สถานทูตฝรั่งเศสลุยฉีดวัคซีนจอห์นสันฯ ให้พลเมืองในไทย ด้าน 'เพื่อไทย' แนะ รบ.เปิดเสรีวัคซีน
สถานทูตฝรั่งเศสเปิดให้พลเมืองของตนที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไปลงทะเบียนฉีดวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (J&J) ตามโครงการดูแลพลเมืองของสถานทูต ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวชื่นชมอิสราเอลที่ฉีดวัคซีนให้คนในประเทศได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยยื่นข้อเสนอปรับแผนฉีดวัคซีน 7 ข้อแก่รัฐบาล พร้อมแนะเปิด 'วัคซีนเสรี'
24 มิ.ย. 2564 วานนี้ (23 มิ.ย. 2564) สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยเปิดให้พลเมืองชาวฝรั่งเศสที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยและมีอายุ 55 ปีขึ้นไป ลงทะเบียนฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในโครงการของสถานทูต โดยสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ในโรงพยาบาลเอกชน 8 แห่งในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ พลเมืองฝรั่งเศสที่ลงทะเบียนฉีดวัคซีนกับสถานทูตจะได้รับวัคซีนยี่ห้อจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (J&J) โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เนื่องจากรัฐบาลฝรั่งเศสเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ทั้งนี้ สถานทูตระบุว่าโครงการฉีดวัคซีนดังกล่าวจะสิ้นสุดในช่วงต้นเดือนก.ค. 2564
สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสระบุว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน มีข้อดีคือเป็นวัคซีนที่ฉีดเพียงเข็มเดียว โดยสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสดำเนินนโยบายตามกระทรวงสาธารณสุขฝรั่งเศสที่กำหนดให้ใช้วัคซีนชนิดดังกล่าวกับชาวฝรั่งเศสที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไปเท่านั้น และเป็นวัคซีนที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทย สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสคาดว่าแผนการฉีดวัคซีนนี้จะช่วยให้พลเมืองของฝรั่งเศสที่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางและมีข้อจำกัดในการเดินทางสามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วที่สุด
สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสระบุว่าได้ขออนุญาตอย่างเป็นทางการจากทางการไทยเพื่อจัดโครงการฉีดวัคซีนให้แก่พลเมืองฝรั่งเศสในประเทศไทย โดยจะปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขและข้อบังคับทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อให้พลเมืองฝรั่งเศสในประเทศไทยมีทางเลือกในการฉีดวัคซีนเท่าที่จะสามารถดำเนินการได้ นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสยังให้คำมั่นกัลพลเมืองฝรั่งเศสในประเทศไทยว่าจะพยายามต่อไปเพื่อให้ชาวฝรั่งเศสที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้มีทางเลือกมากที่สุดในอนาคต
พลเมืองชาวฝรั่งเศสที่ประสงค์ฉีดวัคซีนกับทางสถานเอกอัครราชทูตฯ ต้องมีสัญชาติฝรั่งเศส มีอายุ 55 ปีขึ้นไป (อายุครบ 55 ปีในวันฉีดวัคซีน) และต้องแสดงหนังสือเดินทางฝรั่งเศสหรือบัตรประจำตัวประชาชนฝรั่งเศสในวันฉีดวัคซีน โดยหลังจากฉีดวัคซีนแล้ว จะได้รับใบรับรองการฉีดวัคซีนที่มีตราโรงพยาบาลเป็นภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ และไทย ทั้งนี้ วัคซีนโควิด-19 ที่ทางการฝรั่งเศสรับรอง ได้แก่ ไฟเซอร์ (Pfizer), โมเดอร์นา (Moderna), แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (J&J)
