Published on ประชาไท Prachatai.com (https://prachatai.com)

Home > การกีดกันคนไม่ได้ศึกษาวิชาชีพ “ครู” : ความล่มสลายการศึกษาไทย > การกีดกันคนไม่ได้ศึกษาวิชาชีพ “ครู” : ความล่มสลายการศึกษาไทย

การกีดกันคนไม่ได้ศึกษาวิชาชีพ “ครู” : ความล่มสลายการศึกษาไทย

Submitted by sarayut on Wed, 2015-07-15 23:40

 มุมมืด ณ รัตติกาล

               

การที่ธนาคารไทยพาณิชย์ประกาศรับสมัครพนักงานเฉพาะที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย 14 แห่ง โดยไม่มีรับจากมหาวิทยาลัยราชภัฏ  ก่อให้เกิดการโต้กลับของบรรดาอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏในระดับเลิกทำธุรกรรมการเงินด้วย  น่าสนใจที่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาได้ “ ตอกหน้า” บรรดาอธิการบดีว่าให้ไปทบทวนตัวเอง  แต่ไม่เห็นอธิการบดีทั้งหลายกลับไปทบทวนตัวเอง ทั้งๆที่อธิการบดีเหล่านั้ล้วนแล้วแต่ “ เวียน” กันในตำแหน่งคนละหลายๆมหาวิทยาลัย ( ครบวาระจากมหาวิทยาลัยนี้ ก็ถูกเลือกให้ไปอีกมหาวิทยาลัยหนึ่ง หากไม่เชื่อลองตรวจสอบดูซิครับ นี่ก็เป็นจริยธรรมหนึ่งของความเป็นครูที่ไม่ถูกปฏิบัติ  )

หากมองอย่างลึกซึ้งแล้ว ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้แตกต่างไปจากการที่คุรุสภาออกระเบียบจำกัดผู้ที่จะเป็นครูได้ต้องจบการศึกษาบัณฑิตเท่านั้น เพราะเป็นการออกระเบียบที่ทำให้คนมีความสามารถอีกมากมายไม่สามารถเป็นครูได้ หากต้องการเป็นก็จะต้องไปเรียนวิชา/โครงการที่ให้ใบอนุญาติเป็นครู

การสร้างวงขอบเพื่อจำกัดคนที่ไม่มีความสามารถเข้ามาทำงานเป็นเรื่องปรกติในวงอาชีพที่สำคัญต่อชีวิตคน เช่น แพทยสภา สภาวิศวกรรม สภาสถาปนิก  เพราะหากคนเหล่านี้ไม่มีการประกันว่ามีคุณภาพพอ ก็จะส่งผลต่อคนอื่นอย่างทันทีและร้ายแรง    แต่หากมองในอีกด้านหนึ่ง  การสร้างวงขอบเช่นนี้ก็ทำให้บุคลากรในวงการนั้นมีน้อยและราคาแพงมากขึ้นนั้นเอง

การกีดกันคนอื่นที่ไม่ได้เรียนด้านครูมาไม่ให้เป็นครูจึงเป็นการสร้าง “ มายาภาพ” ให้คล้ายคลึงกับอาชีพดังกล่าว แต่ในความเป็นจริงกลับแตกต่างกันออกไป  คำถามหลักก็คือ วิชาชีพครูที่สอนกันวันนี้คือวิชาอะไร  ทั้งหมดเป็นวิชาการที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยการปฏิบัติในการทำงาน ไม่ใช่วิชาที่จำเป็นต้องเรียนรู้ก่อนอย่างเช่น แพทย์ หรือ วิศวกร  ( วิชาครูบางวิชาก็เชยมาก เพราะสร้างกันมาตั้งแต่สมัยยังไม่มีคอมพิวเตอร์  เช่น บางวิชาสอนการเขียนกระดาษอยู่หลายชั่วโมง )

หากจะแก้ตัวว่าวิชาครูต้องเน้น “ จริยธรรม “ ก็มีคำถามว่าครูที่ก่อเหตุต่างๆก็ล้วนแล้วแต่จบสถาบันครูไม่ใช่หรือ  ดังนั้น การบอกว่าวิชาครูเน้นจริยธรรมก็หมายความว่าไม่จริง  แม้กระทั้ง การเป็นหนี้มากมายมหาศาลที่เกิดจากการกู้ไปลงทุนเรื่องอื่นที่ไม่ใช่การศึกษาแล้วมาอ้างความเป็น “ ครู” ว่ามีหนี้แล้วไม่มีกำลังใจสอนหนังสือ ก็เป็นเรื่องแปลกประหลาดทางด้าน “ จริยธรรม”  ( หนี้ครูในปัจจุบันเกิดจากการกู้เพื่อลงทุน ซึ่งแตกต่างไปจากหนี้ครูเมื่อสามสิบสี่สิบปีก่อน การใช้เงินจากภาษีประชาชนไปค้ำจุนครูนักลงทุนที่ไม่ฉลาด จึงไม่สมควรอย่างยิ่ง )

การสร้างวงขอบจำกัดคนเป็นครูจึงทำให้ไม่เกิดการแข่งขันที่ได้คนที่มีความสามารถจริงๆ เช่น คนเรียนฟิสิกส์มาโดยตรงย่อมมีความรู้ความสามารถมากกว่าครูวิชาเอกฟิสิกส์ แต่ไม่สามารถเป็นครูได้  หากรักจะเป็นครูจริงๆก็ต้อง “ เสียสละเวลา” ไปเรียนวิชาที่ไม่เป็นความรู้อะไรอีกหนึ่งปีถึงจะเป็นครูได้   หรือ  ครูที่เรียนจิตวิทยาการศึกษา  ก็คงจะรู้ว่าสิ่งที่ตนเองเรียนนั้น ล้าหลังความรู้จิตวิทยาทั่วไปในโลกหลายสิบปี ( ความรู้เรื่องจิตวิทยาเมืองนอกไปไกลกว่าบ้านเราหลายร้อยปีแสง : เป็นสำนวนนะครับ ) ข้อโต้แย้งในเรื่องนี้ ก็คือ คนจบฟิสิกส์โดยตรงจะสอนไม่ดี/ถ่ายทอดสู้คนเรียนครูไม่ได้ ก็ไม่เป็นความจริงอีก  เพราะหากคนไม่รู้จริงเรื่องอะไรก็ตาม ไม่มีทางที่จะถ่ายทอดได้ดี  ลองนึกดูซิครับว่าหากครูสอนดีแล้ว เด็กจะต้องเรียนกวดวิชาหรือเรียนพิเศษทำไม  หากใครไม่เชื่อเรื่องนี้ก็ลองไปถามเด็กนักเรียนโรงเรียนต่างๆได้เลย 

ปัญหาใหญ่ของการศึกษาไทยและกำลังก่อให้เกิดการล่มสลายทางการศึกษา ก็คือ การจำกัดวงของครูและบุคลากรทางการศึกษาให้อยู่ในวงแคบๆของพวกตนเองเท่านั้น  ซึ่งส่งผลให้ไม่มีการเรียนรู้อะไรเกิดขึ้นในการทำงานเป็นครูหรือการบริหารการศึกษา ทั้งหมดก็ทำตามกันมาโดยรักษาเนื้อรักษาตัวให้อยู่รอดปลอดภัยเท่านั้น

ปัญหานี้ไม่มีทางแก้ไขได้ในเร็ววัน หากแต่ต้องมีแรงปรารถนาดีต่อสังคมจากครูทั้งหมดของประเทศ เพราะหากครูไม่ลุกขึ้นชี้แจงปัญหานี้กับสังคม การศึกษาไทยก็คงจะจบสิ้นในเวลาไม่ช้าไม่นาน

หากครูส่วนใหญ่ด่าบทความนี้ก็แปลว่าทางออกจากความเสื่อมสลายไม่มีทางเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน
 

 

บทความ [1]
การศึกษา [2]
ข้าราชการครู [3]
มุมมืด ณ รัตติกาล [4]
วิชาชีพครู [5]

Source URL: https://prachatai.com/journal/2015/07/60383#comment-0

Links
[1] https://prachatai.com/category/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1
[2] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2
[3] https://prachatai.com/category/%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B9
[4] https://prachatai.com/category/%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%94-%E0%B8%93-%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A5
[5] https://prachatai.com/category/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%9E%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B9