Published on ประชาไท Prachatai.com (https://prachatai.com)

Home > คลี่ปมเยียวยา(ตอนจบ) สารพันปัญหาเงินเป็นตัวตั้ง > คลี่ปมเยียวยา(ตอนจบ) สารพันปัญหาเงินเป็นตัวตั้ง

คลี่ปมเยียวยา(ตอนจบ) สารพันปัญหาเงินเป็นตัวตั้ง

Submitted by sarayut on Sat, 2010-08-21 19:06

มูฮำหมัด ดือราแม

 

รายงานชุดคลี่ปมเยี่ยวยา สารพันปัญหาเงินเป็นตัวตั้ง ตอนจบ พูดถึงการกำเนิดขึ้นของ"มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้" หรือ มยส.อันเป็นคุณูปการหนึ่งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส. กับอีกหนึ่งกรณีผู้ได้รับผลกระทบ แต่หมดสิทธิได้รับการเยียวยาตามหลักเกณฑ์รัฐ

คนสูญหาย ไร้การเยียวยา

ยังมีอีกกรณีหนึ่งที่เป็นผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นคือกรณีบุคคลสูญหาย โดยพบว่า ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีผู้สูญที่ได้รับการจดบันทึกไว้ มีทั้งหมด 35 ราย นับตั้งแต่ปี 2545 จนกระทั่งรายล่าสุดที่หายตัวไป เกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2553

นั่นคือ การหายตัวไปของนายดอรอแม เจะและ อายุ 46 ปี ชาวบ้านบ้านลาดอ ตำบลบาราเฮาะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี แต่รายนี้ไม่มีการแจ้งความจากผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภรรยาเนื่องจากความหวาดกลัว

อีกรายหนึ่ง ซึ่งเป็นกรณีเดียวในชายแดนใต้ที่คดีขึ้นสู่ศาล เพราะไม่อาจหาตัวเจอได้ภายในเวลา 2 ปี คือการหายตัวไปของนายมะยาเต็ง มะรานอ นักการภารโรงโรงเรียนบ้านบางลาง อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา จนกระทั่งศาลจังหวัดยะลามีคำสั่งว่า เป็นบุคคลสาบสูญ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มารตรา 61 ด้วย เป็นคำสั่งศาลที่ไม่ได้เอาผิดใคร

ครั้งสุดท้ายที่คนในครอบครัวได้อยู่ด้วยกันกับนายมะยาเต็ง คือ ตอนเที่ยงของวันที่ 24 มิถุนายน 2550 โดยถูกเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนหนึ่งนำตัวไป พร้อมกับรถกระบะ 1 คัน อาวุธปืน 1 กระบอก และโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง

แต่คนที่อยู่ข้างหลังนายมะยาเต็ง ก็ไม่มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือเยียวยาตากหลักเกณฑ์ของรัฐอยู่ดี แม้นางโซมาฮิเดาะห์ ภรรยาจะพยายามเรียกร้องสิทธิในส่วนนี้ ในฐานะที่สามีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ความพยายามก็สูญเปล่า

“หลังจากศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2552 ดิฉันก็เอาคำสั่งศาลนี้ไปให้นายกฤษฎา บุญราช ตอนนั้นยังเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ท่านก็บอกว่าน่าจะเข้าหลักเกณฑ์ผู้ได้รับผลกระทบที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐกรณีเสียชีวิต จะได้เงินช่วยเหลือ 500,000 บาท” นางโซมาฮิเดาะห์ กล่าว

เธอหวังว่า จะเอาเงินจำนวนนี้ไปชำระหนี้ที่สามีทิ้งไว้รวมกว่า 780,000 บาท พร้อมกับภาระเลี้ยงดูลูกชายอีก 2 คน

หลังจากนั้นนายกฤษฎา ได้ส่งเรื่องไปให้นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์และอำนวยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

สุดท้ายคณะอนุกรรมการชุดนี้ได้แจ้งผลการพิจารณามายังเธอว่า ไม่เข้าหลักเกณฑ์ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ อีกทั้งไม่มีการรับรองจากเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย คือ ตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครอง

เธอพยายามวิ่งเต้นเพื่อให้ได้สิทธิในเรื่องนี้ แต่เมื่อหมดทางความพยายามเธอก็ค่อยๆ หดหายลงไปด้วย ล่าสุดมีข่าวว่าโครงการจ้างงานเร่งด่วน เดือนละ 4,500 บาท ที่เธอได้รับอยู่ด้วยว่า จะมีการยกเลิกโครงการ ยิ่งทำให้เธอท้อใจ ยังดีที่พอจะมีน้ำใจจากเพื่อนบ้าน ญาติมิตร และเพื่อนผู้ที่สามีสูญหายไปเหมือนเธอหยิบยื่นให้บ้างเท่านั้น รวมกับน้ำใจจากนายทหารบางคน

กำเนิดมูลนิธิเยียวยา มยส.

คุณูปการอย่างหนึ่งของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน คือ การจัดตั้งกองทุนสมานฉันท์แห่งชาติ เมื่อปี 2548 เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสนับสนุนการสร้างความสมานฉันท์ในชาติ

กองทุนสมานฉันท์แห่งชาติปิดฉากลงเมื่อปลายปี 2552 และเป็นการนับหนึ่งของ "มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้" หรือ มยส.ที่รับหน้าที่ต่อ ซึ่งเป็นข้อเสนอของนายแพทย์ประเวศ วะสี เพื่อต้องการให้มีการขับเคลื่อนการช่วยเหลือเยียวยาผู้รับผลกระทบ และการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน

โดยนำเงินทุนส่วนที่เหลือจากการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและสนับสนุนโครงการต่างๆไม่กี่แสนบาทมาจัดตั้งเป็นมูลนิธิ จากนั้น ได้เชิญศาสตราจารย์นายแพทย์ธาดา ยิบอินซอย อาจารย์พิเศษคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) มาเป็นประธาน โดยจดทะเบียนเป็นมูลนิธิฯ เมื่อเดือนตุลาคม 2552

ศาสตราจารย์นายแพทย์ธาดา กล่าวว่า มูลนิธินี้ตั้งขึ้นมาไม่ใช่เพื่อให้คนมารับเงิน แต่จะเป็นคลังสมอง หน้าที่เราคือสนับสนุนงานเยียวยาที่มีอยู่แล้วให้เข้มแข็งขึ้น แต่จะรู้ได้อย่างไรว่า งานที่ทำไปแล้วดีหรือไม่ดี มูลนิธิต้องการทบทวนทุกงานที่ทำมา แล้วมาจัดว่า งานไหนมีผลลัพธ์ที่ดี ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

ยกตัวอย่างเช่น การทบทวนโครงการสนับสนุนทุนวิจัยกิจกรรมทางเลือก (Alternative Activity Research : AAR) เพื่อเด็ก เด็กกำพร้า เยาวชน สตรี สตรีหม้าย และผู้นำศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ อำเภอจะนะและเทพา จังหวัดสงขลา) ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่สนับสนุนทุนให้กับผู้ได้รับผลกระทบรายละ 5,000 บาท หรือโครงการ AAR ซึ่งมูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้จะรับมาสนับสนุนต่อจาก สกว.

“งานหนึ่งที่เราทำในตำบลหนึ่ง พบว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือโต๊ะอิหม่าม แต่อีกตำบลหนึ่งโต๊ะอิหม่ามมีนิสัยอีกอย่าง ทำให้ว่างานไม่เดิน หรืออีกตำบลหนึ่งพบว่า แม่หม้ายที่สร้างกลุ่มอาชีพอยู่เป็นคนที่รู้จักหลายคน ทำให้สามารถสร้างกลุ่มได้ ส่วนอีกคนชอบทำงานคนเดียว จึงไม่ได้ช่วยให้ชุมชนของเขาเข้มแข็งขึ้นด้วย เราต้องการหาตัวแปรเช่นนี้ เพื่อหาทางช่วยเหลือที่ดีที่สุด ซึ่งอาจแตกต่างกันในแต่ละแห่ง”

สำหรับกลไกหลักอีกส่วนหนึ่งในการทำงานของมูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ นอกจากนักจิตวิยาประจำโรงพยาบาลต่างๆในพื้นที่แล้ว ยังมีกลุ่มบัณฑิตอาสาในสังกัดศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่จะเข้ามาเป็นทีมงานในการเก็บข้อมูล รวมทั้งประเมินและติดตามโครงการ AAR นอกจากนี้ยังมีอีกหลายองค์กรในฐานะเครือข่ายในพื้นที่ที่จะเข้ามาทำงานร่วมกัน เป็นต้น

