Published on ประชาไท Prachatai.com (https://prachatai.com)

Home > จี้รัฐฯ ถอนสัญญาซื้อไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรี ขู่ฟ้องศาลปกครอง 7 ส.ค.นี้ > จี้รัฐฯ ถอนสัญญาซื้อไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรี ขู่ฟ้องศาลปกครอง 7 ส.ค.นี้

จี้รัฐฯ ถอนสัญญาซื้อไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรี ขู่ฟ้องศาลปกครอง 7 ส.ค.นี้

Submitted by user04 on Tue, 2012-07-24 15:38

ที่มาภาพ: หยุด เขื่อนไซยะบุรี(stop Xayaburi Dam) [1]

 

 
ภาพจำลอง "เขื่อนไซยะบุรี" ที่จะปิดกั้นแม่น้ำโขง เขตเมืองไซยะบุรีที่อยู่ห่างจาก เมืองหลวงพระบางเพียง 80 กิโลเมตร เขื่อนมีความสูง 32.8 เมตร ยาว 820 เมตร ใช้เงินก่อสร้างมากกว่า 3.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ปีละ 1,295 เมกะวัตน์ โดยส่งมาประเทศไทย 95% ของกำลังการผลิตทั้งหมด
 
 
วันที่ 23 ก.ค.55 เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ออกแถลงการณ์ เรียกร้องรัฐบาลไทยเพิกถอนสัญญาซื้อพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี ทำการศึกษาผลกระทบเครือข่ายฯ หากไม่ดำเนินการเตรียมฟ้องร้องต่อศาลปกครอง โดยนัดหมายกำหนดวันฟ้องในวันที่ 7 สิงหาคมนี้
 
แถลงการณ์ ระบุว่า ตามที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะองค์กรของรัฐ ได้ทำสัญญาซื้อพลังงานไฟฟ้า (Power Purchase Agreement - PPA) จากเขื่อนไซยะบุรี กับ บริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อเดือนตุลาคม 2554 และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สื่อมวลชนและเครือข่ายองค์กรสิ่งแวดล้อมได้ลงพื้นที่เขตก่อสร้างเขื่อนไปแล้วกันเป็นระยะๆ ซึ่งต่างนำข้อเท็จจริงและหลักฐานต่างๆ ออกมาแสดงให้เห็นว่ามีการเริ่มลงมือก่อสร้างโครงการเขื่อนไปแล้ว
 
สัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานข่าวทางสื่อมวลชนถึงท่าทีของรัฐบาลลาว ว่าตัดสินใจให้ชะลอโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีบนแม่น้ำโขง โดยจะทำการศึกษาผลกระทบเพิ่มเติม ซึ่งรัฐบาลเวียดนาม และกัมพูชา ก็ได้แสดงความเป็นห่วงต่อผลกระทบข้ามพรมแดนสู่ประเทศท้ายน้ำ แต่ในเวลาต่อมาได้ผู้บริหารบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ กลับให้ข้อมูลผ่านสื่อมวลชนในอีกลักษณะหนึ่งว่าจะปรับเปลี่ยนแบบเขื่อน และการศึกษาเหล่านี้จะไม่กระทบแผนการก่อสร้างเขื่อนตามที่วางไว้ ซึ่งนั่นหมายความว่าการเดินหน้าโครงการยังคงดำเนินต่อไป และเหตุผลสำคัญที่ผู้บริหารบริษัท ช.การช่างฯ ใช้ในการเดินหน้าโครงการคือสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้ายังไม่ได้ถูกระงับหรือยกเลิก
 
ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 16-17 กรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลลาวพยายามที่จะพิสูจน์ความจริงใจโดยการนำประเทศพันธมิตรที่ไปดูข้อเท็จจริงของการก่อสร้าง แต่กลับไม่มีข้อยืนยันถึงแผนที่จะชะลอโครงการเพื่อทำการศึกษาผลกระทบ และยืนยันต่อคณะผู้แทนว่าจะไม่มีการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน ขณะที่มีหลักฐานชัดเจนจากสื่อมวลชนว่าได้มีการถมดินกั้นแม่น้ำโขงยาวหลายร้อยเมตรจนแทบปิดกั้นลำน้ำ ซึ่งภาพที่ออกมาสร้างความวิตกกังวลให้กลับหลายฝ่าย ที่สำคัญคือความคับข้องใจและความเคลือบแคลงสงสัยที่เกิดขึ้นจากท่าทีของรัฐบาลลาว
 
เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ด้วยความเป็นห่วง พร้อมทั้งทักท้วงในประเด็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากเขื่อนมาโดยตลอด โดยเฉพาะผลกระทบต่อระบบนิเวศแม่น้ำ การอพยพของปลาแม่น้ำโขง การประมง ความมั่นคงทางอาหารของชุมชน รายได้ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชุมชนตลอดลุ่มน้ำ
 
ในวาระนี้ เครือข่ายประชาชนไทยเพื่อแม่น้ำโขง ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ระงับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ระหว่าง กฟผ.และบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด และดำเนินการผลักดันให้มีการทำการศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากเขื่อนไซยะบุรี ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพ ตลอดจนดำเนินการเปิดเผยข้อมูล รับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำ ซึ่งเป็นผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง มิเช่นนั้นจะถือเป็นการละเมิดสิทธิตามบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญไทย และกฎหมายอื่นๆ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงการละเมิดกฎหมายภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการปล่อยให้โครงการที่มีผลกระทบรุนแรงและไม่สามารถแก้ไขคืนมาได้ ได้ดำเนินการไปโดยขาดการศึกษา และการปรึกษาหารือ ตามที่ควร ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้ และที่มีแนวปฏิบัติระดับสากลเป็นแนวทางกำกับอยู่อีกด้วย
 
 
 
แถลงการณ์เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง
 
เรียกร้องรัฐบาลไทยเพิกถอนสัญญาซื้อพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี ทำการศึกษาผลกระทบ
 
เครือข่ายฯ พร้อมฟ้องศาลปกครอง 7 สิงหาคม
 
23 กรกฎาคม 2555
 
ตามที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะองค์กรของรัฐ ได้ทำสัญญาซื้อพลังงานไฟฟ้า (Power Purchase Agreement - PPA) จากเขื่อนไซยะบุรี กับ บริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อเดือนตุลาคม 2554 และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สื่อมวลชนและเครือข่ายองค์กรสิ่งแวดล้อมได้ลงพื้นที่เขตก่อสร้างเขื่อนไปแล้วกันเป็นระยะๆ ซึ่งต่างนำข้อเท็จจริงและหลักฐานต่างๆออกมาแสดงให้เห็นว่ามีการเริ่มลงมือก่อสร้างโครงการเขื่อนไปแล้ว
 
สัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานข่าวทางสื่อมวลชนถึงท่าทีของรัฐบาลลาว ว่าตัดสินใจให้ชะลอโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีบนแม่น้ำโขง โดยจะทำการศึกษาผลกระทบเพิ่มเติม ซึ่งรัฐบาลเวียดนาม และกัมพูชา ก็ได้แสดงความเป็นห่วงต่อผลกระทบข้ามพรมแดนสู่ประเทศท้ายน้ำ แต่ในเวลาต่อมาได้ผู้บริหารบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ กลับให้ข้อมูลผ่านสื่อมวลชนในอีกลักษณะหนึ่งว่าจะปรับเปลี่ยนแบบเขื่อน และการศึกษาเหล่านี้จะไม่กระทบแผนการก่อสร้างเขื่อนตามที่วางไว้ ซึ่งนั่นหมายความว่าการเดินหน้าโครงการยังคงดำเนินต่อไป และเหตุผลสำคัญที่ผู้บริหารบริษัท ช.การช่างฯใช้ในการเดินหน้าโครงการคือสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้ายังไม่ได้ถูกระงับหรือยกเลิก
 
โครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีเป็นประเด็นปัญหาในภูมิภาคมานานนับปี โดยเขื่อนแห่งนี้มีขนาด 1,260 เมกะวัตต์ งบประมาณลงทุนก่อสร้างสูงกว่า 1 แสนล้านบาท นำโดยบริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน) ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนด้านการเงินจากธนาคารพาณิชย์ไทยอย่างน้อย 4 แห่ง ขณะที่ กฟผ. ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยจะรับซื้อไฟฟ้าประมาณร้อยละ 95 สู่ประเทศไทย แต่รายงานข้อเสนอแนะต่อแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า (PDP 2012) จากภาคประชาชน ระบุว่าประเทศไทยไม่ต้องการไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีแต่อย่างใด และที่ผ่านมาภาคประชาชนได้เคยทวงจริยธรรมและคุณธรรมของสถาบันการเงินในการปล่อยกู้ให้กับธุรกิจมาแล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ ซึ่งคงจะต้องมีการทวงถามกันต่อไป
 
เป็นที่ทราบกันดีว่าเขื่อนไซยะบุรียังไม่ได้รับฉันทามติจาก 4 ประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงตอนล่าง อันได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 ที่ได้กําหนดให้มีระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA) ซึ่งกําหนดไว้ว่าประเทศสมาชิกจะต้องแจ้งต่อคณะกรรมการร่วมของ MRC (Joint Committee) ในกรณีที่ประเทศมีความประสงค์ที่จะมีโครงการพัฒนาสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ใดๆ (เช่น โครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้า เขื่อน) บนแม่น้ำโขงสายหลักหรือแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าโครงการดังกล่าวอาจจะสร้างผลกระทบข้ามเขตแดนต่อประชาชนหรือสิ่งแวดล้อมที่อยู่ปลายน้ำ
 
ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 16-17 กรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลลาวพยายามที่จะพิสูจน์ความจริงใจโดยการนำประเทศพันธมิตรที่ไปดูข้อเท็จจริงของการก่อสร้าง แต่กลับไม่มีข้อยืนยันถึงแผนที่จะชะลอโครงการเพื่อทำการศึกษาผลกระทบ และยืนยันต่อคณะผู้แทนว่าจะไม่มีการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน ขณะที่มีหลักฐานชัดเจนจากสื่อมวลชนว่าได้มีการถมดินกั้นแม่น้ำโขงยาวหลายร้อยเมตรจนแทบปิดกั้นลำน้ำ ซึ่งภาพที่ออกมาสร้างความวิตกกังวลให้กลับหลายฝ่าย ที่สำคัญคือความคับข้องใจและความเคลือบแคลงสงสัยที่เกิดขึ้นจากท่าทีของรัฐบาลลาว
 
เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ด้วยความเป็นห่วง พร้อมทั้งทักท้วงในประเด็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากเขื่อนมาโดยตลอด โดยเฉพาะผลกระทบต่อระบบนิเวศแม่น้ำ การอพยพของปลาแม่น้ำโขง การประมง ความมั่นคงทางอาหารของชุมชน รายได้ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชุมชนตลอดลุ่มน้ำ
 
ในวาระนี้ เครือข่ายประชาชนไทยเพื่อแม่น้ำโขง ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ระงับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ระหว่าง กฟผ. และบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด และดำเนินการผลักดันให้มีการทำการศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากเขื่อนไซยะบุรี ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพ ตลอดจนดำเนินการเปิดเผยข้อมูล รับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำ ซึ่งเป็นผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง มิเช่นนั้นจะถือเป็นการละเมิดสิทธิตามบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญไทย และกฎหมายอื่นๆ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงการละเมิดกฎหมายภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการปล่อยให้โครงการที่มีผลกระทบรุนแรงและไม่สามารถแก้ไขคืนมาได้ ได้ดำเนินการไปโดยขาดการศึกษา และการปรึกษาหารือ ตามที่ควร ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้ และที่มีแนวปฏิบัติระดับสากลเป็นแนวทางกำกับอยู่อีกด้วย
 
ทั้งนี้ หากไม่มีการระงับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว ท้ายที่สุดชาวบ้านจึงเตรียมฟ้องร้องต่อศาลปกครอง โดยนัดหมายกำหนดวันฟ้องในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ณ ศาลปกครองกลาง กรุงเทพมหานคร
 
 
 
 
 

 

นักข่าวพลเมือง [2]
คุณภาพชีวิต [3]
สิทธิมนุษยชน [4]
สิ่งแวดล้อม [5]
สังคม [6]
เขื่อนไซยะบุรี [7]
เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง [8]
แถลงการณ์ [9]
แม่น้ำโขง [10]

Source URL: https://prachatai.com/journal/2012/07/41717#comment-0

Links
[1] http://www.facebook.com/Stopxayaburidam
[2] https://prachatai.com/category/%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87-0
[3] https://prachatai.com/category/%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95
[4] https://prachatai.com/category/%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99
[5] https://prachatai.com/category/%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1
[6] https://prachatai.com/category/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1
[7] https://prachatai.com/category/%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%8B%E0%B8%A2%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%B5
[8] https://prachatai.com/category/%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%99-8-%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B9%82%E0%B8%82%E0%B8%87
[9] https://prachatai.com/category/%E0%B9%81%E0%B8%96%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C
[10] https://prachatai.com/category/%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B9%82%E0%B8%82%E0%B8%87