'เอกชัย' ผู้ต้องหาคดี ม.110 แจ้งความกลับตำรวจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกรณีขบวนเสด็จฯ ผ่านที่ชุมนุม 14 ตุลา
'เอกชัย' ผู้ต้องหาคดี ม.110 ประทุษร้ายต่อเสรีภาพราชินีฯ แจ้งความกลับตำรวจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกรณีขบวนเสด็จฯ ผ่านที่ชุมนุม 14 ตุลา ด้าน รอง ผบช.น.ยันตำรวจปฏิบัติถูกต้อง กำหนดเส้นทางเสด็จไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว ระบุผู้ต้องหาคดีนี้อาจจะมีมากกว่า 3 คน
5 พ.ย.2563 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า ที่สถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าว เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมทางการเมือง ผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 110 ประทุษร้ายต่อเสรีภาพราชินีฯ จากเหตุขบวนเสด็จผ่านผู้ประท้วงทางการเมืองหน้าทำเนียบเมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา เข้าแจ้งความดำเนินคดี พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ความผิดตามมาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
วอยซ์ออนไลน์ [4] รายงาน คำอธิบายของเอกชัย เพิ่มเติมถึงเหตุการณ์ขบวนเสด็จดังกล่าวว่า ขณะที่ผู้ชุมนุมราษฎรกลุ่มใหญ่อยู่บริเวณนางเลิ้ง ได้มีมวลชนบางส่วนรวมถึงตนอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งไม่มีใครทราบว่าจะมีขบวนเสด็จผ่านตรงนั้น เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ประกาศแจ้งเตือนล่วงหน้า แม้ว่า ผบช.น.ดูแลความปลอดภัยอยู่บริเวณดังกล่าว
ดังนั้นตนเชื่อว่าเป็นการจงใจเจตนาให้ขบวนเสด็จผ่านผู้ชุมนุม เพื่อนำไปสู่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ที่อ้างว่ากระทบต่อขบวนเสด็จ ในฐานะ ผบ.ตร.และผบช.น. ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบได้ วันนี้จึงเข้ามาแจ้งความตามความผิด ม.157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
เช้าวันนี้ (5 พ.ย.63) เอกชัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก [5]ยืนยันว่า วันที่ 14 ต.ค. 2563 ช่วงค่ำ หลังเหตุการณ์ขบวนเสด็จ ตนเดินอยู่ในการชุมนุมที่ด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล ผู้ร่วมชุมนุมคนหนึ่งเข้ามาทัก พร้อมเล่าถึงการพบกับตนในปี 56 ซึ่งตนเดินทางไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพเพื่อเยี่ยมเยียนเพื่อนร่วมอุดมการณ์ เขารู้ว่าตนเป็นผู้ต้องหา ม.112 ที่ได้รับการประกันตัว ในครั้งนั้นเขาถามถึงเหตุผลที่ตนไม่หนีออกนอกประเทศ
"ผมยืนยันที่จะต่อสู้ เพราะผมไม่ได้ทำอะไรผิด เขาจึงประทับใจผมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ไม่กี่วันต่อมาผมต้องเผชิญข้อหาที่รุนแรงยิ่งกว่า ม.112 แต่ผมยังคงยืนยันไม่หนี ไม่รู้ตอนนี้น้องคนนั้นจะคิดอย่างไร" เอกชัย โพสต์
รอง ผบช.น.ยันตำรวจปฏิบัติถูกต้อง กำหนดเส้นทางเสด็จไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว
บีบีซีไทย [6] รายงาน คำอธิบายของฝั่งตำรวจเพิ่มเติม โดย พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยวันนี้ (5 พ.ย.) ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลาดพร้าวได้ให้เอกชัยมาแจ้งความที่ สน.ดุสิตแทนเนื่องจากที่เกิดเหตุเป็นท้องที่รับผิดชอบของ สน.ดุสิต ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งความไว้แล้ว หลังจากนี้จะสอบสวนข้อเท็จจริง หากมีมูลก็จะรับเป็นคดีต่อไป แต่หากไม่มีมูลก็ยุติการสอบสวน
สำหรับข้อกล่าวหาของเอกชัยนั้น รอง ผบช.น. ยืนยันว่าตำรวจปฏิบัติตามกฎหมายทุกประการ
"ข้อเท็จจริงประการแรกคือได้มีการกำหนดเส้นทางเสด็จไว้ล่วงหน้าก่อนวันที่ 14 ต.ค. นานแล้ว และประการที่สอง ก่อนที่ขบวนเสด็จฯ จะผ่าน ได้มีเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเส้นทางเสด็จทำการประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนรับทราบตามระเบียบปฏิบัติ เป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ที่ดูแลขบวนเสด็จปฏิบัติเป็นประจำจนอยู่ในสายเลือด เราไม่พลาดอยู่แล้ว"
พล.ต.ต. ปิยะกล่าวอีกด้วยว่าขณะนี้ตำรวจยังอยู่ระหว่างตรวจสอบพยานหลักฐานเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงเย็นวันที่ 14 ต.ค. โดยเฉพาะภาพและคลิปทีมีการเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย หากพบว่ามีผู้กระทำความผิดตามมาตรา 110 ก็จะทำการแจ้งข้อหาเพิ่ม และผู้ต้องหาคดีนี้อาจจะมีมากกว่า 3 คน
ทั้งนี้กรณีดังกล่าว เอกชัยและผู้ชุมนุมราษฎรอีก 2 ราย คือ บุญเกื้อหนุน เป้าทอง อายุ 21 ปี นักศึกษาเอกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหิดล และสุรนาถ แป้นประเสริฐ อายุ 35 ปี ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง ถูกดำเนินคดี ม.110 ฐานประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินี จากเหตุการณ์ขบวนเสด็จ เมื่อวันที่ 14 ต.ค. และถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพเกือบ 20 วัน ก่อนที่ศาลอาญายกคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนและได้รับการปล่อยตัวออกมาเมื่อเที่ยงคืนวันที่ 2 พ.ย.ต่อวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา
ภาพถ่ายชุดแสดงผู้ประท้วงโยนขว้างสิ่งของใส่ขบวนเสด็จฯ?
AFP วิเคราะห์ภาพถ่ายอย่างละเอียดพบว่าไม่มีการโยนสิ่งของใส่ขบวนเสด็จฯ ช่างภาพ AFP และนักข่าวในพื้นที่ไม่พบการโยนสิ่งของใส่ขบวนเสด็จฯ เช่นกันhttps://t.co/lO4ydP34Co [7]
— AFP Fact-Check ประเทศไทย (@AfpFactCheckTH) October 16, 2020 [8]
เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา AFP Fact-Check ประเทศไทย [9] @AfpFactCheckTH เปิดภาพและข้อมูลเพื่อแย้ง กรณีที่มีการนำภาพถ่าย 3 รูปนี้ได้ถูกแชร์เป็นพันๆ ครั้งในหลายโพสต์ทางเฟซบุ๊ก พร้อมคำกล่าวอ้างว่ามีการเขวี้ยงรองเท้าและขวดน้ำใส่รถพระที่นั่งของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา ว่าคำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด จากการวิเคราะห์อย่างละเอียดพบว่าไม่มีการโยนสิ่งของใส่ขบวนเสด็จฯ ในภาพถ่าย วิดีโอที่สอดคล้องกันเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวก็ไม่พบการโยนสิ่งของใส่ขบวนเสด็จฯ ช่างภาพ AFP และนักข่าวในพื้นที่ยืนยันว่าไม่มีการโยนสิ่งของใส่ขบวนเสด็จฯ ในวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา