ภาคปชช.ขอบอร์ดมีเก้าอี้ทุกภาคส่วนที่เป็นธรรม หลัง ครม.ไฟเขียวคุมค่ารักษา รพ.เอกชน
ภาคประชาชนขอคณะกก. มีสัดส่วนจากทุกภาคส่วนอย่างเป็นธรรม และขอ รมว. อย่าพึ่งตัดสินใจว่าจะไม่กำกับค่ารักษาพยาบาลราคาสูงสุด ชี้มาตรการสติ๊กเกอร์ข้างกล่องไม่ได้ผล รพ.เอกชน ยอมรับการคุมค่ารักษา ขออย่ากดดันจนประสิทธิภาพลด
จากซ้ายไปขวา ปฏิวัติ เฉลิมชาติ,สุภัทรา นาคะผิว, บุญยืน ศิริธรรม, ยุพดี ศิริสินสุข, สารี อ๋องสมหวัง
ครม. เห็นชอบคุมค่ายา-เวชภัณฑ์-ค่าบริการการแพทย์ ตั้งคณะกก.กำหนดมาตรการ
23 ม.ค. 2562 ไทยรัฐออนไลน์ [1]รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ม.ค. สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์ โดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เสนอให้นำค่ายา เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ เข้าเป็นสินค้าและบริการควบคุมประจำปี 2562 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542
ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งตัวแทนของรัฐกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข ตัวแทนภาคธุรกิจ โรงพยาบาลเอกชนและตัวแทนภาคประชาชน เข้ามาเป็นคณะอนุกรรมการร่วมเพื่อกำหนดมาตรการที่จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายประชาชนที่จะต้องใช้บริการในการรักษา และสถานพยาบาลเอกชนที่เป็นทางเลือก ให้เกิดความเป็นธรรมโปร่งใส และให้ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน
ทั้งนี้ไม่อยากให้เกิดความตระหนกตกใจว่ารัฐจะเข้าไปควบคุมหรือแทรกแซงราคาสูงสุดของค่าบริการทางการแพทย์ ซึ่งในอดีตสินค้าที่ควบคุม 50 กว่ารายการมีเพียงน้ำตาลทรายที่เป็นสินค้าควบคุมราคาสูงสุด ดังนั้นจึงขอให้สบายใจได้ว่าการจะพิจารณาควบคุมราคาสินค้าสูงสุดจะพิจารณาอย่างรอบคอบ
ส่วนค่ายาและค่าบริการจะต้องทำเป็นราคาแนะนำหรือไม่นั้นในเรื่องนี้ ในพ.ร.บ.ค่ารักษาพยาบาล ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ควบคุมสถานพยาบาล มีเรื่องของแพ็กเกจ ราคาแนะนำอยู่แล้วว่าไม่ให้ขายยาเกินราคา และจะให้คณะอนุกรรมการกำกับสินค้าและบริการไปศึกษาในรายละเอียด ส่วนมาตรการจะออกมาเป็นอย่างไรขอให้คณะกรรมการชุดนี้ใช้เวลาในการหารือกันก่อน สำหรับที่ประชุม ครม. ได้ย้ำต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็เห็นชอบ ตามมติดังกล่าวด้วยเช่นกันเพราะการให้บริการประชาชนต้องมีความโปร่งใส ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็ต้องสามารถแข่งขันและเติบโตได้
ภาคประชาชนขอคณะกก. มีสัดส่วนจากทุกภาคส่วนอย่างเป็นธรรม และขอ รมว. อย่าพึ่งตัดสินใจว่าจะไม่กำกับค่ารักษาพยาบาลราคาสูงสุด
ในวันเดียวกัน เฟซบุ๊คเพจ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ถ่ายทอดสดแถลงการณ์ของของภาคประชาชน
สุภัทรา นาคะผิว ประธานอนุกรรมการด้านสุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน กล่าวว่า ขอแสดงความชื่นชมและขอขอบคุณ รมว. กระทรวงพาณิชย์ ที่เดินหน้าเรื่องนี้ภายใต้แรงกดดันจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นทางสมาคมโรงพยาบาลเอกชนที่ได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย หรือการถูกล็อบบี้จากทุนใหญ่ แต่สิ่งที่จะต้องติดตามกันต่อหลังจากนี้ต้องออกเป็นประกาศ แล้วหลังจากนั้นจะต้องดูว่าจะมีมาตรการควบคุมราคาอย่างไรบ้าง เราพร้อมที่จะมีตัวแทนของนักวิชาการและผู้บริโภคเข้าไปเป็นตัวแทนเพื่อพูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดมาตรการเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไป
ยุพดี ศิริสินสุข ประธานอนุกรรมการด้านอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ คณะองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคกล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะพิสูจน์ความจริงใจของท่านคือการกำหนดมาตรการหลังจากนี้ ตามมาตรา 25 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ให้อำนาจคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ มีอำนาจกำหนดมาตรการในการควบคุมกำกับราคาสินค้าและบริการ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้หลายมาตรการ เช่น กำหนดให้ผู้ขายขายในราคาไม่เกินเพดานที่กำหนด มาร์กอัพเปอร์เซ็นต์ หรือไปถึงขั้นที่ให้ผู้ขายแจ้งเรื่องต้นทุนราคา แผนการส่งเสริมการขายต่างๆ
ขณะที่เรื่องค่ายาไทยเคยมีมาตรการให้หน่วยงานต่างๆ ขายไม่เกินราคาสติ๊กเกอร์ ซึ่งหากใช้มาตรการนี้ก็จะไม่ได้ผลเหมือนที่ผ่านมา เพราะโรงพยาบาลเอกชนก็ยังสามารถติดราคาสติ๊กเกอร์สูงและขายได้ โดยบวกราคาไปถึง 200-300%
ยุพดีชี้ว่า ในหลายประเทศที่เผชิญปัญหาคล้ายบ้านเราที่ไม่สามารถควบคุมค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ได้ ยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ แม้อัตราค่ารักษาพยาบาลระหว่างโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลรัฐจะต่างกันเพียง 2.5 เท่า รัฐก็มีการกำหนดมาตรการร่วมกับบริษัทเอกชนด้านประกันภัย เพื่อกำหนดเพดานราคาค่ารักษาพยาบาล หรือประเทศไอร์แลนด์ก็มีการใช้มาตรการต่างๆ ในการควบคุมราคา พูดคุยกับส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งบริษัทประกัน หน่วยโรงพยาบาล
บุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ระบุว่า การตั้งคณะกรรมการเพื่อหามาตรการควบคุมราคาจะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในสัดส่วนที่เท่าๆ กัน จะสามารถให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายได้
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ขอชื่นชมความกล้าหาญ แต่ยังไม่อยากให้ตัดสินใจว่าจะไม่ใช่มาตรการราคาสูงสุด ตอนนี้ค่ารักษาพยาบาลหากคุณไม่ใช่ราคากลาง ก็ต้องห้ามใช้ราคาสูงสุด อยากเห็นการกำกับจริงๆ ไม่ใช่แค่การแจ้งราคา
สารีกล่าวต่อว่า ธุรกิจโรงพยาบาลในตลาดหลักทรัพย์กำไรสุทธิสูงมาก 33.7% ถึงจะบอกว่าหักนู่นหักนี่แล้วเหลือกำไร 2% แต่คิดว่าไม่เป็นจริง เพราะกำไรในตลาดหลักทรัพย์คือกำไรสุทธิ หักต้นทุนทุกอย่างครบถ้วนแล้ว
“อยากให้คณะกรรมการชุดนี้ช่วยรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนด้วย ในการพิจารณาว่าค่ารักษาพยาบาลนั้นเป็นธรรมหรือไม่” สารีกล่าว
รพ.เอกชน ยอมรับการคุมค่ารักษา ขออย่ากดดันจนประสิทธิภาพลด
มติชนออนไลน์ [2] ระบุว่า เมื่อวันที่ 22 ม.ค. นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ อดีตนายกสมาคมรพ.เอกชน กล่าวว่า ความเห็นส่วนตัวในฐานะของผู้ประกอบการรพ.เอกชนมองว่า มติครม.ให้ค่ารักษาเป็นสินค้าควบคุมเช่นนี้เราก็ต้องทำตาม จากนี้ก็อยู่ที่การพิจารณาวางหลักเกณฑ์ของอนุกรรมการที่ตั้งขึ้น ซึ่งคงไม่มีความสามารถไปชี้นำได้หรือจำเป็นต้องร้องขออะไร ก็คงต้องทำงานต่อ แต่จะแก้ไขอย่างไรก็อย่ากระทบจนกระทั่ง ความมีประสิทธิภาพของรพ.เอกชนกลายเป็นความด้อยลงไป เพียงเพราะไปแก้ปัญหาของคน 2-5% แล้วกระทบคนส่วนมาก 95% เพราะอย่างที่บอกว่าคนกว่า 95% มารพ.เอกชนซ้ำแล้วซ้ำอีก แม้ไม่ได้สอบถามความพึงพอใจ แต่สถิติก็ฟ้องว่าหากไม่มีคุณภาพ ไม่คุ้มค่าเขาไม่มาซ้ำเพราะไม่ใช่ว่าคนไม่มีทางเลือก
เมื่อถามว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่าหากมีการกำกับค่ารักษาแล้วรพ.เอกชนจะลดคุณภาพลงด้วยเพื่อเป็นการประหยัดอย่างนั้นหรือไม่ นพ.เอื้อชาติ กล่าวว่า รพ.เอกชนไม่ได้จะลดมาตรฐานลง แต่จะทำอย่างไรในเมื่อไม่มีเงิน เพราะการรักษาล้วนมีต้นทุนทั้งค่าอาคารสถานที่ บุคลากร เทคโนโลยี อย่างเรื่องยา เราไม่ได้เป็นคนขายยา แต่เนื่องจากรพ.ต่างจากร้านขายยาทั่วไป เราต้องมียาทุกตัวที่แพทย์ต้องการใช้ จึงต้องมีต้นทุนการเก็บรักษา ก่อนใช้ต้องมีการตรวจวินิจฉัยโรคก่อนสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุน อนุกรรมการฯ ก็ต้องดูตามจริงด้วย ทั้งนี้ หากไม่เกิดการพัฒนาตนก็ห่วงว่าผลสุดท้ายคนไทยเองจะลำบากเพราะไม่มีรพ.ดีๆ แล้วต้องบินไปรักษาที่รพ.ต่างประเทศเหมือนในอดีต ทั้งที่วันนี้ไทยถือว่าเป็นผู้นำ