Published on ประชาไท Prachatai.com (https://prachatai.com)

Home > อินเตอร์เน็ตถูกปิดกั้น-ชาวเบลารุสสื่อสารการชุมนุมอย่างไร > อินเตอร์เน็ตถูกปิดกั้น-ชาวเบลารุสสื่อสารการชุมนุมอย่างไร

อินเตอร์เน็ตถูกปิดกั้น-ชาวเบลารุสสื่อสารการชุมนุมอย่างไร

Submitted by user8 on Mon, 2020-08-31 13:36

สื่อไอทีรายงานวิธีรับมือการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตที่เบลารุส ในช่วงที่มีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ 'อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชงโก' พวกเขาใช้เครื่องมืออะไรบ้างในการทำให้ยังสื่อสารกันได้ถึงแม้ว่าอินเตอร์เน็ตถูกปิดกั้น ซึ่งการตัดอินเตอร์เน็ตบางรอบกินเวลาถึง 72 ชั่วโมง

แฟ้มภาพการชุมนุมประท้วงที่ กรุงมินสค์ ประเทศเบลารุส เมื่อวันที่  16 ส.ค. 2563

การประท้วงรัฐบาลเบลารุสที่ถูกเรียกว่าเป็น "เผด็จการสุดท้ายแห่งยุโรป" ผู้ประท้วงต้องเผชิญกับปัญหาอินเทอร์เน็ตถูกตัดเป็นครั้งคราว จนทำให้เป็นอุปสรรคกับการสื่อสาร เหตุอินเทอร์เน็ตล่มครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือน ส.ค. ที่่ผ่านมาพวกเขาตัดอินเทอร์เน็ตเป็นเวลานาน 72 ชั่วโมง และในวันที่ 26 ส.ค. ที่ผ่านมาพวกเขาก็ตัดอินเทอร์เน็ตอีกครั้งในส่วนใจกลางเมืองหลวงเป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

มีการกล่าวหาว่าการตัดอินเทอร์เน็ตเหล่านี้มาจากคำสั่งของทางการโดยตรง นั่นทำให้ผู้ประท้วงถูกขัดขวางการสื่อสารในขณะที่การประท้วงต่อต้านการเกาะกุมอำนาจขิงอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชงโก กำลังคุกรุ่น อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ยัสามารถพยายามส่งภาพวิดีโอฟุตเตจต่างๆ ออกไปผ่านช่องทางเช่นช่องสถานี NEXTA Live ของแอพพลิเคชัน Telegram ได้สำเร็จ ทำให้มีภาพตำรวจปราบจลาจลโจมตีผู้ชุมนุมที่ชุมนุมอย่างสันติ มีการใช้กระสุนยางและระเบิดแสง มีภาพวิดีโอเจ้าหน้าที่ทุบตีทำร้ายผู้ต้องขังอย่างรุนแรงในพื้นที่เขตเรือนจำ

และเมื่ออินเทอร์เน็ตเริ่มกลับมาใช้งานได้ ก็เริ่มมีการเผยแพร่ภาพต่างๆ ที่แสดงให้เห็นการบาดเจ็บของผู้ประท้วง การพูดถึงการถูกทารุณกรรม การถูกข่มขู่คุกคามว่าจะข่มขืน และการล่วงละเมิดทางเพศ เรื่องราวเหล่านี้เผยแพร่ออกไปตามโซเชียลมีเดียและหน้าสื่อต่างๆ

ในเรื่องที่ว่ากลุ่มผู้ประท้วงเบลารุสใช้วิธีไหนในการเผยแพร่ข้อมูลช่าวถูกตัดอินเทอร์เน็ตนั้น Gizmodo รายงานว่าพวกเขาอาศัยโปรแกรมการส่งข้อความแบบเข้ารหัส Telegram พร้อมกับการใช้พร็อกซีและเครือข่ายส่วนตัวตัวเสมือน (VPN) สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารและจัดตั้งการชุมนุม

ในเบลารุสมีอินเทอร์เน็ตในแบบที่ต้องพึ่งพิงรัฐบาลกลางมากและมีบริษัทเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ดำเนินการได้เพราะปฏิบัติตามการเซ็นเซอร์ของรัฐบาล

