Published on ประชาไท Prachatai.com (https://prachatai.com)

Home > นโยบายสุขภาพเพื่อคนรุ่นใหม่?: วิจารณ์ข้อเสนอคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ > นโยบายสุขภาพเพื่อคนรุ่นใหม่?: วิจารณ์ข้อเสนอคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

นโยบายสุขภาพเพื่อคนรุ่นใหม่?: วิจารณ์ข้อเสนอคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

Submitted by sarayut on Mon, 2018-03-05 13:58

ภาคภูมิ แสงกนกกุล

ระบบสุขภาพแต่ละประเทศต่างมีลักษณะเฉพาะและสาเหตุของปัญหาแตกต่างกัน

ระบบสุขภาพเป็นระบบที่ซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนซึ่งมีการพัฒนามาต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นการพัฒนาระบบสุขภาพของแต่ละประเทศย่อมมีปัจจัยตัวแปรหลายอย่างที่ส่งผลให้ระบบสุขภาพแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันไม่บ้างก็น้อย นับเป็นเรื่องดีที่มีพรรคการเมืองใหม่ที่สนใจปัญหาในระบบสุขภาพและเสนอวิธีการแก้ปัญหาที่ดูเหมือนจะทันสมัยและสร้างความหวังให้กับคนรุ่นใหม่ในประเทศไทยอย่างคุณธนาธร แต่ทว่าปัญหาสำคัญที่ปรากฏในข้อเสนอของคุณธนาธรนั้นกลับสะท้อนความไม่เข้าใจระบบสุขภาพไทย และขาดการเข้าถึงประวัติศาสตร์ของการพัฒนาสุขภาพไทยอย่างสิ้นเชิง รวมถึงความเข้าใจพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์สุขภาพ

เทคโนโลยีและการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคเอกชนไม่ใช่คำตอบเสมอไป

​คุณธนาธรเริ่มต้นด้วยการฉายภาพความล้าสมัยทางเทคโนโลยีและความไม่มีประสิทธิภาพของโรงพยาบาลรัฐ และการขาดอำนาจตัดสินใจของผู้ป่วยว่า "พื้นที่แน่นขนัด, การรอคอยแพทย์ที่ยาวนานไร้ที่สิ้นสุด, กระบวนการจ่ายยาและจ่ายเงินที่ชักช้า, ราคาและต้นทุนการรักษาพยาบาลที่ไม่ชัดเจนและควบคุมไม่ได้ และที่สำคัญคนไข้รู้สึกไม่สามารถควบคุม/เข้าใจถึงสถานภาพตนเองได้" โดยเสนอว่าเทคโนโลยีใหม่จะสามารถปฏิวัติวงการแพทย์ได้โดยยกตัวอย่างประสบการณ์ Medtech ในอเมริกา

​แต่เทคโนโลยีระบบสุขภาพไทยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านนั้นไม่ได้ล้าหลังแต่อย่างใด โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านสารสนเทศ ในโรงพยาบาลรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแพทย์ได้มีการบันทึกประวัติเวชระเบียนคนไข้ทางอิเลคโทรนิคมาเนิ่นนานแล้ว รวมถึงการจองคิวนัดคิวทางออนไลน์ หรือ อีเมล์ แน่นอนว่าการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ และลดการเข้าแถวรอของคนไข้ได้ แต่ปัญหาดังกล่าวจะไม่มีวันแก้ไขได้เลยตราบใดที่ อุปสงค์มากกว่าอุปทาน จำนวนบุคลากรสุขภาพในโรงพยาบาลรัฐไม่เพียงพอต่อความต้องการที่มากขึ้นของประชาชน

ถึงแม้ในระบบสุขภาพฝรั่งเศสในปัจจุบันมีเทคโนโลยีทุกอย่างตามที่คุณธนาธรกล่าวมา ทั้งมีการบันทึกเวชระเบียนทุกย่างทางอิเลคโทรนิค มีแอพพลิเคชัน และสามารถนัดแพทย์ทางออนไลน์ได้ทุกอย่าง แต่ปรากฏว่าปัญหาการเข้าแถวรอในโรงพยาบาลก็มิได้หมดไป ซึ่งผมได้สัมผัสประสบการณ์ด้วยตนเองในการต้องนัดหมอล่วงหน้าทางออนไลน์อย่างน้อยหนึ่งเดือนเนื่องจากตารางงานของหมอประจำตัวเต็มหมด หรือแม้กระทั่งการรอการรักษาในแผนกฉุกเฉินถึงแปดชั่วโมงและได้เห็นสภาพคนป่วยคนอื่นที่มีอาการรุนแรงกว่านั่งรอพร้อมๆ กัน

​องค์การอนามัยโลกได้สนับสนุน public-private partnership เพื่อพัฒนาระบบสุขภาพในทุกประเทศสมาชิก ในอนาคตอันใกล้ทุกๆ ประเทศต่างสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการกำหนดทิศทางนโยบายสุขภาพและการบริหารมากขึ้นรวมถึงการเพิ่มอำนาจผู้ป่วยในการเข้าร่วมตัดสินใจการรักษา โดยที่ภาครัฐจะมีขนาดเล็กลงและทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ควบคุมกำกับ (regulator) เพราะเชื่อว่าระบบสุขภาพพัฒนาอย่างรวดเร็วและซับซ้อนมากขึ้นเกินกว่าที่สถาบันรัฐจะปรับตัวทัน อย่างไรก็ตามแต่ละประเทศต่างมีรากเหง้าของปัญหาที่ต่างกัน โมเดลรูปแบบดังกล่าวถึงแม้ประสบความสำเร็จในยุโรป แต่กลับไม่ประสบผลสำเร็จนักในประเทศแอฟริกาและส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก่อนที่จะเริ่มแปรรูปจึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาปัญหาอย่างแท้จริงก่อน

ในระบบ public-private partnership จะทำงานได้ดีก็ต่อเมื่อทั้งภาครัฐและภาคสังคมต่างมีความเข้มแข็งพอๆ กัน ภาครัฐเองต้องมีระบบข้อมูลและระบบตรวจสอบที่เข้มแข็งแผ่ขยายครอบคลุมประชากรทุกคนในประเทศถึงจะผันตัวเองเป็น regulator ที่มีประสิทธิภาพได้ ภาคสังคมเองก็ต้องพัฒนาการใช้ความรู้และเหตุผลทางการแพทย์ รวมถึงพัฒนาระบบตรวจสอบที่ดีเพื่อสร้างสมดุลย์ทางอำนาจระหว่างรัฐกับสังคม ถึงแม้ข้อเสนอของคุณธนาธรที่สนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลและเพิ่มอำนาจการตัดสินใจของผู้ป่วยเป็นสิ่งที่ต้องสนับสนุนอย่างยิ่ง แต่เราต้องตั้งคำถามว่า ระบบ regulation ของรัฐไทยและ health literacy ของสังคมไทยมีความเข้มแข็งพร้อมหรือยัง ถ้ามุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีอย่างเดียวโดยขาดการให้ความรู้สุขภาพรวมถึงสิทธิของผู้ป่วย และภาครัฐไม่มีการคุ้มครองสิทธิอย่างจริงจังนั้นย่อมไม่เกิดผลใดๆ ตามมา

ความแตกต่างระหว่างโรงพยาบาลภาครัฐและภาคเอกชนคือปัญหาสำคัญในระบบสุขภาพไทย

​ทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงความตายได้ แต่ราคาของความตายแต่ละคนไม่เท่ากัน นี่คือปัญหาที่เป็นอยู่ของระบบสุขภาพไทย ความแตกต่างอย่างมากของโรงพยาบาลรัฐและเอกชนเป็นประเด็นที่ขบวนการสังคมและเอ็นจีโอได้เคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปรากฏว่าทุกๆ รัฐบาลไม่ว่ารัฐบาลไหนต่างไม่มีนโยบายเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างชัดเจน รวมถึงรัฐบาลทักษิณที่เสนอนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค แต่ก็มิได้เสนอมาตรการการควบคุมราคาการรักษาโรงพยาบาลเอกชนแต่อย่างใด เนื่องจากรัฐบาลทักษิณเล็งเห็นศักยภาพอุตสาหกรรมสุขภาพของไทยที่สามารถเพิ่มรายได้ให้ประเทศ จึงเริ่มนโยบายเมดิคัลฮับ และสนับสนุนการเติบโตของโรงพยาบาลเอกชน

​โรงพยาบาลเอกชนมีทุนและทรัพยากรที่ดีกว่าโรงพยาบาลรัฐและพร้อมจะดูดบุคลากรของโรงพยาบาลรัฐ ในขณะเดียวกันภาระงานที่มากขึ้นในโรงพยาบาลรัฐก็เป็นแรงผลักทำให้ไม่สามารถเก็บรักษาบุคลากรได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ภาพที่คนไข้เข้าแถวรออย่างเบียดเสียดในโรงพยาบาลรัฐและภาพคนไข้ที่ได้รับการดูแลราวกับพระราชาในโรงพยาบาลเอกชนจึงสามารถพบเห็นได้ในปัจจุบัน

สถาบันการเมืองในระบบสุขภาพไทย

​คุณธนาธรได้เสนอว่าเทคโนโลยีใหม่จะเข้ามาทำลายสถาบันเก่าที่ล้าสมัยโดยยกตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยีในภาคการเงินที่ทำลายการผูกขาดของสถาบันล้าสมัยว่า "Bitcoin ปลดปล่อยการผูกขาดตัวกลางการแลกเปลี่ยนสินค้าจากรัฐชาติและธนาคารกลาง, ebanking ทำลายระบบหน้าร้านของธนาคาร ธุรกรรมสามารถทำได้โดยไม่ต้องไปธนาคารอีกต่อไป, crowd funding อนุญาตให้ผู้ออมและผู้ต้องการเงินลงทุนพบและทำธุรกรรมกันได้โดยตรง เป็นต้น"

​แต่ทว่าสถาบันในระบบการเงินกับระบบสุขภาพมีความแตกต่างกัน เพราะความเสี่ยงของการเจ็บป่วยเป็นความเสี่ยงที่มีความซับซ้อนคำนวณได้ยากกว่าความเสี่ยงภาคการเงิน ข้อมูลในระบบสุขภาพเป็นไปได้ยากที่จะเป็นข้อมูลสมบูรณ์แบบเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงได้ด้วยตนเอง และเมื่อข้อมูลไม่สมบูรณ์แล้วย่อมเปิดโอกาสให้ผู้ไม่หวังดีหาประโยชน์จากช่องว่างดังกล่าวได้ง่ายกว่าภาคการเงิน ยกตัวอย่างเช่น แค่อาการปวดหัวอย่างเดียวก็เชื่อมโยงกับโรคต่างๆ เป็นร้อยเป็นพันโรคซึ่งมีค่ารักษาแตกต่างกันไป ซึ่งถ้ามีแพทย์ที่ไม่มีจรรยาบรรณกำกับ หรือบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่แพทย์เข้ามาหากำไรโดยการโฆษณาเกินจริงเพื่อชักชวนให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาโดยไม่จำเป็นแล้วย่อมส่งผลเสียหายต่อคนไข้ ค่าใช้จ่ายสุขภาพในระดับประเทศสูงขึ้นตามมาและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาค

​นอกจากนี้สิ่งที่ขาดไปในข้อเสนอของคุณธนาธรคือ อะไรคือสถาบันในระบบสุขภาพไทย? สถาบันสุขภาพไหนที่มีความล้าหลังและควรต้องมีการปรับปรุง? สถาบันไหนที่ไม่ยอมปรับตัว? การเหมารวมว่าทุกสถาบันในระบบสุขภาพไทยนั้นล้าหลังจึงไม่สามารถกำหนดเป้าหมายของปัญหาได้จริง

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook Pa ksa [1]

 

 

บทความ [2]
การเมือง [3]
คุณภาพชีวิต [4]
MedTech [5]
public-private partnership [6]
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ [7]
นโยบายสุขภาพ [8]
ระบบสุขภาพ [9]

Source URL: https://prachatai.com/journal/2018/03/75712#comment-0

Links
[1] https://www.facebook.com/notes/pak-sa/%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88-%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%98%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%A3-%E0%B8%88%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88/10156117578569174/
[2] https://prachatai.com/category/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1
[3] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87
[4] https://prachatai.com/category/%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95
[5] https://prachatai.com/category/medtech
[6] https://prachatai.com/category/public-private-partnership
[7] https://prachatai.com/category/%E0%B8%98%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%A3-%E0%B8%88%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88
[8] https://prachatai.com/category/%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E
[9] https://prachatai.com/category/%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E