เวียดนาม-กัมพูชา ค้านนายกฯสิงคโปร์โพสท์ เวียดนาม 'รุกราน' กัมพูชาสมัยเขมรแดง
กระแสความไม่พอใจเกิดขึ้นเมื่อเฟสบุ๊คเพจนายกฯ สิงคโปร์ ลีเซียนลุง ไว้อาลัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ยกย่องการที่ต่อต้านการ "รุกราน (invasion)" ของเวียดนามสู่กัมพูชาในสมัยเขมรแดง ทางการกัมพูชา-เวียดนามต่างไม่ยอมรับการใช้คำดังกล่าว นักกฎหมายสิทธิฯ ชี้ ข้อความดังกล่าวสะท้อนความหยิ่งทะนงต่อเหยื่อเขมรแดงที่สังหารคนมากกว่า 1.6 ล้านคน
หัวกะโหลกเหยื่อการสังหารของเจ้าหน้าที่เขมรแดงที่จัดแสดงในที่เกิดเหตุหลายแห่งทั่วกัมพูชา (ที่มา:วิกิพีเดีย [1])
7 มิ.ย. 2562 ดราม่าระหว่างประเทศอาเซียนก่อตัวขึ้นในช่วงที่เข็มนาฬิกาภูมิภาคกำลังนับถอยหลังสู่การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่หนึ่งในวันที่ 20-23 มิ.ย. 2562 เต็มที เมื่อเฟสบุ๊คเพจ ลีเซียนลุง [2]นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ โพสท์เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2562 ไว้อาลัยการถึงแก่อสัญกรรมของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี อดีตนายกฯ 8 ปี และรัฐบุรุษ
ข้อความโดยรวมเป็นการยกย่องความสำเร็จของเปรมไม่ว่าจะในเรื่องการพัฒนาประชาธิปไตย การเป็นที่ปรึกษาให้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 รวมถึง “รัฐบาลทหารและพลเรือน” มิตรภาพของเปรมกับรัฐบาลสิงคโปร์ เป็นต้น
แต่ข้อความส่วนที่มีความอ่อนไหวคือส่วนที่พูดถึงคุณูปการของเปรมต่อภูมิภาคอาเซียนที่ระบุว่า ในช่วงที่เปรมเป็นนายกฯ เมื่อความร่วมมือภูมิภาคอาเซียนยังมีสมาชิกเพียงห้าประเทศนั้น เหล่าประเทศอาเซียนได้ร่วมกันต่อต้านเวียดนามที่ “รุกราน” หรือในภาษาอังกฤษที่เขียนว่า “invasion” เข้าไปในกัมพูชาในสมัยที่กัมพูชาถูกปกครองโดยรัฐบาลเขมรแดง
“ความเป็นผู้นำของเขา (เปรม) ยังเป็นประโยชน์กับภูมิภาค วาระการเป็นนายกฯ ของเขาดำเนินไปพร้อมๆกับเมื่อสมาชิกอาเซียน (ตอนนั้นเรามีกันห้าประเทศ) ได้ร่วมกันต่อต้านการรุกรานของเวียดนามไปในกัมพูชาและรัฐบาลกัมพูชาที่เข้ามาแทนที่เขมรแดง ไทยอยู่แนวหน้า เผชิญหน้ากับกองกำลังเวียดนามบนชายแดน(ไทย-กัมพูชา) เปรมมีความแน่วแน่ยอมรับการยั่วยุ่นี้ และทำงานร่วมกับสมาชิกอาเซียน ต่อต้านการยึดครองของเวียดนามบนเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งการนี้ได้ยับยั้งไม่ให้การรุกรานและการเปลี่ยนระบอบได้รับความชอบธรรม”
การใช้คำว่ารุกรานสร้างความไม่พอใจให้กับเวียดนาม โดยสื่อวีเอ็นเอ็กซ์เพรสของทางการเวียดนาม เผยแพร่ข้อความของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศเวียนดนาม เล ทิ ทู หั่ง (Le Thi Thu Hang) ที่ระบุว่าเวียดนามเสียใจที่แถลงการณ์ดังกล่าวไม่ได้สะท้อนถึงประวัติศาสตร์อย่างถูกต้อง ส่งผลให้เกิดกระแสลบในพื้นที่สาธารณะ โดยทางกระทรวงการต่างประเทศของเวียดนามได้พูดคุยกับกระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์แล้ว
โฆษก กต. ยังกล่าวด้วยว่าการเสียสละของเวียดนามได้รับการยอมรับและเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางถึงการเข้าไปช่วยประชาชนกัมพูชาในการหยุดยั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่กระทำโดยระบอบเขมรแดง
ทางฟากกัมพูชา หนึ่งในประเทศที่ถูกกล่าวถึง เตีย บันห์ รัฐมนตรีกลาโหม ระบุกับสื่อเดอะแขมร์ ไทมส์ ว่า ได้ขอให้สิงคโปร์แก้ไขข้อความในโพสท์เพราะว่าไม่เป็นความจริงและไม่สะท้อนประวัติศาสตร์ ทหารอาสาเวียดนามเข้าไปในกัมพูชาตอนนั้นเพื่อปลดปล่อยประชาชนชาวกัมพูชา บีบีซี [3]ยังรายงานข้อความของฮุน มานี สมาชิกสภานิติบัญญัติกัมพูชา ลูกชายของฮุนเซน นายกฯ กัมพูชาด้วยว่าเวียดนามเป็นผู้ช่วยเหลือกัมพูชาสู้กับเขมรแดง
สื่อพนมเปญโพสท์เผยแพร่บทความของเอ็ม ราวี นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนที่อยู่ในสิงคโปร์ ระบุว่าความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์จำเป็นต้องได้รับการจัดการผ่านการเคารพและยอมรับซึ่งกันและกัน ผู้นำประเทศอาเซียนต้องตระหนักว่าภูมิภาคนี้มี “กับระเบิดของความอ่อนไหว” อยู่หลายลูก และหากรัฐบาลกัมพูชาต้องการคำขอโทษ เขาก็หวังว่ารัฐบาลสิงคโปร์จะตอบรับและออกมาขอโทษเสีย
“ความเห็นของเขา (ลีเซียนลุง) บอกถึงความหยิ่งทะนงที่มีต่อเหยื่อของเขมรแดงมากกว่า 1.6 ล้านคน และคนที่สละชีวิตเพื่อขับไล่ระบอบฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ภายใต้การนำของพอล พต และนโบายเหมาอิสต์สุดโต่งของเขา
“ความเห็นของเขามีขึ้นมาในฐานะการสนับสนุนการปกครองแบบเผด็จการและกดปราบโดยเผด็จการ”
“นำโดยวาระทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคของลีกวนยู (อดีตนายกฯ สิงคโปร์) สิงคธปร์ให้การช่วยเหลือทางการทหาร และปฏิเสธการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้รอดชีวิตจากระบอบเขมรแดงที่หนีจากเวียดนามเข้าสู่ประเทศไทย”
“ความเห็นของนายกฯ ลี (เซียนลุง) นั้นไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นจุดยืนของชาวสิงคโปร์ อย่างไรก็ดี ชาวสิงคโปร์ก็ใช้โซเชียลมีเดียแสดงออกซึ่งความรังเกียจเดียดฉันท์ต่อความเห็นดังกล่าว” เอ็ม ราวีเขียน พร้อมระบุว่านักการเมืองและประชาชนควรได้รับการศึกษาในเรื่องสิทธิมนุษยชนให้มากกว่านี้
กลุ่มเขมรแดงยึดอำนาจจากนายพลลอน นอล ผู้นำที่สนับสนุนสหรัฐฯ ในปี 2518 ตามมาด้วยการเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ ขนย้ายคนจากเมืองเข้าระบบนารวม ตามมาด้วยการเข่นฆ่า รวมถึงความตายที่เกิดจากสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ดีจำนวนราว 1.7-2 ล้านคน
ในปี 2521 กองทัพของเวียดนามและแนวร่วมสามัคคีสงเคราะห์ชาติกัมพูชา นำโดยฮุนเซน เฮง สัมรินและเจียซิม (United Front for the National Salvation of Kampuchea) เข้าโจมตีกัมพูชา ในปีต่อมายึดกรุงพนมเปญได้ในปีต่อมา ผู้นำของเขมรแดงหลบหนีไปทางตะวันตกมาตั้งหลักกันใหม่ในเขตแดนไทย
ในปี 2525 เขมรแดงตั้งรัฐบาลสามฝ่าย ในขณะที่เวียดนามก็ให้การช่วยเหลือการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายใต้ระบอบที่เรียกว่า ‘สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนกัมพูชา’ ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชาอยู่ใต้ระบอบการเมืองการปกครองดังกล่าวเป็นเวลาหนึ่งทศวรรษ ส่วนกองทัพเวียดนามถอนกำลังจากกัมพูชาในปี 2533
ในปี 2534 ภาคีต่างๆ ในกัมพูชาเซ็นสนธิสัญญาสันติภาพที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และเห็นชอบกับการจัดการเลือกตั้งภายใต้การดูแลขององค์การบริหารชั่วคราวแห่งสหประชาชาติในกัมพูชา (UNTAC) ซึ่งเขมรแดงได้คว่ำบาตรการเลือกตั้งที่จัดโดยยูเอ็น และปฏิเสธที่จะสลายกองกำลังที่มีอยู่
ในปี 2536 รัฐบาลเลือกตั้งนามว่า รัฐบาลหลวงแห่งกัมพูชา (Royal Government of Cambodia) ขึ้นสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้ง พรรคที่ชนะเลือกตั้งคือพรรคของสมเด็จพระนโรดม รณฤทธิ์ พระราชโอรสพระองค์ที่สองของกษัตริย์สีหนุชนะเลือกตั้ง แต่ทางฝ่ายสมเด็จฮุน เซน ซึ่งก็เป็นอดีตเขมรแดงไม่ยอมรับ ต่อมาเกิดการประนีประนอมตั้งรัฐบาลร่วมกัน ประเทศกัมพูชาจึงเป็นประเทศแรกในโลกที่มีหนึ่งรัฐบาลแต่มีสองนายกรัฐมนตรี คือ สมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ และสมเด็จ ฮุน เซน เป็นนายกรัฐมนตรีร่วมกัน
จากปี 2536 ถึงปัจจุบันสมเด็จฮุน เซน ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา นับเวลารวมทั้งสิ้นเป็นเวลา 25 ปี แต่หากนับรวมเวลาที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาตั้งแต่ปี 2529 นับเวลาได้ 33 ปี
เมื่อปี 2557 ศาลพิเศษคดีอาชญากรสงคราม กรุงพนมเปญ กัมพูชา ตัดสินจำคุกตลอดชีวิต นวน เจีย วัย 88 ปี และ เขียว สัมพัน วัย 83 ปี อดีตผู้นำเขมรแดง ในความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวกัมพูชาอย่างน้อย 1.7 ล้านรายในช่วงปี 2518-2522 ในยุคเขมรแดงเรืองอำนาจ
สำหรับ นวน เจีย เป็นอดีตผู้นำอันดับสองรองจาก พล พต ผู้นำเขมรแดง ส่วน เขียว สัมพัน เป็นอดีตประมุขแห่งรัฐของกัมพูชาขณะอยู่ภายใต้การปกครองของเขมรแดง โดยเป็นหนึ่งในผู้มีอำนาจระดับสูงของเขมรแดง รองจากพล พต เช่นกัน
นิล นอน ผู้พิพากษา ระบุว่า พวกเขามีความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ประหัตประหารทางการเมือง และการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมอื่นๆ ประกอบด้วยการบังคับให้ย้ายถิ่น การบังคับให้หายสาบสูญ และโจมตีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
แปลและเรียบเรียงจาก
Politicians need human rights awareness and training, Phnom Penh Post [4], Jun. 7, 2019
Vietnam opposes Lee Hsien Loong's remarks on Cambodia 'invasion', VN Express [5], Jun. 4, 2019