Skip to main content
sharethis

บุคคลแห่งปี 2019 - นำเสนอโดย ประชาไท Prachatai.com

บุคคลแห่งปี 2562: กลุ่มผู้ลี้ภัยทางการเมือง ‘สู้-ตาย’

หลังการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 ประเทศไทยเกิดกลุ่มผู้ลี้ภัยทางการเมืองจำนวนมาก คนจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะกลุ่มที่ลี้ภัยไปประเทศเพื่อนบ้านยังคงทำกิจกรรมทางการเมืองด้วยการเผยแพร่ความคิดของพวกเขาผ่านทางยูทูบ หรือที่เรียกกันว่า ‘วิทยุใต้ดิน’

ปลายปี 2561 ถึงต้นปี 2562 ถือเป็นช่วงวิกฤตหนักสำหรับพวกเขาโดยเฉพาะกลุ่มที่อาศัยอยู่ในประเทศลาว คาดว่าเรื่องนี้มีส่วนสัมพันธ์กับการโต้กลับของรัฐไทยต่อการปรากฏตัวและปฏิบัติการเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า “สหพันธรัฐไท” ในประเทศไทยซึ่งลุกมาทำกิจกรรมช่วงต้นเดือนธันวาคม 2561 กลุ่มนี้มีความคิดต้องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองของรัฐ ท่ามกลางกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้เห็นไปในทางเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางเดือน ธ.ค.2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เดินทางไปเยือนประเทศลาว และนั่นเป็นช่วงที่กลุ่มผู้ลี้ภัยในลาวหลายคนต้องหลบจากที่อยู่เดิมเพื่อความปลอดภัย ก่อนหน้านี้ มีข้อมูลว่าทางการไทยได้ขอตัวคนเหล่านี้กับทางการลาวหลายครั้งแต่ไม่ได้รับความร่วมมือ

หลังจากนั้นปรากฏข่าวการเสียชีวิตของผู้ลี้ภัยกลุ่มหนึ่ง แม้พวกเขาจะไม่ได้มีความเห็นไปทางเดียวกับ “สหพันธรัฐไท” นั่นคือ กลุ่มของสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) ชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือ ”สหายภูชนะ” และ ไกรเดช ลือเลิศ หรือ “สหายกาสะลอง”

ขณะที่กลุ่มอื่นๆ หลบจากที่อยู่เดิมในช่วงเวลาดังกล่าว กลุ่มนี้เลือกที่จะอยู่ในบ้านโดยไม่ออกไปไหน จนต่อมามีข่าวลือว่าทั้ง 3 คนหายตัวไป เกือบครึ่งเดือนให้หลัง หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในจังหวัดนครพนมและสื่อมวลชนกระแสหลักในไทยเผยแพร่ข่าวอาชญากรรม พบศพในแม่น้ำโขงที่มีลักษณะถูกผ่าท้องควักอวัยวะภายในออกมาแล้วนำแท่งปูนยัดเข้าไปในร่างกายเพื่อถ่วงน้ำ สภาพศพถูกมัดแขนและขา รัดคอ ถูกทุบจนใบหน้าเละ ต่อมา ผลการพิสูจน์ DNA ยืนยันชัดเจนว่าศพทั้งสองนั้นคือ สหายภูชนะและสหายกาสะลอง ขณะที่สุรชัยยังไม่มีใครพบว่ายังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตไปแล้ว อย่างไรก็ดี มีความพยายามร้องเรียนด้วยว่ามีอีกศพหนึ่งที่ถูกพบแล้วหายไปด้วยในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่ทางตำรวจปฏิเสธข้อมูลดังกล่าว

อีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มของ สยาม ธีรวุฒิ หรือ สหายข้าวเหนียวมะม่วง ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือ ลุงสนามหลวง และกฤษณะ ทัพไทย หรือ สหายยังบลัด กลุ่มนี้เป็นแกนนำเสนอแนวคิด “สหพันธรัฐไท” พวกเขาหลบจากที่อยู่เดิมในช่วงดังกล่าวแล้วเดินทางออกจากประเทศลาว โดยมีรายงานข่าวว่าได้ใช้พาสปอร์ตปลอมเดินทางเข้าไปยังประเทศเวียดนาม

ต่อมาวันที่ 9 พ.ค.2562 มีข่าวว่าทั้ง 3 ถูกจับกุมและส่งตัวกลับไทย แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าว่าชะตากรรมของทั้งสามเป็นอย่างไร ทางการเวียดนามเองก็แจ้งมายังครอบครัวของสยามว่าไม่มีข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับการเดินทางเข้าประเทศของพวกเขาหรือกระทั่งข้อมูลการส่งตัวกลับไทย

อีกกลุ่มที่เผชิญภาวะวิกฤตในลาวคือ ‘วงไฟเย็น’ ช่วงต้นเดือนสิงหาคมมีข่าวปรากฏว่าสมาชิกบางส่วนของวงนี้ได้เดินทางไปขอลี้ภัยอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสแล้ว และยังได้ร่วมกับผู้ลี้ภัยทางการเมืองคนอื่น เช่น จรรยา ยิ้มประเสริฐ จรัล ดิษฐาอภิชัย และอั้ม เนโกะ จัดกิจกรรมเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ลี้ภัยที่ถูกอุ้มหาย อุ้มฆ่า และสูญหายไปจากประเทศลาวหลายต่อหลายคนตั้งแต่ปี 2559 โดยทำกิจกรรมกันที่บริเวณหน้าสถานทูตไทย ประจำกรุง ปารีส

ขณะที่ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันได้ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ฝรั่งเศส ภายหลังการรัฐประหาร 2557 เขายังใช้เฟสบุ๊คโพสต์ความคิดเห็นและวิพากษ์สถานการณ์ทางการเมือง สถาบันพระมหากษัตริย์ ภาพยนตร์ ฯลฯ แบบที่หาไม่ได้ในประเทศไทย แม้จะยุติการโพสต์ไปเมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2561 เนื่องจากอาการเจ็บป่วย แต่เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมาเขากลับมาไลฟ์สดอีกครั้งสร้างความฮือฮาในโลกโซเชียล ก่อนหน้านั้นมีผู้พบว่าสมศักดิ์เข้ารับชอบถ่ายทอดสดกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ เป็นระยะด้วย

นี่คือสถานการณ์คร่าวๆ ของกลุ่มผู้ลี้ภัยทางการเมืองซึ่งมีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐไทย เราเห็นว่าพวกเขาเป็นกลุ่มบุคคลแห่งปี 2562 เพราะแม้เวลาจะผ่านไปมากกว่า 5 ปีแล้ว แต่ความเคลื่อนไหวของพวกเขาบางคนก็ยังคงอยู่ เช่นเดียวกันการปราปรามก็ยังคงดำเนินต่อเนื่อง ผลกระทบที่เกิดขึ้นดูเหมือนไม่ได้ถูกพูดถึงและตรวจสอบมากนักจากสังคมไทย จากนี้ไปจะพาย้อนไปดูข้อมูลก่อนหน้านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net