Published on ประชาไท Prachatai.com (https://prachatai.com)

Home > ว่าด้วยทักษิณ: คีย์แมนการเมืองไทยสมัยใหม่ ? > ว่าด้วยทักษิณ: คีย์แมนการเมืองไทยสมัยใหม่ ?

ว่าด้วยทักษิณ: คีย์แมนการเมืองไทยสมัยใหม่ ?

Submitted by sarayut on Mon, 2016-04-25 08:01

ภาคิไนย์ ชมสินทรัพย์มั่น

การเมืองไทยสิบปีที่ผ่านมามีตัวทักษิณเป็นตัวละครสำคัญที่สุดท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง

การขึ้นสู่อำนาจและการลงจากอำนาจของตัวทักษิณอยู่กับการกระทำหลายๆอย่างของตัวเขาเอง ทักษิณได้สร้างเงื่อนไขทางการเมืองทั้งบวกและลบ เป็นคุณและเป็นโทษ และส่งผลต่อกระบวนการประชาธิปไตยของไทยในภาพรวม

ทักษิณถือได้ว่าเป็นนายทุนนักการเมืองที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการผนวกผลประโยชน์ของตนเองเข้ากับประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง นโยบายของพรรคไทยรักไทยทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล

นโยบายของทักษิณทำให้การเมืองไทยหลังยุคไทยรักไทยกลายเป็นการเมืองแบบไทยรักไทยไปจนเกือบหมด พรรคคู่แข่งขนาดใหญ่อย่างประชาธิปัตย์ก็ยังไม่สามารถก้ามข้ามพ้นแนวนโยบายแบบไทยรักไทยไปได้ รัฐบาลยุคอภิสิทธิ์คือตัวอย่าง
แม้กระทั่งกองทัพที่เข้ามายึดอำนาจของทักษิณเองก็ยัง "ก๊อปปี้" แนวคิดและนโยบายของทักษิณ แถมยังดึงตัวบุคคลที่เคยร่วมงานกับทักษิณเข้าไปรับใช้ตนเอง

เครดิตทางการเมืองและกระแสนโยบายของพรรคการเมืองหลังรัฐประหาร 2549 ล้วนเป็นเงาของคนที่ชื่อว่าทักษิณชินวัตร

0000
 

แน่นอนว่าทักษิณเป็นฮีโร่ประชาธิปไตยในสายตาของคนเสื้อแดง ซึ่งฐานมวลชนเสื้อแดงที่สนับสนุนทางการเมืองต่อทักษิณได้รับการพิสูจน์ผ่านตัวเลขเลือกตั้งมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง นับว่าเป็นนายทุนนักการเมืองที่มีพลังทางการเมืองสูงที่สุดหากไม่นับนักการเมืองที่มีรากฐานมาจากข้าราชการประจำเช่นในอดีต เช่น จอมพล ป. หรือพลเอกเปรม

ทั้งบุคลิกของทักษิณ แนวนโยบายของทักษิณ ทำให้ผู้คนที่เคยครอง status quo ในโครงสร้างเก่าทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมต่างรู้สึกว่าการดำรงอยู่ของทักษิณคือ "ภัยคุกคาม" ต่อสถานะอำนาจของตนเอง

ทักษิณทำให้ชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งเกิดความไม่พอใจ ว่ากันว่ามีบุคคลระดับสูงมากเคยกล่าวว่า "ทักษิณ คุณเป็นคนเก่ง มีวิสัยทัศน์กว้างไกล แต่อย่าลงเล่นการเมืองเลย"

ทักษิณไม่ได้เชื่อตามคำพูดนี้และกระทำตรงกันข้าม ทักษิณลงเล่นการเมืองในยุคที่ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยมาสู่ทศวรรษใหม่ (2540's)

0000
 

ภายหลังการพังพินาศของเศรษฐกิจไทย ทำให้ทักษิณมองเห็นโอกาสนี้เข้ามาสู่อำนาจรัฐผ่านโครงสร้างทางการเมืองประชาธิปไตยอันใหม่ (รัฐธรรมนูญ 2540) เขายื่นความหวังให้แก่สังคมในด้านเศรษฐกิจ ทุกคนพร้อมใจกันหยิบยื่นโอกาสให้ทักษิณ แม้กระทั่งชนชั้นนำฝ่ายจารีตเองก็ยังร่วมสนับสนุนทักษิณเพราะตนเองก็จนปัญญาที่จะกอบกู้ประเทศให้ฟื้นขึ้นมาจากโคลนตม

ทักษิณเรืองอำนาจขึ้นมาได้เพราะวิกฤติเศรษฐกิจและช่องทางทางการเมืองตามระบบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งที่เอื้อให้เกิดเสถียรภาพทางการเมืองอันมีพรรคขนาดใหญ่คุมเสียงข้างมากทั้งหมดได้ง่าย

0000
 

กระบวนการประชาธิปไตยในยุคทักษิณเป็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง

1. การขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองของทักษิณมาจากฐานสนับสนุนจากประชาชนผ่านการเลือกตั้ง ในแง่ความชอบธรรม ทักษิณได้รับความชอบธรรมอย่างเต็มเปี่ยม นโยบายของทักษิณก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงลงสู่ประชาชน ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จับต้องได้ ชาวบ้านรู้สึกว่าทักษิณคือ "ฮีโร่" ที่นักการเมืองคนอื่นไม่เคยให้มาก่อน

ประชาธิปไตยจึงมีความหมายต่อชาวบ้านอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ หากถามว่าแนวนโยบายทักษิณเอื้อให้เกิดผลประโยชน์แก่เครือข่ายพรรคพวกของตนเองหรือไม่ ? หากมองในระดับโครงสร้างใหญ่ เมื่อเงินมีการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ประชาชนมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจค้าขายดี เกิดการลงทุนมากมาย นั่นย่อมส่งผลเป็นบวกต่อนายทุนทุกคนในประเทศทั้งที่เป็นเครือข่ายทักษิณและไม่ใช่เครือข่ายทักษิณ เพราะชนชั้นนำไทยเกือบ 100% มีธุรกิจในมือทั้งสิ้น

นอกจากนี้ แนวนโยบายหลายประการของทักษิณได้เข้าไปทำลายการผูกขาดของกลุ่มคนที่เคยได้เปรียบในโครงสร้างเก่า ทักษิณ liberalized โครงสร้างบางอย่างเพื่อหวังผลทางการเมืองแก่ตนเองแต่เป็นลบต่อ status quo ของชนชั้นนำกลุ่มหนึ่ง

2. ในเชิงโครงสร้างทางการเมือง แนวปฎิรูปทางการเมืองที่นำเสนอในปลายทศวรรษที่ 2530 ส่งผลลบต่อกระบวนการประชาธิปไตยในยุคทักษิณ (รธน.40) ปรากฎว่าทักษิณที่กุมเสียงข้างมากในสภา มีความพยายามทำลายกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารด้วยการส่งคนของตนเองเข้าไปนั่งแทรกแซงองค์กรอิสระต่างๆ ทำให้องค์กรอิสระทำงานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ

ระยะนั้นมีนักวิชาการหลายท่านออกมาวิพากษ์วิจารณ์ทักษิณ ปัญญาชนและสื่อต่างวิพากษ์วิจารณ์ทักษิณว่ากำลังทำลายกระบวนการประชาธิปไตย

นอกจากนี้ ฝ่ายบริหารยังดำเนินนโยบายในนาม "เสียงข้างมาก" ก่อให้เกิดผลลบต่อสิทธิมนุษยชน เช่น กรณีฆ่าตัดตอนยาเสพติด กรณีตากใบกรือเซะ เป็นต้น

เรื่องราวเหล่านี้ไม่ใช่ข้อวิจารณ์ใหม่แต่อย่างใด แต่ผมจะชี้ให้เห็นพัฒนาการทางการเมืองบางอย่างให้เห็น

0000
 

หลัง รปห.49 สถานะของทักษิณจากที่เคยตกต่ำสุดขีดกลับกลายเป็น "สัญลักษณ์ประชาธิปไตย" ไปโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะว่าฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบ "สายตาสั้น" เพราะไปสนับสนุนเอากองทัพเข้ามาโค่นล้มยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ฝ่ายจารีตขวาจัดเล็งเห็นว่าทักษิณเป็นภัยคุกคามต่อตนเองจึงได้ "สำแดงเดช" ผ่านกลไกนอกระบบการเมืองปกติ ไม่สนใจวิธีการ ยึดเป้าหมายเท่านั้น

นอกจากนี้ วิธีการของฝ่ายโค่นล้มทักษิณ ไปคาบเกี่ยวกับการทำลายสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของประชาชน

เนื่องจากฝ่ายโค่นล้มทักษิณมองว่าที่มาของอำนาจทางการเมืองทักษิณ มาจากฐานมวลชนจำนวนมากในชนบท ผ่านการเลือกตั้ง พวกเขาจึงทำลายการเลือกตั้งและทำลายมวลชนของทักษิณทุกวิถีทางที่พวกเขาทำได้

ปี 2552-2553 คือหลักฐานชั้นเยี่ยมที่บ่งบอกว่าฝ่ายจารีตขวาจัดพร้อมที่จะฆ่าได้ทุกเมื่อหากจำเป็น

ทักษิณเห็นว่าเสื้อแดงคือฐานมวลชนเดียวที่ตนเองมี จึงสนับสนุนการเคลื่อนไหวในระดับมวลชนทุกรูปแบบทั้งเปิดและปิดลับ เพื่อพร้อมประทะเจรจาต่อรองทางการเมืองกับฝ่ายตรงข้ามที่พร้อมใช้ทุกวิธีการเช่นกัน

ในห้วงแห่งสงครามทางการเมือง ทักษิณจึงเป็นทั้งที่รักและเป็นที่ชังของสังคมไทย

0000
 

ความขัดแย้งดำเนินมาสิบปี ทั้งเหลืองและแดงต่างมีโอกาสได้ถอดบทเรียนเห็นทั้งจุดอ่อนและจุดด้อยของตนเอง

ทักษิณถูกจับจ้องด้วยสายตาที่เปลี่ยนไปมากหลังจากรัฐประหารและหลังล้อมฆ่าปี 2553

ฝ่ายโค่นล้มทักษิณเริ่มเห็นแล้วว่าวิธีการล้มทักษิณด้วยการเอากองทัพเข้ามายึดอำนาจเป็นวิธีการที่ผิดพลาด แถมยังทำให้เกียรติภูมิทางการเมืองของทักษิณสูงเด่นขึ้นในเวทีโลก ทำให้ประเทศชาติกลายเป็นตัวตลก ล้าหลัง และถดถอย สิ่งนี้ทำให้วิธีการเดิมเริ่มใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไปและยังเป็นไพ่ใบใหญ่ที่ถูกทิ้งลงมาแล้ว

สิ่งนี้อาจจะบีบให้ชนชั้นนำจารีตขวาจัดต้องทบทวนตนเองใหม่อีกคำรบ (นี่มองโลกในแง่ดี)

ในขณะที่ฝ่ายแดงจำนวนมากเริ่ม "ตาสว่างรอบสอง" พวกเขาเห็นแล้วว่าแนวทางแบบ นปช. นั้นไม่ใช่คำตอบ เห็นแล้วว่าตัวทักษิณเป็นเพียงแค่นายทุนนักการเมืองคนหนึ่ง เห็นแล้วว่าแนวทางการต่อสู้แบบที่เคยเป็นมาพาพวกเขาไปตายเป็นร้อยศพกลางเมือง มีมวลชนมากเท่าไหร่ก็ไม่เคยชนะเสียที แถมคนสั่งฆ่า คนสั่งยิง คนที่อยู่ในขบวนการฆ่าไม่มีใครได้รับความผิดซักคน

แต่ทักษิณกลับมีข้อต่อรองทางการเมืองบนเลือดเนื้อและน้ำตาของประชาชนตลอดมา

สิ่งเหล่านี้เป็นบทเรียนของมวลชน ทักษิณในฐานะคีย์แมนอาจจะต้องทบทวนบทบาทของตนเองด้วยเช่นกัน

0000

 

ไม่ว่าคุณจะเกลียดหรือรักทักษิณ ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าทักษิณคือหัวใจสำคัญในกระบวนการประชาธิปไตยสมัยใหม่

ทักษิณเป็นทั้งตัวปัญหาและเป็นทั้งผลลัพธ์ที่ดีของกระบวนการประชาธิปไตยไทย ตัวเขาเองและสิ่งที่เขาทำ กลายเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องศึกษามัน

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: เฟซบุ๊ก  [1]Pakinai Chomsinsubmun [1] 

 

บทความ [2]
การเมือง [3]
ทักษิณ ชินวัตร [4]
ภาคิไนย์ ชมสินทรัพย์มั่น [5]

Source URL: https://prachatai.com/journal/2016/04/65429#comment-0

Links
[1] https://web.facebook.com/photo.php?fbid=10153426739256610&set=a.472604511609.259297.539526609&type=3&theater
[2] https://prachatai.com/category/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1
[3] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87
[4] https://prachatai.com/category/%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B4%E0%B8%93-%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A3
[5] https://prachatai.com/category/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B9%84%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B9%8C-%E0%B8%8A%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%99-0