องค์กรสิทธิฯ ร้องตรวจสอบที่เป็นอิสระกรณีผู้ต้องสงสัยคดีมั่นคงสมองตาย หลังถูกคุมตัวค่ายทหาร
อัพเดทกรณีผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงหมดสติเข้ารักษาตัวห้อง ICU รพ.ปัตตานี หลังถูกคุมตัวเข้าค่ายทหาร ขณะนี้สมองตายแพทย์ชี้ขาดอากาศครึ่งชม. ส่งรักษาต่อรพ.มอ.หาดใหญ่ ภรรยาขึ้นโรงพักแจ้งความ พ่วงให้การถูกจนท.บางหน่วยคุกคามถึงใน รพ. ส่วนกล้องวงจรปิดเสียทุกตัว ด้าน องค์กรสิทธิฯ ร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ โดยมีความเป็นอิสระจากหน่วยงานความมั่นคง แอมเนสตี้ฯ ร้อง กสม. ตรวจสอบ พรรคประชาชาติรุดเยี่ยม จี้ประยุทธ์สางปัญหา ส่วน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยันพร้อมให้มีการพิสูจน์ ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างอิสระ
22 ก.ค.2562 จากกรณีข่าววานนี้ (21 ก.ค.62) อับดุลเลาะ อีซอมูซอ อายุ 32 ปี ชาว ต.ตะบิ้ง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี หมดสติเข้ารักษาตัวที่ห้องไอซียู โรงพยาบาลปัตตานี หลังจากถูกควบคุมตัวภายใต้กฏอัยการศึกในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรมระบุว่า ได้รับข้อมูลว่า อัลดุลเลาะมีอาการสมองบวมอย่างรุนแรง ซึ่งอาจเกิดจากการขาดอากาศ หายใจเป็นเวลานานในระหว่างการควบคุมตัว ขณะนี้ยังคงไม่รู้สึกตัวและต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ นั้น
สมองตาย แพทย์ชี้ขาดอากาศครึ่งชม. ส่งรักษาต่อรพ.มอ.หาดใหญ่
มติชนออนไลน์ [2] รายงานว่า นพ.อรุณ ประเสริฐสุข รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลปัตตานี เปิดเผยว่า อาการล่าสุดของ อับดุลเลาะ ยังไม่ตอบสนอง สมองยังไม่รับรู้ ความดันชีพจรดีขึ้น แต่ม่านตาขยายไม่ตอบสนอง สมองไม่แสดงการตอบสนองใดๆ ซึ่งตอนนี้รักษาประคับประคองทำหน้าที่อย่างดีที่สุด อาการนี้เนื่องจากสมองมีภาวะขาดออกซิเจนในระยะหนึ่ง ประมาน 30 นาที จึงทำให้สมองไม่ตอบสนอง มีภาวะสมองตาย ถ้าหายฟื้นขึ้นมาอาจกลายเป็นเจ้าชายนิทรา การทำงานของอวัยวะต่างๆช้าลง ส่วนบาดแผลตามตัวพบเพียงรอยถลอกที่ตาตุ่มเล็กน้อย
สำหรับสาเหตุที่แท้จริง นั้น รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลปัตตานี กล่าวว่า ต้องรอหลักฐานยืนยันจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอีกครั้ง ซึ่งคณะแพทย์ได้ทำการช่วยเหลือดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลาทุกนาที และวันนี้ช่วงบ่าย ได้นำตัวคนไข้ มาเอ็กซเรย์อีกครั้ง ตรวจเช็คการทำงานของปอดอาการหายใจ และ มีภาวะผิดปกติหรือไม่ โดยคณะแพทย์ทั้งหมดเตรียมพร้อมส่งตัวคนไข้ไปรักษาตัวที่ รพ. มอ. หาดใหญ่ แต่ญาติยังไม่ยินยอม
อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า ตลอดเวลาตั้งแต่ช่วงเช้าถึงช่วงบ่ายพยายามให้ทีมแพทย์พูดคุยเกลี้ยกล่อม ซูมัยนะห์ อีซอมูซอ ภรรยาผู้ป่วย และญาติพี่น้อง ให้ส่งตัวไปรักษาต่อให้ผู้เชี่ยวชาญที่ รพ.สงขลานครินทร์ หาดใหญ่ โดยเกลี้ยกล่อมนานหลายชั่วโมง กระทั่งครอบครัวยินนยอมให้ส่งตัวรักษาต่อยังรพ.มอ.หาดใหญ่ได้ ทีมแพทย์จึงเตรียมความพร้อม ก่อนประสานรพ. มอ.หาดใหญ่ ก่อนรีบดำเนินการโดยด่วน
ภรรยาขึ้นโรงพักแจ้งความ พ่วงให้การถูกจนท.บางหน่วยคุกคามถึงใน รพ.
ล่าสุดวันนี้ (22 ก.ค.62) ผู้จัดการออนไลน์ [3] รายงานว่า ภรรยาของอับดุลเลาะ พร้อมด้วย อับดุลกอฮัร อาแวปูเตะ ประธานศูนย์มูลนิธิทนายความมุสลิมปัตตานี และรุสดี เชคฮารูน ตัวแทนจากพรรคประชาชาติ ร่วมเดินทางมาแจ้งความที่โรงพัก สภ.เมืองปัตตานี เพื่อลงบันทึกไว้เป็นหลักฐาน กรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อ อับดุลเลาะที่ต้องหมดสตินอนรักษาตัวที่ห้อง ICU โรงพยาบาลปัตตานี โดยเกิดจากภาวะสมองบวม ภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้เข้าควบคุมตัวเมื่อวันที่ 20 ก.ค.2562 เวลาประมาณ 16.00 น. ที่บ้านพักในพื้นที่ ต.ตะบิ้ง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ก่อนที่จะถูกนำตัวส่งไปที่ศูนย์ซักถามค่ายอิงคยุทธบริหาร ในเวลาประมาณ 19.00 น. จนกระทั่งเวลา 04.00 น. กลับถูกส่งรักษาตัวภายในห้อง ICU โรงพยาบาลปัตตานี ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
นอกจากนั้น ทางญาติยังได้ให้การต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรณีถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่บางหน่วยงานที่คอยทำหน้าที่เฝ้าสังเกตการณ์อยู่ตามจุดต่างๆ บริเวณด้านหน้าห้อง ICU ของโรงพยาบาลปัตตานี โดยมีพฤติกรรมถ่ายรูปทุกคนที่มาเยี่ยมให้กำลังใจครอบครัว และที่มาเฝ้าดูอาการของนายอับดุลเลาะ บริเวณด้านหน้าห้อง ICU จึงทำให้ญาติๆ เกิดความวิตกกังวล รู้สึกไม่ปลอดภัยจึงไม่กล้ามาเยี่ยม
กล้องวงจรปิดเสียทุกตัว
ผู้จัดการออนไลน์ [4] รายงานด้วยว่า แหล่งข่าวความมั่นคงชายแดนใต้ ระบุว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนสอบสวนของตำรวจได้เข้าไปในพื้นที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร เพื่อเข้าตรวจสอบพื้นที่และรวบรวมหลักฐาน โดยได้ขอดูเทปบันทึกภาพจากกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งภายในศูนย์ซักถาม ที่มีอยู่โดยรอบ แต่ปรากฏว่า ทางเจ้าหน้าที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ระบุว่า กล้องวงจรปิดเสียทุกตัว
องค์กรสิทธิฯ จี้ตรวจสอบ
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม พร้อมด้วยองค์กรร่วมลงนาม สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) กลุ่มด้วยใจ องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP) เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD) ออกแถลงการณ์ขอให้ตรวจสอบกรณีผู้ถูกควบคุมตัวขาดอากาศจนหมดสติ ในค่ายทหารและเร่งตรากฏหมายป้องกันและต่อต้านการซ้อมทรมาน
แถลงการณ์เรียกร้องเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังต่อไปนี้ 1. ขอให้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีนี้ โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเสนอให้มีนักวิชาการ ผู้นำชุมชน ตัวแทนภาคประชาสังคม และเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายพลเรือนเป็นผู้นำการตรวจสอบและมีมาตรการรับรองอำนาจของคณะกรรมการในการเข้าถึงข้อมูลพยานหลักฐานต่างๆ และมีความเป็นอิสระจากหน่วย งานความมั่นคงเพื่อหลีกเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อนซึ่งอาจส่งผลต่อความเป็นกลางในการค้นหาความ จริง ทั้งนี้ผู้ตรวจสอบพึงตระหนักว่า การทรมานมีหลายวิธีที่อาจไม่พบร่องรอยบาดแผลจากการทรมาน เช่นวอเตอร์บอร์ดิ้ง (Waterboarding) ดังนั้นจึงต้องมีแพทย์นิติเวชศาสตร์ที่เป็นอิสระร่วมในการตรวจสอบด้วย
2. หากพบว่ามีการกระทำอันใดที่ละเมิดต่อร่างกายของอับดุลเลาะจริง ขอให้ออกมาตรการชดเชย เยียวยาผู้เสียหายและครอบครัวให้สภาพร่างกายและจิตใจกลับมาสู่สภาพเดิมหรือใกล้เคียงสภาพ เดิมที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ พร้อมทั้งลงโทษเจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดทั้งใน ทางวินัยและอาญา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของสังคมต่อเจ้าหน้าที่และรัฐบาล
3. เจ้าหน้าที่และหน่วยงานด้านความมั่นคงต้องเคารพยึดถือและปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน รวมทั้ง มาตรการในการป้องกันและยุติการทรมานโดยเด็ดขาด เพื่อให้ประชาชนมีความไว้วางใจและร่วมกัน สร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้
4. ขอให้รัฐบาลไทยเร่งรัดในการตรากฎหมายเกี่ยวกับการต่อต้านการทรมานและการป้องกันการบังคับ บุคคลให้สูญหาย โดยยึดมั่นในหลักการสิทธิมนุษยชนตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ และอนุ สัญญาป้องกันบุคคลจากการถูกบังคับให้สูญหาย เพื่อคุ้มครองประชาชนจากการละเมิดสิทธิมนุษย ชนอันร้ายแรงเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างความเชื่อมั่น ไว้วางใจของประชาชนต่อรัฐ
5. มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเห็นพ้องกับคณะกรรมการต่อต้านการทรมานของสหประชาชาติว่า การใช้อำนาจตาม กฎหมายพิเศษเพื่อปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมคุมขังผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบ ในจังหวัดชายแดนใต้ที่มักขาดการตรวจสอบถ่วงดุลตามหลักนิติธรรม ทำให้เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิ มนุษยชนขึ้น โดยเฉพาะการซ้อมทรมานในระหว่างการควบคุมตัว ดังนั้น นอกจากกฏหมายเหล่านี้ไม่ สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ได้แล้ว ยังทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงขอให้ หน่วยงานด้านความมั่นคงพิจารณายุติการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้อง สงสัยโดยขอให้ใช้กระบวนการยุติธรรมตามปกติแทน
6. ในระหว่างพิจารณาการยุติการบังคับใช้กฏหมายพิเศษ ขอให้กำหนดมาตรการที่ชัดเจนและจัดตั้ง กลไกป้องกันการซ้อมทรมานและการกระทำใดๆที่อาจเข้าข่ายเป็นการละเมิดกฎหมายและสิทธิมนุษย ชนโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐรวมทั้งขอให้ยอมรับนับถือสิทธิต่างๆของผู้ถูกจับกุมและควบคุมตัวตามมาตร ฐานสากล เช่น การอนุญาตให้ญาติสามารถเข้าเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวได้เป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาที พบและปรึกษาทนายความเป็นการเฉพาะ การเปิดโอกาสให้องค์กรอิสระจากภายนอก โดยเฉพาะ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและหน่วยงานภาคประชาสังคม สามารถเข้าร่วมตรวจสอบสถาน ที่ควบคุมตัวและเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวอย่างสม่ำเสมอและสัมภาษณ์ผู้ถูกควบคุมตัวได้อย่างอิสระโดย ไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า รวมถึงการสร้างกลไกตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อร้องเรียนเรื่องการซ้อมทร มานโดยมีหน่วยงานทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เป็นต้น
7. ขอให้รัฐบาลออกกฎระเบียบในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อย่างชัดเจนโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของ หลักสิทธิมนุษยชนและนิติธรรม เช่นการตรวจค้น จับกุม ควบคุมตัว เยี่ยม ฯลฯ และลงโทษเจ้าหน้าที่ ที่ละเลย หรือละเมิดกฎระเบียบดังกล่าวอย่างจริงจัง
แอมเนสตี้ฯ ร้อง กสม. ตรวจสอบ
ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นอิสระ เป็นกลาง และมีประสิทธิภาพโดยทันทีต่อกรณีนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ถูกส่งตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลปัตตานี จากอาการหมดสติและสมองบวม ภายหลังจากถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวในค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เป็นเวลาไม่ถึงหนึ่งวัน
“การสอบสวนต้องนำมาซึ่งผลที่แน่ชัดว่านายอับดุลเลาะถูกเจ้าหน้าที่รัฐทรมานหรือถูกปฏิบัติอย่างโหดร้ายระหว่างถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม เวลา 16.00 น. จนถึงวันที่ 21 กรกฎาคม เวลา 03.00 น. หรือไม่ โดยการสอบสวนดังกล่าว ควรเป็นภารกิจของหน่วยงานอิสระ ไม่ใช่ปล่อยให้ทหารสอบสวนกันเอง”
“หากการสอบสวนพบว่ามีการทรมานเกิดขึ้น ทางการไทยจะต้องให้การประกันว่าจะมีการดำเนินคดีอาญาในศาลยุติธรรม เพื่อฟ้องร้องดำเนินคดี และลงโทษผู้กระทำผิด” ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าว
พรรคประชาชาติรุดเยี่ยม จี้ 'ประยุทธ์' สางปัญหา
10.35 น. วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ โพสต์ในเพจ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ถึงกรณีนี้ด้วยว่า พรรคประชาชาติได้มอบให้ นิมุคตาร์ วาบา รองหัวหน้าพรรค และ มลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส เขต 4 เข้าเยี่ยม อับดุลเลาะ และเมื่อ กมลศักดิ์ ได้เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ก็จะให้มาบอกกล่าวให้ที่ประชุมพรรคประชาชาติเพื่อดำเนินการต่อไป
“ด้วยความหวังดีถึงความสันติสุขในพื้นที่ ซึ่งยังไงก็คือพื้นที่ที่พี่น้องประชาชนทั้งหลายอาศัยอยู่ เจ้าหน้าที่เองก็อยู่กินในพื้นที่ ผมก็มีความห่วงใยถึงสภาพจิตใจเจ้าหน้าที่ว่าจะแบกรับความกดดันและความรู้สึกของชาวบ้านได้เพียงใด ด้วยระบบงานที่สุ่มเสี่ยงต่อความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ ความสำเร็จที่ไหนที่จะมาปรากฏ ก็ไม่แน่ใจ ท่านนายกรัฐมนตรีซึ่งควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบทั้งฝ่ายกองทัพ กอ.รมน. ความมั่นคงทั้งหมด ต้องใส่ใจเป็นพิเศษต่อสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หากท่านยังไม่อาจทำให้เรื่องราวมันดีขึ้นได้ การพิจารณาตนเองและทีมงานของท่านก็เป็นเรื่องที่ต้องทำ”
วันมูหะมัดนอร์ ระบุว่า ทราบข่าวเมื่อคืนวานว่า แม่ทัพภาคที่ 4 ได้เข้าเยี่ยมนายอับดุลเลาะ พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้วเมื่อวาน ก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม และจะขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งหากมีรายละเอียดผลการสืบสวนว่าเป็นอย่างไร เกิดอะไรขึ้น และมีมาตรการรองรับความสูญเสียทางร่างกายของนายอับดุลเลาะ และครอบครัวอย่างไรบ้าง ยิ่งทราบว่าผู้เสียหายเป็นบุตรชายคนเดียวของคุณแม่ที่กำลังเสียใจและเสียขวัญอยู่ แม่ทัพต้องดูแลและรวดเร็วในการจัดการประเด็นนี้อย่าให้เป็นที่ค้างคาใจ
หัวหน้าพรรคประชาชาติ ยังระบุด้วยว่า ถึงเวลาแล้วที่เจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายมั่นคง ฝ่ายยุทธการ ฝ่ายปกครอง ทั้งหลาย ต้องทบทวนถึงวิธีการการปฏิบัติงาน ทั้งในเรื่องการตรวจค้น การควบคุมตัว งานมวลชน เพราะหากเรายอมรับความจริงก็จะพบว่า กระแสของเจ้าหน้าที่ที่ถืออาวุธนั้นเริ่มเป็นลบในความรู้สึกของชาวบ้าน ยังมีเรื่องราวที่ถูกตั้งคำถามและยังไม่ได้รับคำตอบที่กระจ่างพอ ทั้งเรื่องการตรวจสอบอัตลักษณ์ด้วยซิมโทรศัพท์ การตรวจค้นเก็บดีเอ็นเอ เวลาตีสามในพื้นที่บ้านแหร และมากรณีล่าสุดอย่างนายอับดุลเลาะ ที่ต้องเข้ารับการรักษาในห้องไอซียูนี้ หรือจะต้องหันหน้าพูดความจริงในเรื่องที่มีผลกระทบรอบด้านอย่างกฎหมายพิเศษ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กันอย่างจริงจังเสียที
กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยันพร้อมให้มีการพิสูจน์ ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างอิสระ
ก่อนหน้านั้น วันเดียวกัน (22 ก.ค.62) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า(กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) รายงานกรณีนี้ว่า เวลา 09.00 น. พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า ภายหลังเกิดเหตุ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้สั่งการให้เร่งรัดตรวจสอบข้อเท็จเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเร็วที่สุด ยืนยันพร้อมให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายและหากพบเป็นความผิดพลาดจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ก็จะทำการลงโทษสถานหนักทั้งทางวินัยและอาญาทหารโดยไม่ละเว้น
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลในเบื้องต้นพบว่า การควบคุมตัว อับดุลเลาะ เป็นไปตามคำให้การซัดทอดของ อิบรอเฮง มะเซ็ง ผกร.ระดับแกนนำที่ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 62 ว่า อับดุลเลาะ เป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง ในพื้นที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ทำหน้าที่คอยช่วยเหลือสนับสนุนการก่อเหตุในพื้นที่มาแล้วหลายครั้ง เจ้าหน้าที่จึงได้จัดกำลังเข้าเชิญตัวจากบ้านพักในพื้นที่ ต.ตะบิ้ง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ภายใต้การมีส่วนร่วมของผู้นำท้องที่ ผู้นำศาสนา และภรรยา ก่อนจะส่งตัวไปลงบันทึกประจำวัน ที่สถานีตำรวจภูธรสายบุรี และส่งเข้าหน่วยซักถามหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงคยุทธบริหาร โดยผลการตรวจร่างกายของแพทย์ โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร พบร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง หน่วยจึงได้นำตัวไปซักถามเบื้องต้น พบมีอาการเครียดจึงให้ไปพักยังห้องพักภายในหน่วยซักถามตั้งแต่เวลา 21.30 น. จนกระทั่งเวลาประมาณ 03.00 น. เจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบว่า นอนหมดสติอยู่ภายในห้องควบคุม จึงได้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร เพื่อช่วยชีวิตในเบื้องต้นก่อนนำส่งต่อโรงพยาบาลปัตตานี ตามลำดับ
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตั้งแต่ขั้นตอนการเชิญตัว ขั้นการควบคุมตัวเพื่อซักถามในเบื้องต้นพบว่าเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและยังไม่พบหลักฐานใดๆ ที่บ่งชี้ว่า เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ซึ่งสอดคล้องกับผลการตรวจร่างกายของแพทย์ที่ระบุ “ไม่พบร่องรอยบาดแผลฟกช้ำภายนอกร่างกายแต่อย่างใด” แต่พบว่าสมองมีอาการบวมซึ่งน่าจะเกิดจากการขาดออกซิเจนในขณะช็อค หมดสติ หรือเกิดจากการปั๊มหัวใจช่วยชีวิต นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ป่วยมีค่าน้ำตาลในเลือดและค่าเม็ดเลือดขาวสูงผิดปกติแต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า เป็นสาเหตุของการช็อคหมดสติโดยต้องรอยืนยันจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไป
อย่างไรก็ตาม กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมให้มีการพิสูจน์ความจริงด้วยการให้คณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประกอบด้วยผู้แทน จากองค์กรต่างๆ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในสังคมเข้าทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างอิสระ ด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม เพื่อหาข้อสรุปและแนวทางที่เหมาะสม ให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ยืนยันว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมที่จะทำงานร่วมกับทุกฝ่ายและรับฟังทุกข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหา แต่ขอให้การแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นที่เกิดขึ้น ไม่เป็นไปในลักษณะชี้นำ ปลุกระดมหรือบิดเบือนข้อเท็จจริงที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสนจนกว่าความจริงจะปรากฏ เพราะจะเป็นการซ้ำเติมและขยายประเด็นความขัดแย้งให้รุนแรงยิ่งขึ้น