Published on ประชาไท Prachatai.com (https://prachatai.com)

Home > ภาพวันนั้น-พื้นที่วันนี้ : 5 ปี “กระชับวงล้อม” กับความคืบหน้าคดี > ภาพวันนั้น-พื้นที่วันนี้ : 5 ปี “กระชับวงล้อม” กับความคืบหน้าคดี

ภาพวันนั้น-พื้นที่วันนี้ : 5 ปี “กระชับวงล้อม” กับความคืบหน้าคดี

Submitted by user007 on Thu, 2015-05-21 01:32

เทวฤทธิ์ มณีฉาย

เป็นเวลา 5 ปีสำหรับเหตุการณ์ที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. “กระชับวงล้อม” พื้นที่การชุมนุมคนเสื้อแดง จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงเดือน พ.ค. (13 – 19 พ.ค. 53) ซึ่งมีพื้นที่การปะทะในวงกว้าง ตั้งแต่ ถนนราชปรารภ ถนนพระราม 4 วันนี้ร่องรอยกระสุนที่บ่งบอกถึงทิศทางการยิงยังคงปรากฏอยู่ให้เห็นบ้างตามพื้นที่ดังกล่าว แต่หลายสิ่งหลายอย่างก็เปลี่ยนไปแล้ว เช่น จุดที่ทหารประจำการปั๊มน้ำมันเอสโซ่ที่ ถนนราชปรารภ เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ปัจจุบันก็กลายปั๊มน้ำมันคาลเท็กซ์ และปั๊มน้ำมัน ปตท. ที่ถนนพระราม 4 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดปะทะสำคัญ ปัจจุบันก็ปิดไปแล้ว รวมทั้งจุดใกล้เคียงอย่างสนามมวยลุมพินีและอาคารหน้าสนามมวย ซึงเป็นจุดปรากฏภาพทหารพลซุ่มยิ่งระวังป้องกันอยู่บนนั้นวันที่ 15 พ.ค.53 ปัจจุบันก็ถูกรื้อไปแล้ว แม้แต่อาคารของห้างเซ็นทรัลเวิลด์ โดยเฉพาะในส่งของ ZEN ที่ถูกเพลิงไหม้ไปเมื่อ 5 ปีก่อนก็กลับมาเหมือนเดิมแล้ว

รอยกระสุนบางส่วนที่ยังหลงเหลืออยู่บริเวณสะพานลอยหน้าปาก ซ.งามดูพลี ถ.พระราม 4 ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดปะทะสำคัญ

ภาพรอยกระสุนที่ยังคงหลงเหลือบริเวณสะพานลอยใกล้ปั้มเชลล์ ราชปรารภ 

รอยกระสุนที่ยังเหลืออยู่บริเวณเสาไฟฟ้า หน้าคอนโดเดอะคอมพลีท ใกล้ปั้มเชลล์ ราชปรารภ

อาคารของห้างเซ็นทรัลเวิลด์ โดยเฉพาะในส่วนของ ZEN เมื่อคืนวันที่ 19 พ.ค.58

ไม่เพียงสถานที่ที่มีการเปลี่ยนแปลง กระบวนการแสวงหาความจริงและกระบวนการยุติธรรม แม้จะมีหลายกรณีที่ศาลมีคำสั่งในการไต่สวนชันสูตรพลิกศพหาสาเหตุการตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.150 ระบุทิศทางที่มาของกระสุนหรือผู้ลงมือกระทำให้เกิดการเสียชีวิตว่ามาจากเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของ ศอฉ. แล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าความเป็นไปได้ที่จะนำตัวผู้กระทำความผิดจะยากมากขึ้น หลังจากเมือวันที่ 28 ส.ค. 57 ศาลอาญามีคำสั่งยกฟ้องคดีหมายเลขดำ อ.4552/2556 และ อ.1375/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ สุเทพ เทือกสุบรรณ จำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 83, 84 และ 90 จากกรณีออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)เมื่อปี 2553 ทำให้เห็นมีผู้ถึงแก่ความตาย และบาดเจ็บจำนวนมาก

โดยศาลระบุว่ามูลเหตุแห่งคดี เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวหาจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศอฉ. ซึ่งเป็นความผิดตามอำนาจหน้าที่ราชการ และเป็นการออกคำสั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หาใช่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลอาญาไม่ ศาลอาญาจึงไม่มีอำนาจรับคำฟ้องของโจทก์ทั้ง 2 สำนวน จึงพิพากษายกฟ้องคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 2 และยกฟ้องการขอเป็นโจทก์ร่วม

อย่างไรก็ตามท่ามกลางภาพความตายที่ยังคงหลงเหลือในโลกไซเบอร์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ผู้เขียนทดลองนำภาพเหตุการณ์บางส่วนเมื่อ 5 ปีก่อนมาเปรียบเทียบกับปัจจุบันเพื่อทบทวนความทรงจำและฉากความโหดร้ายที่สุดฉากหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยจะนำภาพสำคัญๆ ย้อนกลับไปถ่ายตามจุดต่างๆ ที่เกิดเหตุ พร้อมอัพเดทความคืบหน้าของคดีที่เกี่ยวข้องกับภาพ

ภาพที่ 1 (ดู Google Map จุดดังกล่าว [1])

