Published on ประชาไท Prachatai.com (https://prachatai.com)

Home > กมธ.พิจารณา รธน. แก้ไขเพิ่มเติม พิจารณาร่างแล้วเสร็จทั้งฉบับแล้ว > กมธ.พิจารณา รธน. แก้ไขเพิ่มเติม พิจารณาร่างแล้วเสร็จทั้งฉบับแล้ว

กมธ.พิจารณา รธน. แก้ไขเพิ่มเติม พิจารณาร่างแล้วเสร็จทั้งฉบับแล้ว

Submitted by auser15 on Sun, 2021-02-07 14:20

โฆษก กมธ.พิจารณา รธน. แก้ไขเพิ่มเติมฯ เผยขณะนี้ กมธ. ได้พิจารณาร่างฯ แล้วเสร็จทั้งฉบับแล้ว คาดที่ประชุมรัฐสภาได้พิจารณาวาระสอง 24-25 ก.พ. 2564 ส่วนวาระ 3 วันที่ 16-17 มี.ค. 2564 พร้อมย้ำมั่นใจ ส.ว. จะลงมติเห็นชอบในทุกวาระ คาดว่าตั้งแต่กระบวนการเตรียมการจนถึงเลือกตั้ง ส.ส.ร. 200 คน ดำเนินการตาม รธน.ที่แก้ไขใช้เวลา 240 วัน จัดทำประชามติ 90 วัน รวมจะใช้เวลาหมดประมาณ 18 เดือน

กมธ.พิจารณา รธน. แก้ไขเพิ่มเติม พิจารณาร่างแล้วเสร็จทั้งฉบับแล้ว

เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2564 นายสมคิด เชื้อคง โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) รัฐสภา แถลงข่าวถึงความคืบหน้าผลการดำเนินการของ กมธ. ว่า เมื่อวานนี้ (4 ก.พ. 64) ที่ประชุม กมธ. ได้มีการลงมติในมาตราต่างๆ ที่ค้างดำเนินการจนเสร็จเรียบร้อย มีความสมบูรณ์ทั้งฉบับแล้ว ขณะที่การประชุม กมธ. ในวันนี้ (5 ก.พ. 64) ที่ประชุม กมธ. ได้มีการพิจารณาเอกสารที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ไปเขียนตามข้อเสนอของ กมธ. เมื่อวานนี้ คือการปรับแต่งปรับแต่งข้อความและประโยคต่างๆ ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันที่ประชุม กมธ. ได้เชิญ ผู้แทนสมาชิกรัฐสภาผู้ขอแปรญัตติ รวมจำนวนทั้งสิ้น 109 คน ประกอบด้วย สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 8 คน และผู้แทนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ผู้ขอแปรญัตติ จำนวน 101 คน มาชี้แจง สำหรับ ส.ส.ผู้ขอแปรญัตติ จำนวน 101 คน แบ่งเป็น พรรคเพื่อไทย 46 คน พรรคก้าวไกล ประมาณ 50 คน และพรรคพลังประชารัฐ ประมาณ 2-3 คน ซึ่งขณะ กมธ. อยู่ระหว่างดำเนินการรวบรวมร่างต่าง ๆ ก่อนที่ในวันที่ 8 ก.พ. 2564 ในช่วงบ่าย จะมีการประชุม กมธ. อีกครั้งเพื่อตรวจข้อความในเอกสาร และญัตติต่าง ๆ ให้เรียบร้อย เพื่อเร่งดำเนินการแก้ไขให้เรียบร้อยโดยเร็ว 

นายสมคิด กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการหารือกับประธาน กมธ. แล้วคาดการณ์ว่าจะดำเนินการจัดพิมพ์เล่มรายงานผลการพิจารณาของ กมธ. ได้แล้วเสร็จภายในวันที่ 11 ก.พ. 2564 จากนั้น จะได้จัดส่งให้สภาผู้แทนราษฎร ก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาในวาระที่สองได้ภายในวันที่ 24-25 ก.พ. 2564 ซึ่งเป็นไปตามกรอบการดำเนินงานที่วางไว้

นายสมคิด กล่าวด้วยว่า ภายหลังจากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ได้พิจารณาในวาระที่ 2 เสร็จแล้ว และผ่านความเห็นชอบของที่ประชุม ต่อมาต้องรอเวลาอีก 15 วัน ก่อนส่งให้รัฐสภาได้ดำเนินการนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในวาระที่ 3 วันที่ 16-17 มี.ค. 2564 ซึ่งหากผ่านความเห็นชอบในวาระที่ 3 แล้ว จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนของการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยคาดว่าตั้งแต่กระบวนการเตรียมการ ส.ส.ร. เลือกตั้ง ส.ส.ร รวมถึงไปดำเนินการร่างตามรัฐธรรมนูญที่แก้ไข เป็นเวลา 240 วัน ก่อนดำเนินการจัดทำประชามติภายในเวลา 90 วัน โดยรวมจะใช้เวลาดำเนินทั้งหมดประมาณ 18 เดือน หรือคิดเป็นเวลาประมาณเวลา 1 ปี 6 เดือน ทั้งนี้กรอบเวลาดังกล่าว เป็นการคาดการณ์ภายใต้เงื่อนไขที่การดำเนินการจะต้องไม่มีสิ่งใดเป็นอุปสรรค 

นอกจากนี้ นายสมคิด กล่าวถึงการเหตุผลของเปลี่ยนแปลงจำนวนผู้ลงมติในวาระรับหลักการ จากเดิมที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของฝ่ายรัฐบาล กำหนดไว้ที่ 3 ใน 5 ได้เปลี่ยนแปลงจำนวนผู้ลงมติในวาระรับหลักการ เป็น 2 ใน 3 ว่า เป็นไปตามมติเสียงข้างมากของที่ประชุม กมธ. ที่ได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการแก้ไข ส่งผลให้จากเดิมต้องใช้เสียง 450 เสียง เปลี่ยนเป็น 500 เสียง ในการให้ความเห็นชอบ ซึ่งตนมองว่า กรณีดังกล่าวไม่ต้องวิตกกังวลว่าตัวเลขที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ผ่านวาระที่ 2 และ 3 ยากขึ้นหรือไม่ เพราะเป็นภาระหน้าที่ของเสียงข้างมาก และเชื่อว่า จากการที่ ส.ว. หลายคนได้เห็นด้วยกับร่างที่กำหนดให้ ส.ส.ร. ทั้ง 200 คน ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงแล้ว ส่วนอื่นก็ไม่ต้องวิตกกังวล พร้อมกันนี้ นายสมคิด กล่าวย้ำว่า ตนมั่นใจ ส.ว. จะลงมติเห็นชอบในทุกวาระ

เปิดพิมพ์เขียว 13 ขั้นตอน จาก ส.ส.ร. 200 คน สู่ 'รัฐธรรมนูญฉบับใหม่'

สื่อประชาชาติธุรกิจ [1] นำเสนอรายงานพิเศษถึง 13 ขั้นตอน จาก ส.ส.ร. 200 คน สู่ 'รัฐธรรมนูญฉบับใหม่' โดยระบุว่าหลังจากรัฐสภาลงมติคว่ำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ ที่ถูกมวลชนนอกสภาให้นิยามว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชน แต่รัฐสภาได้รับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล เมื่อ 18 พฤศจิกายน 2563

และใช้เวลาปลุกปล้ำแก้ไขในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ…. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) สภาหลังผ่านวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ เป็นเวลาเกือบ 3 เดือนเต็ม

ที่สุดแล้วก็คลอดร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับ “ไฟนอล” ออกมาเป็นพิมพ์เขียวสำหรับการก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมี สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จำนวน 200 คน เป็นผู้ยกร่าง ผ่านกระบวนการ 13 ขั้นตอน

1.หลังจากร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้บังคับในวาระเริ่มแรก ให้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการรับสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส.ร. ภายใน 30 วัน และให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ภายใน 90 วัน นับแต่มีเหตุแห่งการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่

2.ให้มี ส.ส.ร. จำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน โดยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครเป็น ส.ส.ร.ให้ใช้เกณฑ์เดียวกับสมัคร ส.ส.

ให้ใช้ “เขตจังหวัด” เป็น “เขตเลือกตั้ง” แต่ละจังหวัดจะมีสัดส่วน ส.ส.ร.ที่แตกต่างกันตามจำนวนประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งนี้ การกำหนด ส.ส.ร. ที่แต่ละจังหวัด “พึงมี” ให้ใช้จำนวนประชากรทั้งประเทศ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ส.ส.ร.เฉลี่ยด้วยจำนวน ส.ส.ร. 200 คน จำนวนที่ได้รับให้ถือว่าเป็นจำนวนราษฎรต่อ ส.ส.ร. 1 คน

จังหวัดไหนที่ราษฎรไม่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อ ส.ส.ร. 1 คน ให้มี ส.ส.ร.ในจังหวัดนั้นได้ 1 คน

จังหวัดไหนที่ราษฎรเกินจำนวนราษฎรต่อ ส.ส.ร. 1 คน ให้มี ส.ส.ร.ในจังหวัดนั้นเพิ่มขึ้นอีก 1 คน ทุกจำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อ ส.ส.ร. 1 คน

ถ้าจำนวน ส.ส.ร.ยังไม่ครบ 200 คน จังหวัดไหนที่มีเศษเหลือจากการคำนวณมากที่สุด ให้จังหวัดนั้นมี ส.ส.ร.เพิ่มขึ้นอีก 1 คน และให้เพิ่ม ส.ส.ร.ด้วยวิธีการเดียวกันแก่จังหวัดที่มีเศษเหลือลำดับรองลงมา จนครบจำนวน 200 คน

3.ผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.ร. ได้ 1 คน (one man one vote) และจะลงคะแนนเลือกผู้ใด หรือ ไม่เลือกผู้ใดเป็น ส.ส.ร.เลยก็ได้

4.เมื่อเลือกตั้ง ส.ส.ร.แล้ว ให้ กกต.ประกาศรับรองผลให้เสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง โดยให้ผู้สมัครที่ได้รับคะแนน “สูงสุด” เรียงตามลำดับจนครบจำนวน ส.ส.ร.ที่พึงมีในแต่ละจังหวัด และให้ กกต.จัดทำบัญชีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ร.ส่งรัฐสภาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ประกาศรับรองผล แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศชื่อคนที่ได้เป็น ส.ส.ร.ลงในราชกิจจานุเบกษา

5.ส.ส.ร.ต้องทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา 240 วัน นับแต่มีการประชุม ส.ส.ร.นัดแรก ซึ่งต้องจัดไม่ช้ากว่า 30 วัน นับแต่วันที่มี ส.ส.ร.จำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของ ส.ส.ร.ทั้งหมด แล้วให้ดำเนินการให้ได้มาซึ่ง ส.ส.ร.ส่วนที่เหลือโดยเร็ว

6.ในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ให้ ส.ส.ร.จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง ทุกจังหวัด ให้ ส.ส.ร. คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐ จัดให้มีการเผยแพร่เนื้อหา-ความคืบหน้าในการร่างรัฐธรรมนูญผ่านสื่อมวลชน และเวทีแสดงความคิดเห็นต่างๆ

7.การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะกระทำมิได้ กรณีที่รัฐสภาวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญมีลักษณะดังกล่าว ให้ร่างรัฐธรรมนูญตกไป

8.การแต่งตั้งกรรมาธิการที่ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญหรือพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ให้ ส.ส.ร.แต่งตั้งจากสมาชิก ส.ส.ร. สำหรับกรรมาธิการอื่นอาจแต่งตั้งจากบุคคล ซึ่งมิได้เป็นสมาชิก ส.ส.ร.ได้ โดยให้พิจารณาถึงความรู้ความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ในการทำหน้าที่และมีจำนวนกรรมาธิการตามความจำเป็น

9.เมื่อ ส.ส.ร.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้นำเสนอต่อรัฐสภาพิจารณาเพื่ออภิปรายแสดงความคิดเห็น ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีการลงมติ เมื่อรัฐสภาอภิปรายแสดงความคิดเห็นเสร็จสิ้นแล้ว ให้ประธานนำร่างรัฐธรรมนูญ ส่งให้ กกต.จัดออกเสียงประชามติ ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รัฐสภาประชุมอภิปรายแสงความเห็น

10.ให้ กกต. คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง จัดให้มีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนทราบทั่วไปผ่านช่องทางต่าง ๆ และให้นำเทคโนโลยี การสื่อสารมาสนับสนุนเพื่ออำนวยความสะดวกในการเผยแพร่

11.เมื่อประชามติเสร็จสิ้น ให้ กกต.ประกาศผลการออกเสียงประชามติให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน หากคะแนนการออกเสียงเห็นชอบ ให้ประธานรัฐสภา นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

12.หากไม่ผ่านประชามติ ให้ร่างรัฐธรรมนูญตกไป และให้แจ้งผลการออกเสียงประชามติให้ประธานรัฐสภาและประธาน ส.ส.ร.ทราบโดยเร็ว

13.ในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญตกไป ให้คณะรัฐมนตรี หรือ ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ หรือ ส.ส. และ ส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดของสองสภา มีสิทธิเสนอญัตติต่อรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภามีมติให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้ได้อีก

การออกเสียงลงคะแนนให้ความเห็นชอบของรัฐสภาต้องได้เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ทั้งนี้ บุคคลที่เป็น ส.ส.ร. จะเป็น ส.ส.ร.อีกไม่ได้ เมื่อรัฐสภามติอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วจะมีการเสนอญัตติอีกไม่ได้ เว้นแต่จะมีการเลือก

ทว่าก่อนจะได้ทำทั้ง 13 ขั้นตอน ขั้นตอนในรัฐสภายังต้องนำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เข้าไปลงมติในวาระที่ 2 ในวันที่ 24-25 ก.พ. 2564

นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ. … กล่าวว่า

“หลังจากวาระ 2 ผ่าน จะทิ้งไว้ 15 วัน คาดว่าจะเข้าสู่วาระที่ 3 ในวันที่ 16-17 มี.ค. หากวาระที่ 3 ผ่านแล้วก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งมีขั้นตอนในการดำเนินการทั้งหมด 18 เดือน” 

เปิดสาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ กมธ.ฯ พบ 8 จุดสำคัญ ไฮไลต์ คือ เติมความประเด็นให้อำนาจรัฐสภาตรวจสอบการตรารัฐธรรมนูญมิชอบ

กรุงเทพธุรกิจ [2] นำเสนอรายงานพิเศษเปิดสาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ กมธ.ฯ พบ 8 จุดสำคัญ ระบุว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) รัฐสภา ที่มีนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ​ เป็นประธานกมธ.ฯ ได้พิจารณาแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 4 ก.พ.

โดยเนื้อหามีการปรับแก้ทั้งสิ้น 8 ประเด็น ได้แก่ 1. ว่าด้วยเสียงลงคะแนนในวาระแรก และวาระสาม ในมาตรา 256 จากร่างที่เป็นหลักพิจารณากำหนดให้ใช้เสียง 3 ใน 5 หรือ 450 เสียง ไปเป็น ใช้เสียง 2 ใน 3 หรือ 500 เสียงของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของสองสภา
       
2.ในหมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แก้ไขให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ​ (ส.ส.ร.) มีจำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จากเนื้อหาเดิมกำหนดให้มี ส.ส.ร.​200 คนมาจากเลือกตั้ง 150 คนและคัดสรร 50 คน  
       
3.มาตราว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เพิ่มเนื้อหา ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. รวมถึงบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้โดยอนุโลม จากเดิมที่ให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกหลักเกณฑ์และวิธีการเลือก ส.ส.ร. เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้การเลือกตั้ง ส.ส.ร.​ทำได้โดยรวดเร็ว ไม่ต้องรอการตราระเบียบหรือรายละเอียดที่เกี่ยวข้องที่อาจทำให้การเลือกตั้ง ส.ส.ร. ล่าช้ากว่า 90 วัน 

4.ว่าด้วยการประกาศรายชื่อส.ส.ร. กำหนดให้ ประธานรัฐสภาเป็นผู้ประกาศรายชื่อในราชกิจจานุเบกษา หลังจาก กกต.​รับรองผลเลือกตั้งแล้ว  
       
5.เพิ่มบทบัญญัติว่า ด้วยการเลือกส.ส.ร.แทนตำแหน่งที่ว่าง เพราะตายหรือลาออก หรือขาดคุณสมบัติ โดยกำหนดให้เลือกตั้ง ส.ส.ร. ทดแทน ภายใน 45 วัน เว้นแต่จะเหลือเวลาทำร่างรัฐธรรมนูญไม่ถึง 90 วัน
       
6.กรณีกระบวนการการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีประเด็นว่าควรตั้งคณะกรรมาธิการยกร่าง หรือคณะทำงานอีกชุดเพื่อทำหน้าที่แทนส.ส.ร. หรือไม่ กมธ.​ได้เพิ่มบทบัญญัติให้ ส.ส.ร. มีอำนาจแต่งตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหรือพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ จากบุคคลที่เป็น ส.ส.ร. ส่วนกรรมาธิการอื่น อาจตั้งบุคคลที่ไม่เป็น ส.ส.ร.ได้ พร้อมกำหนดคุณสมบัติให้เลือกจากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือประสบการในการทำหน้าที่และกำหนดให้กรรมาธิการเท่าที่จำเป็น

7. ประเด็นเมื่อทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จ ได้แก้ไข และมีสาระสำคัญ​คือให้นำเสนอต่อรัฐสภา และกำหนดหน้าที่รัฐสภาเพียงแค่อภิปรายแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ภายใน 30 วัน โดยไม่ลงมติ จากนั้นภายใน 7 วันให้ส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ กกต.ออกเสียงประชามติ เดิมที่กำหนดให้รัฐสภาลงมติตัดสินหากมติไม่เห็นด้วย จึงต้องไปทำประชามติสอบถามประชาชน 

และ 8. ประเด็นการตรวจสอบกระบวนการตรารัฐธรรมนูญ กมธ.​กำหนดรายละเอียดให้ สมาชิกรัฐสภา เข้าชื่อกัน เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยมีประเด็นที่เพิ่มเติม คือ หากพบกระบวนการตราไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ โดยประเด็นดังกล่าวมีการอภิปรายถึงกรณีที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เช่น การเสียบบัตรแทนกัน เป็นต้น

ปชป.ย้ำแก้ รธน.ผลักดันวาระ 2-3 

7 ก.พ. 2564 นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวที่พรรคถึงการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่อยู่ในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญว่าขณะนี้มีความชัดเจนว่า การแก้ไข รธน. จะตัดเสียงในส่วนของ สว. ในวาระ 1 และ วาระ 3 คือให้ใช้คะแนนเสียง 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกรัฐสภา ไม่ได้กำหนดเสียงของ สว. มาเป็นเงื่อนใขสำคัญในการแก้ไข รธน. ก็จะทำให้การแก้ รธน. รายมาตรา มีโอกาสมากขึ้น แต่ก็ไม่ง่ายเกินไปในเรื่องที่เกี่ยวกับการแก้ รธน. ที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ การกำหนดให้ใช้มติ 2 ใน 3 ถือว่ามีความเหมาะสม และในส่วน สสร. ก็จะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนทั้ง 200 คน ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ประชาชนทุกภาคส่วนจะได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ การไม่ปิดกั้นสมาชิกพรรคการเมืองในการเข้ามาเป็น สสร. เพราะถือว่าการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และจะไม่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองหลังเป็น สสร. เมื่อไม่มีข้อห้ามในส่วนต่างๆ เหล่านี้ก็จะทำให้คนที่สนใจการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในการยกร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญถือว่าเราได้เดินมาไกลพอสมควรแล้ว ก็จะเดินหน้าผลักดันในวาระที่ 2 และ วาระที่ 3 ต่อไป เพื่อให้เกิดผลสำเร็จ

ส่วนญัตติของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชายชื่อ พรรคพลงประชารัฐขอ ที่มติสมาชิกรัฐสภา ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนายราเมศตอบนายราเมศกล่าวว่า พรรคมีแนวทางที่ชัดเจนมาตั้งแต่ ส.ส ของพรรคลงลายมือชื่อในญัตติขอแก้ไข รธน. แล้ว ว่าญัตติขอแก้ รธน. ชอบด้วยกฎหมาย พรรคได้มีมติไปแล้ว จึงไม่กังวล และอยากให้นายไพบูลย์พิจารณา หากคิดว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายก็สามารถยื่นหลังเสร็จสิ้น วาระ 3 ได้ เพราะรัฐธรรมนูญได้ให้สิทธิเปิดช่องทางไว้อยู่แล้ว

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ยังได้กล่าวถึงการเสนอร่างกฎหมายปฏิรูปของรัฐบาลที่ได้ เสนอ ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ และจะมีการบรรจุระเบียบวาระในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ ว่าพรรคพร้อมสนับสนุน ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว เพื่อให้การทำหน้าที่ของข้าราชการตำรวจมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารงานบุคคล การยึดหลักความอาวุโส ซึ่งในประเด็นนี้อาจจะมีการแปรญัตติเพื่อเพิ่มเติมรายละเอียดให้การแต่งตั้งโยกย้ายเกิดความเป็นธรรมต่อข้าราชการตำรวจมากยิ่งขึ้น ความมีอิสระมากยิ่งขึ้น การปรับโอนย้ายภารกิจบางส่วนที่ไม่ใช่ภารกิจหลักออกจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อประสิทธิภาพและความรวดเร็ว การกำหนดค่าตอบแทน การกำหนดบำเหน็จความชอบตามระบบคุณธรรมที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งมีรายละเอียดอีกมาก แต่เมื่อรัฐบาลได้ตั้งต้นจากเสนอร่างฉบับดังกล่าวก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพื่อให้มีการตั้งต้นปฏิรูปองค์กรตำรวจให้เป็นที่พึ่งของประชาชนต่อไป ในวาระที่สองในชั้นกรรมาธิการเชื่อว่าจะมีการแปรญัตติเพิ่มเติมอีกหลายประเด็น และต้องยอมรับสิ่งหนึ่งว่า ในทุกอาชีพมีทั้งคนดีและไม่ดี วิชาชีพตำรวจก็เช่นกัน ที่คนดีๆที่ตั้งใจทำหน้าที่รับใช้ประชาชนก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก ทำอย่างไรที่เราจะช่วยตำรวจที่ดีให้ได้มีโอกาสทำหน้าที่รับใช้ประชาชนด้วยความภาคภูมิ

'ไพบูลย์' เชื่อสมาชิกรัฐสภาเห็นชอบส่งศาล รธน.ตีความอำนาจรัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญ

7 ก.พ. 2564 นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภาจะมีการพิจารณาญัตติขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 9 ก.พ. ว่าขั้นตอนการพิจารณาผู้เสนอญัตติ โดยตนจะนำเสนอญัตติต่อที่ประชุม จากนั้นก็จะมีการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา และมีการลงมติ ซึ่งเสียงเห็นชอบต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาที่เข้าร่วมประชุม หากที่ประชุมเห็นชอบก็ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย

ทั้งนี้ สำหรับญัตติดังกล่าวไม่ได้มีการขอให้ชะลอการพิจารณาหรือขอให้ศาลออกมาตรการเพื่อหยุดการพิจารณาหรือคุ้มครองชั่วคราวให้หยุดการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถเดินหน้าต่อไปได้ตามขั้นตอน อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเชื่อว่าที่ประชุมน่าจะเห็นชอบให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา

เมื่อถามว่าขณะนี้มีการพูดถึงความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อข้อศึกษาของกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ของสภาผู้แทนราษฎร ที่ให้ระวังถูกยื่นตีความล้มล้างการปกครองฯ มองว่าจะมีผลต่อการพิจารณาลงมติด้วยหรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่าความเห็นดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวกับญัตติโดยตรง แต่เป็นเหตุผลหนึ่งที่สามารถนำมาประกอบญัตติได้ ซึ่งตนก็จะอภิปรายเสนอในประชุมด้วยว่ามีความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ในบทสรุป หน้าที่ 24 ระบุตอนท้ายว่า

"อย่างไรก็ดี การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 นี้ ต้องคำนึงถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทั้งสองดังกล่าวฉบับข้างต้น ซึ่งอาจมีการยกเป็นประเด็นเพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ เนื่องจากได้มีแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นบรรทัดฐานไว้แล้ว"

ด้าน น.พ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกวุฒิสภาและหนึ่งใน คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมฯ ของรัฐสภา ซึ่งเป็นหนึ่งในสว.ที่ร่วมลงชื่อในญัตติเพื่อเสนอคำร้องให้ศาล รธน.วินิจฉัยดังกล่าว เปิดเผยว่าที่ประชุมร่วมรัฐสภา จะมีการพิจารณาญัตติดังกล่าวในวันที่ 9 ก.พ. นี้ อย่างไรก็ตามการจะส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะลงมติอย่างไร เพราะขณะนี้ก็มี ส.ว.บางส่วนมีความคิดเห็นว่า การแก้ไข รธน.มาตรา 256 เพื่อมาร่างรธน.ฉบับใหม่ อาจจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพราหลักการในญัตติที่ขอแก้ไขมาตรา 256 ที่กำลังดำเนินการอยู่เป็นการทำเพื่อให้มีการยกร่าง รธน.ฉบับใหม่ อันมีความหมายว่าให้แก้ทั้งฉบับแต่หมวดแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 น่าจะมีเจตนาเพียงให้แก้เป็นรายมาตราไม่ได้มีเจตนาให้ยกร่างรธน.ฉบับใหม่ จึงยังมีมุมมองที่เห็นว่าไม่น่าทำได้ โดยหากสุดท้ายที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีมติเสียงข้างมากโหวตส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ ก็ต้องดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องหรือไม่ 

อย่างไรก็ตาม แต่หากเป็นมติของรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญก็น่าจะรับคำร้องไว้ ซึ่งก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ก็เคยมีบรรทัดฐานคำวินิฉัยเดิมเมื่อปี 2555 อยู่ก่อนแล้ว ที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราเดียวเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ไม่อาจทำได้ เพราะประชาชนเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนญ ประชาชนย่อมใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ ประชาชนจึงย่อมให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างรธน.ฉบับใหม่ได้ หากประชาชนมีมติยอมรับ ซึ่งถึงตอนนี้ก็คิดว่า สมาชิกรัฐสภาแต่ละคนก็มีคำตอบอยู่แล้วว่า วันอังคารนี้จะโหวตให้ส่งหรือไม่ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต่อเนืองกันมาหลายเดือนแล้ว

"สำหรับผมแน่นอนว่า จะโหวตเพื่อให้ส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพราะผมเป็นหนึ่งในสมาชิกรัฐสภาทีร่วมลงชื่อด้วย แต่ก็มีสว.อีกหลายคนเหมือนกัน ที่เขาก็เห็นว่า การแก้ไข รธน.มาตรา 256 ตอนนี้น่าจะทำได้ไม่มีปัญหา เพราะเขามองว่ายังไง สุดท้ายแล้วพอสภาร่างรัฐธรรมนูญ ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมา ก็ต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญไปทำประชามติถามประชาชนอยู่แล้ว ทำให้จนถึงตอนนี้ เรื่องนี้ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่ แต่ผมก็อยากให้ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความชัดเจนไปเลยว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญตอนนี้ทำได้หรือไม่ได้ เพราะหากส่งไป มันไม่ได้ทำให้เสียเวลาอะไรส่วนหากส่งไปแล้ว ยังไม่มีคำวินิจฉัยออกมาก่อนโหวตวาระสองและวาระสามก็ไม่เป็นไร ก็เดินไปด้วยกันได้กับการพิจารณาของรัฐสภา"

ถามว่าจนถึงขณะนี้คิดว่า มีสมาชิกวุฒิสภาเอาด้วยกับการจะลงมติให้ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญมากน้อยแค่ไหน นพ.เจตน์กล่าวว่า ก็มีเยอะ แต่ก็กะจำนวนไม่ได้เพราะการส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ ต้องใช้เสียงเห็นชอบด้วยเกินกึ่งหนึ่งของสองสภารวมกัน แต่หากพรรคพลังประชารัฐเอาด้วยหมด มันก็เป็นไปได้ที่จะได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง แต่สำหรับ ส.ว. ก็คิดว่าน่าจะมีคนเห็นด้วยให้สงคำร้องไปศาล รธน.มากกว่าไม่เห็นด้วยที่จะส่ง แต่ก็ประเมินยากอยู่ ส่วน ส.ส.ประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทย คงไม่โหวตให้ส่ง เช่นเดียวกับฝ่ายค้านทั้งหมด ก็คงไม่เอาด้วย ก็ยืนยันว่า การที่เห็นควรต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ ก็เพื่อให้เกิดความชัดเจนเพราะกระบวนการดังกล่าวไม่ได้ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญในเวลานี้ล่าช้าอะไร เพราะในเมื่อยังมีความคิดเห็นที่ยังแตกแยกกันอยู่ว่าการแก้ไข รธน.ตอนนี้ ทำได้หรือไม่ ก็ควรทำให้เกิดความชัดเจน

ที่มาเรียบเรียงจาก สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา [3] | ประชาชาติธุรกิจ [1] | กรุงเทพธุรกิจ [2] | ผู้จัดการออนไลน์ [4] | มติชนออนไลน์ [5] | ไทยโพสต์ [6]

 

ข่าว [7]
การเมือง [8]
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ [9]
พรรคประชาธิปัตย์ [10]
ไพบูลย์ นิติตะวัน [11]
สมคิด เชื้อคง [12]
เจตน์ ศิรธรานนท์ [13]
วุฒิสภา [14]
ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

Source URL: https://prachatai.com/journal/2021/02/91561

Links
[1] https://www.prachachat.net/politics/news-608984
[2] https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/921070
[3] http://www.tpchannel.org/radio/newsdetail.php?news_id=5227
[4] https://mgronline.com/politics/detail/9640000012216
[5] https://www.matichon.co.th/politics/news_2566720
[6] https://www.thaipost.net/main/detail/92262
[7] https://prachatai.com/category/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7
[8] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87
[9] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B9%84%E0%B8%82%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B9%E0%B8%8D
[10] https://prachatai.com/category/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A2%E0%B9%8C
[11] https://prachatai.com/category/%E0%B9%84%E0%B8%9E%E0%B8%9A%E0%B8%B9%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B9%8C-%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99
[12] https://prachatai.com/category/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%94-%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%84%E0%B8%87
[13] https://prachatai.com/category/%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%95%E0%B8%99%E0%B9%8C-%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B9%8C
[14] https://prachatai.com/category/%E0%B8%A7%E0%B8%B8%E0%B8%92%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%A0%E0%B8%B2