6 เม.ย. 2559 หลังจากเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่จะนำลงไปทำประชามติ กันเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งมีกำหนดการทำประชามติในวันที่ 7 ส.ค.นี้ โดยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ได้เลือกประเด็นที่น่าสนใจจากร่างรัฐธรรมนูญ มาสรุป วิเคราะห์ เปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ และทำเป็นภาพ Info Graphic เพื่อเผยแพร่ 7 หัวข้อ ดังนี้
1. โรดแมปสู่การเลือกตั้ง สิ้นปี 60
ร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดขั้นตอนไปสู่การเลือกตั้งว่า หลังจากวันออกเสียงประชามติที่คาดว่าจะเป็น 7 สิงหาคม 2559 หากผล คือ เห็นชอบ นายกรัฐมนตรีจะนำร่างรัฐธรรมนูญทูลเกล้าฯ ถวายภายใน 30 วัน เมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้แล้ว คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญ (พรป.) ภายใน 240 วัน และส่งร่าง พรป. ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาภายใน 60 วัน และดำเนินการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรภายใน 150 วัน นับแต่วันที่ พรป. 4 ฉบับ มีผลบังคับใช้
รวม ความแล้ว หลังวันออกเสียงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 ต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 30+240+60+150 = 480 วัน หรือ 16 เดือน กว่าจะถึงวันเลือกตั้ง คาดว่าจะได้เลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรอย่างเร็วประมาณเดือนธันวาคม 2560
2. ร่างรัฐธรรมนูญเปิดทาง "นายกฯ คนนอก"
ร่างรัฐธรรมนูญเปิดทางให้รัฐสภาตั้ง 'นายกฯ คนนอก' ได้ ในมาตรา 272 สำหรับการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงครั้งเดียว และต้องอาศัย
1) ส.ส.ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 250 คน เสนอต่อประธานรัฐสภาว่าจะเลือกนายกรัฐมนตรีนอกเหนือจากรายชื่อที่พรรคการเองแจ้งไว้า
2) รัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย ส.ส. และ ส.ว.ทั้งหมด ลงมติด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 หรือ 500 คนจาก 750 คน อนุมัติ
3) ส.ส. เข้าชื่อกัน 1 ใน 10 หรือ 50 คนเสนอชื่อบุคคลใดก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 251 คน
3. ให้คสช. มีอำนาจเลือก ส.ว. 250 คนแรก
บทเฉพาะกาล ของร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในวาระเริ่มแรกมี 250 คน มาจาการคัดลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเกือบทั้งหมด และมี ส.ว.โดยตำแหน่งที่เป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆ อีก 6 คน ด้วยเหตุว่าจะเข้ามาประคับประคองประเทศไทยในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ซึ่งเป็นการร่างแทบจะตามข้อเสนอที่ คสช. ขอมา
4. ไม่เขียน "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" แต่สั่งรัฐสนับสนุนเฉพาะพุทธเถรวาท
ร่างรัฐธรรมนูญ ไม่เขียนให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ตัดหน้าที่ของรัฐที่จต้องเสริมสร้างความสมานฉันท์ระหว่างศาสนาออก ตัดเรื่องห้ามลิดรอนสิทธิเพราะเหตุการนับถือศาสนาออก และเขียนนวัตกรรมใหม่ให้รัฐต้องส่งเสริมและเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท เพิ่มข้อยกเว้นเสรีภาพในการนับถือศาสนาต้อง "ไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ"
5. อำนาจใหม่ และที่มาใหม่ ของศาลรัฐธรรมนูญ
ร่างรัฐธรรมนูญห้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันเขียน "มาตรฐานทางจริยธรรม" ขึ้น ให้อำนาจวินิจฉัยให้ รมต. ที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตหรือฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงพ้นจากตำแหน่ง ให้อำนาจเรียกประชุมฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ และองค์กรอิสระเพื่อหาช่องทางแก้วิกฤติการเมือง และเปลี่ยนที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้มีผู้ทรงคุณวุฒิจากส่วนราชการ 2 คน
6. รีวิว ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม
ร่างรัฐธรรมนูญยังคงยืนในระบบเลือกตั้งที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ คือ ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม (MMA) ประชาชนจะกาบัตรใบเดียวเลือกได้ทั้งคน ได้ทั้งพรรค ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 คน ยังคงใช้ระบบเลือกตั้งเสียงข้างมาก หนึ่งคนหนึ่งเขต
ส่วน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ไม่เกิน 150 คน คิดคำนวนจาก นำคะแนนทั้งประเทศที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับจะ ไปคำนวณเพื่อให้ได้จำนวน ส.ส. ที่พรรคนั้นควรจะมี และเมื่อได้จำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคควรจะมีแล้ว ก็นำมาหักลบกับจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต จะได้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค
7. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยากขึ้นอีก
ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดตั้งแต่วาระแรกเลยว่า นอกจากจะต้องได้เสียงเห็นชอบเกินครึ่ง หนึ่งของทั้งสองสภาแล้ว ยังต้องมี ส.ว. เห็นชอบ ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และในวาระ 3เพิ่มเงื่อนไขอีกว่า ต้องมี ส.ส. จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน ซึ่งยากกว่าของเดิมที่แก้ไขยากมากอยู่แล้ว พร้อมกับเสียงส.ว. 1 ใน 3
หากจะแก้ไขเกี่ยวกับหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ให้จัดทำประชามติก่อน