ภาพที่ 1 ภาพร่างของอาสาสมัครกู้ภัยมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง รหัสทองหล่อ 016 หรือ มานะ แสนประเสริฐศรี วัย 22 ปี ถูกยิงเข้าที่ศีรษะ กระสุนปืนทำลายสมอง ที่บริเวณปากซอยงามดูพลี หน้าธนาคารกสิกรไทย ถนนพระราม 4 ช่วงเวลาประมาณ 14.00 – 15.00 น. ของวันที่ 15 พ.ค.56 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ใกล้เคียง(ฝั่งตรงข้ามถนน)และต่อเนื่องกับเหตุการณ์  “พลแม่นปืนระวังป้องกัน” 2 นาย ในภาพที่ 2 โดยนอกจากมานะแล้ว ใกล้ๆ กันซึ่งมองไม่เห็นในภาพจะมีร่างของพรสวรรค์ นาคะไชย ซึ่งเป็นผู้ถูกยิงที่มานะพยายามเข้าไปช่วยพร้อมถือธงที่เป็นสัญลักษณ์กาชาดเข้าไปด้วย ก่อนจะถูกยิงและเสียชีวิตทั้งคู่ โดยคดีของทั้ง 2 คนถูกรวมเป็นคดีเดียวกันและมีการเริ่มการไต่สวนการเสียชีวิตแล้ว (คลิกอ่านเพิ่มเติม [2])

นอกจากนี้ภาพดังกล่าวในวันที่ 20 พ.ค.53 ยังถูกพล.ท.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองเสนาธิการทหารบก นำไปใช้แถลงข่าวเรื่องการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทหารในการขอคืนพื้นที่ในวันที่ 19 พ.ค.53 เพื่อแสดงให้สังคมเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ดับเพลิงถูกยิงจากการพยายามเข้าไปดับเพลิงที่เซ็นทรัลเวิลด์  ทั้งๆ ที่เป็นภาพที่ต่างสถานที่ ต่างเวลา โดยพล.ท.ดาว์พงษ์ แถลงว่า “จังหวะเวลาที่เรารอยังไม่เข้าในช่วงนั้น ผู้ที่อยู่ข้างในบางส่วนก็เริ่มเผาทำลาย ภายในก็เริ่มเผาตรงเซ็นทรัลเวิลด์ โรงแรมเซนทารา แกรนด์  ดับไปแล้วก็มาเผาใหม่ เราก็พยายามเอารถดับเพลิงเข้าไปในพื้นที่ พอรถดับเพลิงเข้าไปในพื้นที่ก็ถูกยิงออกมา ทำให้ไม่สะดวกในการเข้าไป  ก็ทำให้เกิดความสูญเสีย  แต่เราก็พยายามเต็มที่ที่จะพยายามนำรถดับเพลิงเข้าไป  แต่มีการต่อต้านอยู่ตลอดเวลา” (พล.ท.ดาว์พงษ์แถลงพร้อมนำภาพมานะ ซึ่งถูกยิงวันที่ 15 ตรงปากซอยงามดูพลีมาแสดงประกอบ คลิกดูคลิปดังกล่าว [3])

อย่างไรก็ตามทั้ง มานะและพรสวรรค์ การไต่สวนการตาย ศาลได้มีคำสั่งไปเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.56 ว่า “ทั้งสองถึงแก่ความตาย เพราะถูกยิงด้วยกระสุนปืนชนิดร้ายแรงและมีความเร็วสูง ขณะอยู่บริเวณใกล้ปากซอยงามดูพลี ถนนพระราม 4 แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ” (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม [4])

ในภาพจะเห็นการล้อมกำแพงสีขาว ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นสนามมวยลุมพินีและอาคารหน้าสนามฯ ที่ 2  “พลแม่นปืนระวังป้องกัน”  ประจำอยู่ในวันที่ 15 พ.ค.53

[5]

ภาพเมื่อ 3 ปีที่แล้วก่อนอาคารดังกล่าวถูกรื้อ

ภาพที่  2 (ดู Google Map จุดดังกล่าว [6])

ภาพ 2 : พื้นที่ที่เคยเป็นอาคารหน้าสนามมวยลุมพินี ซึ่งเป็นจุดที่ 2  “พลแม่นปืนระวังป้องกัน” ซึ่งถูกระบุว่าเป็นเหตุการณ์ในวันที่ 15 พ.ค.53 เวลาประมาณ 14.00 น. บริเวณชั้น 2 อาคารหน้าสนามมวยลุมพินี กับประโยคที่มาพร้อมเสียงปืนว่า "ล้ม ล้ม แล้ว อย่า อย่า อย่า อย่าซ้ำๆ ปล่อย" พร้อมกับทหารอีกนายที่ยิงซ้ำ (คลิกดูวิดีโอคลิป [7])

โดย ณ ปัจจุบัน บริเวณดังกล่าวถูกล้อมด้วยกำแพงเพื่อก่อสร้าง ผู้เขียนจึงขอนำภาพจุดดังกล่าวขณะที่อาคารยังอยู่มาเพื่อเปรียบเทียบ

และเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 55พลแม่นปืนระวังป้องกันทั้งคู่ได้เข้าให้ปากคำกับ พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนการเสียชีวิตเหตุการณ์สลายการชุมนุมดังกล่าว โดย พ.ต.อ.ประเวศน์ ระบุว่าทหารทั้งสองให้การยอมรับว่าการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 15 พฤษภาคม ตั้งแต่เวลา 15 นาฬิกา ถึง 18 นาฬิกา เป็นการปฏิบัติหน้าที่บริเวณบ่อนไก่ เพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับหน่วย พร้อมแจ้งเตือน และในวันนั้นได้มีการลั่นไกปืนยิงขู่กลุ่มผู้ชุมนุม โดยกระสุนที่ใช้เป็นกระสุนยาง(อ่านรายละเอียด [8])

ภาพที่ 3

  (ดู Google Map จุดดังกล่าว [9])

ภาพที่ 3 : ถ่ายจากบริเวณหน้าสนามมวยลุมพินี ไปทางปั้ม ปตท.(ซึ่งขณะนี้รื้อไปแล้ว) เวลาประมาณ 18.00 น. ของวันที่ 14 พ.ค.53 ในภาพมุมไกลจะเห็นคนกำลังหามร่างชายเสื้อขาว เขาคือนายเสน่ห์ นิลเหลือ คนขับรถแท็กซี่ วัย 48 ปี ถูกยิงเสียชีวิตด้วยกระสุนปืนลูกโดดเข้าที่บริเวณหน้าอกทะลุเส้นเลือดใหญ่และปอด โดยที่มาภาพเหตุการณ์จาก BKlinK [10] ซึ่งจะเห็นภาพต่อเนื่องอีก 3 ภาพ และสามารถดูภาพจากฝั่งผู้ชุมนุมได้ที่ Masaru Goto [11] รวมทั้งวิดีโอคลิปจังหวะเกิดเหตุ (ดู [12] นาทีที่ 6.42 เป็นต้นไปจะได้ยินเสียงปืนดังขึ้น) ซึ่งคดีของเสน่ห์ยังไม่เข้าส่วนกระบวนการไต่สวนการเสียชีวิต

ภาพที่ 4 (ดู Google Map จุดดังกล่าว [13])

ภาพที่ 4 : ถ้าจะหาฉากช่วงสลายการชุมนุมที่คลาสสิคอย่างภาพยนตร์ ฉากนี้คงเป็นหนึ่งฉากที่ทั้งประทับใจ ลุ้นระทึกและสะเทือนใจ ผิดแต่ในภาพยนตร์นักแสดงไม่ตายจริง แต่ฉากนี้มีทั้งผู้ที่ตายและบาดเจ็บจริง ภาพผู้ชุมนุมพยายามเข้าช่วยเหลือถวิล คำมูล ที่ถูกยิงเวลาประมาณ 7.30 น. วันที่ 19 พ.ค.53 ตรงป้ายแท็กซี่อัจฉริยะ ใกล้สี่แยกศาลาแดงถนนราชดำริ ถือเป็นศพแรกของวันนั้น โดยผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือหลายคนถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส(คลิกดูอัลบั้มภาพชุดเหตุการณ์ต่อเนื่องที่ “หงส์ศาลาแดง” [14] และคลิกดูภาพเคลื่อนไหว [15] ) และไม่มีใครนำร่างถวิลไปส่งโรงพยาบาลได้ จนกระทั่งถูกหน่วยกู้ชีพที่มากับเจ้าหน้าที่ทหารที่เข้ามาทางศาลลาแดงนำร่างไป พร้อมกับร่างของชายถอดเสื้อไม่ทราบชื่อที่นอนเสียชีวิตจากการถูกยิงที่ศีรษะบริเวณเต๊นท์ใกล้ร่างของถวิล (คลิกอ่านเรื่องของชายไม่ทราบชื่อ [16]) โดยขณะเกิดเหตุทหารกำลังเข้าพื้นที่ดังกล่าวอย่างน้อย 2 ทาง คือ บริเวณแยกศาลาแดง ซึ่งอยู่ไม่ไกลไปทางด้านหลังป้ายแท็กซี่อัจฉริยะนั้น และทางด้านสวนลุมพินี ซึ่งอยู่ทางซ้ายของภาพ

ภาพเคลื่อนไหวขณะเข้าช่วยถวิลที่ถูกยิ่งบริเวณป้ายแท็กซี่อัจฉริยะ

โดยในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 18 มี.ค.54 สุเทพ รองนายกรัฐมนตรี ขณะนั้น ได้ชี้แจงต่อรัฐสภากรณีการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในวันที่ 19 พ.ค.53 ว่าชายดังกล่าวเสียชีวิตก่อนหน้าการปฏิบัติการของทหารเนื่องจากเลือดได้แห้งหมดแล้ว โดยนายสุเทพ ระบุว่า “.. มีคนเสียชีวิตจริงๆ 6 คน นับรวมคนที่เสียชีวิตมาก่อนตอนที่เราเข้าไปถึงตอน 7-8 โมงเช้า เห็นนอนอยู่แล้ว ที่ข้างเต๊นท์ที่สวนลุมพินีเลือดแห้งหมดแล้ว 2 คนด้วย.." (ดูวิดีโอคลิปอภิปรายดังกล่าวในนาทีที่ 1.25.12 ประกอบ [17])

สำหรับคดีของ ถวิล เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.56 ศาลมีคำสั่งว่า “เสียชีวิตด้วยกระสุนปืนลูกโดดความเร็วสูงที่ศีรษะ วิถีกระสุนมาจากด้านเจ้าหน้าที่ทหาร แต่ยังไม่ทราบว่าใครลงมือ” (อ่านรายละเอียด [18])

และคดีของชายไม่ทราบชื่อ ศาลมีคำสั่งเมื่อ 17 ก.พ.57 ระบุว่า “ผู้ตายคือชายไทยไม่ทราบชื่อนามสกุล ถึงแก่ความตายที่ถนนราชดำริ หน้าอาคาร สก. รพ.จุฬาฯ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 เวลาประมาณ 10.00 น. เหตุและพฤติการณ์การตาย สืบเนื่องมาจากถูกยิงด้วยกระสุนปืนลูกโดดความเร็วสูงที่ศีรษะทะลุเข้ากะโหลกศีรษะทำลายเนื้อสมอง ในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ทหารเคลื่อนกำลังพลเข้ามาควบคุมพื้นที่จากแยกศาลาแดงมุ่งหน้าถนนราชดำริ โดยยังไม่ทราบว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำ” (อ่านรายละเอียด [19])

ศพของถวิล บริเวณ ป้ายแท็กซี่อัจฉริยะ

ภาพชายไม่ทราบชื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บเช้าวันที่ 19 พ.ค.53 ก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ภาพที่ 5 (ดู Google Map จุดดังกล่าว [20])

ภาพที่ 5 : บริเวณหน้าคอนโดหน้าบ้านราชดำริ ถนนราชดำริ ภาพผู้ชุมนุมและอาสาสมัครพยายามช่วยเหลือนรินทร์ ศรีชมภู เสื้อขาวที่นอนอยู่ซึ่งถูกยิงเข้าที่ศีรษะ เสียชีวิตช่วงสายของวันที่ 19 พ.ค.53  ซึ่งหนึ่งในอาสาสมัครที่เข้าช่วยเหลือนั้นคือมงคล เข็มทอง จากมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง คนในวงกลมสีขาว และเขาก็เผชิญชะตากรรมเช่นเดียวกับผู้มีจิตอาสาอย่าง มานะ แสนประเสริฐศรี, บุญทิ้ง ปานศิลา รวมไปถึงอาสาพยาบาลที่ต้องจบชีวิตไปพร้อมๆ กับเขา อย่าง กมนเกด อัคฮาด และอัครเดช ขันแก้ว มงคลถูกยิงเสียชีวิตช่วงเย็นของวันเดียวกันที่วัดปทุมฯ 

สำหรับคดีของนรินทร์ เมื่อวันที่ 25 มี.ค.57 ศาลมีคำสั่งว่า “เหตุและพฤติการณ์แห่งการตาย สืบเนื่องมาจากถูกยิงบริเวณศรีษะ กระสุนปืนทำลายสมองด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง วิถีกระสุนปืนมาจากทางด้านเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ในการเข้าควบคุมพื้นที่จากแยกศาลาแดงมุ่งไปทางแยกราชดำริ ตามคำสั่งของ ศอฉ. โดยไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ” (อ่านรายละเอียด [21])

ส่วนมงคล นั้นรวมอยู่ในคดี 6 ศพวัดปทุมฯ ซึ่งรวมถึงอาสาพยาบาลอย่าง กมนเกด และอัครเดช ด้วย โดยศาลมีคำสั่งเมื่อ 6 ส.ค.56  ระบุว่า “ผู้ตายทั้ง 6 เสียชีวิตเนื่องมาจากถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 หรือ 5.56 มม. ซึ่งวิถีกระสุนปืนยิงมาจากเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าวัดปทุมวนารามราชวรวิหารและบริเวณถนนพระรามที่ 1 ซึ่งเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.”

อีกทั้ง ภายหลังการอ่านคำสั่ง ศาลกล่าวสรุปประเด็นให้ผู้ที่เข้าร่วมฟังด้วยว่า 1.เกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานทหาร 2.ผู้ตายทั้ง 6 ไม่มีคราบเขม่าดินปืนที่มือทั้งสองข้าง แสดงว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืนมาก่อน 3.การตรวจยึดอาวุธในวัดปทุมวนาราม ไม่น่าเชื่อว่ามีการตรวจยึดจริง และ 4.กรณีชายชุดดำ ไม่ปรากฏว่ามีชายชุดดำอยู่ในบริเวณดังกล่าว (อ่านรายละเอียด [22])

ภาพที่ 6

(ดู Google Map จุดดังกล่าว [23])

ภาพที่ 6 :  ภาพฟาบิโอ โปเลงกิ ช่างภาพชาวอิตาลีที่ล้มลงหลังถูกยิง และมีช่างภาพพยายามช่วยเหลืออยู่ บริเวณถนนราชดำริ ขาเข้า ตรงข้ามอาคารบริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด ไม่ห่างจากจุดที่นรินทร์ถูกยิงที่อยู่อีกฝั่งของถนน ช่วงเวลา 10.45 น. ของวันที่ 19 พ.ค. โดยลักษณะบาดแผลที่ฟาบิโอถูกยิงนั้นกระสุนปืนทะลุหัวใจ ปอดตับ เสียโลหิตปริมาณมาก บาดแผลที่ 1 ลักษณะทางเข้าทะลุหลังด้านขวา ผ่านช่องซี่โครงด้านหลังขวา ทะลุปอดขวากลีบล่าง เฉียดกำบังลมและเนื้อตับฉีกขาด ทะลุเยื้อหุ้มหัวใจ และกล้ามเนื้อหัวใจฉีกขาด ทิศทางจากหลังไปหน้า ขวาไปซ้าย ล่างขึ้นบนเล็กน้อย

