Published on ประชาไท Prachatai.com (https://prachatai.com)

Home > ผู้ตรวจการฯ เสนอแก้ระเบียบผู้สูงอายุรับบำนาญพิเศษไม่เสียสิทธิเบี้ยยังชีพ วิษญุย้ำไม่มีใครต้องติดคุก > ผู้ตรวจการฯ เสนอแก้ระเบียบผู้สูงอายุรับบำนาญพิเศษไม่เสียสิทธิเบี้ยยังชีพ วิษญุย้ำไม่มีใครต้องติดคุก

ผู้ตรวจการฯ เสนอแก้ระเบียบผู้สูงอายุรับบำนาญพิเศษไม่เสียสิทธิเบี้ยยังชีพ วิษญุย้ำไม่มีใครต้องติดคุก

Submitted by ordinary on Fri, 2021-02-05 22:06

ภาพจากแฟ้ม

ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้ เงินบำนาญพิเศษเป็นคนละก้อนกับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ มีสิทธิได้รับทั้งสองทาง เตรียมเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขระเบียบ ส่วนผู้ที่นำเงินมาคืนถือว่ามีเจตนาว่าจะไม่รับเงินก้อนนี้ ด้านวิษณุ เครืองาม ชี้ไม่เอาผิดอาญา ไม่มีใครต้องติดคุก แต่ทางแพ่งถ้าเงินยังเหลือจะต้องคืน หากไม่เหลือไม่ต้องคืน ถ้าเงินเหลือแต่ไม่ใช่เงินที่ได้รับจากเบี้ยยังชีพคนชราไม่ต้องคืนเช่นกัน

5 ก.พ. 2564 เดอะสแตนดาร์ด [1]รายงานว่า ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และเมธี มั่นคง ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 1 สำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน ประชุมหารือร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น พล.ต.อรรถพล แผ้วพาลชน หัวหน้าอัยการทหาร กระทรวงกลาโหม, แก้วกาญจน์ วสุพรพงศ์ รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง, ทิวาพร ผาสุข ผู้อำนวยการกองบริหารการรับ-จ่ายเงินภาครัฐ กระทรวงการคลัง, กฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิต กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และ อภิญญา ชมพูมาศ รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน กรณีการเรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ได้รับซ้ำซ้อนกับเงินบำนาญพิเศษ

ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินกล่าวภายหลังการประชุมว่า ตามที่ศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นเรื่องร้องเรียน ขอให้พิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหากรณีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง มีหนังสือแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในหลายจังหวัดเรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เนื่องจากได้รับเงินบำนาญพิเศษตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ก่อนแล้ว ทำให้ผู้สูงอายุที่ถูกเรียกคืนเงินดังกล่าวเดือดร้อนกันทั่วประเทศ วันนี้จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและหาทางออกร่วมกัน โดยผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติว่า ตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 ระบุว่า เจตนารมณ์การจ่ายเงินบำนาญพิเศษ เพื่อตอบแทนข้าราชการและพลเรือนที่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติ ซึ่งได้รับอันตราย พิการ ทุพพลภาพ เสียชีวิต โดยบิดา มารดาจะได้รับเงินดังกล่าวจนเสียชีวิต

พล.อ.วิทวัสกล่าวต่อไปว่า เงินบำนาญพิเศษถือเป็นเงินคนละก้อนกับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ดังนั้น ผู้สูงอายุที่ได้รับเงินบำนาญพิเศษจึงมีสิทธิที่จะได้รับเงินทั้ง 2 ก้อน ดังนั้นการประชุมวันนี้ ทางผู้ตรวจการแผ่นดินจึงอาศัยมาตรา 33 ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 มีข้อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการปรับปรุงแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 ให้คนที่ได้รับเงินบำนาญพิเศษได้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุด้วย โดยหวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการโดยเร็ว ซึ่งตามกฎหมายต้องแล้วเสร็จภายใน 120 วัน

“ส่วนผู้ที่ได้รับเงินไปแล้ว ต้องไปกำหนดในบทเฉพาะกาลว่า ถือเป็นการได้โดยสุจริต และเมื่อเทียบเคียงกับคำพิพากษาศาลฎีกาหมายเลขคดีที่ 10850 ซึ่งถือว่าเป็นลาภที่ไม่ควรได้ ก็ไม่ต้องไปเรียกเงินคืนจากบุคคลนั้นๆ สำหรับบุคคลที่นำเงินมาคืนภาครัฐแล้ว ถือว่าท่านแสดงสิทธิเจตนารมณ์ที่จะมาคืน ไม่ได้อยู่ในฐานะที่เดือดร้อนหรือเป็นผู้มีรายได้น้อย ก็แสดงว่ามีเจตนาว่าจะไม่รับเงินก้อนนี้” พล.อ.วิทวัสกล่าว

ด้านมติชนออนไลน์ [2] รายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือกับคณะกรรมการค่าเบี้ยยังชีพ ถึงปัญหาการจ่ายเบี้ยยังชีพคนชราที่ซ้ำซ้อนว่า ที่ประชุมไม่ได้มีมติใดๆ เนื่องจากเป็นเพียงการรับฟังสรุปจากหน่วยงานต่างๆ เท่านั้น และที่ประชุมครั้งนี้ไม่ได้มีอำนาจสั่งการใดๆ ตนแค่ต้องการรับฟังความก้าวหน้าของแต่ละหน่วยงาน โดยผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจทั้งหมดสุดท้ายคือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เบื้องต้นสามารถตอบคำถามได้ 3 เรื่อง คือ

1. จะไม่มีการดำเนินคดีอาญากับผู้สูงอายุที่ไม่คืนเบี้ยยังชีพคนชรา โดยเรื่องนี้ไม่เคยดำเนินการในอดีตและจะไม่ดำเนินการในอนาคตด้วย เนื่องจากการดำเนินคดีอาญาจะต้องตั้งข้อหาฉ้อโกง แต่คนเหล่านี้ไม่ได้มีพฤติกรรมฉ้อโกง ดังนั้น จะไม่มีผู้ใดที่จะติดคุก

2. การรับผิดทางแพ่ง หรือการคืนเงิน สรุปง่ายๆ หากได้มาโดยสุจริตไม่ต้องคืน ซึ่งหลักมีอยู่แล้ว แต่ถ้าเงินยังเหลืออยู่จะต้องคืน หากไม่เหลืออยู่ก็ไม่ต้องคืน ส่วนกรณีถ้ามีเงินเหลืออยู่ แต่ไม่ใช่เงินที่ได้รับจากเบี้ยยังชีพคนชราไม่ต้องคืน ส่วนแต่ละรายจะสุจริตหรือไม่ จะดูเป็นรายบุคคล มีผู้อยู่ในข่ายเช่นนี้ที่จะต้องถูกไต่สวนทวนพยานว่าสุจริตหรือไม่ ประมาณ 6,000 คนทั่วประเทศ

“ถ้าเป็นเช่นนี้การปล่อยให้เป็นคดีอาญา 6,000 คดีทั่วประเทศ คดีจะรกโรงรกศาล เป็นภาระอัยการในฐานะโจทก์ เป็นภาระของคุณตา คุณยาย ในฐานะจำเลยที่จะต้องไปจ้างทนาย เขากินไม่ได้ นอนไม่หลับ เป็นทุกข์ จึงกำลังคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดคดีอาญา ดังนั้น อย่าไปคิดเลยว่าจะมีการฟ้อง” วิษณุกล่าว

และข้อ 3. เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งรับผิดชอบจ่ายเงินดังกล่าว จะมีส่วนต้องรับผิดด้วยหรือไม่ เป็นเรื่องที่จะต้องดูอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้สูงอายุบางส่วนที่รับเงินเบี้ยยังชีพคนชราและซ้ำซ้อนกับเงินสวัสดิการอื่น ก่อนหน้านี้มีทั้งหมด 15,300 คน ที่สุดแล้วเมื่อตรวจสอบรายละเอียดเหลือผู้สูงอายุที่รับเงินซ้ำซ้อนประมาณ 6,000 คน ส่วนนี้จำเป็นที่ต้องหยุดจ่ายเงินเบี้ยยังชีพคนชราไว้ก่อน แต่ยืนยันว่าไม่นาน

“โดยปกติผู้สูงอายุจะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐ 3 ส่วนคือ เบี้ยยังชีพคนชรา หากเจ็บป่วยจะได้รับเบี้ยผู้พิการ ถ้าฐานะยากจนจะได้บัตรคนจนด้วย ซึ่งระเบียบของเบี้ยคนพิการและบัตรคนจนไม่ได้ห้ามรับเงินบำนาญ จึงไม่มีปัญหา ฉะนั้น จึงเหลือเบี้ยยังชีพคนชราอย่างเดียวที่ต้องไปแก้ไข และหยุดจ่ายส่วนนี้ไปก่อน” วิษณุ กล่าว

รองนายกฯ กล่าวว่า วันนี้ขอให้ผู้สูงอายุสบายใจได้ว่าไม่ติดคุกแน่ นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลระบุว่ามีผู้สูงอายุที่รู้ข่าวแล้วตกใจจึงรีบเอาเงินมาคืน มียอดรวมทั้งหมด 130 ล้านบาท ส่วนจะต้องพิจารณาคืนเงินกลับไปให้ผู้สูงอายุที่คืนเงินมาแล้วหรือไม่นั้น โดยหลักเรื่องลาภที่มิควรได้ เมื่อคุณเอามาคืนและถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้นจะมาขอคืนไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นการชำระหนี้ และถือว่ารัฐรับกลับคืน เว้นแต่จะผ่อนผันให้ ซึ่งเป็นเรื่องที่กำลังคิดอยู่

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในอนาคตมีแนวคิดที่จะทำให้ผู้สูงอายุรับเงินได้ทั้งสองทางหรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า ไม่ขอตอบเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องของนโยบาย

ข่าว [3]
คุณภาพชีวิต [4]
เงินบำนาญพิเศษ [5]
เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ [6]
ผู้ตรวจการแผ่นดิน [7]
วิษณุ เครืองาม [8]
ลาภมิควรได้ [9]
ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

Source URL: https://prachatai.com/journal/2021/02/91544

Links
[1] https://thestandard.co/ombudsman-resolution-solve-the-interior-regulations-in-120-days/
[2] https://www.matichon.co.th/politics/news_2564486
[3] https://prachatai.com/category/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7
[4] https://prachatai.com/category/%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95
[5] https://prachatai.com/category/%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%8D%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A9
[6] https://prachatai.com/category/%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%9E%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%B8
[7] https://prachatai.com/category/%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%99
[8] https://prachatai.com/category/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A9%E0%B8%93%E0%B8%B8-%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%A1
[9] https://prachatai.com/category/%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A0%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89