Published on ประชาไท Prachatai.com (https://prachatai.com)

Home > วงถกชี้ ใช้เงินประกันตัวคือปัญหา แนะทำ ก.ม. ใหม่ให้ศาลวัดความเสี่ยงแทน > วงถกชี้ ใช้เงินประกันตัวคือปัญหา แนะทำ ก.ม. ใหม่ให้ศาลวัดความเสี่ยงแทน

วงถกชี้ ใช้เงินประกันตัวคือปัญหา แนะทำ ก.ม. ใหม่ให้ศาลวัดความเสี่ยงแทน

Submitted by ApeelZl on Mon, 2018-10-22 22:08

วงเสวนาพูดคุยประเด็นหลักเกณฑ์การปล่อยตัวชั่วคราว ว่าด้วยคณิตศาสตร์การประกันตัว กฎหมายให้เท่าเทียม เจ้าหน้าที่ขอเท่าทุน คุกจึงขังคนจนหลายหมื่น ไม่มีเงินประกันทำคนยอมสารภาพ กองทุนยุติธรรมพิพากษาก่อนศาล เสนอปรับฐานคิด แก้กฎหมาย-ข้อบังคับเรื่องประกันตัว แต่มีข้อท้าทายทุกอย่าง โครงการประเมินความเสี่ยงคือพัฒนาการลดความเหลื่อมล้ำที่ดี แต่ทำไมไม่ทำต่อ

(ภาพจากเว็บไซต์รณรงค์ change.org [1])

เมื่อ 19 ต.ค. 2561 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดเสวนาวิชาการ หัวข้อ "ลดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม : ปัญหาการกำหนดหลักประกันในการปล่อยตัวชั่วคราวตามข้อกำหนดประธานศาลฎีกากับหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญและแนวทางในการเเก้ไข" 

ในงานมีอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานมูลนิธิอัยการ กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ รองเลขาธิการสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา และอดีตอัยการสูงสุด โสพล จริงจิตร รองเลขาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล และ รศ.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. เป็นวิทยากร ดำเนินรายการเสวนาโดยเพียรรัตน์ ลีลาพงศธร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ.

ดูวิดีโอย้อนหลังได้ใน Facebook ไม่มีใครติดคุกเพราะจน [2]

คณิตศาสตร์การประกันตัว กฎหมายให้เท่าเทียม เจ้าหน้าที่ขอเท่าทุน คุกจึงขังคนจนหลายหมื่น

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล (ที่มา: Facebook/ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน [3])

ปริญญากล่าวว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรคสองระบุว่า ในคดีอาญา ศาลต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยไม่มีความผิด หากคดียังไม่ถึงที่สุด จะกระทำต่อจำเลยเยี่ยงผู้กระทำผิดไม่ได้ แต่ข้อบังคับของศาลฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการเรียกหลักประกันหรือหลักประกันในการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาจำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2548 ที่ออกมามีการกำหนดอัตราประกันตัวในวรรค 5 เช่น ในคดีที่มีโทษจำคุกแต่ไม่มีโทษอื่นที่หนักกว่าจำคุกรวมอยู่ด้วย มีวงเกินประกันไม่เกิน 20,000 บาท ต่อระวางโทษจำคุกหนึ่งปี ถ้าจำคุก 20 ปีก็ 400,000 บาท แล้วคนไม่มีเงินประกันตัวจะทำอย่างไร แปลว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 29 ไม่จริง เพราะตามหลักแล้วคนจะติดคุกเพราะว่าถูกตัดสินว่ามีความผิด

แม้ข้อบังคับประธานฎีกาฯ ในวรรค 4 จะระบุว่าให้ศาลพิจารณาว่าจะให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้โดยมีหรือไม่มีประกัน และให้คำนึงถึงความน่าเชื่อถือผู้ขอประกัน หลักประกัน และฐานะของผู้ต้องหาหรือจำเลยด้วย แต่ในทางปฏิบัติ ศาลมักมองข้ามข้อ 4 แล้วไปพิจารณาหลักประกันตามข้อ 5 เลย คำถามก็คือผู้พิพากษามีสิทธิกำหนดเงินประกันแค่ไหน เรื่องเงินคือความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม คนไม่มีเงินจะติดคุกก่อนถูกตัดสินคดี ในขณะที่คนมีเงิน และมั่นใจว่าจะติดคุกแน่ๆ ก็ทิ้งเงินประกันแล้วหนีคดีได้ คำถามคือ วิธีการประกันตัวเช่นนี้ได้ผลหรือไม่

