รวมมีมล้อภาพ “คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม”
4 พ.ย.2556 หลังสภาผู้แทนราษฏรผ่าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวาระ 3 เมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เคลื่อนไหวคัดค้าน ร่างฯ ฉบับเหมาเข่ง สุดซอย หรือ set zero ดังกล่าวจำนวนมาก โดยเฉพาะในประเด็นที่จะนิรโทษฯรวมเอาคดีที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริต และที่สำคัญคือคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก นอกจากการเคลื่อนไหวบนท้องถนนเพื่อแสดงจุดยืนแล้ว ในโซเชียลเน็ตเวิร์กก็ไม่แพ้กัน มีการใช้รูปโปรไฟล์หรือโพสต์รูปในเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมแสดงการคัดค้าน ซึ่งมีลักษณะที่เป็นรูปแบบเดียวกันคือรูปสี่เหลี่ยมสีดำมีข้อความด้านในสีขาวว่า “คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” ภาพนี้ยังปรากฏอยู่บนป้ายโฆษณาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ด้วย
ภาพป้ายคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ภาพโดย Prainn Rakthai [1]
อย่างไรก็ตามเนื่องจากในโซเชียลเน็ตเวิร์กมักพบวัฒนธรรมหนึ่งที่สำคัญคือการล้อเลียน(parody)กับกระแส และภาพสี่เหลี่ยมจตุรัสสีดำ (ซึ่งบางคนเรียก “แผ่นรองแก้ว”) นี่ก็ถูกหยิบขึ้นมาเป็นมีม พร้อมข้อความการคัดค้านต่างๆที่ผุดขึ้นมามากมายในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งประชาไทได้รวบรวมไว้บางส่วนดังนี้
ภาพจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ "อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้องป๊อป [2]”
โดยผู้ที่คัดค้าน ร่างฯ ฉบับนี้ ซึ่งเน้นประเด็น เรื่องการคัดค้านการปราบปรามหรือสลายการชุมนุม โดยเฟซบุ๊กแฟนเพจ "อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้องป๊อป [2]” พร้อมกล่าวด้วยว่า “ของพวก สามเสน มีแค่สามบรรทัดบน ของพวก สามแสน ต้องมีสองบรรรทัดล่าง" รวมทั้งมีการทำป้ายโดยมีข้อความตามชื่อแฟนเพจตัวเองด้วย
ผู้ใช้ชื่อเฟซบุ๊กว่า "Ratthapol Supasopon [3]" ขึ้นรูปประจำตัวหรือรูปโปรไฟล์ว่า "สนับสนุน พ.ร.บ.นิรโทากรรมฉบับนิติราษฏร์ ดำเนินคดีคนสั่งฆ่าประชาชน เอาทักษิณกลับมาพิจารณาคดี ปล่อยประชาชน ปล่อยนักโทษการเมือง ปล่อยนักโทษคดี 112”
Thanathip Suntorntip Gorlph [4] “ค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคืนความยุติธรรมให้ผู้เสียชีวิตทุกฝ่าย พาผู้บงการมารับผิด(ย้อนถึงปี2497เลยก็ดีนะ)"
นอกจากนี้ เฟซบุ๊กแฟนเพจนี้ยังนำกระแสของดาราดังอย่างบอย ปกรณ์ มาล้อเลียนกับมีมดังกล่าว โดยใช้ข้อความว่า “อยากดูคลิปหลุด บอยปกรณ์” ด้วย
เพจอย่าง “วิวาทะ [5]” ซึ่งเป็นเพจที่รวมโควทประเด็นต่างๆ ก็มีการนำเอามีมนี้มาล้อเลียน ด้วยการนำเอาโควทคำพูดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ว่า "Unfortunately, some people died " (หรือ"โชคร้ายที่มีประชาชนเสียชีวิต") ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์ในรายการ BBC World News ทางสถานีโทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษ เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.55 มาโพสต์ รวมทั้งคำว่า “ค.ว.ย.” ซึ่งหมายถึง คิด วิเคราะห์ และ แยกแยะ ด้วย
รวมไปถึงการใช้คำว่า “คัดค้านอะไรยังไม่ได้คิดขึ้นป้ายไว้ก่อนกลัวตกเทรนด์” และ “กูไม่รู้กูอยากอินเทรนด์”
เฟซบุ๊กชื่อ “กู ชื่อ เบิร์ด” มีการล้อเลียนโดยการเขียนข้อความในภาพผิดว่า “คัดค้าน พ.ร.บ.ทิรโนษกรรม” และ ใส่คำว่า “ค้าน” ไว้จำนวนมากในป้าย
“ป้ายจราจรกำลังไว้ทุกข์” ของ Joey Senchanthichai [6]
รวมทั้ง “คัดค้านการต่อรองราคาศิลปิน” “รับสมัครนางแบบสาวสวย” “คัดค้านการใช้ฟองน้ำดันนม” “คัดค้านการขึ้นคานของเธอ” “ขอคัดค้านก๋วยเตี๋ยวใส่ถั่วงอก” “คัดค้านการไปทำงานวันจันทร์” “อาร์เซน่อลจะเป็นแชมป์พรีเมียลีก” “ผัวด่ามาหาพี่” "ต่อต้านอะไรต่อต้านได้ แต่สาวแว่นต่อต้านไม่ได้" “รับทำ พ.ร.บ.ประกันรถยนต์” “คัดค้านอีกลำยอง หยุดทำร้ายวันเฉลิม” "คัดค้านการเซนเซอร์หนัง AV, คัดค้านการเป็นหนุ่มซิง, คัดค้านการทำป้ายดำคัดค้าน, สนับสนุนเสรีกัญชาเพื่อประชาธิปไตย, รักคนอ่าน, รับทำ พ.ร.บ.รถยนต์, นิรโทษกรรมให้ความโสดของตัวเอง และ “สนับสนุน พ.ร.บ.ขึ้นเงินเดือน” เป็นต้น
โดยเมื่อบ่ายวันที่ 4 พ.ย. แอปพลิเคชัน Molome แอปแชร์ภาพ ซึ่งพัฒนาโดยคนไทย ได้เพิ่มกรอบรูปลักษณะเดียวกันเข้ามาให้โหลดไปเล่นด้วย
สำหรับผู้ที่สนใจสร้างมีมหรือป้ายข้อความของตัวเองสามารถเข้าไปทำได้ที่ http://text.patinya.com/ [7] ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำได้สะดวก
ทั้งนี้คำว่า มีม(meme) หรือ mimeme หมายถึงการทำตามกัน และเมื่อใช้อธิบายพฤติกรรมในอินเทอร์เน็ตหมยถึงสิ่งที่เผยแพร่อย่างแพร่หลายไปทั่วอินเทอร์เน็ต สามารถเป็นได้ทั้งรูปภาพ วิดีโอ ชื่อ คำพูด วลี หรือประโยคต่างๆ เป็นต้น