Published on ประชาไท Prachatai.com (https://prachatai.com)

Home > วารสารศาสตร์ข้อมูล: เราควรจะขอบคุณวิกิลีกส์ #wikileaks #opendata > วารสารศาสตร์ข้อมูล: เราควรจะขอบคุณวิกิลีกส์ #wikileaks #opendata

วารสารศาสตร์ข้อมูล: เราควรจะขอบคุณวิกิลีกส์ #wikileaks #opendata

Submitted by auser15 on Wed, 2010-12-15 16:03

Roy Greenslade [1] (twitter: @GreensladeR [2]) เขียน ; อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล (@bact [3]) แปลและเรียบเรียง

เผยแพร่ครั้งแรกใน http://bact.blogspot.com/2010/12/wikileaks-opendata.html [4]

 

(CNN) 30 ก.ค. 2553 – การโพสต์เอกสาร 92,000 ฉบับบนวิกิลีกส์ (WikiLeaks) [5] เกี่ยวกับสงครามในอัฟกานิสถาน เป็นตัวแทนของการฉลองชัยของสิ่งที่ผมเรียกว่า “วารสารศาสตร์ข้อมูล” (data journalism) [6]

แน่นอนว่ามันต้องมีแหล่งข่าวที่เป็นบุคคล ใครสักคนในที่ไหนสักแห่ง ส่งต่อข้อมูลเหล่านี้ไปยังเว็บไซต์วิกิลีกส์ แต่ไม่ว่าผู้แจ้งความไม่ชอบมาพากลคนนี้จะเป็นใคร มันก็ไม่ได้สำคัญเท่ากับว่า เนื้อหาของเอกสารเหล่านี้มันบอกอะไรกับเรา

ข้อมูลดิบดังกล่าว เป็นขุมทรัพย์ขนาดใหญ่สำหรับนักหนังสือพิมพ์ในสามสำนักข่าว – นิวยอร์กไทมส์ (New York Times สหัรฐอเมริกา) [7], เดอะการ์เดียน (The Guardian สหราชอาณาจักร) [8], และ แดร์ สปีเกล (Der Spiegel เยอรมนี) [9] – ที่จะขุดค้นหาข่าวจากมัน อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีเฉพาะนักข่าวเหล่านั้นเท่านั้น บันทึกประจำวันจากสงครามอัฟกานิสถานนั้นอยู่บนอินเทอร์เน็ต ที่ใครก็เข้าไปขุดค้นสมบัติหาข้อมูลได้

เรื่องเหล่านี้จริง ๆ แล้วไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร นักหนังสือพิมพ์ทำเรื่องเหล่านี้มานานแล้ว พวกเขาอ่านกองเอกสารทีละหน้าทีละหน้า เพื่อมองหาสิ่งผิดปกติ ข้อเท็จจริงเพียงหนึ่งหรือสองชิ้น ซึ่งจะนำไปสู่สกู๊ปสำคัญ

แต่ก็นั่นล่ะ เราต้องยอมรับว่า นักหนังสือพิมพ์ที่ทำงานดังที่กล่าวมา แทบจะไม่หลงเหลืออยู่แล้ว มันทั้งใช้เวลาและแรงงาน แล้วก็ไม่มีสีสันตื่นตาตื่นใจ มันไม่มีสเน่ห์ดึงดูด ด้วยแรงกดดันในองค์กรข่าวสมัยใหม่ ที่จำเป็นต้องทำงานให้มีประสิทธิภาพคุ้มราคา มันเป็นเรื่องยากที่บรรณาธิการข่าวจะอนุญาตให้นักข่าวใช้เวลามาก ๆ ไปกับกองเอกสารท่วมหัว

ความสำเร็จของ “วารสารศาสตร์ข้อมูล” หรือการทำข่าวจากข้อมูลดิบนั้นมักจะถูกลืม ตัวอย่างหนึ่งโดดเด่นก็คือ กรณีข่าวสืบสวนโดยหนังสือพิมพ์ซันเดย์ไทมส์ (Sunday Times) ที่ตามติดกรณียาระงับประสาทของบริษัทยาเยอรมันที่ถูกถอนออกจากตลาดในปี 1961 หลังจากพบว่ามีผลกระทบรุนแรงต่อทารก

ระหว่างการสืบสวนดังกล่าว ซันเดย์ไทมส์จ่ายเงินเพื่อซื้อเอกสารภายในจำนวนมากของบริษัทดังกล่าว และต้องแปลมันทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่ง ฟิลลิป ไนท์ลีย์ (Phillip Knightley) หนึ่งในทีมข่าวกล่าวว่าพวกเขาใช้เวลาเกือบหนึ่งปี ทำงานอย่างหนัก เพื่อทำความเข้าใจเอกสารเหล่านั้น

ถึงในปี 1968 จะยังเป็นสมัยที่ซันเดย์ไทมส์มีกำลังคนพร้อมเพรียง และยินดีที่จะจัดสรรทรัพยากรให้กับทีมนักข่าวสืบสวน ไนท์ลีย์ก็ยังบอกกับเราว่า คนก็ยังสงสัยอยู่ดี ว่ามันจะคุ้มค่าหรือ ที่จะทำข่าวที่ต้องใช้ทั้งเงินและเวลายาวนานขนาดนี้

แม้ในที่สุดข่าวสืบสวนชิ้นนี้จะประสบความสำเร็จ และนำไปสู่การจ่ายเงินชดเชยที่ดีขึ้นแก่ผู้เสียหาย แต่ดูเหมือนว่า ความสงสัยต่อความคุ้มค่าในการลงทุนทำ “วารสารศาสตร์ข้อมูล” ก็ยังคงฝังแน่นอยู่ในองค์กรข่าวส่วนใหญ่ของสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะสำนักพิมพ์ที่กำลังจะตัดงบประมาณของกองบรรณาธิการ

แน่นอนว่า ข่าวสืบสวนคดีวอเตอร์เกต (Watergate) [10] ในต้นทศวรรษ 1970 โดย Bob Woodward และ Carl Bernstein ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นสกู๊ปข่าวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล นั้นมีความสำคัญ รายงานชิ้นดังกล่าวอาศัยแหล่งข่าวที่ปิดเป็นความลับ ที่รู้จักกันในชื่อ “Deep Throat” [11] และตั้งแต่นั้นมา นักหนังสือพิมพ์ก็ตกเป็นทาสของแหล่งข่าวที่เปิดเผยไม่ได้เหล่านี้เสียเอง แต่ข่าวแบบนี้แหละที่มีสเน่ห์ดึงดูด

แหล่งข่าวที่เปิดเผยไม่ได้ ได้กลายเป็นวิถีชีวิตของวารสารศาสตร์สมัยใหม่ ผมเคยบอกกับนักศึกษาวารสารศาสตร์ของผมอย่างนั้นเสมอ ๆ แต่ตอนนี้ผมยอมรับแล้วว่า ผมให้ความสำคัญกับมันมากเกินไป จนให้ความสำคัญน้อยเกินไปกับการค้นหา อ่าน และวิเคราะห์ข้อมูลดิบ

ถ้าหนังสือพิมพ์นั้น เป็นร่างแรกของประวัติศาสตร์ อย่างที่เรานักหนังสือพิมพ์มักอ้างกัน เราก็ควรจะต้องทำงานให้ใกล้เคียงกับนักประวัติศาสตร์เสียหน่อย บรรดานักประวัติศาสตร์พยายามมองหาแหล่งข้อมูลชั้นต้น เพื่อที่จะสร้างความเข้าใจที่ดีขึ้นกับเหตุการณ์ในอดีต

สิ่งที่สำคัญมาก ๆ ของข้อมูลต่างๆ ในวิกิลีกส์นั้นคือ มันเป็นข้อมูลที่ทันสมัย มันทำให้นักหนังสือพิมพ์และสาธารณะเข้าใจชัดเจนขึ้น ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ในอัฟกานิสถาน ในแง่นี้ ข้อมูลเหล่านี้ที่ทุกคนเข้าไปอ่านได้ ช่วยมอบความเข้าใจที่มีค่ามหาศาลให้กับเรา