ขณะที่ฟาบิโอถูกยิงได้วิ่งหลบกระสุนไปกับกลุ่มผู้ชุมนุมหันหลังให้แยกศาลาแดงซึ่งขณะนั้นเจ้าหน้าที่ทหารกำลังเข้ามาทางนั้น และฟาบิโอหันหน้าไปทางสถานีรถไฟฟ้า BTS ราชดำริ คลิกดูภาพ(ภาพ 1 [24], ภาพ 2 [25])อีกมุมจาก Masaru Goto คนสวมหมวกเหลืองเสื้อแดงที่เข้าช่วยฟาบิโอ และภาพเคลื่อนไหวในเหตุการณ์จาก Bradley Cox  ประมาณนาทีที่ 1.12 (คลิกดู [26])

สำหรับคดีฟาบิโอ เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 56  ศาลได้มีคำสั่งแล้วว่า “เหตุและพฤติการณ์แห่งการตายสืบเนื่องมาจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืน เป็นเหตุให้เกิดบาดแผลกระสุนปืนทะลุหัวใจ ปอด ตับ เสียโลหิตปริมาณมาก โดยมีวิถีกระสุนปืนยิงมาจากด้านเจ้าพนักงานที่กำลังเคลื่อนเข้ามาควบคุมพื้นที่จากทางแยกศาลาแดงมุ่งหน้าไปแยกราชดำริ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ” (อ่านรายละเอียด [27])

ภาพที่ 7 (ดู Google Map จุดดังกล่าว [28])

ภาพที่ 7 : ภาพเหตุการณ์ช่วงเที่ยงคืนวันที่ 14 ต่อ 15 พ.ค.53 บริเวณแอร์พอร์ตลิงก์ราชปรารภในเหตุการณ์ทหารยิงสกัดรถตู้ นายสมร ไหมทอง ที่วิ่งเข้ามา ซึ่งถ่ายเป็นวิดีโอโดยนายคมสันต์ เอกทองมาก อดีตช่างภาพเนชั่นแชนเนล(Voice TV ได้มีการนำวีดีโอดังกล่าวมาเผยแพร่ในบางตอนด้วย สามารถคลิกดูได้ที่นี่ [29]) ในเหตุการณ์ดังกล่าวนอกจากนายสมรจะได้ถูกยิงได้รับบาดเจ็บแล้ว ยังเป็นเหตุให้นายพัน คำกอง(คลิกอ่านคำสั่งศาล [30]) คนขับแท็กซี่ และ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ(คลิกอ่านคำสั่งศาล [31]) ที่อยู่บริเวณนั้นเสียชีวิตด้วย ซึ่งศาลได้มีคำสั่งแล้วว่าทั้งคู่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหาร

ภาพที่ 8 (ดู Google Map จุดดังกล่าว [32])

ภาพที่ 8 : บริเวณเสาเหล็กขาว-แดง หน้าไทยไพศาลเอนยีเนียริ่ง ถนนราชปรารภ เลยทางเข้าปั๊มเชลล์ประมาณ 10 เมตร ในภาพเป็นร่างของหน่วยแพทย์กู้ชีวิตวชิรพยาบาล วัย 25 ปี บุญทิ้ง ปานศิลา ที่ถูกยิงเข้าที่คอด้านซ้ายทำลายเส้นเลือดแดงใหญ่นอนเสียชีวิตจมกองเลือด เวลา 19.36 น. ของวันที่ 14 พ.ค.53 ขณะขับมอร์เตอร์ไซด์เพื่อเข้าไปช่วยผู้ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งคาดว่าเป็น กิตติพันธ์ ขันทอง(เสียชีวิตด้วย)

และวันรุ่งขึ้น(15 พ.ค.) รองผู้ว่า กทม. พ.ญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ [33] ออกมากล่าวถึงกรณีนี้ด้วยว่า "เหตุการณ์ดังกล่าวอาจจะเป็นอุบัติเหตุ ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้ยกมือขึ้นเพื่อบอกทหารว่าจะเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ แต่ระหว่างนั้นมีคนวิ่งเข้าออกบริเวณดังกล่าว จึงเกิดความเข้าใจผิดขึ้น"  (คลิก [34]ดูวิดีโอคลิปที่ถ่ายจากอีกฝั่งของถนน)

สำหรับคดีของบุญทิ้งและกิตติพันธ์ ยังไม่มีการไต่สวนการเสียชีวิต 

ภาพ แม่ 'บุญทิ้ง-กิตติพันธ์' เหยื่อสลายชุมนุม 53 จุดเทียนรำลึกเพียงลำพังที่ราชปรารภ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.58 ที่ผ่านมา (อ่านรายละเอียด [35])

ภาพที่ 9 (ดู Google Map จุดดังกล่าว [36])

