Published on ประชาไท Prachatai.com (https://prachatai.com)

Home > 'ชัชชาติ' ชูพัฒนา 'เส้นเลือดฝอย' หัวใจสร้างเมืองน่าอยู่ ย้ำ กทม. ไม่มี 'ฮีโร่' ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน > 'ชัชชาติ' ชูพัฒนา 'เส้นเลือดฝอย' หัวใจสร้างเมืองน่าอยู่ ย้ำ กทม. ไม่มี 'ฮีโร่' ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน

'ชัชชาติ' ชูพัฒนา 'เส้นเลือดฝอย' หัวใจสร้างเมืองน่าอยู่ ย้ำ กทม. ไม่มี 'ฮีโร่' ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน

Submitted by user007 on Thu, 2019-11-07 18:08

'ชัชชาติ' ย้ำ 'เมืองเดินได้' และการพัฒนา 'เส้นเลือดฝอย' โครงการขนาดเล็กเป็นหัวใจสร้างเมืองน่าอยู่ พร้อมเสนอแนวคิดกระจายอำนาจสู่ผู้บริหารเขต และเปิดข้อมูลเมืองผ่านระบบ Open Bangkok ให้ประชาชนร่วมตรวจสอบการบริหารงาน ย้ำพัฒนาเมืองทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน เพราะผู้ว่าฯไม่ใช่ฮีโร่ที่แก้ได้เพียงคนเดียว  

7 พ.ย.2562 ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) รายงานว่า วันนี้ ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อดีตผู้บริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และอดีตรองศาสตราจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายวิชาการหัวข้อ “Better City จะทำเมืองให้ดีขึ้นได้อย่างไร” ตามโครงการบรรยายสาธารณะ (Public Talk) “โลกรอบสถาปัตยกรรมผังเมือง” จัดโดยภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ UddC เป็นส่วนหนึ่งรายวิชาการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมผังเมือง (Professional Practice) เปิดโอกาสให้สาธารณชนร่วมฟังความรู้และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านเมืองหลากหลายวงการร่วมกับนิสิตภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง ภายใต้แนวคิด “เล่าเรื่องเมือง โดยตัวจริง”

ชัชชาติ เสนอแนวคิดการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองน่าอยู่ หรือ Better Bangkok มีสาระสำคัญในหลายประเด็น อาทิ การสร้างเมืองเดินได้ เมืองอยู่ดีกินดี เมืองแบ่งปัน เมืองงานใกล้บ้าน-ใกล้โรงเรียน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม วิทยากรกล่าวว่า การพัฒนาเส้นเลือดฝอยของเมืองหรือการผลักดันโครงการพัฒนาขนาดเล็ก เป็นเรื่องสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมือง แม้การพัฒนาลักษณะดังกล่าว อาจดูไม่น่าตื่นเต้นเหมือนโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณสูงนับหมื่นล้าน แต่การกระจายงบประมาณมหาศาลเป็นโครงการย่อยๆ ที่เชื่อมโยงกัน จะทำให้เมืองน่าอยู่และคุณภาพชีวิตคนดีขึ้นได้

“มิติของอนาคตคนเมืองน่ากลัวหากถามว่าคนจะอยู่กรุงเทพฯไหมในอนาคต ในห้องนี้คนจำนวนมากไม่อยากอยู่กรุงเทพฯหรอก ทุกคนโรแมนติกอยากไปอยู่ต่างจังหวัด เขาใหญ่ เชียงใหม่ เพราะฉะนั้นในอนาคตกรุงเทพฯอาจไม่รอดก็ได้ ถ้าเราไม่ทำให้มันดี หัวใจของเมืองในอนาคตคือต้องดึงคนเก่งให้ได้ เหมือนซิลิคอนวัลเลย์ดีได้เพราะดึงคนเก่งได้ แต่คนเก่งไม่อยู่เมืองห่วยๆ คนเก่งอยากอยู่ในเมืองที่มีคุณภาพชีวิตดี ถ้าเมืองไม่มีคนเก่งเมืองอยู่ไม่ได้ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่มุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์” ชัชชาติ กล่าว 

ด้านการสร้างความร่วมมือกับคนทุกกลุ่มในเมือง เป็นอีกประเด็นสำคัญที่วิทยากรให้ความสำคัญ โดย ชัชชาติ กล่าวว่า ผู้ว่าฯ กทม. มักถูกคาดหวังจากภาคประชาชนให้เป็น “ฮีโร่” ที่สามารถแก้ไขทุกปัญหาได้เพียงคนเดียว แต่ในทางปฏิบัติสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับ กทม. มีความสลับซับซ้อน ทั้งรูปแบบของปัญหาและโครงสร้างการบริหารงาน การสร้างเมืองน่าอยู่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชน ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาเมืองต้องเริ่มจากการมีระเบียบวินัยของภาคประชาชน พร้อมกับการออกแบบโครงสร้างเมืองและสร้างค่านิยมที่ถูกต้อง เพื่อปรับพฤติกรรมของคนควบคู่กันไปด้วย เช่น การแก้ไขปัญหารถติด นอกจากภาครัฐจะปรับปรุงคุณภาพระบบขนส่งสาธารณะแล้ว ภาคประชาชนก็ต้องพร้อมเป็นพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) เปลี่ยนพฤติกรรมจากการขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลเป็นรถขนส่งสาธารณะ เป็นต้น 

ชัชชาติ ยังกล่าวถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของ กทม. ที่มีรูปแบบการบริหารแบบรวมศูนย์และมีหน่วยงานในสำนักส่วนกลางทำงานทับซ้อนกับหน่วยงานในระดับเขต นอกจากนี้ ผู้อำนวยการเขตยังไม่มีความผูกพันกับเขตและรู้จักเขตที่ตนเองดูแลไม่ดีเพียงพอ เนื่องจากการหมุนเวียนตำแหน่งตามระบบราชการ ดังนั้นจึงเสนอให้ปรับโครงสร้างการบริหารงานเพื่อให้ผู้อำนวยการเขตใกล้ชิดกับประชาชน และสามารถตอบสนองความต้องการของคนในเขตได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กทม. จำเป็นต้องเปิดระบบ Open Bangkok เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐและสามารถตรวจสอบการทำงานได้อย่างโปร่งใสอีกด้วย 

ข่าว [1]
คุณภาพชีวิต [2]
ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง [3]
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ [4]
กรุงเทพ [5]
เมือง [6]
ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

Source URL: https://prachatai.com/journal/2019/11/85056

Links
[1] https://prachatai.com/category/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7
[2] https://prachatai.com/category/%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95
[3] https://prachatai.com/category/%E0%B8%A8%E0%B8%B9%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87
[4] https://prachatai.com/category/%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%8A%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4-%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%B8%E0%B9%8C-0
[5] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E
[6] https://prachatai.com/category/%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87