ผู้ประท้วงบางส่วนพูดถึงการถูกปิดกั้นอินเทอร์เน็ตในช่วงที่มีการชุมนุมว่าพวกเขารู้สึกตัวสั่นดด้วยความไม่พอใจอย่างมากเมื่อได้รับรู้ในภายหลังว่ามีเหตุรุนแรงอะไรเกิดขึ้นบ้าง เพราะก่อนหน้านี้พวกเขาไม่ได้ทราบข่าวจากการที่อินเทอร์เน็ตถูกปิดกั้น มีอีกรายหนึ่งที่ชื่อคิริลาบอกว่าหลังจากทราบข่าวในภายหลังพวกเขาก็มีทั้งความรู้สึกสยดสยองจากความรุนแรงและความภาคภูมิใจในการต่อสู้ของผู้ประท้วง

วิเคราะห์ผู้นำเบราลุส เผด็จการโหด 26 ปีที่ถูกประท้วงจากคนหลายแสน [1], 27 ส.ค. 2563

มักซิมัส มิลตา ประธานฝ่ายการสื่อสารและการพัฒนาของมหาวิทยาลัยมนุษยศาสตร์ยุโรปแห่งเบลารุสซึ่งตอนนี้ต้องย้ายสำนักงานไปที่ลิธัวเนียกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีการเริ่มปิดกั้นอินเทอร์เน็ตในช่วง 9 โมงเช้าของวันที่ 9 ส.ค. ในตอนนั้นเว็บไซต์ติดตามผลการเลือกตั้ง Golos และเว็บไซต์ที่ประชาชนร่วมกันลงขันจัดตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบการโกงการเลือกตั้งที่ชื่อ Zubr ต่างก็ถูกโจมตีทางไซเบอร์

มิลตากล่าวถึงเหตุการณ์ต่อไปว่าหลังจากนั้น 2 ชั่วโมงก็มีการบล็อกยูทูบเพื่อไม่ให้ผู้คนชมการถ่ายทอดสดได้ หลังจากนั้นก็มีการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตทั้งหมด ทำให้ทั้งกูเกิล, เฟสบุค, วอทส์แอพพ์ รวมถึงสื่ออิสระในเบลารุสต่างก็เข้าถึงไม่ได้ ทำให้ Telegram กลายเป็นช่องทางเดียวที่เหลืออยู่ พาเวล ดูรอฟ ผู้ก่อตั้ง Telegram ระบุผ่านทวิตเตอร์ในวันที่ 10 ส.ค. ว่า พวกเขาตั้งระบบต่อต้านการเซ็นเซอร์ในเบลารุสเพื่อให้ Telegram ยังสามารถใช้งานได้สำหรับผู้ใข้งานส่วนใหญ่ในประเทศ แต่การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตก็ยังคงไม่เสถียร์อย่างมากในช่วงที่มีการปิดกั้นอินเทอร์เน็ต

ช่องสถานี NEXTA Live ของ Telegram ก็เป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมมากจากผู้ใช้งานเบลารุสในการถ่ายทอดเรื่องการประท้วง ช่องนี้มีคนผู้จัดทำเป็นคนอายุ 22 ปีในโปแลนด์ที่ชื่อ สเตพาน ปูติโล จากที่ก่อนหน้านี้เป็นช่องที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักแต่ในตอนนี้กลายเป็นช่องที่มีผู้ลทะเบียนติดตามมากกว่า 2 ล้านราย ปูติโลบอกว่า NEXTA ถูกมองเป็นภัยต่อความมั่นคงของเบลารุสมากพอทำให้เขาถูกออกหมายจับทั้งในรัสเซียและใในเบลารุส ซึ่งอาจจะถูกสั่งจำคุก 15 ปีได้ จากที่เขากลัวการถูกคุกคามลามมาถึงครอบครัวทำให้เขาย้ายครอบครัวพ่อแม่พี่น้องของเขามาอยู่ที่ในโปแลนด์ด้วย

สื่อไอทียังตั้งข้อสังเกตว่ามีการใช้ VPN เพื่อช่วยในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในช่วงที่มีการปิดกั้นเพิ่มขึ้น โดยทางกูเกิลเพลย์สโตร์ในเบลารุสระบุว่ามีแอพพลิเคชัน VPN หลายแอพฯ ที่มียอดดาวน์โหลดสูงสุดในช่วงวันที่ 9 ส.ค. ที่เกิดเหตุตัดอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้ยังมีบางส่วนที่ใช้ VPN จากแหล่งอื่นอย่างเซิร์ฟชาร์คหรือชาร์โดว์ซอกส์ที่เป็นที่รู้จักในฐานะ VPN ที่ผู้คนใช้ทะลวงการปิดกั้นของจีน

ไมเคิล ฮัลล์ ประธานของบริษัท VPN ที่ชื่อ Psiphon เปิดเผยว่ามีผู้ใช้ไซฟอนจากเบลารุสเพิ่มขึ้นราว 1.7 ล้านรายในวันที่ 11 ส.ค. ซึ่งจำนวนผู้ใช้งานมีเพิ่มสูงขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค. แล้ว

ถึงแม้รัฐบาลเบลารุสจะพยายามบอกปัดว่าพวกเขาไม่เกี่ยวข้องกับการตัดอินเทอร์เน็ตในประเทศและลูกาเชงโกถึงขั้นอ้างว่าเป็นเพราะ "การโจมตีทางไซเบอร์จากต่างประเทศ" แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่าการที่อินเทอร์เน็ตล่มในเบลารุสเกิดมาจากการใช้การโจมตีด้วยวิธีการตรวจจับกิจกรรมในระบบเครือข่ายที่เรียกว่า Deep Packet Inspection (DPI) ซึ่งมักจะเอาไว้ใช้สอดแนมข้อมูลรายละเอียดเนื้อหาการส่งข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตและมักจะนำมาใช้ในการบล็อกเว็บต่างๆ ด้วย

องค์กรไทยเน็ตติเซนเคยมีบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยระบุว่า DPI ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความเป็นกลางของเครือข่าย  (network neutrality) เพราะทำให้จำกัดความเร็วการรับส่งข้อมูลจนถึงขั้นปิดกั้นข้อมูลได้ นอกจากนี้ยังมีประเด็กวิจารณ์อื่นๆ เช่น เรื่องความเป็นส่วนตัว และภาระความรับผิดของตัวกลางข้อมูลด้วย

อย่างไรก็ตาม DPI ที่ใช้ในเบลารุสมีการปิดกั้นตัวชื่อโดเมนของเว็บต่างๆ เท่านั้น ทำให้ Telegram ที่ใช้เลขไอพีแอดเดรสสามารถฝ่าการปิดกั้นได้

การปิดกั้นอินเทอร์เน็ตที่เกิดขึ้นยังส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจของเบลารุสอย่างหนักจากที่เศรษฐกิจของพวกเขาต้องพึ่งพิงภาคไอทีอย่างมาก การปิดกั้นทำให้เกิดการสูญเสียมูลค่า 56 ล้านดอลลาร์ต่อวัน (ราว 1,700 ล้านบาท) มีกลุ่มนักลงทุนมากกว่า 2,000 รายและคนทำงานภาคไอทีเขียนจดหมายเปิดผนึกในเรื่องนี้ระบุว่าปิดกั้นอินเทอร์เน็ตทให้ธุรกิจดำเนินต่อไปไม่ได้ ส่งผลให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจช้าลงและถึงขั้นทำให้เกิดการย้ายฐานทางเศรษฐกิจหมู่ "สตาร์ทอัพไม่สามารถเกิดได้ในบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวและความรุนแรง สตาร์ทอัพสามารถเติบโตได้ท่ามกลางบรรยากาศของเสรีภาพและความเปิดกว้าง"

ในแง่ของบรรษัทไอทีต่างนั้นมีแต่ทวิตเตอร์ที่ประณามการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตของเบลารุสในครั้งนี้ โดยแถลงว่าการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตนั้นเป็นอันตรายอย่างมากเพราะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและหลักการของอินเทอร์เน็ตที่เปิดกว้าง หรือ #OpenInternet ขณะที่เฟสบุคระบุว่าไม่ต้องการพูดถึงเรื่องที่ว่าทางบริษัทมีส่วนรับผิดชอบหรือไม่ในการที่จะแทรกแซงสถานการณ์การกดขี่ปราบปรามของรัฐอำนาจนิยม ส่วนกูเกิลไม่ได้ตอบกลับใดๆ มีการตั้งข้อสังเกตว่าโซเชียลเน็ตเวิร์กใหญ่ๆ อย่างเฟสบุคมักจะมีอคติเอนเอียงเข้าข้างรัฐบาลมากกว่าฝ่ายประชาชน

ส่วนองค์กรไอทีที่เล็กกว่ารวมถึงองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอย่างอิเล็กโทรนิคฟรอนเทียร์ฟาวน์เดชัน (EFF) พูดถึงเรื่องเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตในเบลารุส โดยที่จิลเลียน ซี ยอร์ก ประธานของ EFF กล่าวว่าผู้ชุมนุมอาจจะเคลื่อนไหวกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เล็กกว่าเดิมและปลอดภัยกว่าเดิมในการใช้จัดตั้ง แต่ในเรื่องการเผยแพร่พวกเขาอาจจะยังเน้นใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียใหญ่ๆ อยู่ ทำให้ยอร์กเสนอแนะว่าผู้เคลื่อนไหวควรจะยังคงความสัมพันธ์กับเครือข่ายเดิมในโซเชียลฯ เอาไว้อยู่

ปัญหาอินเทอร์เน็ตถูกปิดกั้นในเบลารุสยังคงดำเนินมาจนถึงวันที่ 23 ส.ค. ที่สื่ออิสระหลายแห่งไม่สามารถเข้าถึงได้ แต่นั่นก็ไม่ทำให้ผู้ประท้วงหยุดการชุมนุม ผู้ประท้วงหลายแสนคนยังคงชุมนุมเรียกร้องให้ลูกาเชงโกลาออกจากตำแหน่งต่อไป

เรียบเรียงจาก

Belarus Turned Off the Internet. Its Citizens Hot-Wired It, Gizmodo [2], 25-08-2020

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

ผลวิจัยระบุ ISP ไทย ส่องข้อมูลเน็ตสูงอันดับต้นของโลก, Thai Netizen [3], 23-11-2013

ข่าว [4]
ต่างประเทศ [5]
ไอซีที [6]
เบลารุส [7]
เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น [8]
เสรีภาพสื่อ [9]
เสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร [10]
อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชงโก [11]
เผด็จการ [12]
ความเป็นกลางทางเน็ต [13]
การปิดกั้นอินเทอร์เน็ต [14]
โซเชียลมีเดีย [15]
VPN [16]
Telegram [17]
ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

Source URL: https://prachatai.com/journal/2020/08/89303

Links
[1] https://prachatai.com/journal/2020/08/89240
[2] https://gizmodo.com/belarus-turned-off-the-internet-its-citizens-hot-wired-1844853575
[3] https://thainetizen.org/2012/11/mlab-thai-isp-high-dpi/
[4] https://prachatai.com/category/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7
[5] https://prachatai.com/category/%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8
[6] https://prachatai.com/category/%E0%B9%84%E0%B8%AD%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%97%E0%B8%B5
[7] https://prachatai.com/category/%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%AA
[8] https://prachatai.com/category/%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%81%E0%B8%AA%E0%B8%94%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B9%87%E0%B8%99
[9] https://prachatai.com/category/%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD
[10] https://prachatai.com/category/%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B8%A5%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3
[11] https://prachatai.com/category/%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%81%E0%B8%8B%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C-%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%81
[12] https://prachatai.com/category/%E0%B9%80%E0%B8%9C%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3
[13] https://prachatai.com/category/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B9%87%E0%B8%95
[14] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B9%87%E0%B8%95
[15] https://prachatai.com/category/%E0%B9%82%E0%B8%8B%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A5%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%A2
[16] https://prachatai.com/category/vpn
[17] https://prachatai.com/category/telegram