ภาพที่ 9 : ถูกถ่ายเมื่อเวลา 23.37 น. วันที่ 14 พ.ค.53 บริเวณปากซอยรางน้ำตัดกับถนนราชปรารภ ภาพรถกู้ชีพกำลังเข้าไปช่วยคนเจ็บที่อยู่บริเวณถัดไปไม่กี่เมตร (นอนเจ็บลำพังอยู่ปากซอยราชปรารภ 16) ซึ่งคนเจ็บคนดังกล่าวเสียชีวิตในเวลาต่อมา เขาคือ เหิน อ่อนสา โดยบาดแผลถูกกระสุนปืนลูกโดดเข้าบริเวณขาหนีบข้างซ้ายทำให้เส้นเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด และกระดูกต้นขาซ้ายหัก พบบาดแผลกระสุนปืนลูกโดดทางออกบริเวณด้านข้างของทิศทางจากหน้าไปหลัง ขวาไปซ้าย

และจากรายงานของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.- พ.ค.53 หรือ ศปช. อ้างถึงการสัมภาษณ์ผู้ถ่ายภาพนี้ว่า รถกู้ชีพคันดังกล่าวนี้ถูกทหารที่อยู่ในปั๊มเอสโซ่ปฏิเสธไม่อนุญาตให้เข้าไปเพื่อช่วยเหลือคนเจ็บ(ซึ่งเสียชีวิตในเวลาต่อมา) โดยขณะนี้คดีของเหินยังไม่มีการเข้าสู่การไต่สวนการตาย
ภาพเหิน ขณะนอนบาดเจ็บอยู่ มุมตรงข้ามปาก ซ.รางน้ำ
ภาพ ชายถอดเสื้อเข้ามาช่วยเหินในเวลาต่อมา
 
ภาพที่ 10 (ดู Google Map จุดดังกล่าว [37])
ภาพที่ 10 :  ช่วงสายวันที่ 15 พ.ค.53 บริเวณหน้าร้านกันสาดติดกับร้านไท่หยางตรงข้ามปั๊มเชลล์ ถนนราชปรารภ ในภาพจะเห็นชายเสื้อฟ้าที่นอนอยู่ใต้รถมอเตอร์ไซด์ เขาคือนายสุภชีพ จุลทรรศน์ คนขับรถแท็กซี่ วัย 36 ปี ถูกยิงด้วยกระสุนลูกโดดความเร็วสูงเข้าที่ศีรษะ เสียชีวิต และขยับไปด้านหน้าอีกประมาณ 10 เมตร จะมีร่างของนายสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือ เฌอ ถูกยิงด้วยกระสุนเข้าที่ศีรษะ เสียชีวิตช่วงเวลาเดียวกัน นอกจาก 2 คนนี้ยังมีนายอำพล ชื่นสี ถูกยิงเข้าที่ช่องท้องเสียชีวิตและมีผู้บาดอีกหลายคน โดยจากรายงาน “ความจริงเพื่อความยุติธรรม : เหตุการณ์และผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา – พฤษภา 53” ของ ศปช. หน้า 285 ระบุว่า เป็นจังหวะที่ผู้ชุมนุมพยายามเดินรุกเข้าไปบนสองฝั่งถนน จากด้านสามเหลี่ยมดินแดงมุ่งหน้าไปยังบริเวณปั๊มเอสโซ่(ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนเป็นคาลเท็กซ์) ในช่วงเวลา 8.00 น. ของวันนั้น โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ก่อนที่จะถูกยิงสวนจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บดังกล่าว ด้านคดีความของทั้ง 3 คนยังไม่มีความคืบหน้า
ภาพอีกด้านหนึ่ง ซึ่งมุมใกล้ที่เห็นท่านร่างของ เฌอ นอนอยู่ ขณะที่มุมไกลจะเห็นเท้าของ สุภชีพ 
ภาพ 'หมุดเฌอ' ซึ่งถูกวางโดยพ่อแม่และเพื่อนของเขาเมื่อ 15 พ.ค.55 บริเวณที่เขาถูกยิง (อ่านรายละเอียด : กิจกรรม ประชาเฌอรำลึก ปักหมุด “เฌอถูกทหารยิงเสียชีวิตที่นี่” [38])
ภาพที่ 11 (ดู Google Map จุดดังกล่าว [39])
ภาพที่ 11 : ปากทางเข้าปั๊มเชลล์ราชปรารภ จุดที่นายชาญณรงค์ พลศรีลา ถูกยิง ช่วงบ่ายวันที่ 15 พ.ค.53 ก่อนที่จะเสียชีวิตในเวลาต่อมา และศาลได้มีคำสั่งว่าเสียชีวิตจากกระสุนของ เจ้าหน้าที่ทหารแล้ว(คลิกอ่านคำสั่งศาล [40]) ภาพเหตุการณ์นี้ถ่ายโดยนิค นอสติทช์ ช่างภาพอิสระชาวเยอรมัน ในภาพจะเห็นนายชาญณรงค์ สวมเสื้อขาวนอนอยู่บริเวณกองยาง ซึ่งขณะนั้นเขาถูกยิงแล้ว
 
จากนั้นมีความพยายามช่วยเหลือชาณรงค์ ก่อนเสียชีวิต หลบทหารไปยังบริเวณสุขาของปั้มซึ่งอยู่ด้านหลังของปั้ม เพื่อนำร่างของเขาข้ามกำแพงไปหลบอยู่ในบ่อน้ำบ้านที่อยู่ติดกับปั้ม ก่อนที่เจ้าหน้าที่ทหารจะมาพบตัว และเสียชีวิตในเวลาต่อมา (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : 2 นักข่าวเยอรมันให้การกรณีแท็กซี่ถูกยิงที่ราชปรารภ ยันกระสุนมาจากฝั่งทหาร [41])
ภาพชาญรงค์ ที่ถึงช่วยเหลือมาหลบบริเวณสุขาปั้มเชลล์ ถ่ายโดยนิค
คลิปที่มีการช่วยเหลือชาญณรงค์มาบริเวณสุขาปั้มเชลล์ ในภาพนาทีที่ 1.10 จะเห็นจังหวะที่นิคเดินเข้ามาถ่ายชาญณรงค์
 
ภาพ 12 (ดู Google Map จุดดังกล่าว [42])
ภาพที่ 12 เป็นช่วงเหตุการณ์เดียวกับที่ ชาญณรงค์ (ภาพ 11) ถูกยิง ในภาพคือไชยวัฒน์ พุ่มพวง (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น เดชภพ) ช่างภาพอาวุโสของสำนักข่าวเนชั่น ซึ่งถูกยิงฝั่งตรงข้ามปั้มเชลล์ จนได้รับบาดเจ็บสาหัส และเมื่อวันที่ 2 ก.ค.55 เขาได้เดินทางมายังศาลโดยใช้ไม้เท้า เบิกความในการไต่สวนการตายของชาญณรงค์(อ่านรายละเอียด [43])ด้วยว่า ตนได้รับมอบหมายให้ไปถ่ายภาพในพื้นที่ในช่วงบ่ายของวันที่ 15 พ.ค.53 บริเวณถนนราชปรารภ ซึ่งมีลวดหนามของทหารเขียนว่า “แนวกระสุนจริง” ขณะที่ผู้ชุมนุมพยายามตั้งบังเกอร์ห่างออกไป ช่วงที่มีการยิงทหารเริ่มเดินรุกคืบบนถนนทั้งสองฝั่ง แต่ตนไม่เห็นทหารบนสะพานลอย มีเสียงปืนดังมาจากแนวทหาร ผู้ชุมนุมไม่มีการตอบโต้ด้วยอาวุธ แต่มีการยิงพลุข่มขู่ ซึ่งไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ ตนใส่ปลอกแขนที่มีคำว่า PRESS ชัดเจน แต่ก็ยังโดนยิงเข้าที่โคนขาขวา โดยเชื่อว่ากระสุนมาจากฝั่งทหาร
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเดชภพยืนยันว่าไม่มีการประกาศเตือนล่วงหน้าจากทางเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด ขณะที่นายณัฐพงษ์ พรหมเพชร ช่างภาพจากสถานีโทรทัศน์ทีพีบีเอส เบิกความว่าอยู่ในบริเวณดังกล่าวเช่นเดียวกัน และได้ยินเสียงประกาศเตือนแว่วๆ จากทางเจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้ามาเพราะเป็นเขตกระสุนจริง ประมาณ 1-2 ครั้ง
นาทีที่ 0.10 จะเห็นจังหวะที่ไชยวัฒน์ถูกยิง
เหยื่อ-สถานการณ์ทางการเมือง [44]
การเมือง [45]
สิทธิมนุษยชน [46]
กรุงเทพมหานคร [47]
การสลายการชุมนุมพฤษภาคม 2553 [48]
คนเสื้อแดง [49]
บ่อนไก่ [50]
พลแม่นปืนระวังป้องกัน [51]
รอยกระสุน [52]
ราชปรารภ [53]
สลายการชุมนุม [54]
สวนลุมพินี [55]
ไต่สวนการตาย [56]

Source URL: https://prachatai.com/journal/2015/05/59374#comment-0

Links
[1] https://maps.google.co.th/maps?hl=en&ll=13.724549,100.548398&spn=0.00141,0.002411&t=h&z=19&layer=c&cbll=13.724585,100.548314&panoid=soL5uWrSIe5pqQrLOr-QnQ&cbp=12,204.88,,0,0.1
[2] http://prachatai.com/journal/2013/05/46735
[3] http://youtu.be/8eE-1AY789o
[4] http://prachatai.com/journal/2013/12/50785
[5] http://farm4.staticflickr.com/3676/8758680140_ed837584ac.jpg
[6] https://maps.google.co.th/maps?hl=en&ll=13.725159,100.547401&spn=0.00592,0.009645&t=h&z=17&layer=c&cbll=13.725192,100.547324&panoid=tT64dB7wJtbr7cy7TAjb3w&cbp=12,353.05,,0,13.21
[7] http://youtu.be/3ARpQzHcS6o
[8] http://www.prachatai.com/journal/2012/08/42362
[9] https://maps.google.co.th/maps?hl=en&ll=13.725052,100.547661&spn=0.001342,0.002411&t=h&z=19&layer=c&cbll=13.725016,100.547747&panoid=YxCBqyJoqsvJR-4rIo_o6g&cbp=12,86.53,,0,1.8
[10] http://bklink.blogspot.com/2010/05/bangkok-dangerous.html
[11] http://masarugoto.photoshelter.com/gallery-image/Thailand-Divided-part-1-April-10th-to-May-17th/G0000TydUnch9zcs/I0000yVhLAkl7oMA
[12] http://vimeo.com/11833694
[13] https://maps.google.co.th/maps?hl=en&ll=13.731704,100.537578&spn=0.00284,0.004823&t=h&z=18&layer=c&cbll=13.731799,100.537613&panoid=maaXyQ4zhNEhm4Bb6HQOqA&cbp=12,192,,0,15.92
[14] https://plus.google.com/photos/102385756505229418524/albums/5472921089394058833?banner=pwa
[15] http://www.youtube.com/watch?v=LrXx0l_2BzE
[16] http://prachatai.com/journal/2012/03/39593
[17] http://www.youtube.com/watch?v=gjrw_GkzewY
[18] http://prachatai.com/journal/2013/12/50703
[19] http://prachatai.com/journal/2014/02/51823
[20] https://maps.google.co.th/maps?hl=en&ll=13.735214,100.538887&spn=0.00142,0.002411&t=h&z=19&layer=c&cbll=13.735302,100.538904&panoid=ZprWmv3KqEFLdz1dEBlPBA&cbp=12,121.88,,0,9.21
[21] http://www.prachatai.com/journal/2014/03/52428
[22] http://prachatai.com/journal/2013/08/48057
[23] https://maps.google.co.th/maps?hl=en&ll=13.734927,100.538657&spn=0.00142,0.002411&t=h&z=19&layer=c&cbll=13.735013,100.538687&panoid=3xVznAVv4r8rWOb_PKuORw&cbp=12,111.7,,0,11.41
[24] http://masarugoto.photoshelter.com/gallery-image/Thailand-Divided-part-2-May-17th-to-20th/G0000UZM5HmF2HSM/I0000FEFxKvGGumE
[25] http://masarugoto.photoshelter.com/gallery-image/Thailand-Divided-part-2-May-17th-to-20th/G0000UZM5HmF2HSM/I0000s0IJ20Ni6HM
[26] http://www.bradleycox.net/#!showreel/vstc2=red-shirts-news-bangkok
[27] http://prachatai.com/journal/2013/05/46945
[28] https://maps.google.co.th/maps?hl=en&ll=13.753975,100.541983&spn=0.022551,0.038581&t=h&z=15&layer=c&cbll=13.754369,100.542057&panoid=y-Blqv7NrK0eTsZtG8e9vA&cbp=12,17.18,,0,13.01
[29] http://news.voicetv.co.th/thailand/42919.html
[30] http://prachatai.com/journal/2012/09/42676
[31] http://prachatai.com/journal/2012/12/44309
[32] https://maps.google.co.th/maps?hl=en&ll=13.759532,100.542457&spn=0.001524,0.002411&t=m&z=19&layer=c&cbll=13.759629,100.542458&panoid=goLk8rCjllRSi9yT6f_DgQ&cbp=12,273.42,,0,17.42
[33] http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRJM016a3dOVGt4TVE9PQ
[34] http://www.youtube.com/watch?v=D3uAr7ItJxk
[35] http://www.prachatai.com/journal/2015/05/59281
[36] http://maps.google.co.th/maps?hl=en&ll=13.759061%2C100.541857&spn=0.001821%2C0.00327&t=m&z=19&layer=c&cbll=13.75911%2C100.541824&panoid=q40X1x-LUd4PAGadIl2N9A&cbp=12%2C123.09%2C%2C0%2C6.21
[37] https://maps.google.co.th/maps?hl=en&ll=13.760124,100.542465&spn=0.00284,0.004823&t=h&z=18&layer=c&cbll=13.760224,100.542466&panoid=nM2VDo_cO6czjOcX3TCynQ&cbp=12,117.07,,0,12.47
[38] http://www.prachatai.com/journal/2012/05/40537
[39] https://maps.google.co.th/maps?hl=en&ll=13.75979%2C100.54275&spn=0.003418%2C0.006539&t=h&z=18&layer=c&cbll=13.75982%2C100.542461&panoid=ukSn5pZwLnlW9VHa9ugGrw&cbp=12%2C276.03%2C%2C0%2C13.81
[40] http://prachatai.com/journal/2012/11/43874
[41] http://www.prachatai.com/journal/2012/06/41140
[42] https://www.google.co.th/maps/@13.759972,100.542463,3a,75y,78.5h,78.17t/data=!3m4!1e1!3m2!1s0yL5n1V6qd6fUcZGib1LAQ!2e0?hl=en
[43] http://www.prachatai.com/journal/2012/07/41360
[44] https://prachatai.com/category/%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A2%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD-%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87
[45] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87
[46] https://prachatai.com/category/%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99
[47] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A3
[48] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%A4%E0%B8%A9%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A1-2553
[49] https://prachatai.com/category/%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%94%E0%B8%87
[50] https://prachatai.com/category/%E0%B8%9A%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%81%E0%B9%88
[51] https://prachatai.com/category/%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%B7%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99
[52] https://prachatai.com/category/%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%99
[53] https://prachatai.com/category/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A0
[54] https://prachatai.com/category/%E0%B8%AA%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A1
[55] https://prachatai.com/category/%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%B5
[56] https://prachatai.com/category/%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A2