สหภาพแรงงานบุคลากรทางการแพทย์ญี่ปุ่นคัดค้านการจัดโอลิมปิก
ท่ามกลางการคัดค้านการจัดการแข่งขันโอลิมปิกโตเกียวของประชาชนญี่ปุ่น รวมถึงท้องถิ่นหลายแห่งก็ไม่ให้ความร่วมมือ ยกเลิกแผนต้อนรับนักกีฬา ล่าสุดสหภาพแรงงานบุคลากรทางการแพทย์ญี่ปุ่น ได้ออกมาคัดค้านการจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬานี้ด้วย นอกจากนี้ยังพบว่า ณ ช่วงปลายเดือน พ.ค. 2564 บุคลากรทางการแพทย์ในญี่ปุ่นยังได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ไม่ถึง 40%
ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความปลอดภัยของมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่กำลังจะมาถึง เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในญี่ปุ่นยังไม่มีแนวโน้มคลี่คลาย ทำให้หลายฝ่ายคัดค้านการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกโตเกียวที่จะถึงนี้ รวมทั้งองค์กรสหภาพแรงงานบุคลากรทางการแพทย์ของญี่ปุ่นด้วย
เมื่อช่วงกลางเดือน พ.ค. 2564 ที่ผ่านมาสหภาพแรงงานบุคลากรทางการแพทย์ญี่ปุ่น ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกโตเกียว โดยระบุว่ามหกรรมกีฬานี้จะยิ่งสร้างความเสี่ยงทำโรค COVID-19 แพร่ระบาดมากขึ้น เนื่องจากนักกีฬาและเจ้าหน้าที่จากชาติต่าง ๆ ที่เข้าร่วมมีจำนวนมาก
นาโอโตะ อุเอยามะ ตัวแทนในการแถลงข่าวของสหภาพแรงงานบุคลากรทางการแพทย์ญี่ปุ่น ระบุว่าเขาก็รู้สึกเสียใจต่อนักกีฬาหากไม่ได้เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก แต่ทว่าสถานการณ์ ณ ขณะนี้จำเป็นจะต้องมีการพูดถึงเรื่องการยกเลิกการแข่งขัน
อุเอยามะ ยังระบุอีกว่ารัฐบาลญี่ปุ่นต้องมีหน้าที่ในการปกป้องสุขภาพของประชาชนญี่ปุ่นและต้องตัดสินใจครั้งสำคัญ ทั้งนี้สหภาพแรงงานบุคลากรทางการแพทย์ญี่ปุ่นได้ส่งจดหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร ถึงนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูงะ ไปเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2564 แล้ว
ณ ช่วงเดือน พ.ค. 2564 ญี่ปุ่นกำลังเผชิญปัญหาด้านระบบสาธารณสุขอย่างหนัก เนื่องจากมีจำนวนผู้ป่วย COVID-19 มากเกินกว่าที่แพทย์จะรับมือไหว เตียงผู้ป่วยไม่เพียงพอ ซึ่งหากรัฐบาลยังเดินหน้าที่จะจัดการแข่งขันโอลิมปิกต่อไป แพทย์ยังเตือนอีกว่านอกจากความเสี่ยงของการระบาด COVID-19 แล้ว ในช่วงฤดูร้อนจะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาผู้ป่วยจากคลื่นความร้อน ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 150 คนในปีก่อนเพิ่มขึ้นมาอีก นอกจากนี้ยังพบว่าบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเป็นด้านหน้าในการรับมือกับ COVID-19 ยังไม่ได้รับวัคซีนครอบคลุม
บุคลากรทางการแพทย์ในญี่ปุ่นยังได้รับการฉีดวัคซีนไม่ครอบคลุม
ช่วงปลายเดือน พ.ค. 2564 ยังพบว่าบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเป็นด้านหน้าในการรับมือกับ COVID-19 ยังไม่ได้รับวัคซีนครอบคลุม | ที่มาภาพ: Japan Today [2]
ช่วงปลายเดือน พ.ค. 2564 หนังสือพิมพ์นิคเคอิอ้างตัวเลขของคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นระบุว่าในช่วง 3 เดือน ที่มีการผลักดันให้บุคลากรทางการแพทย์ในญี่ปุ่นเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 นั้นพบว่าบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศได้รับการฉีดวัคซีนน้อยกว่าร้อยละ 40
โดยเฉพาะเมืองที่จะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกอย่างโตเกียวหรือเมืองใหญ่อื่น ๆ อัตรานี้ยิ่งลดลงเหลือไม่ถึงร้อยละ 30
หนังสือพิมพ์นิคเคอิ ระบุว่าการจัดหาวัคซีนส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่และมีปัญหาในระบบการจองสำหรับบุคลากรทางการแพทย์
การฉีดวัคซีนให้แพทย์และพยาบาลล่าช้านี้ เป็นหนึ่งในเหตุผลที่กลุ่มแพทย์ที่ออกมาต่อต้านการจัดการแข่งขันโอลิมปิก ในขณะที่ญี่ปุ่นกำลังต่อสู้เพื่อยับยั้งโรคระบาดนี้
