เสวนาวิชาการทำความเข้าใจผลกระทบสารรมควันเมทิลโบรไมด์ กลุ่มเอ็นจีโอแจงผลการทดลองขจัดสารตกค้างโดยการซาวน้ำและหุงที่แตกต่างกับหน่วยงานรัฐ ทั้งแนะไทยควรกำหนดค่าสารพิษตกค้าง MRLให้ต่ำกว่า 50 ppm พร้อมขอมีส่วนร่วมกำหนดค่ากับหน่วยงานรัฐ
วันนี้ (8 ส.ค.56) โครงการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและพัฒนากลไกเพื่อยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เป็นอันตรายร้ายแรง และ
เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ
มูลนิธิชีววิถี (Biothai) จัดเสวนาทางวิชาการ “ความจริงเรื่องเมทิลโบรไมด์ (methyl bromide) และโบรไมด์อิออน (bromide ion)” ณ เคยูโฮม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจถึงผลกระทบของการใช้เมทิลโบรไมด์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค เผยแพร่ข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน รวมทั้งเสนอแนะแนวทางการควบคุมและการกำหนดค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (MRLs) ของสารดังกล่าวในอาหารและผลผลิตทางการเกษตร
จากกรณีมูลนิธิชีววิถี และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลตรวจพบข้าวสารบรรจุถุงยี่ห้อโคโค่ มีการตกค้างของสารรมควันเมทิลโบรไมด์ ในรูปของโบรไมด์อิออน เกินค่ามาตรฐาน จนนำมาสู่การตรวจสอบโกดังบรรจุข้าวยี่ห้อนี้ และดำเนินการเรียกเก็บจากชั้นวางจำหน่ายในร้านค้าทั่วประเทศ ทำให้เกิดการตื่นตัวของสังคม และมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องออกมาให้ข้อมูลการตกค้างและพิษภัยของเมทิลโบรไมด์และโบรไมด์อิออน แต่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพิษภัยและการจัดการสารดังกล่าวที่ตกค้างในอาหารของแต่ละหน่วยงานมีความแตกต่างกัน
วอยซ์ทีวี รายงานว่า นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ชี้แจงว่า ทางมูลนิธิฯ ใช้ค่ามาตรฐานในการตรวจสอบสารตกค้างในข้าว แบบเดียวกับกรมวิชาการเกษตร และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมทั้งไม่ได้เข้าใจผิดหรือสับสนระหว่างการตรวจวัดค่าเมทิลโบรไมด์ และโบรไมด์อิออน พร้อมย้ำว่า ที่ผ่านมาทางมูลนิธิฯ ตรวจสอบการตกค้างของการรมควันเมทิลโบรไมด์ โดยตรวจวัดเป็นค่าโบรไมด์อิออน ตามค่ามาตรฐานของ CODEX (โคเด็กซ์) ซึ่งกำหนดค่าการตกค้างของโบรไมด์อิออนในข้าวสารไม่เกิน 50 ppm
ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตร กรมวิชาการเกษตร ยืนยันว่า สารรมควันเมทิลโบรไมด์ มีความสำคัญด้านการฆ่าแมลงในเมล็ดธัญพืชทั่วโลก สิ่งสำคัญคือการใช้อย่างถูกวิธี เพื่อไม่ให้เกิดสารพิษตกค้างไปถึงผู้บริโภค แต่ก็ยอมรับว่าในอนาคตกำลังจะนำวิธีอื่นมาทดแทนสารนี้
นอกจากนี้ เว็บไซต์
เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) เผยแพร่สรุปประเด็นเสวนาวิชาการใน 4 ประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้
1.การหาปริมาณสารรมควันพิษเมทิลโบรไมด์ตกค้างในข้าวสารบรรจุถุงของทุกหน่วยงาน คือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิชาการเกษตร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและมูลนิธิชีววิถี วัดค่าการตกค้างของสารโบรไมด์อิออนเหมือนกัน และแปลผลโดยเปรียบเทียบกับค่าปริมาณการตกค้างสูงสุดของโบรไมด์อิออนของโคเด็กซ์ (Codex MRL) ซึ่งกำหนดไว้ที่ 50 ppm เช่นเดียวกัน
ผลการตรวจวิเคราะห์พบการตกค้างสอดคล้องกันในข้าวสารบรรจุถุงยี่ห้อโคโค่ ดังนั้นทุกฝ่ายต่างเข้าใจตรงกันว่า วิธีการตรวจวัด ผลการตรวจ และการแปลผลของมูลนิธิชีววิถีและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมิได้ผิดพลาด สับสน หรือแปลผลไม่ถูกต้องแต่ประการใด
2.ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันว่าอันตรายของเมทิลโบรไมด์และโบรไมด์อิออนมีความแตกต่างกัน โดยเมทิลโบรไมด์มีพิษเฉียบพลันต่อผู้ใช้ และระยะยาวมีแนวโน้มเป็นสารก่อมะเร็ง
ในขณะที่โบรไมด์อิออนที่ตกค้างเกิน 50 ppm มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ เพราะโบรไมด์อิออนจะแย่งจับไอโอดีนในร่างกาย ทำให้เป็นปัญหากับประชาชนบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มประชากรที่ขาดไอโอดีน ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ หรือประชากรที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากทะเล เช่น บางมณฑลของจีนแผ่นดินใหญ่ สาธารณรัฐเช็ก และประชากรในพื้นที่ภาคอีสาน หรือภาคเหนือของไทยที่ยังพบว่ามีบางส่วนขาดไอโอดีน
3.ข้อมูลการขจัดโบรไมด์อิออนที่ตกค้างโดยการซาวน้ำและหุงของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและมูลนิธิชีววิถี เทียบกับหน่วยงานราชการมีส่วนที่สอดคล้องกันและแตกต่างกัน โดยเมื่อเปรียบเทียบงานวิจัยของ Nakamura และคณะ (1993) ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารระหว่างประเทศที่น่าเชื่อถือ และการทดลองเบื้องต้นโดยกรมวิชาการเกษตร
พบว่ามีผลการวิจัยบางส่วนใกล้เคียงกัน คือ การซาวน้ำสามารถลดการตกค้างได้บางส่วน กล่าวคือ Nakamura นำข้าวมาซาวน้ำ 3 ครั้งๆละ 5 นาที จะเหลือโบรไมด์อิออนตกค้าง 51% ในขณะที่การทดลองของกรมวิชาการเกษตร พบว่า เมื่อซาวน้ำ 1 ครั้ง จะเหลือโบรไมด์อิออนตกค้าง 60.6% และเมื่อซาวน้ำ 2 ครั้งจะเหลือโบรไมด์อิออนตกค้าง 46.2%
แต่มีความแตกต่างกันของปริมาณการตกค้างหลังหุง ซึ่ง Nakamura พบว่ายังเหลือโบรไมด์อิออนตกค้างถึง 41.2% ในขณะที่การทดลองของกรมวิชาการเกษตรระบุว่าเหลือโบรไมด์อิออนตกค้างเพียง 15.4% จากความแตกต่างของผลการทดลองดังกล่าว จึงควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในประเด็นนี้เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค
4.การกำหนดค่าสารพิษตกค้าง หรือ MRL ในข้าวสาร ยังจำเป็นต้องหาข้อมูลและทำความเข้าใจเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
- การกำหนดค่า MRL โบรไมด์อิออนของประเทศจีน โดยมูลนิธิฯ อ้างอิงจากฐานข้อมูลของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA International Maximum Residue Level Database) ที่ระบุค่าเพียง 5 ppm แต่กรมวิชาการเกษตรแจ้งว่าได้ถามไปยังหน่วยงานของจีนแล้วได้รับคำตอบว่าตัวเลข 5 ppm เป็นการกำหนดค่าเมทิลโบรไมด์มิใช่โบรไมด์อิออน
ที่ประชุมเห็นว่าควรนำหลักฐานที่ชัดเจนมากกว่านี้เพื่อยืนยันข้อเท็จจริงของแต่ละฝ่ายในเรื่องดังกล่าว
- สำหรับค่าค่าของระดับที่ยอมรับได้ต่อวัน หรือ ADI ของโบรไมด์อิออนที่ Codex กำหนดไว้ 1 มก./กก.น้ำหนักตัว ต่อวัน นั้นมีงานวิชาการของ Van Leeuwen และคณะ (1983) ได้ทำการวิจัยและเสนอให้มีการปรับค่า ADI ว่าควรจะอยู่ที่ 0.1 มก./กก.น้ำหนักตัว ต่อวัน เท่านั้น (ค่า ADI มีความสำคัญต่อการกำหนดค่า MRL ต่อไป)
ในกรณีนี้มูลนิธิฯ เห็นว่าประเทศไทยควรกำหนดค่า MRL ของโบรไมด์อิออนให้ต่ำกว่าค่าของ Codex และประสงค์จะขอเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดค่าดังกล่าวของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้ นักวิชาการที่ร่วมการเสวนาครั้งนี้ ประกอบด้วย ผศ.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางบุษรา จันทร์แก้วมณี ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตร นางประภัสสรา พิมพ์พันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุอันตราย กรมวิชาการเกษตร และนางกนกพร อธิสุข นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณาจารย์จากสถาบันการศึกษา สมาชิกเครือข่ายผู้บริโภค และตัวแทนจากมูลนิธิชีววิถีและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค