Published on ประชาไท Prachatai.com (https://prachatai.com)

Home > บังคับให้นักเรียนต้องอยู่บ้าน ใครสั่งหรือจำเป็น > บังคับให้นักเรียนต้องอยู่บ้าน ใครสั่งหรือจำเป็น

บังคับให้นักเรียนต้องอยู่บ้าน ใครสั่งหรือจำเป็น

Submitted by sarayut on Fri, 2020-05-08 11:26

ชัยวัฒน์ ปานนิล

 

จากการติดตามข่าวสารและสถานการณ์ที่ผ่านมา ศธ. และ สพฐ. ได้มีการเปิดเผยแนวทางการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยสรุปเน้นการปิดสถานศึกษา ให้นักเรียนอยู่กับบ้าน เรียนผ่านระบบทางไกล ตลอดปีการศึกษา 2563 เหมือนบังคับให้นักเรียนต้องอยู่บ้าน อ้างเพื่อป้องกันการระบาด  

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมามีการอบรมผ่านระบบทางไกล เรื่อง การจัดการเรียนการสอนทางไกลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อชี้แจงแนวทางในการจัดการเรียนการสอนทางไกลและเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดภาคเรียน สรุปได้ว่า โรงเรียนสามารถดำเนินการได้ 3 แนวทาง คือ 1.เปิดทำการสอนได้ตามปกติ โดยทำการขออนุญาตจาก “ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ” เป็นผู้เห็นชอบ 2.จัดการเรียนการสอนระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ด้วยระบบทางไกลผ่าน DLTV และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ด้วยวีดิทัศน์การสอนโดยครูต้นแบบ และระบบออนไลน์ 3.สามารถผสมผสานระหว่างแนวทางที่ 1 กับแนวทางที่ 2 ได้ สุดท้ายเป็นภาระของโรงเรียนที่ต้องเลือกรูปแบบตามแนวทางที่กำหนดเอง เพื่อให้สามารถสอนได้จริงตามบริบทพื้นที่ เน้นว่า "ส่วนกลางทำหน้าที่สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนเท่านั้น" ส่วนการประเมินผลระดับชาติยังมีการดำเนินการอยู่ ปฏิทินการจัดการศึกษาปรับเปลี่ยนแค่ปีการศึกษา 2563 เท่านั้น หลังจากนั้นหากเข้าสู่ภาวะปกติก็ปฏิบัติตามเดิม พร้อมกำชับให้สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา งดกิจกรรมที่ไม่จำเป็น เน้นการจัดการเรียนการสอนของนักเรียนเป็นสำคัญ

ก่อนหน้า นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เปิดเผย เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 ภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ การเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนเพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 2563 โดยจะดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้มีการกำหนดแนวทางการจัดการเรียนการสอนระบบทางไกล โดยแบ่งเป็น 4 ระยะ ระยะที่ 1 เตรียมความพร้อม ระยะที่ 2 ทดลองการเรียนการสอน ระยะที่ 3 จัดการเรียนการสอน ระยะที่ 4 การสอบและการศึกษาต่อ ตามช่วงเวลาที่กำหนด 

และได้ชี้แจงรายละเอียดของระยะที่ 3 การจัดการเรียนการสอน (1 กรกฎาคม 2563 – 30 เมษายน 2564)  ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมีการวางแผนไว้สำหรับ 2 สถานการณ์ นั่นคือ สถานการณ์ที่ 1 กรณีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ยังไม่คลี่คลาย จะจัดการเรียนการสอนระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ด้วยระบบทางไกลผ่าน DLTV และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ด้วยวีดิทัศน์การสอนโดยครูต้นแบบ และระบบออนไลน์ด้วยเครื่องมือการเรียนรู้ตามความเหมาะสมและบริบทของสถานศึกษา และสถานการณ์ที่ 2 กรณีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid–19) คลี่คลาย จะจัดการเรียนการสอนปกติในโรงเรียน โดยให้เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และมีแผนเตรียมการเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ โดยจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาท่าทีของ กระทรวงศึกษาธิการ มุ่งเน้นในแนวทางที่ 1 กรณีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid–19) ไม่คลี่คลาย มากกว่าแนวทางที่ 2 และคาดว่า จะไม่มีการจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนในปีการศึกษา 2563 ที่จะมาถึง รวมทั้งไม่มีการปิดภาคเรียนในภาคเรียนที่ 1/2563 กำหนดให้จัดการเรียนการสอนยาวตลอดปีการศึกษา โดยใช้รูปแบบจัดการเรียนการสอนด้วยระบบทางไกลผ่าน DLTV และระบบออนไลน์ ทั้งหมดถูกจำกัดรูปแบบด้วยคำว่า “ตามความเหมาะสมและบริบทของสถานศึกษา ส่วนกลางทำหน้าที่สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนเท่านั้น” เอาแบบชาวบ้านก็คือ จัดการเรียนการสอบแบบเฉพาะหน้า ตามความสามารถของแต่ละโรงเรียน 

ฝากคำถามไว้กับ นักคิดห้องแอร์ ทั้งหลายว่า ผู้ปกครองไม่พร้อม นักเรียนไม่พร้อม ครูจำเป็นต้องพร้อม สื่อไม่พร้อม งบประมาณไม่พร้อม ท่านก็ยังจะทำอีกหรือ ทั้งที่ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ที่เป็นเส้นตาย ก็ยังไม่รู้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะเป็นอย่างไร หากในวันนั้นการระบาดของโรคสิ้นสุดลงแล้วสิ่งที่ท่านละลายแม่น้ำทิ้งไปใครจะรับผิดชอบ หรือหากสถานการณ์การระบาดหนักกว่าเดิม ท่านใจดำพอจะส่งครูไปเสี่ยงรับการติดเชื้อตามบ้านใช่ไหม ขอฝากให้เปิดแอร์เย็นๆ แล้วคิดดู

หรือว่ามีใครบังคับให้ท่านทำเช่นนี้ ?
 

บทความ [1]
สังคม [2]
การศึกษา [3]
ชัยวัฒน์ ปานนิล [4]
Covid–19 [5]
ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 [6]
ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

Source URL: https://prachatai.com/journal/2020/05/87547

Links
[1] https://prachatai.com/category/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1
[2] https://prachatai.com/category/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1
[3] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2
[4] https://prachatai.com/category/%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B9%8C-%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A5
[5] https://prachatai.com/category/covid%E2%80%9319
[6] https://prachatai.com/category/%E0%B8%A8%E0%B8%B9%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%94-19