ธิดา ถาวรเศรษฐ: การตีโจทย์ประเทศไทย

สาเหตุที่มาของการปรองดองที่แตกต่างกันแล้วนำมาสู่การตีความหรือการพูดในลักษณะแตกต่างกัน  ต้องนำมาสู่รากเหง้าซึ่งอยากสรุปว่าเป็นการตีโจทย์ผิด  มองโจทย์ไม่ตรงกัน  ตีโจทย์ของสังคมคนละอย่างกัน  ประการแรกคือจับคู่ขัดแย้งหลักของสังคมไม่เหมือนกัน  ประการที่สองต้องถามว่ารัฐไทยขณะนี้การปกครองเป็นระบบอะไร  ถ้ามุมมองต่อสองเรื่องนี้ไม่เหมือนกันก็จะนำมาสู่ความคิดและการกระทำที่นำไปสู่การปรองดองที่แตกต่างกัน 
ยกตัวอย่างเช่น การจับคู่ขัดแย้งหลักในสังคมไทย โดยทั่วไปในกลุ่มชนชั้นนำในสังคมแม้กระทั่งนักการเมืองทั้งหลายก็ต้องจัดเป็นชนชั้นนำเหมือนกัน  กลุ่มบุคคลที่มีระดับมีฐานะนำในสังคมเป็นชนชั้นกลางขึ้นไปจนถึงชนชั้นสูง  ยกเว้นชนชั้นกลางส่วนหนึ่งที่พอจะก้าวหน้า  ก็จะมองว่าคู่ขัดแย้งหลัก (คุณทักษิณกับพลเอกเปรม  ติณสูลานนท์)  ดีกันแล้วจบเป็นการปรองดอง  ในสังคมไทยเอาเรื่องบุคคลมากกว่าหลักการ  ไม่ว่าจะอยู่ฝั่งประชาธิปไตยหรือฝั่งเอารัฐประหารก็ตาม  ถ้าเป็นฝั่งเครือข่ายระบอบอำมาตย์ก็จะมองว่าทุกอย่างที่เลวร้ายในสังคมไทยเกิดจากคุณทักษิณคนเดียว  เพราะมีวิธีคิดแบบนี้สิ่งที่จะกระทำก็คือ 1.ลอบฆ่า 2.จัดการทางคดี เช่นต้องคิดคุก 3.จัดการทางทรัพย์สินคือต้องยึดทรัพย์ 4.จัดการทางฐานคือพรรคการเมือง คือยุบพรรค  เพราะฉะนั้นเขาทำกับคุณทักษิณครบทุกอย่าง  ถามว่าแล้วเป็นอย่างไร  แก้ปัญหาได้ไหม 
ในฝั่งประชาธิปไตยไม่เอารัฐประหารที่คิดว่าคู่ขัดแย้งหลักมีไหมจึงมีความพยายามให้เกิดเกมยอดปิรามิด  ก็คือการเจรจาระหว่างชนชั้นนำ  แต่เราเข้าใจว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลของคนทั้งประเทศ  และชนชั้นนำในสังคมไทยสามารถอยู่ได้ถ้าอยู่ในที่ทางที่ถูกต้อง  กำหนดบทบาทให้เหมาะสมให้สอดคล้องความเป็นจริงแห่งยุคสมัย สอดคล้องกับความถูกต้อง กับตำแหน่งแห่งหนที่ควรจะอยู่  พูดง่าย ๆ คือคืนอำนาจให้ประชาชน 
ด้วยเหตุนี้วิธีคิดของเรื่องคำว่าปรองดองจึงได้เกิดขึ้นด้วยการเจรจาเป็นด้านหลัก  การเจรจาต้องมีดุลกำลังที่เหมาะสม  ในภาพการต่อสู้ของประชาชนการเจรจาจะเกิดขึ้นได้ต้องมีหลักการประการแรกคือดุลกำลังสองข้างยันกันได้ อยู่ในดุลกำลังที่เหมาะสม  ถ้าดุลกำลังข้างใดข้างหนึ่งชนะเด็ดขาดเขาไม่มีการเจรจา จะใช้วิธีบดขยี้โดยกำลังทหารอย่างที่รัฐบาลอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะทำกับคนเสื้อแดงมาแล้ว 
คำว่าการปรองดองเป็นทั้งเป้าหมายและกระบวนการ สำหรับคนเสื้อแดงเราพูดในลักษณะเป็นเป้าหมาย  เพราะกระบวนการมันยาวนานเราต้องการการปรองดองที่ยั่งยืนและแท้จริง  ประชาชนต้องเอาการปรองดองเป็นเป้าหมายไม่ต้องการการปรองดองแบบเล่น ๆ  แต่ในหมู่ชนชั้นนำอาจจะใช้การปรองดองเป็นกระบวนการ  แต่ไม่รู้เป้าหมายจริงไม่ปรองดองหรือเปล่า  บางทีเขาไม่ต้องการการปรองดองแต่ภายในใจนั้นคนละเรื่อง  ประเภทปากปราศรัยน้ำใจเชือดคอ  นี่จึงเป็นความแตกต่างระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง  แตกต่างระหว่างชนชั้นนำกับประชาชนทั่วไป 
โจทย์ข้อที่สอง คุณตีโจทย์ว่ารัฐไทยขณะนี้ปกครองด้วยระบอบอะไร?  มีประชาธิปไตยแล้ว มีความยุติธรรมแล้วหรือ?  ถ้าหลายคนถือว่าเป็นประชาธิปไตยแล้วประชาชนไม่ต้องต่อสู้  “จบ”  นี่คือวิธีคิด  แต่คนเสื้อแดงทุกคนรู้ว่านี่ไม่ใช่
 
เราตีโจทย์ต่างจากกลุ่มคนชั้นนำ  เรามองว่าคู่ขัดแย้งหลักคือประชาชนไทย ที่ต้องการประชาธิปไตย  ต้องการอำนาจอธิปไตยคืนกลับมา  ขัดแย้งกับเครือข่ายระบอบอำมาตย์ที่หวงอำนาจ ไม่คืนอำนาจให้ประชาชน ปล้นอำนาจประชาชนไป  เวลาที่คุณทักษิณพูดเรื่องการปรองดองเรื่องการบริหารประเทศเราก็ฟัง  แต่เรารู้ว่าตัวหลักคือประชาชน  จะปรองดองหรือไม่อยู่ที่ประชาชน  คุณทักษิณเป็นส่วนหนึ่งของประชาชนเท่านั้น  ถ้าเราเข้าใจว่าคู่ขัดแย้งหลักไม่ใช่คุณทักษิณ  แต่เป็นประชาชนทั้งหมด  เราก็ไม่รู้สึกว่ามันจะมีปัญหาอะไรมาก เพราะคุณทักษิณเป็นคนคนหนึ่งในกระบวนแถวของประชาชนทั้งหมดที่ต่อสู้กับระบอบอำมาตย์  แต่ทั้งหมดนี้เขาเติบโตจนเขารู้ว่าประเทศนี้ถ้าไม่เป็นประชาธิปไตย ถ้าประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม คุณทักษิณกลับมาไม่ได้  ทุกคนต้องการเอาคนผิดมาลงโทษและอยากให้คุณทักษิณกลับมาด้วย 
ประเทศไทยฆ่ากันตายมาหลายรอบแล้ว ผู้ปกครองชิงกระทำให้ฝ่ายหนึ่งบอบช้ำ  ฝั่งที่ถูกกระทำคือประชาชนติดคุกติดตารางสุดท้ายนิรโทษกรรม เลิกแล้วต่อกันทั้งหมดทุกครั้ง  แล้วฝั่งที่ถูกกระทำก็ยอมสยบเพราะอยากให้พวกของตัวเองนั้นจะได้หลุดออกมาจากเรือนจำเสียที  เพราะฉะนั้นคนที่ชิงกระทำความรุนแรงก็เลยได้เปรียบและมีอำนาจในสังคมไทยเสมอมาจนถึงปัจจุบันนี้
 
ดังนั้นการตีโจทย์ผิดจึงนำมาสู่วิธีพูด วิธีคิด วิธีตีความที่แตกต่างกัน  ขอฝากไปยังพรรคเพื่อไทยว่าในประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญหนึ่ง  การปรองดองหนึ่ง  เราไม่รู้ว่าคุณเขียน พรบ. อย่างไร  คุณถามประชาชนบ้างหรือเปล่า แล้วแน่ใจอย่างไรว่าออกมาแล้วประชาชนจะไม่ว่าอะไร ควรทำความเข้าใจว่า ไม่ใช่ว่าประชาชนเลือกมาแล้วจะรับเหมาทำแทนประชาชนได้หมด  เพราะว่านี่คือการต่อสู้อีกขั้นตอนของประชาชน  โดยเฉพาะประเด็น พรบ.ปรองดอง  ควรสอบถามประชาชนให้ได้มีโอกาสเสนอความคิดเห็น  และที่สำคัญประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้ความจริงปรากฎและนำคนผิดมาลงโทษ  ไม่ควรมีการนิรโทษกรรมยกเข่ง  เพราะนั่นจะเป็นการวางระเบิดลูกใหญ่ในสังคมไทยทีเดียว ! ! !
 
 
 
 ธิดา ถาวรเศรษฐ
 
26  พฤษภาคม  2555
           
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท