'สมานฉันท์แรงงาน' ร้องขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 360 ทั่วประเทศ - ปลัดแรงงานแย้ม ขึ้นแต่ไม่เท่ากัน
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 360 บาทเท่ากันทั้งประเทศ คุมราคาสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ด้าน 'ปลัดแรงงาน' แย้มขึ้นค่าแรงทุกจังหวัดแต่ไม่เท่ากัน
20 ธ.ค. 2560 ไทยพีบีเอส [1]รายงานว่า ที่กระทรวงแรงงาน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) แถลงจุดยืนคัดค้านแนวนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2561 การใช้กลไกของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ซึ่งมีเงื่อนไขไม่สอดคล้องกับหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นธรรมและคุณภาพชีวิตของคนงาน
คสรท. ระบุว่า ผลจากการสำรวจหนี้ของคนงาน พบว่า มีหนี้สินเฉลี่ยต่อวันถึง 225 บาท 87 สตางค์ ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนงานและระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพิ่มเติมความเหลื่อมล้ำให้เลวร้ายยิ่งขึ้น จึงขอประกาศจุดยืนหลักการในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 ต่อรัฐบาล ดังนี้ 1. ต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้มีความเป็นธรรม ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ 360 บาทเท่ากันทั้งประเทศ 2. ยกเลิกคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด 3. ตั้งคณะกรรมการค่าจ้างระดับชาติ (บอร์ดค่าจ้าง) จากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งทีมวิชาการและมีองค์ประกอบมากกว่าไตรภาคี 4. ต้องกำหนดโครงสร้างค่าจ้างและปรับค่าจ้างทุกปี และ 5. ต้องมีมาตรการควบคุมราคาสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
เว็บไซต์กระทรวงแรงงาน [2] รายงานเพิ่มเติมว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ สาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน คสรท. และคณะเข้าพบ เพื่อขอทราบแนวทางนโยบายด้านแรงงาน พร้อมข้อเสนอดังกล่าว รวมถึงแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติ การละเมิดสิทธิมนุษย์ชน และผลักดันอนุสัญญา องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการรวมตัวและสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วม ณ ห้องรับรองรัฐมนตรี กระทรวงแรงงาน
รมว.แรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้กำหนดนโยบายเน้นหนัก ประจำปี 2561 ประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่ นโยบายเร่งด่วน (Agenda Based) 11 ด้าน นโยบายนโยบายระดับพื้นที่ (Area Based) ให้จัดระบบการทำงานที่เชื่อมโยงเเละบูรณาการร่วมกัน 4 ด้าน และนโยบายบริหารการพัฒนา (Administration Based) เน้นความมีเอกภาพ 6 ด้าน ที่นำไปสู่การปฏิบัติอย่างเห็นผลจับต้องได้ ส่วนเรื่องของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้น มีคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาโดยใช้ระบบไตรภาคี โดยมีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานคณะกรรมการค่าจ้าง ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนของการพิจารณา ซึ่งแรงงานต้องอยู่ได้และดูแลผลต่อการทุน โดยต้องรับฟังทุกด้านเพื่อให้เกิดความสมดุล สำหรับเรื่องอื่นๆ พร้อมรับข้อเสนอไว้ดำเนินการ
'ปลัดแรงงาน' แย้มขึ้นค่าแรงทุกจังหวัดแต่ไม่เท่ากัน
เดลินิวส์ [3] รายงานด้วยว่า พล.ต.อ. อดุลย์ กล่าวภายหลังการหารือว่า การปรับขึ้นค่าจ้างว่า เรื่องดังกล่าวนี้ เป็นส่วนของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งมี จรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับเกี่ยวกับหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนภาคอุตสาหกรรม และกระทรวงแรงงาน ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณา ส่วนข้อเสนอที่ทาง คสรท. เสนอมานั้นตนจะรับเป็นหลักการไว้ ทั้งนี้รัฐบาลต้องพิจารณาถึงการให้แรงงานสามารถอยู่ได้ และต้องมองถึงเรื่องของธุรกิจด้วย ส่วนข้อเสนอที่จะให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างเท่ากันทุกจังหวัดทั่วประเทศนั้น ตนก็รับไว้เป็นหลักการเพื่อให้ทางบอร์ดค่าจ้างใช้พิจารณาอย่างรอบคอบ และมีเหตุผล ซึ่งเราจำเป็นต้องฟังเสียงของทุกด้าน เพื่อให้เกิดความสมดุล ทั้งนี้อัตราการขึ้นจะเท่ากันทุกพื้นที่ หรือขึ้นพื้นที่ใดก่อนจะต้องมีการพูดคุยรายละเอียดเพิ่มเติมและขอเวลาอีกสักระยะหนึ่ง
จรินทร์ กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างว่า การประชุมคณะกรรมการค่าจ้างนั้น เราไม่ต้องการให้ขาดใคร เพราะถ้าขาดใครไปสักคนเกิดมีอะไรขึ้นมา จะบอกว่าไม่รู้เรื่อง เพราะไม่ได้เข้าประชุม ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ไม่ดี ดังนั้นจึงรอให้มีความแน่นอนก่อนจัดประชุม ทั้งนี้ไม่มีทางที่จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทุกจังหวัดได้ ซึ่งดูตามตัวเลขเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ทั้งดัชนีผู้บริโภคก็ไม่ตรงกัน เห็นได้ว่าถ้าครองชีพแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน อย่าง กทม. กับแม่ฮ่องสอน ค่าครองชีพคนละเรื่องกันเลย แต่เมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต พังงา กระบี่ อาจจะสามารถขึ้นได้เท่ากัน แต่ทั้งนี้คาดว่าทุกจังหวัดจะได้ขึ้นหมด แต่ก็ขึ้นอยู่ที่คณะกรรมการค่าจ้างในแต่ละจังหวัดว่าเสนอมาอย่างไร เพื่อให้คณะกรรมการค่าจ้างกลางพิจารณาว่าสิ่งที่เสนอมาสมเหตุ สมผลหรือไม่ ทั้งนี้น่าจะทันในเดือนธ.ค. เพราะอย่างน้อยจะต้องได้อัตราค่าจ้างใหม่แล้ว