รัฐบาลตั้งเป้าที่จะฉีดวัคซีนให้กับประชากร 36 ล้านคนที่มีอายุเกิน 65 ปีภายในสิ้นเดือน ก.ค. 2564 นี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวรัฐบาลหวังว่าจะสามารถฉีดวัคซีนได้ 1 ล้านโดสต่อวัน ซึ่งเร็วกว่าอัตราปัจจุบันประมาณ 3 เท่า
ข้อมูลจนถึงวันที่ 20 พ.ค. 2564 พบว่ามีประชากรญี่ปุ่นเพียงร้อยละ 3.7 จากจำนวน 126 ล้านคน เท่านั้นที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในบรรดาประเทศร่ำรวย
ท้องถิ่นหลายแห่งก็ไม่ให้ความร่วมมือ ยกเลิกแผนต้อนรับนักกีฬา
ช่วงกลางเดือน พ.ค. 2564 มีรายงานว่าว่าเมือง 31 แห่ง จากจำนวนมากกว่า 500 เมือง ที่ลงทะเบียนเพื่อต้อนรับนักกีฬาต่างชาติ ตัดสินใจไม่รับนักกีฬาต่างชาติที่จะเข้ามาเก็บตัวฝึกซ้อมและแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ก่อนที่จะลงแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิก
โดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งในญี่ปุ่นแสดงความกังวลว่าระบบสาธารณสุขจะรับมืออย่างไร หากการแข่งขันโอลิมปิกกลายเป็นกิจกรรมที่กลาบเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ และทรัพยากรด้านสาธารณสุขของท้องถิ่นต่าง ๆ อาจจะไม่เพียงพอ
ตัวอย่างเช่นเมืองอูรายาซุ ในจังหวัดชิบะ ที่มีกำหนดการณ์ที่จะรับดูแลนักกีฬาพาราลิมปิก 35 คนจากสหราชอาณาจักร ก็ได้ยกเลิกแผนการนี้แล้ว โดยนักกีฬาพาราลิมปิก 35 คน ต้องเข้าไปอยู่ในหมู่บ้านนักกีฬาในกรุงโตเกียวโดยตรง เป็นต้น ส่วนเมืองอื่น ๆ ที่เคยเชิญนักกีฬาอย่างทีมฟันดาบจากรัสเซีย ทีมฮอกกี้ของอินเดีย รวมถึงคณะนักกีฬาจากเบลีซและติมอร์ตะวันออก ก็ได้ถอนคำเชิญแล้ว
ประชาชนคัดค้าน
แคมเปญการรณรงค์ออนไลน์ เพื่อต่อต้านการจัดการแข่งขันโอลิมปิกในเว็บไซต์ change.org [3] มีผู้ร่วมลงชื่อมากกว่า 370,000 รายชื่อแล้ว (ณ วันที่ 21 พ.ค. 2564)
กระแสการต่อต้านการจัดกีฬาโอลิมปิก ระหว่างวันที่ 23 ก.ค.-8 ส.ค. 2564 นี้ เริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ในญี่ปุ่น ก่อนการแข่งขันอีกไม่ถึง 3 เดือน โพลของหนังสือพิมพ์อาซาฮี ชิมบุน ที่ทำการสำรวจความคิดเห็นทางโทรศัพท์ 3,191 ตัวอย่าง พบว่าร้อยละ 43 ต้องการให้มีการยกเลิกโอลิมปิก ร้อยละ 40 ต้องการให้เลื่อนการแข่งขันออกไป มีเพียงร้อยละ 14 ที่ยังต้องการให้จัดการแข่งขันต่อไปตามกำหนดเดิม
ส่วนโพลของสำนักข่าวเกียวโด ระบุว่าประชาชนร้อยละ 59.7 อยากให้มีการยกเลิกการแข่งขันโอลิมปิก (ในโพลของสำนักข่าวเกียวโด ไม่มีตัวเลือก 'เลื่อนการแข่งขัน') โดยร้อยละ 87.7 ระบุว่ามีความกังวลต่อการหลังไหลเข้ามาของนักกีฬาและเจ้าหน้าที่จากประเทศต่าง ๆ อาจจะนำมาซึ่งปัญหาการระบาดของ COVID-19 ตามมา
ขณะเดียวกันมีการรณรงค์ออนไลน์ เพื่อต่อต้านการจัดการแข่งขันโอลิมปิกในเว็บไซต์ change.org มีผู้ร่วมลงชื่อมากกว่า 370,000 รายชื่อแล้ว (ณ วันที่ 21 พ.ค. 2564) นายเคนจิ อุสึโนมิยะ อดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีกรุงโตเกียว แกนนำในรณรงค์ออนไลน์ครั้งนี้ แสดงความกังวลว่าการเดินหน้าจัดการแข่งขันโอลิมปิก จะส่งผลให้การระบาดของ COVID-19 ในญี่ปุ่นจะยิ่งรุนแรงขึ้นหลังจากจบการแข่งขัน
ที่มาเรียบเรียงจาก
352,000 signees, doctors union heighten calls to cancel Olympics (THE ASAHI SHIMBUN, 14 May 2021) [4]
Japanese doctors union calls for Tokyo Olympics to be cancelled (SportsPro Media, 14 May 2021) [5]
Olympic Games: Japanese towns cancel invitations to host foreign athletes as Covid cases soar (Evening Standard, 14 May 2021) [6]
Poll in Japan shows huge anti-Olympic feeling as coronavirus numbers rise (RFI, 17 May 2021) [7]
Most Japanese medical workers still not fully vaccinated (Japan Today, 20 May 2021) [2]