Published on ประชาไท Prachatai.com (https://prachatai.com)

Home > เปิดสวน ‘ป้อมมหากาฬ’ ชาวชุมชนเผยหลังย้ายวิถีชีวิตเปลี่ยน ตกงาน ค่าใช้จ่ายเพิ่ม > เปิดสวน ‘ป้อมมหากาฬ’ ชาวชุมชนเผยหลังย้ายวิถีชีวิตเปลี่ยน ตกงาน ค่าใช้จ่ายเพิ่ม

เปิดสวน ‘ป้อมมหากาฬ’ ชาวชุมชนเผยหลังย้ายวิถีชีวิตเปลี่ยน ตกงาน ค่าใช้จ่ายเพิ่ม

Submitted by Nodame on Thu, 2018-07-26 17:25

‘อัศวิน’ แจง พื้นที่สวนสาธารณะเปลี่ยนจากเดิม ร่มรื่น สวยงาม ปลอดภัย ชี้จะทำเป็นพื้นที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม ด้านชาวชุมชนที่ถูกบีบให้ย้ายออกจนหมด หลังการต่อสู้อย่างยาวนานกว่า 25 ปี วางแผนซื้อที่ดินกู้โครงการบ้านมั่นคง เล่า “ผมไม่เหลืออะไรเลย ตกงาน ครอบครัวแยกแตกสลาย จิตใจมันหายไปตั้งแต่เรารื้อบ้าน”

สภาพบริเวณป้อมมหากาฬ ปัจจุบัน (ที่มาภาพ เฟสบุ๊คแฟนเพจ ผู้ว่าฯ อัศวิน [1])

26 ก.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสวนสาธารณะภายในป้อมมหากาฬเปิดใช้อย่างเป็นทางการแล้ว ในวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ชาวชุมชนป้อมมหากาฬได้ย้ายออกจนหมดแล้วในเดือนเม.ย. ไปอยู่ที่ชุมชนกัลยาณมิตร

ชุมชนป้อมมหากาฬจัดงานอำลา ยุติมหากาพย์ 25 ปี ย้าย 25 เม.ย. นี้ [2]

ประมวลภาพ+คลิป เสียงสะท้อน ความรู้สึก บทเรียนจากชุมชนป้อมมหากาฬ [3]

เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา เฟสบุ๊คแฟนเพจ ผู้ว่าฯ อัศวิน [1] ของ อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  ได้ลงข้อความพร้อมภาพประกอบคือสวนสาธารณะภายในป้อมมหากาฬ ใจความว่า ปรับปรุงเสร็จเรียบร้อยแล้วสำหรับพื้นที่ภายในป้อมมหากาฬ และพร้อมเปิดเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนและนักท่องเที่ยว ตอนนี้พื้นที่ภายในป้อมฯ เปลี่ยนไปจากเดิมมาก ทั้งโล่ง เขียว ร่มรื่น สวยงาม และดูปลอดภัย มองจากมุมไหนเราก็จะได้เห็นความสง่างามของป้อมมหากาฬและกำแพงเมืองซึ่งเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติได้ชัดเจนขึ้น และอิ่มเอมมากขึ้น

กทม.ตั้งใจจะทำพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นที่ศึกษาหาความรู้ทางประวัติศาสตร์ เป็นพื้นที่นันทนาการ เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์ของเกาะรัตนโกสินทร์ เช่นเดียวกับพื้นที่บริเวณป้อมพระสุเมรุ และสวนสันติชัยปราการริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่พี่น้องประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในปัจจุบัน และ 24 ก.ค.61 สวนสาธารณะภายในป้อมมหากาฬจะเปิดใช้อย่างเป็นทางการแล้ว

ผู้ว่าฯ กทม. ยังได้เชิญชวนให้เข้าไปเยี่ยมชม และระบุถึงช่องทางรับความคิดเห็นสำหรับการปรับปรุงสถานที่ทาง   @aswinbkk

อดีตชาวชุมชนที่ถูกบีบให้ย้ายออก เผยวิถีชีวิตเดิมหาย บ้างตกงาน ค่าใช้จ่ายเพิ่ม

ด้าน พรเทพ บูรณบุรีเดช รองประธานชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าวกับผู้สื่อข่าวประชาไทว่า พวกตนเป็นกลุ่มสุดท้ายทั้งหมด 8 หลังคาเรือน ที่ย้ายออกจากชุมชนป้อมมหากาฬ และย้ายมาอาศัยร่วมกับคนในชุมชนกัลยาณมิตร โดยมีข้อตกลงว่าจะสามารถอยู่ได้ไม่เกินหนึ่งปี หลังจากนี้พวกตนวางแผนจะซื้อที่ดินแถวพุทธมณฑลสาย 2 พร้อมกับครอบครัวอื่นๆ 8 หลังคาเรือนที่ย้ายออกมาด้วยกัน โดยแม้เงินที่มีอยู่ตอนนี้จะไม่เพียงพอ แต่จะไปขอกู้เงินกับโครงการบ้านมั่นคง

มหากาพย์ป้อมมหากาฬ (1) : ‘คนอยู่’ เล่ารอยร้าวชุมชน ในวันที่ กอ.รมน.รุกถึงหน้าบ้าน [4]

มหากาพย์ป้อมมหากาฬ (2): ‘คนย้าย’ เล่าแรงกดดันจาก กทม. ชุมชน ปากท้องและความมั่นคงทางที่อยู่ [5]

มหากาพย์ป้อมมหากาฬ (3): กอ.รมน.มาจากไหน ทำไมถึงไปกางเต็นท์นอนในชุมชน [6]

