‘จ่านิว’ ยื่นเรื่องทดสอบ กสม.ชุดใหม่-เล็งฟ้อง รฟท.-ทหาร กรณีควบคุมตัวกลางทางไปราชภักดิ์
จ่านิวหารือกับ วัส ติงสมิตรประธาน กสม.
23 ธ.ค.2558 สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้ได้เดินทางไปร้องเรียนกับอนุกรรมการสิทธิพลเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งมีนางอังคณา นีละไพจิตร เป็นประธานอนุฯ พร้อมกับเพื่อนอีก 2 คนเกี่ยวกับกรณีการตรวจสอบอุทยานราชภักดิ์และการดำเนินคดีกับเขาและพวกรวม 11 คนหลังจากนั้น โดยร้องเรียนใน 4 ประเด็น
1.กรณีการรถไฟแห่งประเทศไทยละเมิดสิทธิในการเดินทาง บกพร่องต่อหน้าที่ในการส่งผู้โดยสารโดยการตัดขบวนรถไฟที่สถานีรถไฟบ้านโป่ง
2.ขอให้ กสม.ตรวจสอบและชี้ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจทหารที่ทำการจับกุมประชาชนที่เดินทางในวันนี้และควบคุมตัวไว้อีกเกือบ 10 ชม.นั้นเป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเมิดนสิทธิมนุษยชน
3.ให้ข้อมูลการควบคุมตัวกรณีธเนตร อนันตวงษ์ หรือตูน ที่ถูกควบคุมตัวจากโรงพยาบาล โดยขอให้ กสม.เฝ้าระวังและติดตามไม่ให้เจ้าหน้าที่ทหารอ้างคำสั่งหัวหน้าคสช.ในการอุ้มหายบุคคล โดยไม่แจ้งที่คุมตัว ไม่อนุญาตให้ทนายและญาติพบ เพราะมีแนวโน้มว่าทหารจะทำแบบนั้นเพิ่มขึ้น
4.แจ้งข้อมูลและขอให้ กสม.จับตากรณีที่ตำรวจออกหมายเรียกผู้ต้องหา 11 คนรวมทั้งตัวเขาว่า จะมีการออกหมายจับและทำการจับกุมหลังวันที่ 29 ธ.ค.นี้หรือไม่
“ผมได้คุยกับประธานกรรมการสิทธิ ซึ่งได้มารับเรื่องและชี้แจงขั้นตอนกระบวนการทำงานของคณะกรรมการชุดใหม่ ชี้แจงว่าถ้าเรื่องเร่งด่วนมีระบบ fast track อย่างไรบ้าง และยินดีจะรับเรื่องไว้” สิรวิชญ์กล่าว
เมื่อถามว่าเขามีความคาดหวังกับกลไกของ กสม.มาเพียงใด เขากล่าวว่า “จริงๆ ปีที่แล้วผมก็เคยใช้กลไกนี้ เคยมายื่นเรื่องกับคุณหมอนิรันดร์สองครั้ง แต่เรื่องก็เงียบไป มาครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นการพิสูจน์ฝีมือกรรมการชุดใหม่ว่าจะช่วยปกป้องสิทธิประชาชนได้เพียงไหน”
สิรวิชญ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หมายเรียก 11 คนในกรณีเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์นั้น มีบุคคลที่มีสถานะนักศึกษาอยู่สองคนคือ เขาและกรกนก คำตา โดยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้งคู่ นอกนั้นเป็นนักกฎหมาย นักกิจกรรม ผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาและประชาชนทั่วไป โดยพนักงานสอบสวนแจ้งชัดเจนว่าทั้ง 11 คนนี้คือบุคคลที่ไม่ยอมเซ็นชื่อในเงื่อนไขการปล่อยตัวที่ระบุห้ามเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งสิ้น ส่วนที่เหลือจากทั้งหมด 36 คนนั้นยอมลงชื่อจึงไม่ถูกดำเนินคดี
สิรวิชญ์ยังกล่าวด้วยว่า เขาและเพื่อนบางคนตัดสินใจยืนยันจะไปรายงานตัวในวันที่ 9 ม.ค.ตามที่ได้เดินทางไปแจ้งและขอเลื่อนนัดกับพนักงานสอบสวนทันทีที่ได้รับหมายเรียก ซึ่งตามปกติแล้วหมายเรียกสามารถเลื่อนนัดได้ถึง 15 วัน แต่ตำรวจยังคงยืนยันจะออกหมายเรียกครั้งที่สองในรายงานตัววันที่ 29 ธ.ค.ซึ่งเขาเห็นว่าให้เวลาน้อยเกินไปและออกโดยไม่มีเหตุอันควร สำหรับเหตุผลที่เขาขอเลื่อนเป็น 9 ม.ค.นั้นเพราะเป็นช่วงเคลียร์รายงาน บางคนกำลังเตรียมสอบ และช่วงปีใหม่ทุกคนอยากมีเวลาอยู่กับครอบครัว เนื่องจากคดีนี้ไม่ใช่คดีร้ายแรงอุจฉกรรจ์
ก่อนหน้านี้วันที่ 22 ธ.ค. ตัวแทนจากกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ก็ได้ยื่นเรื่องให้กับสหประชาชาติเช่นกัน
นอกจากเดินทางไปร้องเรียนยัง กสม.แล้ว สิรวิชญ์ยังระบุด้วยว่า หลังปีใหม่เขาจะฟ้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ด้วยโดฟ้องการรถไฟแห่งประเทศไทยต่อศาลปกครอง ในความผิดกรณีตัดตู้รถไฟตู้ขบวนที่ 255 เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ที่กลุ่มพวกเขาเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์ อันเป็นการขัดขวางและลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการเดินทางของประชาชน
นอกจากนี้ยังจะพิจารณาดำเนินคดีกับ พล.ต.ธรรมนูณ วิถี ผบ.พล.ร.9 พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ นายอำเภอบ้านโป่ง และผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรบ้านโป่ง ในความผิดมาตรา 157 ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบอีกด้วย
ขณะที่เมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. ที่ผ่านมา ชนกนันท์ รวมทรัพย์ หรือ การ์ตูน หนึ่งใน 11 ผู้ถูกดำเนินคดี ได้โพสต์หมายเรียกครั้งที่ 2 ผ่านเฟญบุ๊กส่วนตัวในลักษณะสาธารณะ 'Chanoknan Ruamsap [1]' โดยระบุให้ไปรายงานตัวในวันที่ 29 ธ.ค.นี้
หมายเรียกครั้งที่ 2 มาถึงบ้านวันนี้ค่ะ หลังจากหมายเรียกครั้งแรกเรียกให้ไปรายงานตัวเมื่อวาน (22 ธ.ค. 58) แต่เราไม่ได้ไปเน...
Posted by Chanoknan Ruamsap [2] on 23 ธันวาคม 2015 [3]
′ประวิตร′ ยันไม่ได้ปิดกั้น ถามไฟฉายจะตรวจสอบได้หรือไม่
วันเดียวกัน (23 ธ.ค.58) มติชนออนไลน์ [4]รายงานด้วยว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่กลุ่ม 11 นักศึกษาไปร้องสหประชาชาติ หรือยูเอ็น กรณีถูกปิดกั้นการเดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ด้วยการโดยสารขบวนรถไฟ ว่า "จะปิดกั้นอะไรเล่า ก็รู้อยู่ว่าตรวจสอบอยู่ ถ้าอย่างนั้นเอาไฟฉายไปกันคนละอัน ตรวจสอบได้หรือไม่ ถ้ามีไฟฉายแล้วจะตรวจสอบได้หรือไม่ถ้าเอาไฟฉายไป"