Published on ประชาไท Prachatai.com (https://prachatai.com)

Home > กต.ตอบแอมเนสตี้ฯ ยัน รบ.ไม่ปิดกั้นชุมนุมหรือวิพากษ์การทำงาน - ทูตไทยแจง ม.112 มีไว้ปกป้องสถาบันกษัตริย์ > กต.ตอบแอมเนสตี้ฯ ยัน รบ.ไม่ปิดกั้นชุมนุมหรือวิพากษ์การทำงาน - ทูตไทยแจง ม.112 มีไว้ปกป้องสถาบันกษัตริย์

กต.ตอบแอมเนสตี้ฯ ยัน รบ.ไม่ปิดกั้นชุมนุมหรือวิพากษ์การทำงาน - ทูตไทยแจง ม.112 มีไว้ปกป้องสถาบันกษัตริย์

Submitted by user007 on Mon, 2020-09-07 23:01

โฆษกประจำสำนักนายกฯ เผย กต.ตอบแอมเนสตี้ฯ ยัน รบ.ไม่ปิดกั้นชุมนุมหรือวิพากษ์การทำงาน ขณะที่บีบีซีไทยรายงาน ทูตไทยในอังกฤษชี้แจง ไฟแนนเชียลไทมส์ ม.112 มีไว้ปกป้องสถาบันกษัตริย์ เหมือนที่ประชาชนมีกฎหมายหมิ่นประมาท 

7 ก.ย.2563 จากกรณีที่สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วน เชิญชวนสมาชิก นักกิจกรรม และผู้สนับสนุนกว่า 8 ล้านคนทั่วโลกร่วมกันส่งจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรียกร้องทางการไทยยกเลิกข้อหาต่อผู้ชุมนุมคดีเยาวชนปลดแอกทั้ง 31 คน ยุติการขัดขวางการเข้าร่วมชุมนุมของประชาชนหรือปิดปากเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและการแสดงความเห็นในประเด็นทางสังคม รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายที่มีเนื้อหากำกวมหรือคลุมเครือ เพื่อให้กฎหมายเหล่านี้มีเนื้อหาสอดคล้องกับพันธกิจของประเทศที่จะเคารพ คุ้มครอง และเติมเต็มสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งการรณรงค์นี้จะมีไปถึงวันที่ 21 ต.ค.นี้นั้น

  • แอมเนสตี้ฯ ออกปฏิบัติการด่วน ชวนส่งจดหมายถึงประยุทธ์ให้ยกเลิกคดีเยาวชนปลดแอก [1]
  • ไม่ใช้ ม.112 แต่ใช้ พ.ร.บ.คอมฯ และ 'กระบวนการนอกกฎหมาย' แทน [2]

วันนี้ (7 ก.ย.63) สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ [3] รายงานว่า อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจง กรณีดังกล่าวว่า รัฐบาลมิได้ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกรวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและอนุญาตให้มีการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษาและประชาชนในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา โดยคำนึงถึงความสำคัญของสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของสังคมประชาธิปไตย แต่ต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายและต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นด้วย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของรัฐ ซึ่งสอดคล้องกับบทบัญญัติของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่ไทยเป็นภาคี

คำชี้แจงยังระบุอีกว่า อีกทั้งรัฐบาลสนับสนุนการใช้เสรีภาพในการแสดงออกที่สร้างสรรค์ ไม่ก้าวร้าวหรือมีลักษณะดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่น หรือละเมิดสิทธิของผู้อื่น ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดูแลการชุมนุมให้เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย โดยใช้ความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ สำหรับกรณีการดำเนินคดีผู้ชุมนุมบางรายนั้น เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายและพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาที่ละเมิดกฎหมาย โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใดและผู้ถูกกล่าวหาสามารถต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม

ทูตไทยแจง ม.112 มีไว้ปกป้องสถาบันกษัตริย์ เหมือนที่ ปชช.มี กม.หมิ่นประมาท

วันเดียวกัน (7 ก.ย.63) บีบีซีไทย [4] รายงานด้วยว่า พิษณุ สุวรรณะชฎ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักรเขียนจดหมายโต้บทความใน นสพ.ไฟแนนเชียลไทมส์ว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีไว้เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์คล้ายกับที่ประชาชนทั่วไปมีกฎหมายหมิ่นประมาทคุ้มครอง

หลังจากจอห์น รีด ผู้สื่อข่าว นสพ.ไฟแนนเชียลไทมส์ ประจำภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ เขียนบทความแสดงความคิดเห็นชื่อ "Tongues loosen as protesters break taboos around the Thai king" เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งพูดถึงการที่คนไทยกล้าแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้นในรอบ 2-3 เดือนที่ผ่านมา

(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ที่ บีบีซีไทย https://www.bbc.com/thai/thailand-54058919 [4] ) 

ไม่ใช้ 112 แต่ใช้ พ.ร.บ.คอมฯ และ 'กระบวนการนอก กม.' คุมตัว-ขู่ล้วงข้อมูล-ทำ MOU แทน

ประชาไทเคยรายงานไว้เมื่อปลายปี 2562 ว่า การดำเนินคดีด้วยกฎหมายมาตรา 112 ในช่วงที่ผ่านมาจากการแสดงความคิดเห็นแม้จะลดลง หรืออาจจะเรียกว่าไม่มีคดีใหม่เลย ทางหนึ่งอาจเป็นการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” แต่อีกกระบวนการที่เจ้าหน้าที่ใช้จัดการกับผู้ที่แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างหรือความเห็นที่ ‘ถูก’ เจ้าหน้าที่มองว่ากระทบต่อความมั่นคงหรือหมิ่นประมาทกษัตริย์ก็มีกระบวนการคุมตัว บังคับให้ข้อมูลและทำข้อตกลงหรือ MOU ที่ ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ติดตามประเด็นการละเมิดสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพการแสดงออก มองว่า ไม่ถือว่าอยู่ในกระบวนการตามกฎหมาย เพราะหากตามกฎหมายนั้นไม่ต้องทำความยินยอม เมื่อมีหมายจับหรือหมายเรียกก็ต้องปฏิบัติตามกระบวนการทางกฎหมาย

ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน อธิบายถึงกระบวนการนี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือให้เซ็นชื่อยินยอมให้ข้อมูลที่ไม่ได้แจ้งผู้ถูกซักถามตั้งแต่แรก ทำให้คนเหล่านั้นไม่ทราบว่าสามารถปฏิเสธได้ สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นเหมือนการมัดมือชกภายหลัง ซึ่งกระบวนการตามกฎหมายนั้นต้องมีหมายเรียก หมายจับ หมายค้น หรือต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหา ที่ไม่สามารถเอาตัวหรือเรียกว่าเชิญตัวไปคุยก่อน

รวมทั้งการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 แทน เช่น กรณีผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อ 'นิรนาม_' (@ssj_2475) ซึ่งมีผู้ติดตามในทวิตเตอร์จำนวน 140,000 การติดตาม ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เมื่อช่วงกลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เหตุทวิตภาพและข้อความที่เกี่ยวกับรัชกาลที่ 10 จนเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่สภ.เมืองพัทยา พ.ต.ท.สายใจ คำจุลลา พนักงานสอบสวน ได้เรียกตัวผู้ใช้ทวิตเตอร์ “นิรนาม_” มาสอบปากคำเพิ่มเติม ก่อนมีการแจ้งพฤติการณ์ของข้อกล่าวหาเพิ่มเติมจากข้อความในทวิตเตอร์อีก 7 ข้อความ โดยที่ “นิรนาม” ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา 

ช่วงแรก 'นิรนาม_' ยังถูกคุมขังในเรือนจำเป็นเวลา 5 วัน 4 คืน และได้รับการประกันตัวหลังจากการยื่นประกันครั้งที่สามในศาลชั้นอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ด้วยหลักทรัพย์ 2 แสนบาท

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานไว้ด้วยว่าในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้ระบุข้อกล่าวหาของคดีนี้ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ  พ.ศ.2560 มาตรา 14 ว่า 

“จากพฤติการณ์และการกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นการนำข้อความเท็จประกอบภาพรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ที่ผู้ต้องหาโพสต์หรือเผยแพร่ส่งต่อข้อความดังกล่าว เป็นการตัดต่อภาพประกอบอันเป็นเจตนาบิดเบือนที่มีลักษณะการเชื่อมโยงสถาบัน โดยเจตนากระทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นสถาบันหลักของประเทศที่ประชาชนสักการะ ด้วยการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ มีเจตนาทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทย  จึงเป็นความผิดฐาน “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน, เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่ว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)”

ทั้งนี้ คดีของนิรนามเป็นที่จับตามองกันมากจากคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้โซเชียลมีเดีย อาทิ เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ซึ่งในวันที่ 20 ก.พ. 2563 #Saveนิรนาม ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับหนึ่ง และในวันที่ 24 ก.พ. 2563 #Freeนิรนาม ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับหนึ่ง และคืนก่อนวันรายงานตัว (3 มิ.ย. 63) ชาวทวิตเตอร์เริ่มใช้ #นิรนามต้องได้กลับมา  

ข่าว [5]
การเมือง [6]
สิทธิมนุษยชน [7]
ไฟแนนเชียลไทมส์ [8]
ม.112 [9]
กษัตริย์ [10]
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล [11]
กระทรวงการต่างประเทศ [12]
ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

Source URL: https://prachatai.com/journal/2020/09/89413

Links
[1] https://prachatai.com/journal/2020/09/89364
[2] https://prachatai.com/journal/2020/06/88159
[3] https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG200907205822572
[4] https://www.bbc.com/thai/thailand-54058919
[5] https://prachatai.com/category/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7
[6] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87
[7] https://prachatai.com/category/%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99
[8] https://prachatai.com/category/%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A5%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B9%8C
[9] https://prachatai.com/category/%E0%B8%A1112
[10] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B9%8C
[11] https://prachatai.com/category/%E0%B9%81%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%B5%E0%B9%89-%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%A5
[12] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8