ศาลสั่งคดีที่ 3 ไต่สวนการตายเสื้อแดง ตายด้วยกระสุนจากกลุ่มทหาร
ระบุกระสุน ขนาด .223 สังหาร "ชาติชาย ชาเหลา" คืน 13 พ.ค.53 ถูกยิงมาจากกลุ่มเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ด่านตรวจ ถ.พระราม 4 โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้กระทำ ส่งสำนวนกลับไปยังพนักงานอัยการเพื่อดำเนินการต่อไป
วันนี้(17 ธ.ค.55) เวลา 10.30 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้อ่านคำสั่งชันสูตรพลิกศพ การเสียชีวิตของนายชาติชาย ชาเหลา ตามคดีหมายเลขดำ ช.6/2555 ที่อัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพ การตายของ นายชาติชาย เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 53 เวลากลางคืน ในช่วงที่มีการกระชับพื้นที่การชุมนุมของ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.) โดย ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นการตายที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ อัยการจึงขอให้ศาลทำการไต่สวนและมีคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน ตายเมื่อใด เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150
โดย ศาลได้มีคำสั่งว่า ผู้ตายคือนายชาติชาย ชาเหลา ถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 53 เวลา 23.37 น. โดยเหตุและพฤติการณ์การตาย สืบเนื่องมาจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด ขนาด .223 (5.56 ม.ม.) เป็นเหตุให้สมองฉีกขาดร่วมกับกะโหลกศีรษะแตกอย่างมาก ซึ่งวิถีกระสุนปืนมาจากแนวด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงาน ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบ ถ.พระราม 4 โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ
ทั้งนี้ศาลยังได้พิเคราะห์ ถึงพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่าย ระบุข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ระหว่างวันที่ 12 มี.ค. - 19 พ.ค.53 มีการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งใช้ชื่อว่า กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี(นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่ใหม่ แต่นายกปฏิเสธคำเรียกร้อง กลุ่ม นปช. จึงชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยมีการขยายพื้นที่การชุมนุมไปยังสี่แยกราชประสงค์ ถนนเพลินจิต ถนนพระราม 1 ถนนพระราม 4
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 เม.ย.53 รัฐบาลพิจารณาเห็นว่าการชุมนุมทางการเมืองดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ จึงได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ กทม.และอีกหลายพื้นที่ โดยนายกฯ ได้ออกคำสั่งที่ พิเศษ 1/2553 จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. โดยมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ(นายสเทพ เทือกสุบรรณ) และมีข้าราชการทหาร ตำรวจและพลเรือน เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ และคำสั่งพิเศษที่ 2/2553 แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงานหัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และมีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และได้ออกข้อกำหนดโดยประกาศของ ศอฉ. ห้ามกระทำการต่างๆ เพื่อให้เจ้าพนักงานสามารถปฏิบัติหน้าที่แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้
โดยระหว่างวันที่ 13 พ.ค.2553 เวลา 06.00 น. ถึงวันที่ 14 พ.ค.53 เวลา 06.00 น. ศอฉ.มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานซึ่งมีอาวุธประจำการ ได้แก่ ปืนเล็กยาวเอ็ม 16 ปืนเล็กสั้นเอ็ม 653 ปืนเล็กยาวแบบ 11(HK 33) ปืนลูกซองและปืนพก ออกไปตั้งด่านแข็งแรงบริเวณ ถนนพระราม 4 ซึ่งในวันที่ 13 พ.ค.53 เวลาประมาณ 21.00 น. ระหว่างเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ ผู้ตายกับพวกซึ่งเป็นผู้ชุมนุม นปช. ได้รวมตัวกัน ทยอยเคลื่อนที่เข้าหาด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงาน และได้ยิงพลุและตะไลเข้าใส่เจ้าพนักงาน ส่วนผู้ตายถือกล้องถ่ายวิดีโอถ่ายภาพระหว่างเคลื่อนที่เข้าหาด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงาน ระหว่างนั้นมีเสียงปืนดังขึ้นกระสุนปืนถูกผู้ตายที่ศีรษะทะลุด้านหลัง ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
คำสั่งศาลระบุถึงปัญหาต้องวินิจฉัยมีเพียงว่า เหตุและพฤติการณ์แห่งการตายของผู้ตายเป็นอย่างไร โดยศาลเห็นว่าผู้ร้องมีประจักษ์พยาน(เจ้าหน้าที่กู้ชีพของวิชรพยาบาล)ยืนยันว่าว่าเห็นแสงที่เชื่อว่าเป็นกระสุนปืนมาจากแนวตั้งด่านของฝ่ายเจ้าพนักงาน ซึ่งพยานเป็นคนกลางไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด เชื่อว่าพยานเบิกความตามความจริงที่รู้เห็นมา เมื่อรับฟังประกอบความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญ เชื่อได้ว่าวิถีกระสุนมาจากทางแยกศาลาแดง แนวตั้งด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงาน ทั้งปรากฏจากทางไต่สวนว่าจุดเกิดเหตุอยู่ใกล้บริษัทกฤษณา มาร์เก็ตติ้ง จำกัด และอาคารอื้อจือเหลียง ถนนพระราม 4 ซึ่งบริเวณนั้นมีเพียงเจ้าพนักงาน ตั้งด่านตรวจแข็งแรงและเจ้าพนักงานมีอาวุธประจำกายได้แก่ ปืนเล็กยาวเอ็ม 16 ปืนเล็กสั้นเอ็ม 653 ปืนเล็กยาวแบบ 11(HK 33) ปืนลูกซองและปืนพก ดูแลพื้นที่ตามคำสั่ง ศอฉ. และด้านหลังแนวตั้งด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงานเป็นบังเกอร์ ซึ่งบุคลภายนอกไม่สามารถผ่านเข้าไปได้ ยกเว้รถพยาบาลเท่านั้น
เมื่อไม่ปรากฏจากการไต่สวนว่ามีบุคคลฝ่ายที่ 3 เข้ามาก่อเหตุใดๆ ทั้งกระสุนปืนขนาด .223 ที่ยิงมาถูกผู้ตายก็เป็นกระสุนปืนขนาด .223 ที่ยิงมาถูกผู้ตายก็เป็นกระสุนปืนขนาดเดียวกับกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนเล็กยาวเอ็ม 16 ปืนเล็กสั้นเอ็ม 653 ปืนเล็กยาวแบบ 11(HK 33) ซึ่งเจ้าพนักงานใช้ประจำการในการดูแลความสงบเรียบร้อยบริเวณที่เกิดเหตุ พฤติการณ์จึงเชื่อได้ว่ากระสุนดังกล่าวถูกยิงมาจากกลุ่มเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ด่านตรวจแข็งแรงดังกล่าว โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้กระทำ
ศาลอ่านรายงานในวันนี้ด้วยว่าหลังจากศาลได้อ่านคำสั่งแล้ว ให้ส่งสำนวนการไต่สวนของศาลไปยังพนักงานอัยการเพื่อดำเนินการต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 วรรค 11
ญาติและทนายญาตินายชาติชาย ชาเหลา
ในวันนี้ได้มีภรรยา แม่และญาติของผู้ตายเข้าร่วมฟังคำสั่งด้วย และภายหลังศาลมีคำสั่งแล้ว นางพลอน ขบวนงาม มารดานายชาติชายผู้ตาย ได้ถือรูปผู้ตายมาพร้อมให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวด้วยว่า รู้สึกดีใจเมื่อทราบคำสั่งของศาล แต่ก็ยังโกรธจากที่ลูกชายตัวเองต้องเสียชีวิต อย่างไรก็ตามถึงตอนนี้ถือได้ว่าคดีเดินมาในแนวที่ถูกต้อง จากการได้ทราบสาเหตุการณ์ตาย โดยครอบครัวได้รับการเยียวยาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลแล้ว อย่างไรก็ตามการเสียลูกชายไปส่งผลกระทบต่อครอบครัวอย่างมากเพราะเขาจะช่วยครอบครัวด้วยการขับรถแท็กซี่
พี่สาวของนายชาติชาย กล่าวด้วยว่าตนเองยังรู้สึกโกรธอยู่เพราะน้องชายตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด แต่กลับต้องมาถูกทำร้าย อยากถามถึงคนที่ยิงน้องชายตัวเองว่าถ้าเกิดกับครอบครัวตัวเองบ้างจะรู้สึกอย่างไร แต่ก็ภูมิใจที่น้องตนเองจากคำตัดสินวันนี้ และยังมีคนติดตามสนใจการเสียชีวิตของน้องตัวเอง ถือว่าน้องตัวเองไม่ได้เสียชีวิตฟรี พี่สาวนายชาติชายยังกล่าวถึงน้อยชายตัวเองด้วยว่าเขาเป็นคนสู้ แม้เป็นเพียงคนขับรถแท็กซี่ ขนาดแท็กซี่เขาถูกยึดไปเขายังสู้จนตัวเขาตาย คิดว่าคนที่ต้องรับผิดชอบกรณีนี้เขาก็คงรู้อยู่แก่ใจ
สำหรับคดีของนายชาติชาย ถือเป็นคดีที่ 3 ที่ศาลมีคำสั่งในการไต่สวนการเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากการสลายการ ชุมนุมของ นปช. ช่วง เมษา – พ.ค. 53 โดยก่อนหน้านั้น ศาลได้มีคำสั่งไปแล้ว 2 คดีคือคดีของนายพัน คำกอง [1] และนายชาญณรงค์ พลศรีลา [2] ว่าเกิดจากการ กระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะคดีนายพัน ดีเอสไอได้นำพยานหลักฐานจากคำสั่งไปแจ้งข้อหาต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีต ผอ.ศอฉ. ในข้อหาร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล
และหลังจากนี้ยังมีอีก 2 คดีที่ รอคำสั่งศาลคือ 20 ธ.ค.นี้ คดี ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรือ “อีซา” [3] อายุ 12 ปี ที่ถูกยิงเสียชีวิตจากบาดแผลกระสุนปืนความเร็วสูงที่หลังทะลุเข้าช่องท้องทำ ให้เลือดออกมากในช่องท้อง เมื่อวันที่ 15 พ.ค. เวลาหลังเที่ยงคืน ที่บริเวณใต้แอร์พอร์ตลิงค์ ปาก ซ.หมอเหล็ง หน้าโรงภาพยนตร์ โอเอ ถนนราชปรารภ ซึ่งนายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความญาติผู้เสียชีวิต ยืนยันว่าเป็นเหตุการณ์เดียวกับ นายพัน คำกอง
และ 16 ม.ค.นี้ คดีของนายบุญมี เริ่มสุข [4] อายุ 71 ปี ซึ่งถูกยิงที่ย่านบ่อนไก่ บริเวณท้อง ด้านซ้ายกระสุนตัดลำไส้เล็กขาดตอน เมื่อวันที่ 14 พ.ค.53 และเสียชีวิตเมื่อ วันที่ 28 ก.ค.53