สำคัญที่สุดคือ ใน ค.ศ. 1995 ผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพอาร์เจนตินาออกมายอมรับความผิดของกองทัพอย่างเป็นทางการ

ระหว่างที่การสารภาพความผิดดำเนินไป กลุ่มแม่แห่งพลาซาเดมาโย องค์กรสิทธิมนุษยชน CELS และองค์กรประชาชนอื่น ๆ ก็เคลื่อนไหวเรียกร้องให้มี “การไต่สวนหาความจริง” (truth trials) ในศาล โดยอ้างว่าญาติมิตรของเหยื่อมีสิทธิรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับคนที่พวกเขารัก ในที่สุด กลุ่มทนายความด้านสิทธิมนุษยชนก็เรียกร้องเป็นผลสำเร็จ ศาลกลางในบัวเนสไอเรสเปิดการพิจารณาคดีเพื่อไต่สวนหาความจริง ในการพิจารณาคดีแบบนี้ ศาลมีอำนาจเต็มในการเรียกตัวพยานหรือจำเลยมาสอบสวนให้ปากคำ แม้ไม่มีอำนาจในการตั้งข้อกล่าวหาหรือลงโทษก็ตาม “การไต่สวนหาความจริง” เช่นนี้เป็นการรวบรวมหลักฐานเก็บไว้ ซึ่งอาจนำมาใช้ได้ในอนาคตเมื่อสถานการณ์แวดล้อมเปลี่ยนไป มันช่วยกระตุ้นการรับรู้ของสังคมและเป็นการปรับการต่อสู้ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ในภายหลัง กระบวนการนี้ได้รับการยอมรับว่า เป็นเครื่องมือที่ดีอย่างหนึ่งของการแสวงหาความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน ในยามที่ผู้กระทำผิดได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายนิรโทษกรรม

อีกช่องทางหนึ่งที่องค์กรประชาชนใช้ผลักดันความยุติธรรมก็คือ การตามหาตัวทารกจำนวนมากที่เกิดจากแม่ในค่ายกักกัน ซึ่งถูกลักพาตัวไปยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของครอบครัวอื่นอย่างผิดกฎหมาย เนื่องจากกฎหมาย “Full Stop” และ “Due Obedience” ไม่ได้ครอบคลุมความผิดพวกนี้ ประชาชนจึงสามารถฟ้องร้องเอาผิดนายทหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการลักพาตัวเด็กได้ ด้วยวิธีการนี้เอง ใน ค.ศ. 1998 จึงมีการดำเนินคดีนายทหารหลายคนที่เคยได้รับอภัยโทษไปก่อนหน้านี้ เช่น อดีตประธานาธิบดีวิเดลา อดีตประธานาธิบดีบิจโนเน เป็นต้น นายทหารเหล่านี้จึงถูกพิพากษาลงโทษอีกครั้งจากความผิดฐานลักพาตัว

เนื่องจากในกลุ่มผู้ถูกทำให้สาบสูญมีชาวต่างชาติรวมอยู่ด้วย จึงมีการฟ้องร้องดำเนินคดีในต่างประเทศเป็นกรณี ๆ ไป ทั้งในประเทศสเปน อิตาลี สวีเดน ฝรั่งเศส เยอรมนี ฯลฯ ในอิตาลีและฝรั่งเศสมีการดำเนินคดีโดยจำเลยไม่มาปรากฏตัวต่อศาล (in absentia) และใน ค.ศ. 1999 ผู้พิพากษาบัลทาซาร์ การ์โซนแห่งศาลประเทศสเปนออกหมายจับและขอให้รัฐบาลอาร์เจนตินาส่งตัวนายทหารหลายคนมาดำเนินคดีข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชน แม้รัฐบาลอาร์เจนตินาไม่ยอมปฏิบัติตามด้วยข้ออ้างถึงอำนาจอธิปไตยของชาติ แต่แรงกดดันจากต่างประเทศก็ส่งผลกระทบต่อกระบวนการความยุติธรรมในอาร์เจนตินาไม่น้อยเช่นกัน[14]

