Published on ประชาไท Prachatai.com (https://prachatai.com)

Home > ชาวคะฉิ่นเรียกร้องยุติความขัดแย้ง - หลังเกิดสงครามในรัฐคะฉิ่นครบ 1 ปี > ชาวคะฉิ่นเรียกร้องยุติความขัดแย้ง - หลังเกิดสงครามในรัฐคะฉิ่นครบ 1 ปี

ชาวคะฉิ่นเรียกร้องยุติความขัดแย้ง - หลังเกิดสงครามในรัฐคะฉิ่นครบ 1 ปี

Submitted by user8 on Sat, 2012-06-09 01:49

องค์กรสิทธิมนุษยชนคะฉิ่นเผยแพร่รายงานเนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปี ที่ทหารพม่าสู้รบกับทหารคะฉิ่น เผยขณะนี้มีผู้อพยพกว่า 7.5 หมื่นคน มีการคุกคามประชาชนจากทหารฝ่ายรัฐบาล โดยที่ทางการพม่ามักปฏิเสธสิ่งที่เกิดขึ้น ขณะที่สื่อมวลชนคะฉิ่นเรียกร้องให้รัฐบาลพม่ายอมเจรจากับกองทัพคะฉิ่น

เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย หรือ เอฟซีซีที ชาวคะฉิ่น จากรัฐคะฉิ่น ประเทศพม่า ได้จัดแถลงข่าว เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปี การเกิดสงครามระหว่างกองทัพพม่าและกองทัพอิสรภาพคะฉิ่น หรือ เคไอเอ โดยสมาชิกขององค์กรประชาสังคมในรัฐคะฉิ่น และสื่อมวลชนพลัดถิ่นชาวคะฉิ่นได้กล่าวถึงปัญหาที่ชาวคะฉิ่นกว่า 75,000 คน ซึ่งต้องอพยพเนื่องจากการสู้รบ และต้องเผชิญกับวิกฤตด้านมนุษยธรรมซึ่งไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลืออย่างแท้จริง ทั้งจากองค์กรภายในประเทศ และจากองค์กรระหว่างประเทศ

"ความขัดแย้งที่ปะทะกันด้วยอาวุธที่เริ่มเมื่อปีที่แล้ว ผู้คนต้องเผชิญกับการจับกุมคุมขังตามอำเภอใจ การทรมาน การบังคับใช้แรงงาน การข่มขืน และการล่วงละเมิดทางเพศ ด้วยฝีมือของกองกำลังของรัฐบาลซึ่งกระทำโดยที่ไม่ต้องรับโทษ และเจ้าหน้าที่มักปฏิเสธการเกิดขึ้นของสิ่งเหล่านี้ นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมพวกเราจึงสามารถพูดได้ว่า ไม่มีการปฏิรูปอย่างแท้จริงในประเทศของเรา" นางควัง เส่ง ปาน รองผู้ประสงานของสมาคมสตรีคะฉิ่นประจำประเทศไทย หรือ KWAT กล่าว ทั้งนี้สมาคมสตรีคะฉิ่นประจำประเทศไทยได้เผยแพร่รายงานในวันนี้เช่นกัน โดยใช้ชื่อว่า "การยกเว้นโทษที่ต่อเนื่อง: ความโหดร้ายที่ดำเนินต่อไปของกองทัพพม่าต่อประชาชนคะฉิ่น" หรือ "“Ongoing Impunity: Continued Burma Army atrocities against the Kachin people.” โดยในรายงานเป็นการรวบรวมสถานการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐคะฉิ่น

