นักข่าวทั่วโลกลงนามขอปล่อยตัว จูเลียน อัสซานจ์ ประกันเสรีภาพสื่อ-ข้อมูลข่าวสาร
จดหมายเปิดผนึกลงนามโดยผู้สื่อข่าวและองค์กรสื่อจากทั่วโลกมากกว่า 550 รายชื่อ เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ก่อตั้งวิกิลีกส์ จูเลียน อัสซานจ์ หลังมีการตรวจและพบว่าเขาอยู่ในสภาพย่ำแย่มากโดยเฉพาะด้านจิตใจ นอกจากนี้ยังเป็นการเรียกร้องในหลักการเสรีภาพสื่อ สิทธิที่ประชาชนจะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ระบุ การแฉผู้นำโลกของอัสซานจ์เป็นการรักษาผลประโยชน์สาธารณะ ไม่ควรถูกลงโทษด้วยข้อหาจารกรรม
จูเลียน อัสซานจ์ (ที่มา:wikipedia [1])
11 ธ.ค. 2562 ผู้สื่อข่าวและองค์กรสื่อทั่วโลกมากกว่า 550 คน/องค์กร ร่วมกันลงนามในจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องอิสรภาพให้จูเลียน อัสซานจ์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์แฉผู้นำโลกวิกิลีกส์ที่ในปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำรักษาความปลอดภัยระดับสูงเบลมาร์ช ประเทศอังกฤษ และกำลังเผชิญกับการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนให้กับสหรัฐฯ ด้วยข้อกล่าวหาฝ่าฝืนกฎหมายจารกรรมซึ่งอาจจะทำให้เขาต้องโทษจำคุกสูงสุด 175 ปี จากการที่อัสซานจ์เปิดโปงเอกสารของทางการสหรัฐฯ เกี่ยวกับความเลวร้ายในสงครามอัฟกานิสถานและสงครามอิรัก
ในจดหมายเปิดผนึกที่มีนักข่าวทั่วโลกร่วมลงนามแล้วมากกว่า 550 รายชื่อระบุว่า "พวกเราในฐานะผู้สื่อข่าวและองค์กรสื่อจากทั่วโลกแสดงความเป็นห่วงอย่างลึกซึ้งต่อสภาพความเป็นอยู่ของอัสซานจ์ จากการที่เขายังคงถูกคุมขังอย่างต่อเนื่องและจากข้อกล่าวหาเรื่องการจารกรรมซึ่งมาจากกฎหมายที่บีบเค้น"
จดหมายเปิดผนึกที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ SPEAK UP FOR ASSANGE ระบุว่าสาเหตุที่พวกเขาต้องเรียกร้องในเรื่องนี้เพราะต้องการยืนหยัดอยู่บนหลักการด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพื่อไม่ให้มีการอ้างใช้กฎหมายจารกรรมในการดำเนินคดีกับผู้สื่อข่าวหรือผู้เปิดโปงความจริง ในประเทศประชาธิปไตยนักข่าวไม่ควรจะถูกลงโทษจำคุกเพียงเพราะรายงานข่าวเรื่องการทารุณกรรมและการกดขี่ข่มเหงที่เกิดขึ้นเพราะเรื่องเหล่านี้ถือเป็นบทบาทของสื่อในโลกประชาธิปไตยอยู่แล้ว และการรายงานเรื่องเหล่านี้ก็ถือเป็นการรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม
ก่อนหน้าที่อัสซานจ์จะถูกนำมาคุมขังที่เรือนจำเบลมาร์ชนั้น เขาเคยถูกคุมขังกักบริเวณในบ้านเป็นเวลา 1 ปี และต้องใช้เวลา 7 ปีที่ลี้ภัยในสถานทูตเอกวาดอร์ในกรุงลอนดอนที่อัสซานจ์ต้องเผชิญกับการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ว่าจะเป็นการถูกสอดแนมการสนทนาหรือการสอดแนมสื่อมวลชนที่มาเยี่ยมเขา เขายังถูกจำกัดการเข้าถึงทนายความ การรักษาพยาบาล และถูกจำกัดให้ไม่สามารถได้รับแสงแดดและออกกำลังกายได้ โดยที่ในช่วงเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา รัฐบาลเลนิน โมเรโนของเอกวาดอร์ถอนสถานะผู้ลี้ภัยของอัสซานจ์ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลอังกฤษเข้าไปจับกุมตัวเขาได้
หลังจากที่อัสซานจ์ถูกส่งไปคุมขังในเรือนจำเบลมาร์ชช่วงที่กำลังรอการดำเนินคดีเขาก็ต้องเผชิญกับสภาพการคุมขังที่ย่ำแย่ เขาถูกคุมขังเดี่ยวเป็นเวลา 23 ชั่วโมงต่อวันและมีความน่าเป็นห่วงเรื่องสุขภาพ มีผู้เข้าเยี่ยมรายงานว่าอัสซานจ์ต้องทานยาเยอะมากและมีสุขภาพจิตที่เสื่อมถอยลงเรื่อยๆ ทั้งนี้องค์กรของสหประชาชาติที่ต่อต้านการคุมขังโดยพลการก็เคยเรียกร้องให้ปล่อยตัวอัสซานจ์มาก่อนและเรียกร้องให้ชดเชยอัสซานจ์ในเรื่องนี้
จดหมายเปิดผนึกยังระบุอีกว่ารัฐบาลสหรัฐฯ อังกฤษ เอกวาดอร์และสวีเดนต่างมีส่วนรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนของอัสซานจ์ ก่อนหน้านี้ผู้รายงานพิเศษด้านการทารุณกรรมขององค์การสหประชาชาติ (UN) นีลส์ เมลเซอร์ เคยเข้าตรวจสอบสภาพการถูกคุมขังของอัสซานจ์และรายงานว่าเขาถูกทารุณกรรมทางจิตใจและถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ และในเดือน พ.ย. ที่ผ่านมาเมลเซอร์ก็เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวอัสซานจ์และยกเลิกการส่งตัวอัสซานจ์ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนในยังสหรัฐฯ
จดหมายของกลุ่มนักข่าวระบุว่าอัสซานจ์เป็น "ผู้ที่มีส่วนเอื้อต่อต่อผลประโยชน์สาธารณะ" ผ่านทางการข่าวโดยการสร้างความโปร่งใสจากเรื่องราวของรัฐบาลทั่วโลก นอกจากนี้ยังเคยได้รับรางวัลเกี่ยวกับสื่อจำนวนมาก การที่เขาถูกลงโทษเพราะนำเสนอข้อมูลที่ถูกปกปิดจากสายตาประชาชน
กลุ่มนักข่าวระบุว่า "ในฐานะของนักข่าวและองค์กรสื่อที่เชื่อในสิทธิมนุษยชน เสรีภาพทางข้อมูลข่าวสาร และสิทธิของสาธารณะชนในการได้รับรู้ข้อมูล พวกเราขอเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวจูเลียน อัสซานจ์ โดยทันที" และ "พวกเราขอเรียกร้องให้เพื่อนนักข่าวให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแม่นยำต่อสาธารณะเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน"
สื่ออื่นๆ ตั้งข้อสังเกตว่าในกลุ่มผู้ที่ลงนามมากกว่า 550 รายชื่อในครั้งนี้มี คริสติน ฮราฟสัน หัวหน้ากองบรรณาธิการวิกิลีกส์ จอห์น พิลเจอร์ และ แดเนียล เอลส์เบิร์ก นักข่าวสืบสวนสอบสวนระดับโลกผู้ที่เคยแฉเอกสารเพนทากอนซึ่งเปิดโปงอาชญากรรมในช่วงสงครามเวียดนาม เดวิด นอร์ท ประธานกรรมการบรรณาธิการนานาชาติของเว็บไซต์เวิร์ลด์โซเชียลลิสต์ รวมถึงสื่ออื่นๆ จากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เยอรมนี แอฟริกาใต้ ชิลี ศรีลังกา ยูเครน จีน ออสเตรเลีย เป็นอาทิ
ในช่วงเดือน ก.ค. 2562 ที่อังกฤษเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมระดับนานาชาติว่าด้วยเสรีภาพสื่อ ในกรุงลอนดอน ที่เชิญผู้สื่อข่าว นักวิชาการ ภาคประชาสังคมและตัวแทนภาครัฐจากทั่วโลกจำนวนราว 1,500 คน ก็ไม่ได้ปรากฏว่าอัสซานจ์จะได้เข้าร่วม ที่หน้างานมีประชาชนจำนวนหนึ่งมาประท้วง เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวอัสซานจ์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์วิกิลีกส์ และเชลซี แมนนิ่ง อดีตทหารสหรัฐฯ ที่ออกมาเปิดโปงเอกสารลับทางการทหารและการทูตของสหรัฐฯ ให้กับวิกิลีกส์
เรียบเรียงจาก
JOURNALISTS SPEAK UP FOR JULIAN ASSANGE, Speak Up For Assange [4]
Hundreds of journalists around the world sign open letter demanding freedom for Assange, Counter Current [5], Dec. 9, 2019
Hundreds of journalists around the world sign open letter demanding freedom for Assange, World Socialist Web Site [6], Dec. 9, 2019