เมื่อความยุติธรรมกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง

การต่อสู้ขององค์กรสิทธิมนุษยชนประสบผลสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ใน ค.ศ. 2001 ในคดีลักพาตัวทารกคดีหนึ่ง ซึ่งพ่อแม่ของเด็กถูกทรมานและฆาตกรรม องค์กร CELS ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้พิจารณาว่ากฎหมายนิรโทษกรรม (กฎหมาย “Full Stop” และ “Due Obedience”) ขัดต่อรัฐธรรมนูญอาร์เจนตินา ซึ่งมีการแก้ไขให้ยอมรับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศมาตั้งแต่ ค.ศ. 1994 ผู้พิพากษากาบริเอล คาร์วาโญได้ตัดสินว่า กฎหมายสองฉบับนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญจริงและถือเป็นโมฆะ ในปลายปีนั้นเอง ศาลกลางแห่งบัวโนสไอเรสก็รับรองคำตัดสินของผู้พิพากษาคาร์วาโญ การตัดสินให้กฎหมายนิรโทษกรรมเป็นโมฆะไปนี้ ส่งผลให้สามารถดำเนินคดีนายทหารและตำรวจได้อีกครั้ง

หลังจากผ่านวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุดในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ไปแล้ว ใน ค.ศ. 2003 อาร์เจนตินาก็ได้ประธานาธิบดีคนใหม่คือนายเนสเตอร์ เคียร์ชเนอร์ ซึ่งให้คำมั่นสัญญาไว้ตั้งแต่ในคำปราศรัยรับตำแหน่งว่าจะผลักดันการดำเนินคดีผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน เขาทำตามที่สัญญาไว้ด้วยการประกาศยกเลิกกฎหมายนิรโทษกรรมและการอภัยโทษทั้งหมด สนับสนุนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปดำเนินคดีในประเทศอื่น ปรับระบบกองทัพด้วยการปลดนายทหารระดับสูงออกถึงสามในสี่ ปฏิรูปกรมตำรวจ และปฏิรูประบบศาลสูงสุด โดยผู้พิพากษาที่จะมาดำรงตำแหน่งศาลสูงสุดได้นั้น นอกจากต้องมีคุณธรรมและคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขแล้ว ยังต้องแสดงให้เห็นถึง “ความยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน”[15]

ในปลายปี ค.ศ. 2008 มีคดีของผู้ถูกทำให้สาบสูญในยุคเผด็จการทหารคั่งค้างอยู่ในศาลกว่า 800 คดี ปัญหาความติดขัดเป็นคอขวดนี้ ทำให้องค์กรสิทธิมนุษยชนและทนายความพยายามหาทางแก้ไข ด้วยการจัดคดีเป็นกลุ่ม (group cases) และเรียงลำดับความสำคัญของคดี (significant trials) โดยดำเนินคดีที่จำเลยก่ออาชญากรรมร้ายแรงที่สุดและมีเหยื่อมากที่สุดก่อน

สรุป

ในบทความชื่อ “What is Transitional Justice: A Backgounder”[16] ของคณะทำงานส่งเสริมสันติภาพของสหประชาชาติ ได้กล่าวถึงความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านว่าควรมีองค์ประกอบดังนี้คือ 1) การดำเนินคดีทางอาญาต่อผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน 2) การแสวงหาความจริงและข้อเท็จจริง 3) การชดเชยต่อเหยื่อ 4)การปฏิรูปกองกำลังด้านความมั่นคงที่เป็นผู้ใช้ความรุนแรงต่อประชาชน 5) การสร้างความทรงจำให้แก่สังคม

องค์ประกอบเหล่านี้ควรมีให้ครบถ้วนทุกด้าน เพราะหากปฏิบัติเพียงด้านใดด้านเดียว ย่อมไม่ก่อให้เกิดความยุติธรรมและการปรองดองในสังคมอย่างแท้จริง หากมีแต่การดำเนินคดีผู้กระทำผิด ก็อาจกลายเป็นการหาแพะรับบาปและล้างแค้น หากมีแต่คณะกรรมการแสวงหาความจริง ทุกอย่างก็เป็นแค่ลมปาก หากรัฐทำเพียงจ่ายเงินชดเชยต่อเหยื่อและญาติของเหยื่อ ก็จะมีข้อครหาถึงการใช้เงินเปื้อนเลือดซื้อความเงียบและความจำนนของเหยื่อ ส่วนเรื่องที่จะปฏิรูปสถาบันต่าง ๆ อย่างเดียวนั้น ไม่น่าจะมีรัฐใดสามารถทำสำเร็จได้โดยไม่ทำข้ออื่น ๆ ข้างต้น และหากปราศจากการสร้างความทรงจำต่อสังคม โอกาสที่การก่อการร้ายโดยรัฐจะย้อนกลับมาเกิดซ้ำอีกก็เป็นไปได้มาก