ภาวิณี ชุมศรี (ที่มา: Facebook/ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน [3])

ภาวิณีกล่าวว่า ฐานคิดของหน่วยงานรัฐจะตั้งหลักว่าจะทำอย่างไรถ้าคนได้ประกันตัวหลบหนีขึ้นมา ไม่รู้ว่าหน่วยงานรัฐจะมีการเช็คหรือไม่ว่าให้ประกัน ต้องมีความรับผิดชอบ ทำให้ยากในการใช้ดุลพินิจประกันตัวแบบไม่มีหลักทรัพย์ เข้าใจฝ่ายเจ้าหน้าที่ว่าถ้าประกันตัวแบบไม่มีหลักทรัพย์แล้วใครจะรับผิดชอบเมื่อมีการหลบหนี ถ้ามีหลักทรัพย์ อย่างน้อยก็ยังบังคับหลักทรัพย์ได้ ในกรณีที่ประกันตนออกมาแล้วหลบหนีจะทำอย่าง เห็นว่าควรไปเน้นกระบวนการจับกุมให้กลับมาสู่การพิจารณาคดีในศาลได้ ไม่จำเป็นต้องเพิ่มโทษกับผู้หลบหนี เพราะหากไม่มาศาลตามนัดแล้วศาลออกหมายจับก็เท่ากับหมดสิทธิ์ประกันตัว ส่วนตัวเห็นว่าเป็นการลงโทษแล้ว

อรรถพลกล่าวว่า ต้องยอมรับความจริงว่าหลักกฎหมายที่คนเสมอภาคในทางกฎหมายนั้นเป็นไปไม่ได้ เช่น ในคดีขับรถประมาท ตัวแปรในการพิจารณาว่าติดคุกหรือไม่ก็คือการชดใช้ค่าเสียหาย แล้วคำถามคือ คนจนสามารถชดใช้ค่าเสียหายได้หรือไม่ได้ ถ้าไม่ได้ก็ติดคุก ทั้งนี้ก็มีความพยายามในการเปลี่ยนแปลงเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราวอยู่ ประมาณปีเศษๆ ที่แล้วมีการพูดถึงการปล่อยตัวชั่วคราวด้วยเงื่อนไขว่าให้ติดกำไลอิเลกทรอนิกส์ติดตามตัว

อรรถพล ใหญ่สว่าง (ที่มา: Facebook/ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน [3])

กรณีข้อบังคับประธานศาลฎีกาที่มีการกำหนดจำนวนเงินประกันในข้อ 5 นั้น อรรถพลกล่าวว่เาป็นไปเพื่อกำหนดเพดานไม่ให้เกินจำนวนที่ตั้งไว้ คิดว่าเป็นเพราะสมัยก่อนมีกลุ่มนายคนที่ทำธุรกิจเป็นนายประกันและได้ประโยชน์จากการให้กู้เงินประกันจำนวนมาก บ้างมีข่าวลือว่ามีการจัดคิวบริษัทในการจ่ายเงินประกัน อีกหนึ่งเหตุผลคือการประกันหลายครั้งไม่ดูโทษหนักโทษเบา เคยเจอคดียักยอกทรัพย์ที่ตัดสินจำคุกไม่เกินสามปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท แต่ศาลเรียกเงินประกัน 5 ล้านบาท เพราะไปดูค่าเสียหายแล้วประเมินว่าจำนวน 100 ล้านบาท จึงเรียกเอาเงินประกัน 5 ล้านบาท ซึ่งศาลเองก็ไม่ผิดที่เรียกเช่นนั้นก็เพราะว่ากลัวจะมีการหลบหนี  