รื้อไล่ไม่ใช่ทางออกเดียว: คุยกับนักมานุษยวิทยา ม.ฮาร์วาร์ดเรื่องชุมชนป้อมมหากาฬ [7]

อำลาชุมชนป้อมมหากาฬ: ชุมชนเก่าแก่ดีเกินไปในยุคที่แต่งชุดไทยก็ฟินแล้ว [8]

เมื่อถามเรื่องปัญหาที่เจอในตอนนี้ พรเทพ กล่าวว่า หลักๆ แล้วเป็นเรื่องค่าใช้จ่าย อาชีพ และจิตใจ บางคนจากที่เคยมีอาชีพค้าขายอยู่ในชุมชนป้อมมหากาฬ เมื่อย้ายออกมาก็ตกงาน บางคนก็ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต เปลี่ยนการเดินทาง ค่าใช้จ่ายก็สูงเพิ่มขึ้น

“วิถีชีวิตแบบเดิมที่เราเคยอยู่ในชุมชนมันไม่เหลือแล้ว อันนี้เหมือนเรามาอาศัยเขาอยู่ ก็หวังแต่ว่าถ้าเรามีที่ดินเป็นของเราอีกครั้ง เราจะรื้อฟื้นวิถีชีวิตเดิมๆ ของเรากลับมาได้ อย่างตอนนี้ผมจากคนที่เคยมีบ้าน มีอาชีพ ผมไม่เหลืออะไรเลย ตกงาน ครอบครัวแยกแตกสลาย จิตใจมันหายไปตั้งแต่เรารื้อบ้าน เริ่มตั้งแต่รื้อหลังคาบ้าน ใจมันก็หายแล้ว เรายืนมองแล้วคิดว่ามันมาสุดทางแล้วจริงๆเหรอ” พรเทพ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ก่อนที่ชาวชุมชนป้อมมหากาฬหลังสุดท้ายจะถูกแบบให้ย้ายออกจากพื้นที่ไปเมื่อ เม.ย.ที่ผ่านมา สำหรับปัญหาที่ชาวชุมชนป้อมมหากาฬประสบนั้น เริ่มต้นจากโครงการปรับปรุงพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬเพื่อจัดทำเป็นสวนสาธารณะและอนุรักษ์โบราณสถานของชาติตั้งแต่ปี พ.ศ.2502 ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์ ทำให้ต้องมีการรื้อถอนบ้านและย้ายชุมชนที่อยู่ในแนวกำแพงป้อมมหากาฬออกทั้งหมด เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และทำเป็นสวนสาธารณะแต่ก็ยังทำไม่สำเร็จ ต่อมา กทม. ทำการเวนคืนที่ดินในปี พ.ศ.2535 ตั้งแต่นั้นก็มีปัญหาไล่รื้อเรื่อยมาจนเสร็จสิ้น อย่างไรก็ตาม ชาวชุมชนป้อมมหากาฬมีการต่อสู้เพื่อสิทธิในการอยู่อาศัยโดยใช้แนวคิดการพัฒนาสวนสาธารณะป้อมมหากาฬด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน ตามกระบวนการ co - creation ที่เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของชุมชนและการออกแบบจากทุกภาคส่วน การพัฒนาให้เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต (Living Heritage Museum) โดยพัฒนาแนวคิดนี้จากโครงการวิจัยเพื่อจัดทำแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนบ้านไม้โบราณ

รวมถึงมีการทำงานร่วมกันของคณะกรรมการ 3 ฝ่าย คือ 1. ชุมชนและนักวิชาการ 2. กรุงเทพมหานคร และ 3. ทหารที่เข้ามาเป็นคนกลาง มีความพยายามหาทางออกด้วยการพิสูจน์คุณค่าของบ้านแต่ละหลัง โดยบ้านที่จะได้รับการอนุรักษ์ต้องมีการพิสูจน์ให้ครบถ้วนทั้ง 5 ด้านด้วยกัน คือ 1) ด้านคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ 2) ด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรมและผังเมือง 3) สังคมและวิถีชีวิต 4) โบราณคดีและการตั้งถิ่นฐาน และ 5) คุณค่าในด้านวิชาการ เป็นต้น

 

ข่าว [9]
สังคม [10]
วัฒนธรรม [11]
คุณภาพชีวิต [12]
ป้อมมหากาฬ [13]
ชุมชนป้อมมหากาฬ [14]
อัศวิน ขวัญเมือง [15]
พรเทพ บูรณบุรีเดช [16]
สวนสาธารณะป้อมมหากาฬ [17]
ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

Source URL: https://prachatai.com/journal/2018/07/78002

Links
[1] https://www.facebook.com/aswinkwanmuang/posts/423276338080528
[2] https://prachatai.com/journal/2018/04/76514
[3] https://prachatai.com/journal/2018/05/76692
[4] https://prachatai.com/journal/2018/01/75130
[5] https://prachatai.com/journal/2018/01/75131
[6] https://prachatai.com/journal/2018/01/75189
[7] https://prachatai.com/journal/2018/03/75789
[8] https://prachatai.com/journal/2018/04/76523
[9] https://prachatai.com/category/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7
[10] https://prachatai.com/category/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1
[11] https://prachatai.com/category/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1
[12] https://prachatai.com/category/%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95
[13] https://prachatai.com/category/%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%AC
[14] https://prachatai.com/category/%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%AC
[15] https://prachatai.com/category/%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%A8%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%99-%E0%B8%82%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87
[16] https://prachatai.com/category/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E-%E0%B8%9A%E0%B8%B9%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%8A
[17] https://prachatai.com/category/%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%B0%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%AC