Published on ประชาไท Prachatai.com (https://prachatai.com)

Home > ควันหลงวันเลือกนายกฯ

ควันหลงวันเลือกนายกฯ

Submitted by sarayut on Tue, 2019-06-25 22:01

ณัฐณิชา

 

นั่งชมการถ่ายทอดการประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งไม่แปลกประหลาดใจใดๆ กับผลโหวตที่ออกมา ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกฯ ที่ถูกเสนอชื่อโดยพรรคพลังประชารัฐ ชนะด้วยเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. และ ส.ว. รวมกัน 500 คะแนน ขณะที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แคนดิเดตนายกฯ ฝั่ง 7 พรรคประชาธิปไตย ได้เสียงสนับสนุน 244 คะแนน  และมีสมาชิกรัฐสภางดออกเสียงทั้งหมด 3 คน คือนายชวน หลีกภัย (ประธานรัฐสภา), นายพรเพชร วิชิตชลชัย (รองประธานรัฐสภา) และนายสิริพงษ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 1 พรรคภูมิใจไทย โดยในการประชุมรัฐสภาครั้งนี้มีสมาชิกเข้าประชุมทั้งหมด 747 คน

สิ่งที่คาดหวังว่าจะได้เห็นจากการประชุมร่วมของสองสภาในครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องผลของการโหวต ที่เชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศรู้กันอยู่เต็มอกแล้วล่ะว่าผลจะออกมายังไง แต่เชื่อว่าสิ่งที่สังคมอยากเห็นนั่นคือเนื้อหาในการอภิปรายถึงคุณสมบัติของผู้ที่ถูกเสนอชื่อทั้ง 2 ท่าน ที่แม้จะไม่มีผลในการโหวต แต่ถ้าจะว่าไป ก็น่าจะพิสูจน์ความสามารถ และคุณภาพของสมาชิกรัฐสภาได้เป็นอย่างดี

การทำหน้าที่อภิปรายเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรในซีก 7 พรรคฝ่ายประชาธิปไตย ที่เริ่มต้นจากการชี้ให้เห็นว่าคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ นั้นไม่เหมาะสมที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะเหตุใด ซึ่งก็ถือว่าเริ่มได้ดีพอสมควร แต่เมื่ออภิปรายต่อๆมา ก็สรุปยังคงวนเวียน อยู่แต่ในเรื่องประเด็นเดิมๆ เช่นการไม่ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นผู้ทำรัฐประหาร หรือการขาดคุณสมบัติในเรื่องการเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ อย่างไร หรือความไม่เหมาะสมเพราะเป็นผู้ที่เลือกวุฒิสมาชิก ให้เข้ามาเลือกตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี ฯลฯ เป็นต้น

สิ่งที่แตกต่างกันในการอภิปรายครั้งนี้ก็คือ ลีลาการนำเสนอเท่านั้น แต่ในเรื่องรายละเอียดข้อมูลไม่ได้มีอะไรใหม่ๆ ให้น่าติดตาม หรือต่างไปจากสิ่งที่ปรากฏเป็นข่าวตามหน้าสื่อ ดังนั้นการอภิปรายในวันนั้นของ 7 พรรคที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยนั้น ถ้าจะเรียกว่าสอบไม่ผ่าน ก็คงจะไม่เป็นการกล่าวเกินเลย แต่อย่างใด

ขณะที่การอภิปรายของอีกฟากฝั่ง ก็เช่นกันยังคงวนเวียน อยู่แต่ในเรื่องเดิมๆ เฉกเช่นกัน ทำให้การอภิปรายในวันดังกล่าว ประชาชนแทบจะไม่ได้อะไรเลย นอกเหนือจากการที่เคยได้รับจากการเสพข่าวจากสื่อต่างๆ

จริงๆ ถ้ามีการทำการบ้านกันให้ดี มีทีมงานที่คอยพลิกแก้เกมส์กันให้ดี เชื่อว่าจะทำให้การอภิปรายในวันดังกล่าวสร้างสีสันได้มากกว่านี้ หรืออาจจะเป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ได้เลยทีเดียว และหากพิจารณาถึงตัวผู้อภิปรายแล้ว จะเห็นว่า การพูดคำเมืองของคุณศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่เขต 8 ของพรรคอนาคตใหม่ที่เสนอชื่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ นั้น ยังมีสีสันดีกว่าการอภิปรายในเนื้อหาสาระของสมาชิกรัฐสภาท่านอื่นๆ เสียอีก

ยิ่งการอภิปรายสนับสนุนเผด็จการประชาธิปไตย ที่เป็นระบอบใหม่ของวุฒิสมาชิกบางท่าน ยิ่งทำให้เห็นสภาพบรรยากาศการปกครองของประเทศ จะเดินหน้าไปทิศทางไหนได้อย่างชัดเจน แม้คนไทยทุกคนจะรู้ แต่ก็คงไม่สามารถทำสิ่งใดให้ได้ดีไปกว่านี้อย่างแน่นอน ตราบที่เงื่อนไขของคนในชาติ ยังคงเป็นไปในลักษณะแบ่งแยก แล้วปกครองเช่นปัจจุบัน

ดังนั้นการอภิปรายในวันเลือกนายกฯ ดังกล่าว ควรเป็นการอภิปรายต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ ที่ไม่ได้หวังผล จะดีกว่า การอภิปรายวกไปวนมา ที่ไม่ได้อะไรเลย ซึ่งหากพิจารณากันดีๆ แล้ว ในวันดังกล่าว ถ้าจะให้คะแนนในการอภิปรายแล้ว ขอบอกตามตรงว่า คนที่อภิปรายเรื่องความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ดีที่สุดคือ คุณวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ เจ้าของคำพูด “รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 เขียนมาเพื่อให้พรรคพลังประชารัฐ เท่านั้น เป็นรัฐบาล” นั่นเอง

ซึ่งถ้า 7 พรรคฝ่ายประชาธิปไตย มีทีมงานที่คอยสนับสนุนที่ดีแล้ว งานนี้จะพลิกมิติการอภิปรายได้พอสมควร แม้จะไม่สามารถพลิกมติการลงคะแนนเลือกนายกฯ ได้ก็ตาม เพราะเพียงแค่หลังการอภิปรายของนายวีระกร แล้ว แค่คนต่อๆมาที่จะต้องลุกอภิปรายของ 7 พรรคฝ่ายประชาธิปไตย ควรทำก็คือ การลุกขึ้นตามสิทธิ์อภิปราย แล้วบอกว่า

“ขอสละสิทธิ์การอภิปรายครับ(ค่ะ)ท่านประธาน เพราะว่าสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีความเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปนั้น นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์จากพรรคพลังประชารัฐ ได้พูดอธิบายชัดแจ้งเห็นภาพไปหมดแล้ว”

เพราะไหนๆ ก็รู้กันดีอยู่แล้วว่า ผลโหวตจะออกมาอย่างไร? สู้เอาเอกสิทธิ์ในการอภิปราย มาทำต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ให้ประชาชนเห็นจะดีกว่า และภาพน่าจะออกมาดีกว่าพูดวนไปเวียนมา ส่วนนายวีระกร คำประกอบ อภิปรายในวันที่โหวตเลือกนายกฯ ไว้อย่างไร? นั้น ไม่ขุดคุ้ยหากันเอาเอง ที่แน่ๆ เท่าที่จำได้ และก้องอยู่ในหูคือ

“...ประชาชน จะอดตายกันอยู่แล้ว...”

ไม่รู้ว่านายวีระกร อภิปรายสนับสนุนหรือคัดค้านหลอกด่าใคร? แต่ที่แน่ๆ ประชาชนรู้ว่าไอ้ที่จะอดตายกันอยู่แล้วน่ะ มันเพราะฝีมือใคร? แล้วใคร?ล่ะที่เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วยังสมควรให้ไปต่ออีกหรือ?

 

 

บทความ [1]
การเมือง [2]
ณัฐณิชา [3]
มองผ่านกระแส แลผ่านสมอง [4]
เลือกตั้ง 62 [5]
ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

Source URL: https://prachatai.com/journal/2019/06/83131?ref=internal_relate

Links
[1] https://prachatai.com/category/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1
[2] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87
[3] https://prachatai.com/category/%E0%B8%93%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%93%E0%B8%B4%E0%B8%8A%E0%B8%B2
[4] https://prachatai.com/category/%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%81%E0%B8%AA-%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87
[5] https://prachatai.com/category/%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87-62