ชาวบำเหน็จณรงค์ ร้อง สผ. หลังพบมีการบิดเบือนข้อมูลใน EIA หนุนสร้างโรงไฟฟ้า
กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ ร้อง สผ. ค้านการทำงานราย EIA ของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม สำหรับโครงการเหมืองแร่โปแตช ชี้ข้อมูลไม่ตรงข้อเท็จจริง มีการเปลี่ยนตัวเลข ผู้ไม่เห็นด้วยกับโครงการ 70% เป็น เห็นด้วย 70%
25 ม.ค. 2559 Green New TV [1] รายงานว่า กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ จำนวนกว่า 30 คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงเลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อคัดค้านผลการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 ที่บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (โดยใช้ถ่านหินบิทูมินัสเป็นเชื่อเพลิง) สำหรับโครงการเหมืองแร่โปแตชและเกลือหิน บริษัท อาเซียนโปแตซชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) ระบุไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง โดยมีการปรับเปลี่ยนข้อมูลจากมีผู้ไม่เห็นด้วย 70% เป็นผู้เห็นด้วย 70%
สมพร สันติสัมพันธ์ ผู้ประสานงานกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ เปิดเผยว่า บ.ทีม คอนซัลติ้งฯ ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 ที่โรงเรียนบางอำพันธ์วิทยาคม ต.บ้านตาล อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2558 ทั้งนี้ทางบริษัทกลับทำเพียงอธิบายวิธีการผลิตไฟฟ้า โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้ซักถามข้อสงสัย แม้ว่าผู้เข้าร่วมเกินกว่าครึ่งจะเป็นผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้า ถ่านหิน
“นอกจากนี้่ ทางบริษัทกลับทำเอกสารรายงานการประชุมที่ระบุว่ามีประชาชนเข้าร่วมราว 300 คน โดยเป็นผู้ที่เห็นด้วยกว่า 70% ขัดแย้งกับหนังสือรายงานของทางจังหวัดที่มีลายเซ็นผู้ว่าราชการ รองผู้ว่าราชการ และอุตสาหกรรมจังหวัด ยืนยันตรงกันว่ามีประชาชนเข้าร่วมถึงกว่า 800 คน และเป็นผู้ที่ไม่เห็นด้วยจำนวน 70% ชาวบ้านจึงอยากทราบว่าทาง สผ.จะดำเนินการอย่างไรกับบริษัทที่ทำรายงานบิดเบือนข้อเท็จจริง และผลของเวทีในครั้งที่ 2 นี้จะเป็นอย่างไรต่อไป” สมพรกล่าว
สมพร ยังกล่าวอีกว่า เหตุผลที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องออกมาคัดค้านโรงไฟฟ้านี้เป็นเพราะถ่านหินนั้น ไม่มีทางที่จะสะอาด และยังนำมาซึ่งผลกระทบมากมายมหาศาลไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ หรือวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ทำการเกษตรที่มีแหล่งน้ำใช้เพียงแหล่งเดียว อีกทั้งเป็นต้นน้ำของลำน้ำชี หากเกิดมลพิษจะสามารถขยายผลไปได้อีกหลายอำเภอ ยังไม่นับรวมถึงลักษณะของพื้นที่ที่เป็นที่ราบลุ่ม อันจะถูกหมอกควันพิษปกคลุมและยากต่อการเจือจาง
ด้าน ปิยนันท์ โศภนคณาภรณ์ รองเลขาธิการ สผ. ผู้รับมอบหนังสือ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวจะต้องมีการพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง ซึ่งหากตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่ามีการรายงานเท็จจริง บริษัทอาจถูกตักเตือนหรือถูกพักใบอนุญาตโครงการ ขึ้นกับระดับความผิดพลาดของกรณีนั้นๆ โดยให้ฝ่ายกฎหมายเป็นผู้พิจารณา แต่หากตรวจสอบแล้วไม่พบความผิด โครงการก็จะผ่านไปตามขั้นตอนต่อไป คือพิจารณารายงานผลรับฟังความคิดเห็นควบคู่กับการตรวจสอบความถูกต้องของ รายงานอีไอเอ โดย สผ. และคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ต่อไป
ภายในวันเดียวกัน ทางกลุ่มฯ ยังได้เข้ายื่นหนังสือการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกับ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ถือหุ้นของ บมจ.อาเซียนโปแตซชัยภูมิ โดยระบุว่า บางจาก เป็นบริษัทที่ดำเนินงานด้วยภาพลักษณ์ที่ดีและส่งเสริมสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ทางกลุ่มฯ จึงมีความศรัทธาและอยากขอให้ทางบริษัทขายหุ้นที่มีอยู่เพื่อไม่เป็นการส่ง เสริมกับพลังงานที่ไม่สะอาด ขัดแย้งกับภาพลักษณ์ที่ดีที่ทางบริษัทได้ส่งเสริมตลอดมา
ขณะที่ ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจากปิโตรเลียม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้มีมติให้ขายหุ้นของ บมจ.อาเซียนโปแตซชัยภูมิ ที่ถืออยู่ทั้งหมดจำนวน 1,930,500 หุ้น คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 202,702,500 บาท ให้กับบริษัท เอส กรุ๊ป เออีซี (ประเทศไทย) จำกัด ไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2558 เนื่องจากไม่ใช่ธุรกิจหลักของบางจาก