แม้ตอนนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าผลงานของมูลนิธิมีผลสะเทือนมากน้อยเพียงใด เนื่องจากยังดำเนินการได้ไม่ครบหนึ่งปี แต่ในเดือนพฤศจิกายน 2553 นี้ จะมีเวทีใหญ่เพื่อการประเมินงานทั้งหมดอีกครั้ง

นั่นคือภาพรวมส่วนหนึ่งของงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในปลายด้านขวานของไทย ในส่วนของการใช้เงินเป็นตัวตั้งในวันนี้

.....................................

 
รู้จัก มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ (มยส.)
มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ หรือ มยส. ที่ตั้งชั้น 6 อาคารบริหาร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110 โทรศัพท์ 08 3397 2200 โทรสาร 0 7445 5150 E-mail: dsrrfoundation@gmail.com
 
มยส. จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นแหล่งระดมทุนและประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบ สนับสนุนให้เกิดกิจกรรมเพื่อสร้างความสมานฉันท์และสร้างความเข้มแข็งแก่คนในท้องถิ่น สนับสนุนให้เกิดงานวิจัยหรืองานวิชาการด้านการเยียวยาและความสมานฉันท์ และสื่อสารสาธารณะเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจและการวางนโยบายที่ถูกต้อง
 
มยส.มี 4 แผนการดำเนินงานหลัก ได้แก่ 1.แผนงานการสร้างระบบการเยียวยาบุคคลเชิงคุณภาพ เช่น จัดตั้งกองทุนย่อยเพื่อให้การช่วยเหลือที่รวดเร็วและตรงกับ ความต้องการเฉพาะบุคคล ประสานขอความช่วยเหลือจากองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ 2.แผนงานการเสริมสร้างความเข้มแข็งในพื้นที่ เช่น สนับสนุนให้เกิดกิจกรรมการเยียวยาในชุมชนโดยชุมชน ผ่านโครงการ Alternative Activity Research (AAR) หรือโครงการอื่นๆ ผ่านเครือข่ายหรือบุคคลที่มีศักยภาพ 3. แผนงานวิชาการเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้คู่การพัฒนาคน โดยการศึกษาวิจัย การพัฒนาคน และการจัดการความรู้ และ 4.แผนงานการสื่อสารสาธารณะเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยการเผยแพร่ความจริงในพื้นที่ โดยเฉพาะด้านวิถีชีวิตผ่านสื่อมวลชน จัดการข้อมูลข่าวสารและสื่อสารสาธารณะเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนเชิงนโยบาย
 
กรรมการมูลนิธิ ประกอบด้วย 1. ศาสตราจารย์นายแพทย์ธาดา ยิบอินซอย ประธาน ศาสตราจารย์นายแพทย์วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ รองประธาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปิยะ กิจถาวร เลขานุการ นายแพทย์วรสิทธิ์ ศรศรีวิชัย เหรัญญิก นายโสภณ สุภาพงษ์ นายแพทย์อนันต์ สุไลมาน นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ นายอับดุลรอซัค อาลี และนางมัรยัม สาเม๊าะ กรรมการ
 
ข่าว [1]
การเมือง [2]
คุณภาพชีวิต [3]
สิทธิมนุษยชน [4]
ความมั่นคง [5]
คนสูญหาย [6]
ความมั่นคง [7]
งบประมาณ [8]
ชายแดนใต้ [9]
ผลกระทบ [10]
เยียวยา [11]
เหตุความไม่สงบ [12]

Source URL: https://prachatai.com/journal/2010/08/30784#comment-0

Links
[1] https://prachatai.com/category/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7
[2] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87
[3] https://prachatai.com/category/%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95
[4] https://prachatai.com/category/%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99
[5] https://prachatai.com/category/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%87
[6] https://prachatai.com/category/%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A2
[7] https://prachatai.com/category/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%87-0
[8] https://prachatai.com/category/%E0%B8%87%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%93
[9] https://prachatai.com/category/%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%95%E0%B9%89
[10] https://prachatai.com/category/%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%9A
[11] https://prachatai.com/category/%E0%B9%80%E0%B8%A2%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%B2
[12] https://prachatai.com/category/%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%9A