Published on ประชาไท Prachatai.com (https://prachatai.com)

Home > ยูนิเซฟเผยเด็กกว่า 175 ล้านคนทั่วโลก ไม่ได้เข้าเรียนในระดับปฐมวัย

ยูนิเซฟเผยเด็กกว่า 175 ล้านคนทั่วโลก ไม่ได้เข้าเรียนในระดับปฐมวัย

Submitted by user007 on Fri, 2019-04-12 00:56

รายงานล่าสุดของยูนิเซฟ ชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าของประเทศไทยด้านการเข้าถึงการศึกษาปฐมวัย

ภาพจากองค์การยูนิเซฟ

11 เม.ย.2562 องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา รายงานล่าสุดจากยูนิเซฟระบุว่ามีเด็กปฐมวัยกว่า 175 ล้านคนทั่วโลกที่ไม่ได้เข้าเรียนในระดับปฐมวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศรายได้น้อย มีเด็กเล็กเพียง 1 ใน 5 คนเท่านั้นที่ได้เข้าเรียนในระดับปฐมวัย ทำให้ประเทศเหล่านั้นกำลังสูญเสียโอกาสทางการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ครั้งสำคัญ และเสี่ยงต่อการเผชิญกับความเหลื่อมล้ำขั้นรุนแรง

รายงานฉบับล่าสุดของยูนิเซฟ ซึ่งมีชื่อว่า โลกที่พร้อมเรียนรู้: การให้ความสำคัญกับคุณภาพการศึกษาในช่วงปฐมวัย (A World Ready to Learn: Prioritizing quality early childhood education) ระบุว่า การเข้าเรียนในระดับปฐมวัยถือเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ที่สำคัญของเด็กทุกคน และยังเป็นรากฐานของการศึกษาในทุกระดับชั้นที่สูงขึ้นในอนาคต  โดยเด็กที่เข้าเรียนในระดับปฐมวัยอย่างน้อยหนึ่งปี มีแนวโน้มจะพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ในอนาคต ลดโอกาสที่จะต้องเรียนซ้ำชั้นหรือออกจากโรงเรียนกลางคัน และสามารถพัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้และการคำนวณได้มากกว่าเด็กที่ไม่ได้เข้าเรียนในระดับปฐมวัยถึงสองเท่า นอกจากนี้ยังพบว่า ยิ่งประเทศใดที่มีจำนวนเด็กที่เข้าเรียนในระดับปฐมวัยมากเท่าใด ก็ยิ่งจะมีจำนวนเด็กที่เรียนจบชั้นประถมศึกษา สามารถอ่านออกเขียนได้ และมีทักษะการคำนวณมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ   

สำหรับประเทศไทย การเข้าเรียนในระดับปฐมวัยถือว่ามีความก้าวหน้าไปมากในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยอัตราการเข้าเรียนในระดับปฐมวัยของเด็กอายุ 3-5 ปี สูงถึงร้อยละ 85 นอกจากนี้ ยังพบว่าความเหลื่อมล้ำในด้านนี้ลดลง เห็นได้จากในปี 2548 มีเด็กจากครอบครัวที่ยากจนมากเพียงร้อยละ 55 ที่ได้เข้าเรียนในระดับปฐมวัย เมื่อเทียบกับเด็กที่มาจากครอบครัวที่ร่ำรวยมากซึ่งมีถึงร้อยละ 78 แต่ในปี 2559 อัตราการเข้าเรียนในระดับปฐมวัยของเด็กที่มาจากครอบครัวที่ยากจนมากเพิ่มสูงถึงร้อยละ 86

รายงานของยูนิเซฟยังระบุต่อไปว่า ความสำเร็จของประเทศไทยเป็นผลมาความมุ่งมั่นของรัฐบาล ตลอดจนการมีนโยบายเรียนฟรีที่ขยายครอบคลุมการศึกษาระดับปฐมวัย และการกระจายอำนาจการจัดบริการด้านการศึกษาปฐมวัยไปยังระดับท้องถิ่น

โธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “ประเทศไทยควรภูมิใจกับความสำเร็จในการประกันให้เด็ก ๆ ได้เข้าเรียนในระดับปฐมวัยตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ความมุ่งมั่นของประเทศ ตลอดจนการจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมความเท่าเทียมโดยให้ความสำคัญกับเด็กที่ยากจนที่สุด ได้แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่สำคัญดังที่เราได้เห็นในรายงานฉบับนี้”