หากดูจากองค์ประกอบทั้งหมดนี้ อาร์เจนตินาจัดได้ว่าเป็นประเทศที่ปฏิบัติได้ค่อนข้างครบถ้วนเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ถึงแม้จะต้องอาศัยระยะเวลายาวนานและเผชิญอุปสรรคมากมายก็ตาม แน่นอน ความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านของอาร์เจนตินาไม่ได้สมบูรณ์แบบจนไม่มีข้อบกพร่อง ยังมีจุดบอดอีกหลาย ๆ จุด อาทิเช่น กระบวนการยุติธรรมยังไม่ได้ทำให้สถาบันหลักบางสถาบัน เช่น ศาสนจักรคาทอลิกและบรรษัทใหญ่ ๆ ซึ่งมีหลักฐานแน่ชัดว่าสนับสนุนการก่อการร้ายของรัฐ ต้องออกมารับผิดและรับโทษ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ประสบการณ์ของอาร์เจนตินาสามารถให้บทเรียนและแรงบันดาลใจแก่การสร้างความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านในที่อื่น ๆ มันบอกให้เรารู้ว่า การออกกฎหมายนิรโทษกรรมไม่ได้เป็นหลักประกันถึงจุดสิ้นสุดของการแสวงหาความยุติธรรม อันเป็นสิ่งที่ผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งหลายพึงสังวรไว้ นอกจากนี้ ภายใต้เงื่อนไขที่จำกัด ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกช่องทางจะปิดตาย การแสวงหาหนทางอย่างสร้างสรรค์และพลิกแพลงเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของขบวนการประชาชน ความยุติธรรมอาจเป็นสิ่งที่ต้องรอนาน แต่ย่อมมาถึงเสมอ ถ้าเราไม่ย่อท้อและไม่หลงลืม

 

[1] ICTJ Briefing, “Criminal Prosecutions for Human Rights Violations in Argentina,” http://www.ictj.org/static/Publications/briefing_Argentina_prosecutions.pdf, p. 1.

[2] Louise Mallinder, The Ongoing Quest for Truth and Justice: Enacting and Annulling Argentina’s Amnesty Laws, http://ulster.academia.edu/documents/0060/2662/Argentina_19_May_2009.pdf, p. 135.

[3] Susana Kaiser, Postmemories of Terror, N.Y.: Palgrave Macmillan, p. 4-5.

[4] Mallinder, ibid., p. 10.

[5] Mallinder, ibid., p. 9.

[6] The Encyclopedia of Genocide and Crimes Against Humanity (Macmillan Reference USA, 2004), vol. 1, pp. 63-65. กระบวนการทำให้ประชาชนสาบสูญอย่างเป็นระบบนั้น โปรดดูรายงานของ CONADEP, Nunca Más (Never Again)¸ http://web.archive.org/web/20031004074316/nuncamas.org/english/library/nevagain/nevagain_001.htm

[7] Carlos H. Acuña, “Transitional Justice in Argentina and Chile: A Never-Ending Story?” in Retribution and Reparation in the Transition to Democracy, http://books.google.com/, p. 209.

[8] https://secure.wikimedia.org/wikipedia/en/wiki/Dirty_War

[9] ICTJ Briefing, ibid., p. 1.

[10] Mallinder, ibid., p. 22-23.

[11] Acuña, ibid., p. 209-210.

[12] Mallinder, ibid., p. 30-31.

[13] Kaiser, ibid., p. 5.

[14] ICTJ, “Accountability in Argentina: 20 Years Later, Transitional Justice Maintains Momentum,” August, 2005: http://www.ictj.org/images/content/5/2/525.pdf, p. 3-5.

[15] Mallinder, ibid., p. 117.

[16]http://www.un.org/peace/peacebuilding/Working%20Group%20on%20Lessons%20Learned/Justice%20in%20Times%20of%20Transition%20%2826.02.2008%29/26.02.2008%20%20Background%20note.pdf

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท