นศ.แต่งดำประท้วงสภาดันร่าง ม.นอกระบบ - ม.ราชภัฏสวนดุสิต ผ่านวาระ1
สภาผู้แทนฯ มีมติรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตแล้ว แกนนำแนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบแต่งดำประท้วง เผยเห็นด้วยมหาวิทยาลัยควรมีอิสระ แต่ต้องตรวจสอบและคานอำนาจได้จากนักศึกษาและประชาชน เผยเตรียมล่ารายชื่อเสนอ พ.ร.บ. สวนกลับ ‘พิมพ์เขียวมหาวิทยาลัย’
วัฒนา เซ่งไพเราะ รับหนังสื่อเรียกร้อง ภาพโดย Kolf Iskra [1]
13 มี.ค.56 เวลา 11.30 น. ที่หน้าอาคารรัฐสภา ถนนอู่ทองใน นักศึกษาประมาณ 20 คน จากแนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบ [2] ซึงเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยบูรพาและมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สวมชุดดำเผาหรีดประท้วงสภาผู้แทนราษฎรที่จะพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ พร้อมทั้งมีการยื่นหนังสือเรียกร้องถึงประธานรัฐสภา เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรถอน 1.ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสวนดุสิต พ.ศ.…. 2.ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ.....3.ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ..... ออกจากวาระการประชุมสภา ซึ่งจะมีการพิจารณาในขั้นรับหลักการในวันนี้ พร้อมทั้งให้กลับมาพิจารณากันใหม่ในแต่ละมหาวิทยาลัยอย่างมีส่วนร่วม โดยเวลา 13.00 น. นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานรัฐสภา ออกมารับหนังสือเรียกร้องดังกล่าว
ช่วงเย็นที่ผ่ามา สำนักข่าวไทย [3] รายงานด้วยว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการวาระ 1 ในร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตแล้ว ด้วยคะแนนเสียง 388 ต่อ 1 คะแนน งดออกเสียง 1 คะแนน และได้ตั้งคณะกรรมาธิการ 30 คนขึ้นมาพิจารณาแปรญัตติภายใน 7 วัน นอกจากนี้ที่ประชุมสภาฯ ได้ให้ความเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในวาระ 3 ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 360 คะแนน โดยก่อนลงมติมีรายงานด้วยว่าเกิดเหตุวุ่นวายขึ้นระหว่างการตรวจนับองค์ประชุม โดย ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาลโต้เถียงกันไปมา เมื่อมีการทักท้วงความคืบหน้าการตรวจสอบการกดบัตรแทนกัน สุดท้ายต้องนับคะแนนโดยการขานชื่อก่อนจะรับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าว
นายนิพิฐพนธ์ คำยศ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และแกนนำแนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบ กล่าวหลังทราบผลมติดังกล่าวว่า เราเสนอให้สภาฯ ถอนร่าง พ.ร.บ.ออกมาโดยตลอด โดยมีการยื่นข้อเรียกร้องต่อทั้งประธานรัฐสภา ประธานวิปฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านไว้ก่อนแล้ว เพื่อให้นำเอา ร่าง พ.ร.บ เหล่านั้นกลับมาทำประชาพิจารณ์ในมหาวิทยาลัยอย่างมีส่วนร่วมก่อน เพราะที่ผ่านมาไม่เกิดกระบวนการเหล่านี้ขึ้นในมหาวิยาลัยอย่างโปร่งใส
แกนนำแนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบ ได้ยกตัวอย่างกรณีปัญหาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เกี่ยวกับกระบวนการเสนอร่าง พ.ร.บ.นี้ว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ยังไม่รู้เรื่องนี้ การที่นำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบในขณะที่นักศึกษาไม่รู้และกำลังปิดภาคการศึกษา ถือว่าไม่แฟร์สำหรับนักศึกษาด้วย รวมทั้ง พ.ร.บ.นี้เอื้ออำนวยต่อผู้บริหารมากเกินไป และไม่มีการตรวจสอบได้ สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจในการจัดซื้อจัดจ้าง หรือซื้อขายทรัพย์สินต่างๆ ในมหาวิทยาลัย รวมทั้งนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเราคิดว่าควรมีอะไรใน พ.ร.บ. เพื่อที่จะไปคาดอำนาจกับเขา เช่น กลไกจากนิสิตนักศึกษา หรือประชาชน เข้าไปคานอำนาจและตรวจสอบ
นายนิพิฐพนธ์ กล่าวย้ำด้วยว่า เราเห็นด้วยกับการที่มหาวิทยาลัยจะมีความอิสระและความคล่องตัวในการบริหาร แต่ก็ต้องมีการตรวจสอบและคานอำนาจได้จากนักศึกษาและประชาชน รวมทั้งที่มาของผู้บริหารและสภามหาวิทยาลัยต้องมาจากการเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง
แกนนำแนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบ เปิดเผยถึงการเคลื่อนไหวต่อไปของกลุ่มว่า เตรียมจะมีการล่ารายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายเกี่ยวกับพิมพ์เขียวมหาวิทยาลัย เพื่อให้มีอำนาจตรวจสอบผู้บริหาร ให้สิทธิกับนักศึกษาและบุคลากรมากขึ้น เป็นต้น