สหภาพฯ ชี้เหตุฟ้องสภาพยาบาลเพราะต้องการให้คุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่พยาบาลไทย
สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยได้ระบุเหตุผลที่ฟ้องสภาการพยาบาล เพราะต้องการจัดให้มีเวทีเปิดโอกาสรับฟังข้อเสนอแนะของสมาชิกเพื่อแก้ไขเสนอแนะ พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ.2528 ให้มีความทันสมัยครอบคลุมภาคปฏิบัติหน้าที่ของพยาบาลไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน ยืนยันสหภาพพยาบาลฯ ไม่ได้มีเจตนากระทำการใดๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อสภาวิชาชีพ - หนุน ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับผ่านประชาพิจารณ์ ก.ค. 2561
15 ก.ย. 2561 สืบเนื่องจากเมื่อปี 2559 สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย ได้ขอให้มีเปิดการประชุมวิสามัญเพื่อรับข้อร้องทุกข์และจัดทำประชาวิจารณ์ ขอปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ.2528 [1] และ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ 2540 [2] แต่ที่ประชุมคณะกรรมการสภาการพยาบาลมีมติไม่สามารถเปิดการประชุมดังกล่าวได้ ทำให้ตัวแทนของสหภาพพยาบาลฯ ได้ทำการยื่นฟ้องกรรมการสภาการพยาบาล ณ ศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2559 ต่อมาเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2561 ศาลปกครองกลางนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก (คดีหมายเลขดำที่ 1198/2559) ซึ่งองค์คณะได้สรุปข้อเท็จจริงของคดี มีตุลาการผู้แถลงคดีให้ความเห็นต่อคดีนี้เป็นระบบการตรวจสอบถ่วงดุลในศาลปกครอง การวินิจฉัยของตุลาการผู้แถลงคดีจะไม่ผูกพันองค์คณะตุลาการเจ้าของสำนวน โดยองค์คณะได้นัดพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 2 ต.ค. 2561
ศาลปกครองนัดพิจารณาคดีประธานสหภาพพยาบาลฟ้อง คกก.สภาพยาบาล 5 ก.ย. นี้ [3]
พิจารณาคดีนัดแรก ประธานสหภาพฯ ฟ้องสภาการพยาบาล นัดพิพากษา 2 ต.ค. [4]
ทั้งนี้สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยได้ระบุเหตุผลที่สหภาพพยาบาลฯ ฟ้องสภาการพยาบาล ว่ามีที่มาจากการที่สหภาพพยาบาลฯ ในนามผู้แทนพยาบาลไทยที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือเพื่อเสนอให้สภาการพยาบาลจัดให้มีเวทีเปิดโอกาสรับฟังข้อเสนอแนะของสมาชิกเพื่อแก้ไขเสนอแนะ พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ.2528 ให้มีความทันสมัยครอบคลุมภาคปฏิบัติหน้าที่ของพยาบาลไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน แต่เมื่อคำขอนั้นไม่เป็นผล สหภาพยาบาลฯ จึงหวังพึ่งศาลปกครองให้เป็นตัวกลางช่วยแก้ไขปัญหานี้
ที่ผ่านมามีเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อภาคปฏิบัติงานให้บริการคนไข้ ต่อความรู้สึกของพยาบาลไทยที่ปฏิบัติงานให้การดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมมาโดยตลอด ใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการให้บริการเต็มศักยภาพทำภาระงานที่ล้นมือ ด้วยหัวใจที่มุ่งหมายให้ผู้ป่วยปลอดภัย
ดังตัวอย่างเหตุการณ์เมื่อเดือน ก.ย. 2560 มีกรณีพยาบาลถูกจับกุมขณะเจาะเลือดเพื่อตรวจสุขภาพประจำปีให้แก่พนักงานบริษัทแห่งหนึ่งใน จ.นครปฐม [1] [5] และอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่บั่นทอนความรู้สึกของพยาบาลมากคือข่าวการแห่ศพประท้วงวิสัญญีพยาบาลที่ทำหน้าที่ให้ดมยาสลบ เมื่อเดือน ม.ค. 2561 [2] [6]
สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยระบุว่านี่เป็นเพียง 2 ตัวอย่างเหตุการณ์ที่เห็นปัญหาโดยเด่นชัดว่าทำไมพยาบาลไทย จึงต้องการเสนอการแก้ไข พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ.2528 ให้คุ้มครองพยาบาลที่ทำงานโดยแท้จริง โดยสหภาพพยาบาลฯ ไม่ได้มีเจตนากระทำการใดๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อสภาวิชาชีพ
หนุน ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับผ่านประชาพิจารณ์ ก.ค. 2561
นอกจากนี้สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยยังได้จัดการรณรงค์ออนไลน์ลงชื่อสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับผ่านประชาพิจารณ์ เมื่อเดือน ก.ค. 2561 ผ่านแฟนเพจเฟสบุ๊คของสหภาพ ร่วมกับชมรมพยาบาล รพ.สต.แห่งประเทศไทย เพื่อนำเสนอให้กับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข
โดยในวันที่ 11 ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา สำนักข่าว Hfocus [7] รายงานว่า นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้ได้เชิญสภาการพยาบาล สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย ชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย ชมรมการพยาบาลวิชาชีพแห่งประเทศไทย ชมรมพยาบาล รพ.สต.แห่งประเทศไทย ผู้บริหารสถาบันการศึกษาพยาบาล ชมรมพยาบาลเวชปฏิบัติ ชมรมบริหารพยาบาลแห่งประเทศไทย พยาบาลอาชีวอนามัย พยาบาลวิสัญญี ตัวแทนพยาบาลวิชาชีพชั้นสูง ซึ่งตัวแทนที่เข้าร่วมประชุมมีทั้งในภาคการศึกษาและผู้ปฏิบัติงาน เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ยาฉบับใหม่ ถึงประเด็นปัญหาการดำเนินงานของพยาบาล โดยได้ข้อสรุปร่วมกัน 3 ประเด็น ดังนี้
1.มาตรา 22 (5) ตามร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ขอเพิ่มเติมข้อความ ให้ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ สามารถจ่ายยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายของตนได้ตามมาตรฐานวิชาชีพทั้งในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ทั้งในและนอกสถานพยาบาล
2.เห็นด้วยตาม มาตรา 4 ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ในการแยกประเภทยาเป็น 4 ประเภท โดยเฉพาะยาแผนปัจจุบันซึ่งเป็นยาที่พยาบาลสามารถจ่ายยาได้
3.ขอให้พยาบาลวิชาชีพสามารถใช้ยาและจ่ายยาในกรณีผู้ป่วยมีภาวะฉุกเฉินที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ทันท่วงที
“หลักการในเนื้อหาของ พ.ร.บ.ทั้งหมด ทางสภาการพยาบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นพ้องต้องกันว่ามีประโยชน์กับประเทศ แต่ยังมีประเด็นที่เห็นต่างกันจะมีอยู่ 2 ข้อ คือมาตรา 22 (5) และมาตรา 4 ให้มีการเพิ่มเติมตามที่เสนอ เพื่อให้การทำงานของพยาบาลเป็นไปได้ในปัจจุบัน เพราะปัจจุบันโดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล วิชาชีพพยาบาลเป็นผู้ที่ปฏิบัติงานทั้งด้านวินิจฉัย รักษา จ่ายยา เบื้องต้นแก่ประชาชนตลอดเวลาอยู่แล้ว ส่วนเนื้อหาไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค การวางมาตรการการขายยาออนไลน์ การวางมาตรการการส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศ ซึ่งเป็นเนื้อหาหลักของ พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ แต่คนพูดถึงกันน้อยและเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นประโยชน์กับประเทศไทย โดยภาพรวมของการทำงานเจตนารมณ์ของพยาบาลกับกฎหมายเป็นไปในทิศทางเดียวกันคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน ซึ่งจะนำไปเสนอผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว