Published on ประชาไท Prachatai.com (https://prachatai.com)

Home > กรณีจะนะ กับชุมชน สิ่งแวดล้อม และประชาธิปไตย > กรณีจะนะ กับชุมชน สิ่งแวดล้อม และประชาธิปไตย

กรณีจะนะ กับชุมชน สิ่งแวดล้อม และประชาธิปไตย

Submitted by sarayut on Fri, 2020-12-18 12:23

เอกสิทธิ์ หนุนภักดี

 

 รัฐทหารไทยเสนอเงินชดเชยรายละ ึึ7.5 หมื่นบาท การจ้างงานที่รัฐบาลคาดว่าจะมีประมาณ 1 แสนอัตรา (เทคโนแครตประเมินว่าไม่น่าจะถึง) การพัฒนาโรงพยาบาลและการสนับสนุนเงินทุนแก่มัสยิดและวัด (BBC news, 11 ก.ค. 25ุุ63) แลกกับการใช้พื้นที่ 1ุุ6,ึึ753 ไร่กินอาณาเขต 3 ตำบลของอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาให้เอกชนใช้ประโยชน์ดำเนินธุรกิจและสร้างนิคมอุตสาหกรรมด้วยเหตุผลว่า “นิคมอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นสามารถใช้ประโยชน์จากการนำเข้า-ส่งออกสินค้าได้อย่างสะดวก” (isaranews, 15 มิ.ย. 25ุุ63) ในนามของการพัฒนาเศรษฐกิจ (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ ึึ7 พฤษภาคม 25ุุ62)

 จากข้อมูลข้างต้น มีอย่างน้อย 3 ประเด็นที่ควรพิจารณาคือ 1) ลำดับความสำคัญของ งาน-เงิน-ทรัพยากรธรรมชาติ 2) ความหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจ และ 3) การมีส่วนร่วมของประชาชน
 
ประการแรก การสร้างงานสร้างรายได้มักเป็นข้ออ้างและข้อเสนอหลักของนายทุนและรัฐแลกกับการฉวยใช้ทรัพยากรของประเทศหรือชุมชน นั่นคือนายทุนและรัฐเสนองานและเงินแลกกับทรัพยากรธรรมชาติราวกับว่านี่คือข้อเสนอที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงคือ หนึ่ง ข้อเสนอเรื่องการจ้างงาน โดยเนื้อแท้แล้วไม่ใช่ข้อเสนอที่ให้ประโยชน์แก่คนงานแต่เป็นประโยชน์ของนายทุนเพราะไม่มีนายทุนคนใดจ้างคนงานที่ไม่ทำกำไรให้กับตนเอง และหากต้องแบกรับภาระคนงานมากเกินความจำเป็น นายทุนจะเรียกร้องให้รัฐเข้ามารับผิดชอบซึ่งเป็นการนำต้นทุนของคนทั้งประเทศไปช่วยเหลือนายทุนนั่นเอง สอง เงินหรือสินค้าเงินเป็นสิ่งสมมติที่มนุษย์สร้างขึ้น สามารถผลิตได้อย่างไม่จำกัดและโดยแก่นสารแล้วไม่มีประโยชน์ใช้สอยใด ๆ นอกจากเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ในขณะที่ทรัพยากรธรรมชาตินั้นเป็นของจริง มีประโยชน์ใช้สอยจริง มีอยู่อย่างจำกัดและมนุษย์ไม่สามารถผลิตขึ้นมาได้ ดังนั้นการนำเงินไปแลกเปลี่ยนกับทรัพยากรธรรมชาติเป็นการแลกเปลี่ยนที่ไม่เท่าเทียมอย่างยิ่ง นายทุนใช้เงินอันเป็นสิ่งสมมติ ได้มาจากการกู้ยืม เมื่อหมดแล้วก็หาใหม่ หากผิดพลาดเสียหายก็ชดใช้เป็นตัวเงินอย่างจำกัดแต่ชุมชนกำลังจะแลกเปลี่ยนสิ่งสมมตินี้กับสิ่งแท้จริงอันเป็นแก่นสารของการมีชีวิตอยู่ของพวกเขาเอง

 ประการที่สอง รัฐทหารไทยเรียกโครงการทำนองนี้ว่า “การพัฒนาเศรษฐกิจ” ซึ่งวีรยุทธ์ กาญจน์ชูฉัตร อาจารย์ประจำ the National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) อันมีชื่อแห่งประเทศญี่ปุ่นเขียนไว้ในหนังสือ “เศรษฐกิจสามสี: เศรษฐกิจแห่งอนาคต” (25ุุ63) ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการพัฒนาเศรษฐกิจนั้นต่างกันมาก กล่าวคือการเติบโตทางเศรษฐกิจสามารถทำได้อย่างง่ายโดยการเปิดเสรีทางการค้าหรือการเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก (แบบเดียวกับที่โครงการนี้กำลังพยายามทำ) ในขณะที่การพัฒนาเศรษฐกิจต้องมีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การจัดการทรัพยากรมนุษย์ การจัดองค์กร การปรับปรุงเทคโนโลยี (หน้า 133) ซึ่งมักจะเกี่ยวพันกับการปฏิรูปใหญ่ในเรื่องทุนผูกขาด ที่ดิน การศึกษา ระบบการเมือง ซึ่งโครงการนี้ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางดังกล่าว ปัญหาของการเข้าใจผิด (หรือจงใจไม่เข้าใจ?) คือการลงทุนถลุงทรัพยากรธรรมชาติอันมีจำกัดของประเทศจะเท่ากับการแปลงสมบัติส่วนรวมไปเป็นสมบัติส่วนตัวของนายทุนขุนศึกจำนวนหนึ่งมากกว่าการนำมาซึ่งความก้าวหน้าของประเทศในระยะยาวและทั่วถึง ปรากฏการณ์นี้ประเทศไทยประสบมาแล้วจากแนวทางการพัฒนาประเทศแบบสฤษดิ์ ธนะรัชต์ส่งผลให้ประเทศไทยตกอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า “กับดักรายได้ปานกลาง” อยู่ในปัจจุบัน

 ประการที่สาม สองทศวรรษการเมืองไทยที่ผ่านมาเผยให้เห็นปัญหาหลายประการของระบอบประชาธิปไตยส่งผลให้นักเคลื่อนไหวทางสังคมจำนวนหนึ่งเห็นว่าประชาธิปไตยไร้สมรรถภาพในการแก้ไขปัญหาสังคมนานาประการหรือซ้ำร้ายกว่านั้นคือเป็นตัวก่อปัญหาเสียเอง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประชาธิปไตยจะมีปัญหาในตัวมันเองเช่นเดียวกับหลักการหรือแนวคิดที่ดีงามทั่วไปแต่มันก็เป็นระบอบที่มีระบบปรับปรุงแก้ไขตัวเองได้โดยสันติผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชน ในทางกลับกันความขัดแย้งและปัญหาของชุมชนชาวจะนะเผยให้เห็นธรรมชาติรัฐเผด็จการที่พ้นไปจากการควบคุมกำกับโดยประชาชน ชาวจะนะที่เคลื่อนไหวไม่สามารถใช้สิทธิเสรีภาพอันชอบธรรมในฐานะพลเมืองแสวงหาข้อเท็จจริงและตั้งคำถามอย่างเต็มที่แต่ถูกปิดกั้นและถูกกระทำอย่างอยุติธรรม โดยที่ไม่มีระบบปรับปรุงแก้ไขรองรับนอกจากล้มระบอบเผด็จการลง 

 ปัญหาของชุมชน สิ่งแวดล้อมและประชาธิปไตยจึงเป็นปัญหาร่วมกัน การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในฐานะคนเท่ากันจึงเป็นการเคลื่อนไหวเดียวกันกับการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องชุมชนและวิถีชีวิตของผู้คนที่รัฐไม่นับเป็นประชาชน

 

 

บทความ [1]
การเมือง [2]
สิทธิมนุษยชน [3]
คุณภาพชีวิต [4]
สิ่งแวดล้อม [5]
นิคมอุตสาหกรรมจะนะ [6]
จะนะ [7]
เอกสิทธิ์ หนุนภักดี [8]
ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

Source URL: https://prachatai.com/journal/2020/12/90866

Links
[1] https://prachatai.com/category/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1
[2] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87
[3] https://prachatai.com/category/%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99
[4] https://prachatai.com/category/%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95
[5] https://prachatai.com/category/%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1
[6] https://prachatai.com/category/%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%B0
[7] https://prachatai.com/category/%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%B0
[8] https://prachatai.com/category/%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B9%8C-%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B8%B5