ไผ่ ดาวดิน: รอยยิ้ม ความหวัง กรงขัง เสรีภาพ
“ช่วยด้วย" คำ ๆ นี้ทำให้ผมใจหายเมื่อได้ยินผ่านสายโทรศัพท์ ที่กั้นด้วยลูกกรงและกระจกใส โดยเฉพาะจากคนที่ผมเคยเข้าใจว่าเค้าเข้มแข็งและยิ้มได้ตลอดเวลาแม้จะพบเจอเรื่องเลวร้าย
เมื่อวันพุธ (15 มีนาคม 2560) ผม ในฐานะเพื่อนและนักศึกษาปริญญาโทด้านสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ได้มีโอกาสไปเยี่ยม "ไผ่ จตุภัทร" ที่เรือนจำจังหวัดขอนแก่น ในก้าวแรกที่เข้าไปเจอไผ่ที่อยู่หลังลูกกรงและกระจกกั้น ผมยังคงเห็นรอยยิ้มที่เข้มแข็งเหมือนกับที่พบเจอมาโดยตลอด
ในช่วงเวลาอันจำกัดเพียง 15 นาที พร้อมกับเพื่อน ๆ อีกจำนวน 5 คน ผู้เข้าเยี่ยมจะต้องสลับกันใช้โทรศัพท์เพียงเครื่องเดียวในการพูดคุยกับไผ่ ผมจึงตั้งใจเพียงทักทายและอัพเดทเรื่องราวโลกภายนอก เช่น งานเสวนาต่าง ๆ การประชุม ICCPR ที่เพิ่งผ่านไปในวันก่อนหน้า และนำกำลังใจและความห่วงใยจากเพื่อน ๆ ที่ส่งผ่านมาบอกเล่าให้กับไผ่ หลังจากนั้นผมจึงถามไผ่ว่า "อยากฝากบอกอะไรเพื่อน ๆ ไหม" คำถามนี้ทำให้รอยยิ้มของไผ่หายไปในช่วงเวลาหนึ่ง ไผ่ยืดตัวขึ้นและพูดคำว่า "ช่วยด้วย" มันทำให้ผมใจหายและพูดอะไรต่อไม่ออก ประกอบด้วยความคิดที่แวบขึ้นมาโดยอัตโนมัติทำให้ผมนึกถึงความเลวร้ายสุดขีดที่ไผ่อาจพบเจอในสถานที่นี้
ในช่วงขณะหนึ่งของความเงียบ ผมไม่สามารถคิดเรื่องอื่นได้แม้แต่เรื่องที่เตรียมมาเพื่ออัพเดทให้ไผ่ฟัง ผมได้เพียงแต่มองเข้าไปในดวงตาของไผ่ที่จู่ ๆ ความเข้มแข็งก็หายไป จวบจนระยะหนึ่งผ่านไป ผมจึงรวบรวมสติแล้วถามต่อว่า "ไผ่ยังโอเคใช่ไหมข้างในนั้น" ไผ่เริ่มยิ้มอีกครั้งแล้วตอบกลับว่า "โอเคพี่ แต่ผมเริ่มจะหมดหวังแล้ว" แม้ไผ่จะเริ่มมีรอยยิ้มกลับมาบ้าง แต่ผมก็สัมผัสได้ถึงความเหนื่อยล้าและความผิดหวังต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับไผ่ ผมจึงตั้งใจฟังโดยคิดว่าช่วงเวลา ณ ตอนนี้ สิ่งเดียวที่สามารถทำได้คือการรับฟังให้มากที่สุด อย่างน้อยก็เพื่อให้ไผ่ได้ระบายความกดดันออกมา
"ฝากบอกเพื่อน ๆ ด้วยนะพี่ เราต้องสู้เรื่องนี้กันต่อ เรื่องนี้เป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องของทุกคน ผมไม่อยากให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับใครอีก อยากให้เรื่องของผมเป็นกรณีศึกษา"
ระหว่างทางกลับ ผมได้คิดทบทวนคำว่า "ช่วยด้วย" ของไผ่ ซึ่งอาจจะตีความได้สองความหมาย ในความหมายแรกอาจเป็นภาวะที่สิ้นหวังกับสถานการณ์ของตัวเองในปัจจุบัน ผนวกกับสภาพแวดล้อมที่ไผ่ต้องพบเจอ แต่ในความหมายที่สอง หากคำว่า "ช่วยด้วย" เป็นการร้องขอไปถึงสังคม ที่ไผ่อยากเห็นผู้คนตระหนักและต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมของสังคมในภาพรวม ไม่ใช่เพียงเพื่อตัวของไผ่เอง
ในขณะที่สังคมภายนอกพยายามพูดถึง "สันติภาพ" และ "การปรองดอง" ผมเห็นว่าเราจะขาดการพูดเรื่อง "สิทธิมนุษยชน" ไปเสียไม่ได้ การสร้างสังคมที่เรากำลังใฝ่หาจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าประชาชนหลายภาคส่วนไม่สามารถมีส่วนร่วม รวมทั้งมาตรฐานของกลไกรัฐโดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมที่ยังปล่อยให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นสิ่งที่ไผ่กังวลในการใช้กลไกรัฐเป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิเสรีภาพอาจจะส่งผลกระทบต่อ "ทุกคน" ในสังคมโดยไม่มีข้อยกเว้นและไม่มีใครสามารถโต้แย้งได้ ดังนั้นการสร้าง "สันติภาพ" และ "การปรองดอง" จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าวันนี้เรายังเพิกเฉยและไม่ให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของสังคม
การไปเยี่ยมไผ่ในครั้งนี้ ทำให้ผมนึกถึงบทกวีของ Martin Niemöller ผู้ต่อต้านนาซียุคเรืองอำนาจ ที่ทำให้ผมเห็นว่าสันติภาพจะเป็นจริงไปไม่ได้ ถ้าคนในสังคมยังเพิกเฉยต่อเรื่องราวที่อาจดูไกลตัว อย่างเช่นกรณีของไผ่
ครั้งแรก "เขา" มาจับพวกคาทอลิก
แต่ฉันเป็นโปรเตสแตนต์ ฉันจึงเฉยเสียต่อมา "เขา" มาจับคอมมิวนิสต์
แต่ฉันไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ ฉันจึงไม่ได้ทำอะไรต่อมา "เขา" มาจับพวกสหภาพแรงงาน
แต่ฉันไม่ได้อยู่ในกลุ่มนั้น ฉันจึงยังนิ่งอยู่จากนั้น "เขา" มาจับคนยิว
แต่ฉันไม่ได้เป็นคนยิว ฉันจึงยังนิ่งเฉยดังเดิมและเมื่อถึงเวลาที่ "เขา" มาจับฉัน
ก็ไม่เหลือใครสักคนที่คิดจะพูดหรือทำอะไร…