Published on ประชาไท Prachatai.com (https://prachatai.com)

Home > ประชาคมศิลปากรเพื่อประชาธิปไตยถามหาหมุดคณะราษฎร-อนุสาวรีย์ปราบกบฏ > ประชาคมศิลปากรเพื่อประชาธิปไตยถามหาหมุดคณะราษฎร-อนุสาวรีย์ปราบกบฏ

ประชาคมศิลปากรเพื่อประชาธิปไตยถามหาหมุดคณะราษฎร-อนุสาวรีย์ปราบกบฏ

Submitted by ordinary on Mon, 2020-09-28 15:43

28 ก.ย. 2563 กลุ่มประชาคมศิลปากรเพื่อประชาธิปไตย จัดกิจกรรม 'ฉันหวง ฉันมาทวงของฉันคืน' เดินทางจากมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ไปวางพวงหรีดที่กรมศิลปากร เพื่อทวงถามถึงหมุดคณะราษฎร และอนุสาวรีย์ปราบกบฏ พร้อมยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมศิลปากร ขอให้ติดตามแสวงหาโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สาบสูญ

วอยซ์ออนไลน์ [1]รายงานว่า กันตา รัตนวงษ์ กลุ่มประชาคมศิลปากรเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า ในฐานะนักศึกษาที่มองเห็นถึงความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมและมรดกของชาติ รู้สึกละอายใจกับบทบาทของกรมศิลปากรในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงเรื่องโบราณวัตถุที่หายไป ทำให้ต้องออกมาทำกิจกรรมเพื่อแสดงเจตนารมณ์และแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และอยากถามด้วยว่า ทำไมถึงกล้าที่จะบอกว่าสนามหลวงเป็นโบราณสถาน ทั้งที่ไม่ได้อยู่ใน พ.ร.บ.โบราณสถาน และตัดบทว่า หมุดคณะราษฎรไม่ใช่โบราณวัตถุ ซึ่งต้องการคำชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้องด้วย

 

ผู้อำนวยการกองโบราณคดี เป็นตัวแทนรับจดหมายจากกลุ่มประชาคมศิลปากรเพื่อประชาธิปไตย
ภาพจาก iLaw

สหรัฐ จันทสุวรรณ์ กลุ่มประชาคมศิลปากรเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงหมุดคณะราษฎร และอนุสาวรีย์ปราบกบฏ หรืออนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ บริเวณวงเวียนหลักสี่ที่หายไป ซึ่งกรมศิลปากรไม่ได้ตามหาและดำเนินการกับผู้กระทำผิด แตกต่างจากการดำเนินการกับกรณี หมุดคณะราษฎร 2563 ของกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่ปักบนท้องสนามหลวง จึงต้องการเรียกร้องมาตรฐานการทำงานของกรมศิลปากร พร้อมตั้งคำถามว่า มีคนพยายามทำให้หายไปหรือไม่ด้วย ซึ่งมรดกคณะราษฎร เป็นสมบัติชาติที่หลายๆ คนทราบว่ามีอยู่และตั้งอยู่ที่ไหน แต่กรมศิลปากรกลับทำเป็นทองไม่รู้ร้อน

  • [สาระ+ภาพ] รวมลิสต์มรดกคณะราษฏรที่หายไป [2]
  • ภารกิจตามหาอนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช [3]
  • หมุดคณะราษฎรที่ 2 หาย ตร.ยึดเป็นของกลาง โซเชียลฯ ผุดฝังหมดตามถนนที่เป็นหลุมไม่ถึงวันเรียบกริบ [4]

ด้าน ไบรท์ทีวี [5]รายงานว่า สถาพร เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการกองโบราณคดี เป็นตัวแทนมารับจดหมายจากกลุ่มประชาคมศิลปากรเพื่อประชาธิปไตย แต่ไม่สามารถรับพวงหรีดได้ เนื่องจากเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ไม่เกี่ยวข้องกับเอกสารทางราชการ แกนนำจึงวางพวงหรีดที่หน้าประตูศิลปากรแทน

วันที่ 28 เดือน กันยายน พ.ศ. 2563

เรื่อง ขอให้ดำเนินการติดตามแสวงหาโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สาบสูญ

เรียน อธิบดีกรมศิลปากร

สืบเนื่องจากวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมาทางกลุ่มประชาคมฯ ได้รับทราบว่ากรมศิลปากรได้มีการแจ้ง ความดำเนินคดีกับแกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจากเหตุการณ์ฝังหมุดคณะราษฎร 2563 ในเข้า วันที่ 20 กันยายน 2563 ณ บริเวณท้องสนามหลวง แต่ในปัจจุบันได้รับสมญานามในสังคมว่าคือสนามราษฎรไปแล้วนั้น กลุ่มประชาคมศิลปากรเพื่อประชาธิปไตยได้เห็นถึงศักยภาพและความสามารถในการทำงานของกรมศิลปากรที่ได้มีความวิริยะ อุตสาหะที่จะทะนุบำรุงโบราณสถานของชาติให้ยังคงดำรงอยู่

แต่ถึงกระนั้นก็ดีทางกรมศิลปากรคงอาจลืมไปเสียแล้วว่ายังมีการสูญหายของโบราณวัตถุและโบราณ สถานที่สำคัญของประเทศถึง 2 อย่างนั้นก็คือหนึ่ง หมุดก่อเกิดรัฐธรรมนูญหรือหมุดคณะราษฎรที่ได้สร้างขึ้น ในสมัยของพระยาพหลพลพยุหเสนาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นเอาไว้ ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า โดยมีข้อความว่า ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อ ความเจริญของชาติ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์การอ่านประกาศคณะราษฎรในวันอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และสองคืออนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญหรืออนุสาวรีย์ปราบกบฏ ณ สี่แยกบางเขน เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้ได้สาบสูญไปอย่างลึกลับจนถึง ณ เวลานี้

ด้วยเหตุนี้เองกลุ่มประชาคมศิลปากรเพื่อประชาธิปไตยจึงขอให้กรมศิลปากรติดตามเกี่ยวกับการสูญหายของโบราณวัตถุและโบราณสถานดังกล่าวให้กลับมาโดยเร็วที่สุด เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นทรัพย์สมบัติสาธารณะของบ้านเมืองเป็นร่องรอยแห่งความทรงจำร่วมของประชาชนในประวัติศาสตร์ชาติไทย หากภายใน 14 วัน ยังคงไร้ความคืบหน้าในกรณีการสูญหายดังกล่าวทางกลุ่มประชาคมศิลปากรเพื่อประชาธิปไตยจะนำเรื่องดังกล่าวยื่นเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรให้ดำเนินการต่อไป

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการด้วย จักขอบคุณยิ่ง

ขอแสดงความนับถือ
กลุ่มประชาคมศิลปากรเพื่อประชาธิปไตย

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการกองโบราณคดี เคยเป็นตัวแทนกรมศิลปากรแจ้งความเอาผิดกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งเป็นผู้จัดการชุมนุมเมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 ตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เนื่องจากมีการบุกรุกสนามหลวง และเจาะลานคอนกรีตในสนามหลวงพร้อมนำหมุดคณะราษฎร 2563 ไปฝังไว้

ประชาไทเคยสอบถามกรมศิลปากรเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ปราบกบฏ และได้รับหนังสือตอบกลับมาเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2563 ว่า อธิบดีกรมศิลปากรเคยมีคำสั่งอนุญาตให้เคลื่อนย้ายหรือซ่อมแซมอนุสาวรีย์ปราบกบฏ ล่าสุดถึงปี 2556 เท่านั้น และกรมศิลปากรไม่เคยเข้าไปตรวจสอบการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ขณะที่สถาพร ผู้อำนวยการกองโบราณคดี ให้สัมภาษณ์ต่อมติชนออนไลน์ว่า ยังไม่มีความคืบหน้าว่าอนุสาวรีย์ปราบกบฏหายไปไหน แต่ทราบว่ามีหนังสือให้สำนักงานเขตต่างๆ มาดูแล เพราะเคยมีการทำเรื่องขออนุญาตเคลื่อนย้าย

ข่าว [6]
การเมือง [7]
วัฒนธรรม [8]
กลุ่มประชาคมศิลปากรเพื่อประชาธิปไตย [9]
กรมศิลปากร [10]
สถาพร เที่ยงธรรม [11]
หมุดคณะราษฎร [12]
อนุสาวรีย์ปราบกบฏ [13]
อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ [14]
ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

Source URL: https://prachatai.com/journal/2020/09/89710

Links
[1] https://voicetv.co.th/read/0NzOuANal
[2] https://prachatai.com/journal/2020/03/86941
[3] https://prachatai.com/journal/2020/06/88327
[4] https://prachatai.com/journal/2020/09/89623
[5] https://www.brighttv.co.th/news/politics/silpakorn-people-party-pin
[6] https://prachatai.com/category/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7
[7] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87
[8] https://prachatai.com/category/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1
[9] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%9B%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B8%A2
[10] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3
[11] https://prachatai.com/category/%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A3-%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1
[12] https://prachatai.com/category/%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%84%E0%B8%93%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%8E%E0%B8%A3
[13] https://prachatai.com/category/%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%9A%E0%B8%8F
[14] https://prachatai.com/category/%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B9%8C%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B9%E0%B8%8D