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2564 อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน [1]ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ภายหลังการหารือกับซีบีย์ เดอ การ์ทีเย ดีฟว์ เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเบลเยียมประจำประเทศไทย และตีแยรี มาตู เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ดกี่ยวกับการดูแลประชากรทั้ง 2 ประเทศที่อยู่ในประเทศไทย โดยอนุทินกล่าวว่าเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสได้หารือเรื่องการนำเข้าวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย. ไว้แล้ว จำนวน 1 หมื่นกว่าโดสเพื่อฉีดให้คนฝรั่งเศสอายุ 45 ปีขึ้นไปที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งทางกรมควบคุมโรคเห็นชอบแล้ว โดยจะนำเข้ามาในปลายเดือนมิถุนายนนี้ ขณะที่เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเบลเยียมขอให้ทางการไทยช่วยดูแลรักษาคนเบลเยียม โดยเก็บค่ารักษาจากประกันสังคมของเบลเยียม และขอให้พิจารณาการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้คนเบลเยียมที่มีครอบครัวและพำนักในประเทศไทยในจังหวัดต่างๆ ซึ่งอนุทินได้ให้ความมั่นใจว่า รัฐบาลไทยมีนโยบายฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทุกคนในประเทศ โดยแนะนำการลงทะเบียนให้ถูกต้อง เพื่อรับวัคซีนในโอกาสต่อไป เนื่องจากไม่มีใครปลอดภัย จนกว่าทุกคนจะปลอดภัย
'เพื่อไทย' เสนอข้อเรียกร้อง 7 ข้อ แนะรัฐบาลเปิด 'วัคซีนเสรี'
มติชนออนไลน์ [2]และสยามรัฐ [3] รายงานตรงกันว่า วันนี้ (24 มิ.ย. 2564) เวลา 14.00 น. ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส. จ.นครราชสีมาและเลขาธิการพรรคเพื่อไทย แถลงที่รัฐสภาถึงกรณีการฉีดวัคซีนที่ล่าช้าของรัฐบาล พร้อมเสนอข้อเรียกร้อง 7 ข้อในการแก้ปัญหาการฉีดวัคซีน โดยระบุว่าพรรคเพื่อไทยไม่อาจนิ่งเฉยกับความล้มเหลวซ้ำซากของรัฐบาลในการแก้ไขวิกฤตโรคระบาด ขาดวิสัยทัศน์ ไร้ยุทธศาสตร์ มองไม่เห็นความทุกข์ซ้ำทุกข์ซ้อนของพี่น้องประชาชนแบบนี้ไม่ได้อีกต่อไป เพื่อให้พร้อมต่อประกาศเปิดประเทศของรัฐบาล ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า อันเป็นทั้งความหวังและความกังวลของประชาชนคนไทยอันจะเป็นการเปิดทางสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทยขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขวิกฤตโควิด โดยดำเนินการตามมาตรการดังต่อไปนี้
- การควบคุมโรคระบาดต้องควบคู่ไปกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทั้งสองเรื่องนี้เป็นภารกิจสำคัญที่รัฐบาลต้องให้น้ำหนักสูงทัดเทียมสมดุลกัน
- เปิด "วัคซีนเสรี" อนุญาตให้เอกชนที่มีศักยภาพ สามารถนำเข้าวัคซีนที่องค์การอนามัยโลก (WHO) รับรองได้ทันที รัฐบาลต้องอำนวยความสะดวกให้เอกชนมีส่วนร่วมในการจัดหาวัคซีน อันจะทำให้ได้วัคซีนที่หลากหลาย เพื่อให้พร้อมรองรับสถานการณ์การกลายพันธ์ุของเชื้อ และความเหมาะสมของประชาชนกลุ่มเป้าหมายต่างๆ กันในจำนวนที่เพียงพอ และจัดทำแผนการกระจายวัคซีนที่มีศักยภาพให้ทันต่อการเปิดประเทศ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจโดยเร็วที่สุด วันนี้ประชาชนจำนวนมากที่เฝ้ารอวัคซีนต้องการคำตอบจากรัฐบาลว่าเหตุใดการดำเนินการจัดซื้อวัคซีนบางยี่ห้อจึงมีความล่าช้า ในขณะที่วัคซีนบางยี่ห้อที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคด้อยกว่า กลับมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
- เร่งจัดหาวัคซีนชนิด mRNA อันได้แก่ ไฟเซอร์ และ โมเดอร์นา มาเพิ่มเติมให้เร็วที่สุด เนื่องจากมีการศึกษาที่ชัดเจนว่าวัคซีนชนิดนี้มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อสูง และสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ๆ ขณะนี้ได้ดี
- รัฐบาลต้องปลดเปลื้องข้อจำกัดด้านสถานการณ์ที่โรงพยาบาลไม่รับตรวจเพราะเกรงว่าเตียงจะไม่เพียงพอ ปรับระบบการบริหารจัดการของรัฐร่วมกับภาคเอกชน และอาสาสมัครให้ยืดหยุ่นคล่องตัวสอดคล้องกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่จำนวนผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนถึง 3-4 พันรายต่อวัน เป็นเวลาหลายวันติดต่อกัน วันนี้เกิดปัญหาสถานการณ์ของการไม่ยอมรับตรวจหาเชื้อ เพราะเกรงจะไม่มีเตียงพอรับผู้ป่วย มีผู้ป่วยติดเชื้อรายที่รอลำเลียงไปหลายวันเพราะรอเตียง ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการจัดปรับระบบการบริหารจัดการให้ทันการณ์
- จัดเพิ่มเตียง อุปกรณ์ทางการแพทย์ และที่สำคัญการบริหารบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วยหนักที่เพิ่มอย่างรวดเร็ว ทันการณ์
- เร่งจัดหา Rapid self test ทำการตรวจหาเชื้อให้เป็นไปได้ง่าย ประชาชนทำได้ด้วยตัวเอง และอ่านผลรวดเร็ว เพื่อให้การสืบค้น "ผู้สงสัยติดเชื้อ" เบื้องต้นทำได้เร็ว ทั่วถึง เพื่อเลือกเฉพาะรายที่ให้ผลบวก รับการตรวจยืนยันด้วย PCR อีกครั้ง เพื่อจำกัดการแพร่ระบาดได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
- ต้องปรับเปลี่ยนการสื่อสารกับประชาชนที่จะต้องตรงไปตรงมา เพื่อฟื้นความน่าเชื่อถือของภาครัฐ ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยขอเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดนำการเมืองมานำการแพทย์ หยุดเปิดช่องทางแสวงหาประโยชน์บนความเป็นความตายของพี่น้องประชาชน วันนี้ท่านกำลังนำพาประเทศและประชาชนคนไทยไปสู่ความสิ้นหวังครั้งร้ายแรงที่สุด รัฐบาลต้องเรียนรู้ความผิดพลาดล้มเหลว แล้วเร่งกระจายวัคซีนให้หลากหลาย ทั่วถึง รวดเร็ว และทันการณ์ ซึ่งจะเป็นบันไดขั้นแรกในการแก้ไขวิกฤต ฟื้นฟูประเทศให้กลับมามีความหวังอีกครั้ง
'ประยุทธ์' พบทูตอิสราเอล ชมฉีดวัคซีนได้รวดเร็ว
ขณะเดียวกัน มติชนออนไลน์ [4] รายงานว่า เข้าวันนี้ (24 มิ.ย. 2564) ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมอีร์ ชโลโม เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย เดินทางเข้าเยี่ยม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสพ้นจากหน้าที่ โดยนายกฯ กล่าวขอบคุณเอกอัครราชทูตที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย-อิสราเอลตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้อย่างดียิ่ง และเชื่อมั่นว่าทั้งสองประเทศยังมีความร่วมมือที่มีศักยภาพต่อกันอีกมาก และขอให้สานต่อความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ด้านเอกอัครราชทูตกล่าวขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น พร้อมยืนยันว่าจะสานต่อความสัมพันธ์และความร่วมมือทวิภาคีในด้านต่างๆ ให้เพิ่มมากขึ้นและเชื่อมั่นว่ารัฐบาลไทยจะสามารถบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ เอกอัคราชทูตอิสราเอลแสดงความสนใจโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) เป็นอย่างมาก เพราะประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่ชาวอิสราเอลนิยมเดินทางมาท่องเที่ยว นายกฯ จึงกล่าวกับเอกอัครราชทูตว่าขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลที่ฉีดวัคซีนครบแล้วให้สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวที่ จ.ภูเก็ตได้ตามข้อกำหนด ซึ่งถือเป็นโครงการนำร่องที่มีแผนจะขยายไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น เกาะพะงัน เกาะสมุย เกาะพีพี เป็นต้น
อนึ่ง ข้อมูลจาก Open World Data เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2564 ระบุว่าประชาชนชาวอิสราเอลฉีดวัคซีนเข็มแรกและเข็มที่ 2 แล้วกว่า 10 ล้านคน โดยในจำนวนนี้กว่า 5.15 ล้านคนได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว หรือคิดเป็น 56.9% ของประชากรทั้งประเทศ ทั้งนี้ วัคซีนที่ทางการอิสราเอลฉีดให้กับประชาชน คือ ไฟเซอร์ (Pfizer) และโมเดอร์นา (Moderna) โดยก่อนหน้านี้ สำนักข่าวเดอะไทม์สออฟอิสราเอล [5] รายงานว่า รัฐบาลอิสราเอลจองซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกาประมาณ 10 ล้านโดสเพื่อนำมาใช้เป็นวัคซีนทางเลือกให้แก่ประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอิสราเอลมีแผนจะยกเลิกดีลดังกล่าว เพราะกังวลเรื่องผลข้างเคียงกรณีลิ่มเลือดแข็งตัว โดยอาจจะขายต่อวัคซีนแอสตราเซเนกาที่ซื้อมาให้กับประเทศอื่นหรือส่งคืนให้กับบริษัท