ดาวินกล่าวต่อไปว่า แม้ประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าไปมากแต่ก็ยังมีข้อท้าทายที่ต้องได้รับการแก้ไข โดยแม้ว่าช่องว่างในการเข้าถึงการศึกษาระดับปฐมวัยจะลดลงระหว่างเด็กในครอบครัวที่ยากจนและร่ำรวย แต่สิ่งที่ยังคงน่าเป็นห่วงคือ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาปฐมวัยในกลุ่มเด็กที่ไม่ได้พูดภาษาไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กข้ามชาติและเด็กชาติพันธุ์ ซึ่งผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยปี 2558-2559 พบว่า เด็กที่หัวหน้าครัวเรือนไม่ได้พูดภาษาไทยมักไม่ได้เข้าเรียนในระดับปฐมวัย ซึ่งทำให้เด็ก ๆ เหล่านี้เสี่ยงต่อการมีพัฒนาการล่าช้าและการไม่ได้เข้าเรียนต่อในอนาคต 

ผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยปี 2558-2559 ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้สะท้อนให้เห็นแนวโน้มดังกล่าว โดยพบว่า เด็กที่ไม่ได้เข้าเรียนระดับปฐมวัยกว่าร้อยละ 20 มีพัฒนาการล่าช้าในด้านการอ่านออกและรู้จักตัวเลข ในขณะเดียวกัน กลุ่มเด็กที่ไม่ได้เข้าเรียนระดับปฐมวัยก็มีแนวโน้มที่จะเข้าเรียนต่อระดับชั้นประถมศึกษาน้อยกว่าเด็กที่ได้เข้าเรียน ซึ่งเห็นได้จากอัตราการเข้าเรียนชั้นป. 1 ของเด็กที่มาจากครัวเรือนที่ไม่ได้พูดภาษาไทย คืออยู่ที่เพียงร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับเด็กที่มาจากครัวเรือนที่พูดภาษาไทย ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 78

ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้เด็ก ๆ ได้เริ่มต้นชีวิตอย่างดีที่สุด รัฐบาลควรดำเนินมาตราการต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า เด็กทุกกลุ่มในประเทศไทยจะมีโอกาสเท่าเทียมกันในการเข้าถึงการศึกษาระดับปฐมวัย นอกจากนี้ บุคลากรและครูผู้ดูแลเด็กปฐมวัยควรได้รับการอบรมและพัฒนาศักยภาพด้านการพัฒนาเด็กอย่างรอบด้าน ซึ่งครอบคลุมเรื่องโภชนาการ การคุ้มครองเด็ก การให้คำปรึกษาแก่ผู้ปกครอง และการประเมินสรรถนะของเด็กปฐมวัย ในขณะเดียวกัน ควรส่งเสริมให้พ่อแม่ผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการดูแลเด็กและการสร้างวินัยเชิงบวกอีกด้วย

“ประเทศไทยควรดำเนินการพัฒนาโดยยึดตามพื้นฐานในเรื่องความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการของรัฐด้านการศึกษา ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพของการศึกษา โดยการพัฒนาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำนี้ต้องไม่เป็นเพียงเฉพาะในระดับปฐมวัยเท่านั้น แต่ควรเน้นในทุกระดับชั้นของการศึกษา เพื่อที่ความสำเร็จอันจะเกิดขึ้นหลังจากนี้จะไม่เพียงยังประโยชน์แก่เด็กไทยเท่านั้น แต่เพื่อรวมถึงเด็กข้ามชาติและเด็กชาติพันธุ์ในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพต่อไป” ดาวินกล่าวเสริม

ข่าว [1]
สังคม [2]
การศึกษา [3]
คุณภาพชีวิต [4]
องค์การยูนิเซฟ [5]
เด็ก [6]
ระดับปฐมวัย [7]
ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

Source URL: https://prachatai.com/journal/2019/04/82028

Links
[1] https://prachatai.com/category/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7
[2] https://prachatai.com/category/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1
[3] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2
[4] https://prachatai.com/category/%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95
[5] https://prachatai.com/category/%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B8%B9%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%9F
[6] https://prachatai.com/category/%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%81
[7] https://prachatai.com/category/%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B8%90%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A2