คำสั่งประธานศาลฎีกาที่ออกมาก็เป็นไปเพื่อสร้างเพดานในการเรียกเงินประกัน แต่ 600,000 บาทหรือ 800,000 บาทก็อาจถูกมองว่าเยอะเกินไป ในต่างประเทศมีตัวอย่างเรื่องการกำหนดเงื่อนไขโดยไม่ต้องใช้หลักประกัน เช่นใช้กำไลติดตามตัวหรือให้อยู่แต่ในบ้านถ้านำมาแก้ไขในประเด็นนี้ คิดว่าคนจน คนรวยจะมาได้เปรียบเสียเปรียบกันน่าจะน้อยลงถ้าเปิดหลักเกณฑ์นี้ แต่ต้องไปแก้ที่กฎหมายเสียก่อน

โสพลกล่าวว่า ความเป็นคนจนมันรันทดสลดใจทุกอย่าง สังคมกำลังเอาสถานะทางเศรษฐกิจมาบังคับกระบวนการยุติธรรม เป็นการกล่อมเกลาทางสังคมว่ารวยดีกว่าจน ต้องรวยไว้ก่อน เพราะจะมีอภิสิทธิ์ในสังคมดีกว่าคนอื่น ตั้งคำถามกระบวนการยุติธรรมกำลังทำแบบนั้นกับสังคมหรือเปล่า อัตราโทษที่เท่ากันไม่ได้หมายความว่าเราจะเท่ากันในทางทรัพย์สิน แต่ละคนกินข้าวมื้อละไม่เท่ากัน สิ่งนี้คือสิ่งที่คนในกระบวนการยุติธรรมต้องถกกันให้ชัดเจน

โสพล จริงจิตร (ที่มา: Facebook/ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน [3])

โสพลกล่าวต่อไปว่าระบบกฎหมายเองก็มีปัญหา ประเทศนี้มักอยากทำให้ความผิดหลายอย่างเป็นคดีอาญา การทำให้ความผิดเป็นโทษอาญาน้อยลงก็ทำให้การปล่อยตัวและการประกันตัวน้อยลงตามไปด้วย ปัจจุบันเหลือผู้ต้องขังระหว่างรอศาลชั้นต้นพิพากษาจำนวน 50,000 คน จากเมื่อก่อนที่มี 80,000 คน ถือว่าลดลงแต่จำนวน 50,000 คนก็เป็นหน้าที่ของคนจ่ายภาษีที่ต้องไปเลี้ยงข้าว จะทำอย่างไรให้การพูดคุยนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ กสม. มีหน้าที่เสนอแนะแก้ไขกฎหมายเพื่อเป็นประโยชน์แก่สิทธิมนุษยชน หากมีข้อเสนอแนะมีการชี้แจงได้  ส่วนตัวเสนอว่าอาจต้องยกเลิกข้อบังคับที่เป็นยี่ต๊อกไปเสีย และทำให้ศาลกล้าใช้ดุลพินิจมากขึ้น

ความหวังและข้อท้าทาย กับเสนอปรับฐานคิด แก้กฎหมาย-ข้อบังคับเรื่องประกันตัว

ปริญญากล่าวว่า สำหรับข้อเสนอที่เคยมีนั้นก็คือการพิจารณาความเสี่ยงว่าจำเลยจะหนีหรือไม่ ถ้าความเสี่ยงต่ำก็ให้ปล่อยตัวชั่วคราว รายที่หนีแน่นั้นก็ปล่อยไม่ได้ แต่กลุ่มที่ก้ำกึ่งก็ต้องประเมินความเสี่ยงกัน โดยมีเป้าหมายว่าจำเลยจะมาขึ้นศาลหรือไม่ มีปัจจัยพิจารณาหลายตัว แต่สิ่งทีทำได้เลยคือการปฏิบัติตามข้อบังคับประธานศาลฎีกาฯ ข้อที่ 4 ก่อน

ส่วนในประเด็นว่าใช้เงินเป็นหลักประกันจะขัดกับรัฐธรรมนูญ ม.29 วรรคสองหรือ ม 27 ที่บอกว่าทุกคนเสมอกันในทางกฎหมายหรือไม่นั้นต้องดูว่าจะทำอย่างไรกับข้อบังคับได้หรือไม่ ถ้าขัดกันแล้วจะทำอย่างไรต่อ ในทางหลักการ ถ้าเป็นคำสั่งฝ่ายบริหารก็ว่ากันที่ศาลปกครอง แต่ถ้าเป็นข้อบังคับประธานศาลฎีกาที่ขัดศาลรัฐธรรมนูญจะขึ้นศาลใดได้ แต่ตั้งข้อเสังเกตว่าวิธีพิจารณาความอาญาเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2477 ต่อมาจึงมีการบัญญัติหลักการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์หากยังไม่มีคำตัดสินจากศาลเมื่อปี 2492 แต่ วิ.อาญา เดิมไม่มีการอนุวัติปรับตามพัฒนาการ

ปริญญาเสนอให้แก้ข้อบังคับประธานศาลฎีกาฯ และ วิ.อาญา ทำให้การใช้เงินเป็นหลักประกันเป็นเรื่องทำไม่ได้ แต่ในกรณีหลังนั้นยากกว่า เพราะต้องไปขึ้นกับการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในขณะที่ส่วนแรกนั้นขึ้นอยู่กับประธานศาลฎีกาจะเห็นว่าต้องทบทวนหรือปรับแก้อย่างไร แต่หลักการคือรัฐธรรมนูญเป็นใหญ่ ไม่ใช่ตุลาการเป็นใหญ่ ถ้าจะทบทวนข้อบังคับจากฝ่ายตุลาการไม่ได้ก็ไม่ใช่หลักการปกครองตามกฎหมายที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด

ภาวิณีกล่าวในประเด็นการแก้ไขกฎหมายและข้อบังคับว่า กระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้นศาลปกครองไม่รับ ส่วนศาล รัฐธรรมนูญ ถ้าบังเอิญว่าฟ้องได้จริง ศาลจะวินิจฉัยอย่างไร อีกประการหนึ่งคือ คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญคือที่สุดแล้ว ถ้าศาลตัดสินว่าไม่ขัดก็เท่ากับว่าต้องใช้ตัวกฎหมายนี้ตลอดไป

ทนายสิทธิฯ ชี้ ไม่มีเงินประกันทำคนยอมสารภาพ กองทุนยุติธรรมพิพากษาก่อนศาล

ภาวิณีกล่าวว่า ผลกระทบที่มากไปกว่าการเสียโอกาสหากไม่ได้ประกันตัว คือ หลายคนตัดสินใจรับสารภาพถ้าศาลไม่อนุญาตประกันตัว ไม่มีเงินประกันตัวหรือไม่มีทางเลือก แล้วรอลดโทษ บางคดีมีความก้ำกึ่งที่สามารถพิสูจน์ได้ เช่น ความผิดคดีอาญามาตรา 112 หลายคนก็ตัดสินใจรับสารภาพเพราะหลักทรัพย์ประกันสูง การพิจารณาก็นานแทบจะเท่าระยะเวลาจำคุก เผลอๆ รับสารภาพอาจจะพ้นโทษเร็วเสียกว่า แบบนี้ถือว่าเป็นการทำให้จำเลยกลายเป็นผู้ผิดไปก่อนแล้ว

จากประสบการณ์การทำงานพบว่าคนจนมีโอกาสขอปล่อยตัวชั่วคราวน้อยกว่า เพราะเวลาจะขอประกันตัวตอนถูกฝากขังก็จะถูกเจ้าหน้าที่ถามต่อว่าข้อหาอะไร หลักทรัพย์ประมาณเท่านี้ จะประกันด้วยอะไร เงินสด ตำแหน่ง ที่ดินหรือเอกสาร หลายคนพอเห็นว่าต้องเป็นหลักทรัพย์ก็จอดแล้ว หรือไม่เช่นนั้นก็กู้มา ท้ายที่สุดศาลอาจจะไม่ให้ เงินที่กู้หรือของที่จำนอง จำนำก็ต้องไปเอาเงินมาไถ่คืน ชดใช้ดอกเบี้ยกันไป ด้วยความที่ส่วนตัวช่วยคดีคนที่ไม่มีทรัพย์สินเงินทองเยอะ ก็จะได้คุ้นเคยกับคนที่ไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัว ก็ได้แนะนำให้ไปขอกองทุนยุติธรรม หรือใครมีสักเล็กน้อยก็จะไปเช่าหลักทรัพย์ สมัยนี้คือการไปทำสัญญากับบริษัทประกันที่ขึ้นทะเบียนกับศาล การจ่ายเงินก็ไม่ง่าย ต้องมีคนค้ำประกันที่มีเงินเดือนเป็นหลักฐาน