หน่อ ลา โฆษกของเครือข่ายพัฒนาคะฉิ่น (Kachin Development Network Group) กล่าวถึงผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากเขื่อน เหมืองหยก เหมืองทอง และอุตสาหกรรมป่าไม้ในรัฐคะฉิ่นว่า "การทำสงครามที่เพิ่มทวีขึ้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาเหล่านี้ และนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มากขึ้น ชัดเจนว่ารัฐบาลได้มุ่งเน้นพัฒนาและการลงทุนมากกว่าความกินดีอยู่ดีของประชาชน มีความจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ปัญหาด้วยวิถีทางการเมืองต่อเรื่องความขัดแย้งทางเชื่อชาติเสียก่อน การพัฒนาจึงจะให้ประโยชน์ต่อประชาชน และสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาได้อย่างแท้จริง

"องค์กรเพื่ออิสรภาพคะฉิ่น ที่อยู่ในฝ่ายตั้งรับตลอด ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อเรียกร้องให้มีการเจรจาทางการเมืองอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามรัฐบาลปฏิเสธที่จะร่วมเจรจาทางการเมือง แต่ต้องการให้หยุดยิงเท่านั้น การเจรจาหยุดยิงหลายรอบประสบความล้มเหลว ขณะที่ประชาชนยังคงได้รับผลกระทบต่อไป ได้เวลาแล้วสำหรับสันติภาพและการเจรจาทางการเมืองอย่างแท้จริง" นอว์ ดิน บรรณาธิการของสำนักข่าวคะฉิ่น (KNG) กล่าว

ทั้งนี้การแถลงข่าวในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ทั่วโลกโดยชุมชนชาวคะฉิ่น องค์กรประชาสังคม และผู้สนับสนุนเพื่อเรียกร้องให้มีการยุติวิกฤตกาลทางมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นในรัฐคะฉิ่น ทั้งนี้เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (5 มิ.ย.) มีชาวคะฉิ่นและผู้สนับสนุนประมาณ 40 คน จัดการประท้วงที่หน้าสถานทูตพม่าประจำกรุงเทพฯ พร้อมยื่นจดหมายถึงประธานาธิบดีเต็ง เส่งด้วย ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการที่เกิดขึ้นทั่วโลก

สำหรับกองทัพอิสรภาพคะฉิ่น หรือ KIA ได้ทำสัญญาหยุดยิงกับกองทัพพม่าตั้งแต่ปี 2537 และได้พื้นที่ปกครองตนเองบริเวณชายแดนรัฐคะฉิ่นติดกับจีน อย่างไรก็ตาม เกิดเหตุตึงเครียดระหว่างทั้งสองฝ่ายนับตั้งแต่ปี 2553 หลัง KIA ปฏิเสธเป็นกองกำลังรักษาชายแดน (Border guard force - BGF) ตามคำสั่งของกองทัพพม่า และได้เกิดการปะทะกันเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ปี 2554 เมื่อทหารพม่ามากกว่า 200 นาย ได้ข้ามมายังเขตควบคุมของ KIA และโจมตีฐานของทหารคะฉิ่น ใกล้หมู่บ้านปราง กาดัง

 

ข่าว [1]
ต่างประเทศ [2]
สิทธิมนุษยชน [3]
กองทัพพม่า [4]
กองทัพอิสรภาพคะฉิ่น [5]
การปฏิรูปในพม่า [6]
การสู้รบในรัฐฉิ่นครบ 1 ปี [7]
ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ [8]
ผู้ลี้ภัย [9]
พม่า [10]
รัฐคะฉิ่น [11]

Source URL: https://prachatai.com/journal/2012/06/40945#comment-0

Links
[1] https://prachatai.com/category/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7
[2] https://prachatai.com/category/%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8
[3] https://prachatai.com/category/%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99
[4] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%9E%E0%B8%9E%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%B2
[5] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%9E%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%84%E0%B8%B0%E0%B8%89%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%99
[6] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%B2
[7] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%89%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%9A-1-%E0%B8%9B%E0%B8%B5
[8] https://prachatai.com/category/%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%96%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8
[9] https://prachatai.com/category/%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2
[10] https://prachatai.com/category/%E0%B8%9E%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%B2
[11] https://prachatai.com/category/%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%84%E0%B8%B0%E0%B8%89%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%99