อย่างไรก็ตาม การโพสต์เอกสารขึ้นอินเทอร์เน็ตโดยตัวมันเองไม่ใช่การทำข่าว มันเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการข่าว มันยังต้องการการวิเคราะห์ วางบริบท และในบางกรณี การเซ็นเซอร์ที่จำเป็นเพื่อที่จะปกป้องปัจเจกบุคคลที่ถูกระบุในเอกสารดัง กล่าว

ผมทราบว่า นักข่าวอาชีพไม่ได้เป็นคนเพียงกลุ่มเดียวที่สามารถทำงานนี้ได้ แต่พวกเขาส่วนใหญ่ มีทักษะที่จำเป็นต่าง ๆ ดังกล่าว และมีความรู้ที่จะทำให้พวกเขาทำงานดังกล่าวได้ดี การรายงานโดย เดอะการ์เดียน และ นิวยอร์กไทมส์ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน

มันอาจจะไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรโดยทันที ไม่มีประธานาธิบดีต้องออกจากตำแหน่ง เหมือนกรณีวอเตอร์เกต แต่สิ่งที่ถูกทำให้ปรากฏจากเอกสาร คือการยืนยันสิ่งที่สื่อในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาสงสัยมาโดยตลอด เกี่ยวกับสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน ว่ามันเลวร้ายและมีแต่จะแย่ลง ๆ นับตั้งแต่ปี 2004 มันตบหน้ารายงานประเมินอย่างเป็นทางการที่แสนสวยงาม

ข้อมูลดิบทั้งหมดดังกล่าวมานั้น เชื่อถือได้มากกว่า เพราะมันเป็นรายงานโดยทหารในสนามรบจริง ๆ ว่าพวกเขาพบเห็นและประสบอะไรบ้าง มันไม่มีการปั่นข่าว ตัวรายงานนั้นอาจไม่ได้เป็นวัตถุวิสัย – ซึ่งก็ไม่เคยมีอะไรที่เป็นเช่นนั้น – แต่รายงานเหล่านี้ก็ไม่ได้ถูกเขียนขึ้นเพื่อจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทาง การเมือง

ใช่ เราอาจพูดได้ว่า การที่วิกิลีกส์โพสต์ข้อมูลอ่อนไหวดังกล่าวในพื้นที่สาธารณะ ในตัวมันเองนั้นก็ไม่ได้เป็นวัตถุวิสัยอยู่แล้ว แต่ผมขอสนับสนุนสิ่งที่ จูเลียน อัสซานจ์ (Julian Assange) [12] หัวหน้าบรรณาธิการของวิกิลีกส์ เรียกร้องต่อองค์กรข่าวต่าง ๆ ให้เปิดเผยข้อมูลดิบออกสู่สาธารณะให้มากขึ้น

เขาเชื่อว่าการกระทำดังกล่าว จะทำให้กิจกรรมของงานข่าวโปร่งใสมากขึ้น ในการสัมภาษณ์เมื่อไม่นานนี้ เขายืนกรานว่า “วารสารศาสตร์ควรจะเป็นเหมือนวิทยาศาสตร์มากขึ้น” และเสริมว่า: “มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ข้อเท็จจริงต่าง ๆ จะต้องถูกตรวจสอบยืนยันได้ ถ้านักหนังสือพิมพ์ต้องการที่จะให้อาชีพของพวกเขามีความน่าเชื่อถือไว้วางใจ ได้มากขึ้น พวกเขาจำเป็นต้องเดินไปในทิศทางนั้น เคารพคนอ่านให้มากขึ้น”

โดยธรรมชาติของตัวมันเอง การทำข่าวจากแหล่งข่าวบุคคล (source journalism) [13] ย่อมถูกปิดบังไม่ให้สาธารณะได้เห็น การทำข่าวจากข้อมูลดิบ (data journalism) นั้นเปิดเผยมากกว่า โดยเฉพาะเมื่อข้อมูลดิบนั้นถูกโพสต์ขึ้นอินเทอร์เน็ต เพราะในกรณีที่มีการวิเคราห์ข้อมูลชุดเดียวกันในแนวทางที่ต่างกัน ข้อมูลดิบเหล่านั้นมันอนุญาตให้สาธารณะตัดสินได้ว่าการวิเคราะห์อันไหนที่ น่าเชื่อถือกว่า

เรานักหนังสือพิมพ์ ควรจะต้องดีใจที่มีเว็บไซต์อย่างวิกิลีกส์อยู่ นั่นเพราะไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม หน้าที่ที่สำคัญที่สุดของเราก็คือการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ สาธารณะ ที่คนที่มีความเชื่อเป็นอย่างอื่นต้องการจะเก็บมันเป็นความลับ

เว็บไซต์ดังกล่าวสมควรจะได้รับการสรรเสริญชื่นชมจากพวกเรา และมันจำเป็นจะต้องได้รับการปกป้องจากพลังฝ่ายขวา ที่หาทางจะหลีกเลี่ยงจากการถูกเปิดโปง

 


Roy Greenslade [1] เป็นศาสตราจารย์ด้านวารสารศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยซิตี้ยูนิเวอร์ซิตี้ ลอนดอน เขาเขียนบล็อกรายวันเกี่ยวกับสื่อให้กับเว็บไซต์ The Guardian [14] และเขียนคอลัมน์รายสัปดาห์ในหนังสือพิมพ์ London Evening Standard เขาเป็นนักวิจารณ์สื่อมา 18 ปี โดยก่อนหน้านั้นเขาเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ Daily Mirror ของสหราชอาณาจักร บรรณาธิการบริหารของ Sunday Times และผู้ช่วยบรรณาธิการของ The Sun

เรียบเรียงจาก “We should be thankful for WikiLeaks” [15] โดย Roy Greenslade ตีพิมพ์ในเว็บไซต์ CNN.com 30 ก.ค. 2553 (ลิงก์ต่าง ๆ ที่แทรกในเอกสารนี้โดยผู้แปลเอง)

เข้าถึงเนื้อหาของ WikiLeaks [16] จากเมืองไทย ได้ที่เว็บไซต์ ThaiLeaks.info [17]
โดยทุกคนสามารถดาวน์โหลดเนื้อหาทั้งหมดของวิกิลีกส์ได้ทาง torrent

บทความ [18]
การเมือง [19]
ต่างประเทศ [20]
ไอซีที [21]
data journalism [22]
database journalism [23]
freedom of information [24]
journalism [25]
open data [26]
Roy Greenslade [27]
Wikileaks [28]
อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล [29]

Source URL: https://prachatai.com/journal/2010/12/32308#comment-0

Links
[1] http://www.guardian.co.uk/profile/roygreenslade
[2] https://twitter.com/GreensladeR
[3] https://twitter.com/bact
[4] http://bact.blogspot.com/2010/12/wikileaks-opendata.html
[5] https://secure.wikimedia.org/wikipedia/en/wiki/WikiLeaks
[6] https://secure.wikimedia.org/wikipedia/en/wiki/Database_journalism
[7] http://www.nytimes.com/
[8] http://www.guardian.co.uk/
[9] http://www.spiegel.de/international/
[10] https://secure.wikimedia.org/wikipedia/en/wiki/Watergate_scandal
[11] https://secure.wikimedia.org/wikipedia/en/wiki/Deep_Throat
[12] https://secure.wikimedia.org/wikipedia/en/wiki/Julian_Assange
[13] http://www.thirdworldtraveler.com/Democracy_America/AllCongressmen%27sMen_BA.html
[14] http://www.guardian.co.uk/media/greenslade
[15] http://edition.cnn.com/2010/OPINION/07/29/wikileaks.roy.greenslade/index.html
[16] http://213.251.145.96/
[17] http://thaileaks.info/
[18] https://prachatai.com/category/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1
[19] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87
[20] https://prachatai.com/category/%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8
[21] https://prachatai.com/category/%E0%B9%84%E0%B8%AD%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%97%E0%B8%B5
[22] https://prachatai.com/category/data-journalism
[23] https://prachatai.com/category/database-journalism
[24] https://prachatai.com/category/freedom-of-information
[25] https://prachatai.com/category/journalism
[26] https://prachatai.com/category/open-data
[27] https://prachatai.com/category/roy-greenslade
[28] https://prachatai.com/category/wikileaks
[29] https://prachatai.com/category/%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A2%E0%B9%8C-%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B8%A5