ทนายความจากศูนย์ทนายสิทธิฯ กล่าวอีกว่า ผู้ขอประกันตัวมีอุปสรรคอื่นนอกเหนือจากดุลพินิจศาล การขอกองทุนยุติธรรมก็มีอุปสรรคและเงื่อนไขต่างๆ ทั้งเรื่องการใช้เวลานานซึ่งก็เข้าใจได้ว่าต้องใช้เวลากลั่นกรอง แต่การพิจารณานั้นยิ่งกว่าศาล มีการดูทั้งข้อกล่าวหา ที่มาที่ไปของครอบครัวว่ามีความประพฤติอย่างไร ผู้ขอต้องกลับไปดูแลครอบครัวไหม และพิจารณาความถูกผิดในข้อกล่าวหา กองทุนจะตัดสินไปก่อนว่าถูกหรือผิดแม้จะยังไม่มีการพิสูจน์หลักฐาน เป็นอีกเรื่องที่ต้องคุยกันหนัก

โครงการประเมินความเสี่ยง: พัฒนาการลดความเหลื่อมล้ำที่ดี (แต่ไม่ทำต่อ)

ปกป้อง ศรีสนิท (ที่มา: Facebook/ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน [3])

ปกป้องกล่าวว่า แนวปฏิบัติเรื่องการกำหนดหลักประกันตัวที่ดูตามข้อหา ไม่ได้ดูตามฐานะเป็นการมองความเสมอภาคที่ผิด กลายเป็นว่าถ้ามีเงินก็ประกันตัวได้ จะทำให้คนมีเงินหรือรู้จักข้าราชการได้สิทธิ์ปล่อยตัวชั่วคราว ในฝรั่งเศส การปล่อยตัวชั่วคราวไม่กำหนดทรัพย์สินเลยเพราะการใช้เงินเป็นการเลือกปฏิบติไม่เป็นธรรม ให้ศาลประเมินตามกรณี หากมีความเสี่ยงพฤติกรรมหลบหนีก็สั่งขัง บางกรณีที่เป็นคดีที่ไม่กระทบสังคมมาก ผู้ขอประกันตัวมีที่อยู่ ที่ทำงานเป็นหลักแหล่ง มีลูกที่ต้องเลี้ยงก็ปล่อยตัว แต่กำหนดเงื่อนไขเ ช่นให้มารายงานตัวต่อศาลหรือรายงานตัวต่อตำรวจก่อนไปทำงาน

ปกป้องพูดถึงโครงการประเมินความเสี่ยงและกำกับดูแลในชั้นปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งเป็นโครงการทดลองในบางศาล ที่สำนักงานศาลยุติธรรมให้ความสำคัญเมื่อต้นปี 2560 หรือที่เรียกอีกชื่อว่า “โครงการปล่อยฟรีไม่มีประกัน”  ที่ทดลองให้ศาลพิจารณาข้อมูลส่วนตัว ประวัติที่เกี่ยวกับกับคดีของผู้ต้องหาหรือจำเลย เพื่อวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือว่า หากปล่อยตัวไปแล้วจะปฏิบัติตามคำสั่งของศาล แล้วตีความออกมาเป็นระดับความเสี่ยง โครงการดังกล่าวดำเนินการไปหนึ่งปี พบว่าคนที่เข้าโครงการฯ มีอัตราหลบหนีพอๆ กันกับระบบเก่าที่เรียกเงิน เรียกหลักประกัน ถือว่ามาถูกทาง เพราะแสดงให้เห็นแล้วว่าคนจะหนีก็หนีอยู่แล้ว ตนเห็นด้วยและคิดว่าควรจะขยายขอบเขตออกไป แต่ก็เสียดายที่โครงการจะถูกชะลอ

หลายคนอาจตั้งข้อสังเกตว่าโครงการเช่นนี้ทำให้ผู้พิพากษาเสียเวลา แทนที่จะใช้บัญชีแบบเดิมกำหนดอัตราประกันตัวไม่กี่นาที แต่คิดว่าการสร้างระบบใหม่ที่ต้องใช้เวลาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เกิดความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายเป็นเรื่องที่คุ้มค่า ตนเข้าใจคนทำงานศาลว่าต้องการหลังพิงในกรณีที่มีการปล่อยตัว เพราะหากปล่อยตัวแล้วหนีก็เสี่ยงที่จะโดนร้องเรียน จึงจำเป็นต้องหาหลังพิงใหม่ และระบบประเมินความเสี่ยงปล่อยตัวชั่วคราวคือหลังพิงที่คิดว่าน่าเชื่อถือ บัญชีหรือยี่ต๊อกที่เป็นหลังพิงเดิมทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม

ภาวิณีกล่าวว่า เท่าที่ฟังมาก็พบว่าโครงการประเมินความเสี่ยงฯ ดีอยู่แล้ว เจ้าของโครงการก็บอกว่าดี แต่งงว่าทำไมไม่ใช้ต่อ กลายเป็นนโยบายที่มีความไม่แน่นอน จะแก้ไขได้ถ้ากำหนดเป็นกฎหมาย จะได้มีเจ้าหน้าที่ มีงบประมาณ มีการอธิบายเนื้อหาและกระบวนการดำเนินการ แต่กฎหมายก็ไม่ได้ออกง่ายๆ แม้ในช่วงที่มีสภาปกติ สังเกตว่ากฎหมายที่คุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญาออกยากมาก แต่กฎหมายหน่วยงานรัฐมาจำกัดอาชญากรรม แก้ปัญหาต่างๆ กลับออกง่ายมาก

ข่าว [4]
การเมือง [5]
สิทธิมนุษยชน [6]
โสพล จริงจิตร [7]
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล [8]
ภาวิณี ชุมศรี [9]
กระบวนการยุติธรรม [10]
ปกป้อง ศรีสนิท [11]
อรรถพล ใหญ่สว่าง [12]
ไม่มีใครติดคุกเพราะจน [13]
การปล่อยตัวชั่วคราว [14]
ประกันตัวชั่วคราว [15]
เงินประกันตัวไม่พอ [16]
กองทุนยุติธรรม [17]
ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

Source URL: https://prachatai.com/journal/2018/10/79262

Links
[1] https://www.change.org/p/%E0%B8%84%E0%B8%93%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%8E%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1-%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99-%E0%B8%95%E0%B9%89-%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B9%83%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%9E/fbog/55343949
[2] https://www.facebook.com/tongmaimekraitidkokprorjon/videos/1901175713264490/
[3] https://www.facebook.com/tongmaimekraitidkokprorjon/
[4] https://prachatai.com/category/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7
[5] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87
[6] https://prachatai.com/category/%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99
[7] https://prachatai.com/category/%E0%B9%82%E0%B8%AA%E0%B8%9E%E0%B8%A5-%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A3
[8] https://prachatai.com/category/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2-%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A4%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B8%A5
[9] https://prachatai.com/category/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%93%E0%B8%B5-%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B5
[10] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1
[11] https://prachatai.com/category/%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87-%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%97
[12] https://prachatai.com/category/%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%96%E0%B8%9E%E0%B8%A5-%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%8D%E0%B9%88%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87
[13] https://prachatai.com/category/%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B9%83%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%99
[14] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A7
[15] https://prachatai.com/category/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A7
[16] https://prachatai.com/category/%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%9E%E0%B8%AD
[17] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1