วิจัยต่างชาติชี้ มลภาวะอากาศเป็นปัญหาฉุกเฉิน แต่จะกระทบคนชายขอบมากกว่า
องค์กรเกี่ยวกับโรคหัวใจในอังกฤษ ชี้ว่ามลภาวะทางอากาศเป็น "ปัญหาใหญ่ในระดับฉุกเฉินทางสาธารณสุข" ที่อาจคร่าชีวิตคนได้หลักแสนในทศวรรษนี้ และมีหลักฐานในยุโรปว่าคนชายขอบทางสังคม-เศรษฐกิจ มีผลกระทบกับมลพิษมากกว่า นักประวัติศาสตร์ด้านมลภาวะทางอากาศชี้ รัฐบาลมักมองปัญหาไฟป่าในฐานะเหตุการณ์ธรรมชาติ ทั้งที่เป็นผลมาจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
ประชาชนกวาดขี้เถ้าฝุ่นภูเขาไฟในอินโดนีเซียเมื่อปี 2557 (ที่มา:วิกิพีเดีย [1])
15 ม.ค. 2563 เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (13 ม.ค. 63) มูลนิธิหัวใจอังกฤษ (BHF) นำเสนอรายงานว่ามลภาวะทางอากาศถือเป็น "ปัญหาใหญ่ในระดับฉุกเฉินทางสาธารณสุข" และเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษมีการนำคู่มือแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายอังกฤษ และทำให้บรรลุเป้าหมายให้ได้ภายในปี 2573
รายงานของ BHF ยังระบุว่าปัญหาฝุ่นควัน มลภาวะในเมืองต่างๆ อาจคร่าชีวิตผู้คนได้ราว 160,000 คนภายในอีกสิบปีข้างหน้า เพราะมลภาวะเหล่านี้ส่งผลให้เกิดโรคหัวใจและโรคเกี่ยวกับการไหลเวียนของโลหิต โดยที่ผู้คนในอังกฤษจะเสียชีวิตจากกรณีเหล่านี้ราว 40 รายต่อวันถ้าหากยังไม่มีการแก้ไขปัญหามลภาวะ
BHF ระบุอีกว่าฝุ่นละอองขนาด PM2.5 ส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพได้จากการที่เพิ่มความเสี่ยงหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง และคนที่มีปัญหาสุขภาพอยู่แล้วอาการแย่ลง
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันก็มีบทความจาก จอน แฟร์เบิร์น ศาสตราจารย์ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยสแตฟเฟอร์ดไชร์ ที่ระบุว่าถึงแม้ว่าปัญหาฝุ่นควันมลภาวะจะส่งผลกระทบคร่าชีวิตคนทุกปี แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้รับผลกระทบเท่ากัน พวกเขาสำรวจพบว่าชนชั้นทางสังคม เชื้อชาติ เพศสภาพ เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้คนได้รับผลกระทบเหล่านี้แตกต่างกัน ชนชั้นล่างและคนชายขอบมักจะได้รับผลกระทบมากกว่า จากการที่พวกเขาอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เผชิญกับฝุ่นควันมากกว่า
จากการตรวจสอบงานวิจัยต่างๆ แฟร์เบิร์นระบุว่าคนยากจนและกลุ่มคนที่ไม่ใช่คนขาวในอังกฤษและเนเธอร์แลนด์มักจะเผชิญกับสภาพอากาศเป็นพิษมากกว่า ในอิตาลีมีงานสำรวจระบุว่าคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวมักจะต้องเผชิญกับมลภาวะทางอากาศมากกว่า ในกรุงมาดริด ประเทศสเปน ชาวเอเชียและละตินอเมริกามักจะต้องเผชิญกับมลภาวะเหล่านี้มากกว่า ในสวีเดนทางตอนใต้ คนเป็นแม่ที่ไม่ใช่คนเชื้อสายนอร์ดิกมักจะต้องเผชิญกับสารพิษไนโตรเจนอ็อกไซด์มากกว่า ในสวิตเซอร์แลนด์ คนที่เป็นชาวต่างชาติและคนว่างงานมักจะต้องอาศัยอยู่ใกล้ถนนใหญ่มากกว่าจึงทำให้ต้องเผชิญกับอากาศเป็นพิษมากกว่า
สหภาพยุโรปทำการกดดันให้รัฐบาลประเทศต่างๆ จัดการกับปัญหามลภาวะทางอากาศแต่ก็ยังคงมี 19 ประเทศที่มีไนโตรเจนไดอ็อกไซด์เกินค่าที่กำหนดไว้ และมี 14 ประเทศที่มีฝุ่นละอองที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ไมครอน
รายงานของแฟร์เบิร์นระบุอีกว่าเด็กที่ร่างกายกำลังเติบโตเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากอากาศเป็นพิษมากกว่าในระดับสภาพอากาศเป็นพิษปริมาตรเดียวกัน อีกกลุ่มหนึ่งคือคนจนที่มักจะต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ๆ ใกล้กับที่มียานพาหนะสัญจรไปมามากกว่าทำให้ได้รับผลกระทบจากอากาศเป็นพิษ เขาจึงเสนอแนะให้เมืองต่างๆ จัดการระบบขนส่งสาธารณะที่ดีและราคาถูก นอกจากนี้ยังควรจัดผังเมืองที่เอื้อต่อคนใช้จักรยานและคนเดินเท้ามากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ยังมีบทความของ แนนซี คุชชิง นักประวัติศาสตร์ด้านมลภาวะทางอากาศจากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลระบุว่า หนึ่งในกรณีที่ส่งผลต่อมลภาวะทางอากาศที่คนคำนึงถึงน้อยคือกรณีไฟป่า ซึ่งเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งใหญ่ในออสเตรเลีย คุชชิงระบุว่ารัฐบาลต่างๆ มักจะมองข้ามการควบคุมดูแลเรื่องไฟป่านี้เพราะมองว่าเป็น "เหตุจากธรรมชาติ" ทั้งที่จริงแล้วปัญหาไฟป่ามีส่วนเชื่อมโยงกับปัญหาโลกร้อนซึ่งมาจากการกระทำของมนุษย์
"ฝุ่นควันจากไฟป่าส่งผลกระทบต่อการสัญจร การค้าขาย สุขภาวะ และความรื่นรมย์ในสภาพแวดล้อมของเมือง" คุชชิงระบุในบทความ
เรียบเรียงจาก
Heart attack and stroke deaths related to air pollution could exceed 160,000 by 2030, BHF [2], Jan. 13, 2020
Air pollution could kill 160,000 in next decade – report, The Guardian [3], Jan. 13, 2020
Air pollution: your exposure and health risk could depend on your class, ethnicity or gender, The Conversation [4], Jan. 11, 2020
Even for an air pollution historian like me, these past weeks have been a shock, The Conversation [5], Jan. 13, 2020