Published on ประชาไท Prachatai.com (https://prachatai.com)

Home > ผู้เสนอทฤษฎีอนุภาคฮิกส์ โบซอน ได้โนเบลฟิสิกส์ปี 2013 > ผู้เสนอทฤษฎีอนุภาคฮิกส์ โบซอน ได้โนเบลฟิสิกส์ปี 2013

ผู้เสนอทฤษฎีอนุภาคฮิกส์ โบซอน ได้โนเบลฟิสิกส์ปี 2013

Submitted by user13 on Wed, 2013-10-09 10:14

เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2013 มีการประกาศรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ โดยผู้ที่ได้รับรางวัลคือนักวิทยาศาสตร์สองคนที่เป็นผู้ตั้งทฤษฎีเกี่ยวกับอนุภาคชื่อฮิกส์ โบซอน (Higgs Boson) เมื่อราวเกือบ 50 ปีที่แล้ว ซึ่งเพิ่งถูกประกาศค้นพบโดยองค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (CERN) เมื่อปี 2012

ผู้ได้รับรางวัลทั้งสองคนเป็นนักฟิสิกส์ชื่อ ฟรองซัว อองเกลอร์ จากประเทศเบลเยียม และปีเตอร์ ฮิกส์ จากสหราชอาณาจักร ซึ่งเมื่อปี 1964 พวกเขาได้ตั้งทฤษฎีอนุภาคฮิกส์ ซึ่งถูกนำมาใช้อธิบายว่าทำไมอนุภาคมูลฐานของจักรวาลถึงมีมวล โดยก่อนหน้านี้ เรื่องนี้ถือเป็นปริศนาในแบบจำลองมาตรฐานของฟิสิกส์เชิงอนุภาค

สตาฟฟาน นอร์มาร์ก เลขาธิการถาวรของราชบัณฑิตสภาด้านวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน (Royal Swedish Academy of Sciences) กล่าวว่ารางวัลโนเบลสาชาฟิสิกส์ของปีนี้ เป็นสิ่งเล็กๆ ที่ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป เว็บไซต์ไลฟ์ไซเอนท์ระบุว่านักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกเมื่อทราบข่าวนี้ก็พากันยินดีบอกว่า "เป็นวันที่วิเศษสุดสำหรับวงการฟิสิกส์เชิงอนุภาค"

มีนากชี นาเรน จากมหาวิทยาลัยบราวน์ รัฐโรดไอแลนด์ ผู้เข้าร่วมทีมสำรวจพิสูจน์อนุภาคฮิกส์ใน CERN กล่าวว่ารางวัลนี้ถือเป็นเกียรติสำหรับผลงานการค้นพบครั้งสำคัญของสองนักฟิสิกส์ และการค้นพบถือเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งในวงการฟิสิกส์

CERN ได้แบ่งทีมวิจัยออกเป็นสองทีมเพื่อค้นหาอนุภาคฮิกส์โดยทดลองภายในเครื่องชนอนุภาคขนาดใหญ่ (Large Hadron Collider - LHC) จนกระทั่งค้นพบเมื่อเดือน มิ.ย. 2012 และได้ประกาศยืนยันการค้นพบในเดือน มี.ค. ปีนี้

นอกจาก อองเกลอร์และฮิกส์ แล้วในปี 1964 ยังมีนักวิทยาศาสตร์อีกคนชื่อโรเบิร์ต เบราท์ ที่ร่วมตีพิมพ์แนวคิดนี้ผ่านทางวารสารฟิสิกส์ แต่กฏตามที่คณะกรรมการรางวัลโนเบลประกาศไว้ห้ามไม่ให้มอบรางวัลแก่ผู้เสียชีวืตแล้ว และจำกัดให้มีผู้ร่วมรับรางวัลได้ไม่เกิน 3 คน อีกทั้งไม่อนุญาตให้รางวัลกับกลุ่มองค์กรซึ่งผิดกับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

โจ อินแคนเดลา โฆษกของหนึ่งในทีมวิจัยของ CERN กล่าวว่า เมื่อนักฟิสิกส์ที่ CERN ได้ยินคำประกาศรางวัลนี้ พวกเขารู้สึกปิติยินดีมาก โดยในฐานะนักทดลอง พวกเขาคงไม่หวังอะไรกับรางวัลโนเบล รางวัลสำหรับพวกเขาคือการค้นพบ และพวกเขายินดีที่ผลงานของพวกเขาเป็นที่รับรู้

เว็บไซต์ไลฟ์ไซเอนท์กล่าวว่า หลังค้นพบอนุภาคฮิกส์ทำให้แบบจำลองมาตรฐานของฟิสิกส์สมบูรณ์แล้ว ปริศนาหลังจากนี้เป็นเรื่องของการทำความเข้าใจบทบาทของแรงโน้มถ่วง การค้นคว้าเรื่องสสารมืดและพลังงานมืด ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่ร้อยละ 96 ของจักรวาล

"เมื่อการมีอยู่ของอนุภาคฮิกส์ได้รับการยืนยันแล้ว ทำให้อธิบายได้ว่าเหตุใดอนุภาคพื้นฐานในธรรมชาติถึงมีมวล ในตอนนี้พวกเราก็สามารถออกเผชิญสิ่งใหม่ๆ ที่ท้าทายความเข้าใจเรา เช่นปรากฏการณ์เรื่องสสารมืด และทฤษฎีโน้มถ่วงเชิงควอนตัม (quantum gravity)" ฟรานเซส เซาน์เดอส์ ประธานสถาบันฟิสิกส์ของอังกฤษกล่าว

คำอธิบายอนุภาคฮิกส์โบซอนอย่างง่ายๆ

สำนักข่าวบีบีซีได้นำเสนอแผนภาพเพื่ออธิบายทฤษฏีอนุภาคฮิกส์อย่างง่ายๆ โดยนักวิทยาศาสตร์ตั้งทฤษฎีว่า การที่สิ่งต่างๆ มีมวลเนื่องจากมีสิ่งที่เรียกว่า "สนามพลังฮิกส์" (Higgs field) โดยมวลในที่นี้วัดจากการถูกต้านการเคลื่อนไหวของสิ่งนั้นๆ

แผนภาพแรกเปรียบเทียบสนามพลังฮิกส์เป็นห้องๆ หนึ่งซึ่งมีนักฟิสิกส์ยืนคุยกันอยู่ จากนั้นในแผนภาพที่สองก็มีนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังเดินเข้ามาในห้อง ทำให้คนในห้องถูก 'กระตุ้น' ความสนใจและหยุดการพูดคุย

แผนภาพที่สามแสดงให้เห็นนักวิทยาศาสตร์ถูกห้อมล้อมด้วยคนที่อยู่ในห้อง ทำให้เธอเดินผ่านไปในห้องได้ยากลำบาก ซึ่งเป็นการเปรียบเปรยว่า เมื่อนักวิทยาศาสตร์ผู้นี้เข้ามาในห้องเธอก็ได้รับมวล (การถูกต้านการเคลื่อนไหว) จาก "สนามพลัง" ของกลุ่มแฟนคลับ ซึ่งแฟนคลับผู้รายล้อมแต่ละคนเปรียบเสมือนอนุภาคฮิกส์หนึ่งอนุภาค

และในแผนภาพที่สี่ เมื่อนักวิทยาศาสตร์อีกคนหนึ่งที่เป็นที่นิยมน้อยกว่าเดินเข้ามาในห้องเดียวกัน ก็มีกลุ่มคนเข้าไปรายล้อม แต่มีน้อยกว่าและไม่มีเสียงตะโกนเรียกความสนใจ ทำให้นักวิทยาศาสตร์คนใหม่เคลื่อนตัวผ่านห้องได้ง่ายกว่า ซึ่งในที่นี้เปรียบเทียบกับการที่มีสิ่งใหม่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับอนุภาคฮิกส์จำนวนน้อยกว่า ทำให้เขามีมวลน้อยกว่า

เรียบเรียงจาก

Higgs Boson's Nobel Nod Marks 'Fantastic Day' for Particle Physics, Livescience, 08-10-2013
http://www.livescience.com/40251-higgs-boson-nobel-prize-reactions.html [1]

Higgs boson scientists win Nobel prize in physics, BBC, 08-10-2013
http://www.bbc.co.uk/news/science-environment-24436781 [2]

ข่าว [3]
ต่างประเทศ [4]
วิทยาศาสตร์ [5]
ฟิสิกส์ [6]
รางวัลโนเบล [7]
อนุภาค [8]
ฮิกส์ โบซอน [9]

Source URL: https://prachatai.com/journal/2013/10/49153#comment-0

Links
[1] http://www.livescience.com/40251-higgs-boson-nobel-prize-reactions.html
[2] http://www.bbc.co.uk/news/science-environment-24436781
[3] https://prachatai.com/category/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7
[4] https://prachatai.com/category/%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8
[5] https://prachatai.com/category/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C-0
[6] https://prachatai.com/category/%E0%B8%9F%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B9%8C
[7] https://prachatai.com/category/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A5%E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%A5
[8] https://prachatai.com/category/%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84
[9] https://prachatai.com/category/%E0%B8%AE%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B9%8C-%E0%B9%82%E0%B8%9A%E0%B8%8B%E0%B8%AD%E0%B8%99