ศาลตัดสิน “ผอ.ประชาไท” ผิดคดีตัวกลาง สั่งจำคุกแต่ให้รอลงอาญา

ศาลพิพากษาลงโทษ ผอ.ประชาไท ตาม ม.15 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท ให้ความร่วมมือลดโทษเหลือ 8 เดือน ปรับ 20,000 บาท รอลงอาญา 1 ปี 

 

วันนี้ (30 พ.ค.55) เมื่อเวลา 10.50 น.ที่ศาลอาญารัชดา ห้องพิจารณาคดีที่ 704 ศาลพิพากษาคดี จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท (prachatai.com) ในความผิดตามมาตรา 14 และ 15 พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จำคุก 1 ปี ปรับ 30,000 บาท จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 8 เดือน ปรับ 20,000 บาท และจำเลยไม่เคยกระทำความผิดให้รอลงอาญา 1 ปี  ก่อนหน้านี้ ศาลได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่ในวันดังกล่าว ผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์แจ้งขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 30 พ.ค.55 โดยให้เหตุผลว่า เอกสารคดีนี้มีจำนวนเยอะมาก
 
สำหรับบรรยากาศในการเข้าฟังคำพิพากษาวันนี้ มีผู้เข้าร่วมฟังกว่า 100 คน โดยมีตัวแทนจากสถานทูตประจำประเทศไทยจากประเทศต่างๆ กว่า 11 ประเทศ อาทิ อเมริกา อังกฤษ แคนาดา สวีเดน ฟินแลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ เยอรมนี ตัวแทนจากสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย
 
//////////////////////////////////
 
ศาลได้อ่านคำพิพากษา น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการประชาไท จากข้อกล่าวหาว่าจำเลยได้มีการปล่อยให้มีการนำเข้าข้อมูลที่มีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศอยู่ในเว็บบอร์ดโดยที่ข้อความส่วนใหญ่ปรากฏอยู่นาน 1-3,10วัน และมีข้อความหนึ่งปรากฏอยู่ในเว็บบอร์ดนานถึง20วันนั้น

ศาลถือว่าเป็นเวลาที่ควรจะรู้และควรที่จะทำการลบข้อความที่เป็นปัญหาแล้ว จึงถือเป็นการการงดเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามเวลาอันสมควร จึงถือเป็นการยินยอมโดยปริยายให้มีการนำเข้าข้อมูลที่มีความผิดเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์จริง

ส่วนที่จำเลยนำสืบว่าเหตุเกิดจากมีการแสดงความคิดเห็นตามเว็บบอร์ดมากขึ้นหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 และทางเว็บได้เพิ่มมาตรการในการตรวจสอบมากขึ้นตามลำดับนั้น ถือว่าเป็นการกระทำตามหน้าที่แต่ยังไม่ถือว่าเพียงพอ

ในส่วนที่จำเลยยกเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้น ศาลยอมรับว่ามีความสำคัญและถูกระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ การมีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ได้สะท้อนถึงหลักธรรมาภิบาลและประชาธิปไตยขององค์กรและของประเทศนั้นๆ

แต่เมื่อจำเลยเปิดช่องทางให้มีการแสดงความคิดเห็นก็ต้องดูแลตรวจสอบข้อความที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศและสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเคารพเช่นกัน

ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า การให้บริการทางเว็บบอร์ด ข้อความที่ผู้ใช้บริการโพสต์ได้ปรากฏขึ้นทันที โดยไม่สามารถตรวจสอบได้ล่วงหน้า ซึ่งตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ มาตรา15 ว่าด้วยความรับผิดชอบของผู้ใช้บริการไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนในเรื่องเวลา ว่าจะต้องให้จัดการกับข้อความที่ผิดกฎหมายภายในระยะเวลาเท่าไหร่ และไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการแจ้งเตือน

แต่หากจะถือว่าผู้ให้บริการยินยอมและต้องรับผิดชอบโดยทันที ก็ถือว่าไม่ได้ให้ความเป็นธรรมต่อผู้ให้บริการ แต่หากผู้ให้บริการจะอ้างว่าไม่ทราบว่ามีการโพสต์ข้อความดังกล่าว โดยไม่คำนึงถึงหน้าที่ความรับผิดชอบเพื่อให้พ้นจากความผิด ย่อมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

ศาลพิจารณาว่า ข้อความตามฟ้องที่ปรากฏในเว็บบอร์ดในระยะเวลา 1-3,10วัน ยังอยู่ในกรอบเวลาที่ฟังได้ว่าจำเลยไม่ได้รับรู้ถึงการนำเข้าของข้อมูลดังกล่าว แต่สำหรับข้อความที่ถูกนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เป็นเวลา20วัน ไม่อาจรับฟังได้ว่าไม่ได้รับรู้ถึงการนำเข้าของข้อมูล จึงถือว่าเป็นการยินยอม จงใจ หรือ สนับสนุนให้เกิดการกระทำความผิด

ศาลจึงพิพากษาให้มีความผิดตามกฎหมาย มาตรา 15 ประกอบ มาตรา4(3) ให้จำคุกเป็นเวลา1ปี ปรับเป็นเงิน 30,000 บาท แต่เนื่องจากไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและเพื่อให้จำเลยได้มีโอกาสเป็นพลเมืองดีของประเทศชาติ จึงมีเหตุให้บรรเทาโทษให้จำคุก 8 เดือน ปรับ 20,000บาท โทษจำให้รอลงอาญา 1ปี

ลงชื่อผู้พิพากษา กำพล รุ่งรัตน์ และนิตยา แย้มศรี

/////////////////////////

 
 

หลังฟังคำพิพากษา จีรนุช ให้สัมภาษณ์ว่า ค่อนข้างพอใจกับคำพิพากษาที่เรียบเรียงได้อย่างมีเหตุมีผล อย่างไรก็ตามในกระทู้ที่มีความผิด คงเป็นจุดที่ยังไม่พอใจนักและคงต้องปรึกษาทนายว่าจะอุทธรณ์ต่อหรือไม่ เนื่องจากเป็นหนึ่งกระทู้ที่นำไปสู่ประเด็นว่าในฐานะผู้ให้บริการไม่ตรวจตราข้อมูลในเว็บอย่างดีพอ ทำให้มีความผิดฐานยินยอมให้มีข้อความดังกล่าว ซึ่งในทางสากลก็ยังเป็นที่ถกเถียงว่า บทบาทของผู้ให้บริการที่ต้องทำหน้าที่ตำรวจตรวจตราเนื้อหา ถูกต้องชอบธรรมแค่ไหน และหากจะพูดถึงเรื่องเสรีภาพอินเทอร์เน็ตในบ้านเรา หรือโครงสร้างพื้นฐานของการสื่อสาร คงต้องถกเถียงกันต่อไป เพราะจะทำให้การทำงานในลักษณะเซ็นเซอร์ตัวเองไว้ก่อนเกิดมากขึ้น

ส่วนคดีที่ขอนแก่นนั้น จีรนุชกล่าวว่า ขณะนี้ ยังไม่รู้ว่าตำรวจจะสั่งฟ้องหรือไม่

สำหรับข้อเสนอในการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นั้น จีรนุช มองว่า ไม่ควรมีการผนวกรวมการควบคุมเนื้อหาไว้ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เนื่องจากมีกฎหมายอาญาอยู่แล้ว ขณะที่ในส่วนของผู้ให้บริการนั้น ควรมีระเบียบและข้อบังคับใช้กฎหมายที่ชัดเจน ซึ่งคำพิพากษาในวันนี้ก็พูดถึงการที่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ไม่ได้กำหนดรายเอียดไว้ว่าระยะเวลาเท่าใดจึงเท่ากับจงใจ

ธีรพันธุ์ พันธุ์คีรี ทนายความจำเลย ให้สัมภาษณ์ว่า คำพิพากษาครั้งนี้ โดยรวมถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ เพราะศาลได้พิจารณาเรื่องระยะเวลาด้วย คือ กรณีของข้อความบางข้อความที่ปรากฏอยู่ในเว็บบอร์ดในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ศาลก็ได้วินิจฉัยว่า จำเลยได้จัดการลบข้อความออกในระยะเวลาอันสมควรแล้ว

อย่างไรก็ตาม เขาก็ยังมีความเห็นต่างในกระทงที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษโดยวินิจฉัยว่าการที่ข้อความในกระทู้ดังกล่าวปรากฏอยู่เป็นระยะเวลา 20 วัน แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้มีการตรวจตราตรวจสอบเท่าที่ควรจะเป็น ถือเป็นการงดเว้นสิ่งที่จะต้องกระทำ จึงวินิจฉัยว่าจำเลยยินยอมโดยปริยาย

“กรณีที่จำเลยตรวจสอบไม่พบหรือไม่ได้ใช้ความระมัดระวังเพียงพออย่างที่ศาลกล่าว เช่นนั้นแล้วการกระทำของจำเลยก็น่าจะเป็นเพียงความบกพร่องหรือผิดพลาดเท่านั้นเอง ในขณะที่กฎหมายกำหนดไว้ว่า การจะเป็นความผิดได้ ผู้ให้บริการต้องจงใจ สนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดหรือให้มีการโพสต์ข้อความที่ผิดกฎหมาย ผมเห็นว่ากรณีที่จะเป็นการจงใจสนับสนุนหรือยินยอมต้องเป็นกรณีที่มีพยานหลักฐานรับฟังได้โดยแน่ชัด ว่าตัวจำเลยได้รับทราบถึงข้อความที่มีผู้โพสต์ลงในเว็บบอร์ดแล้ว เมื่อทราบแล้วกลับเพิกเฉยไม่จัดการลบออกในทันทีหรือในเวลาอันควร เช่นนี้จึงจะเป็นการจงใจสนับสนุนยินยอม นี่เป็นประเด็นที่คิดว่าถ้าจำเลยประสงค์จะอุทธรณ์ ศาลสูงก็น่าจะวินิจฉัยประเด็นนี้”

ธีรพันธุ์กล่าวว่า คำพิพากษาลักษณะนี้จะเป็นบรรทัดฐานให้กับคดีอื่นๆ เพราะตั้งแต่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ยังไม่เคยมีคดีที่เป็นแบบอย่างเป็นบรรทัดฐานมาก่อน แม้ว่าคำพิพากษาในคดีนี้จะเป็นเพียงคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่ก็เชื่อว่าน่าจะเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่หรือการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เช่นกระทรวงไอซีที หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

 
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

(1) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบาง ส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความ ตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการ ก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)

มาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอม ให้มีการกระทําความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทําความผิดตาม มาตรา 14

 

 

หมายเหตุ: ติดตามรายละเอียดคำตัดสินเร็วๆ นี้
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท