เปิดรายชื่อคนดังในเอกสารที่ 'สนธิญา' มอบให้ ผบช.น. ขานรับคำเตือน รมว.ดีอีเอส เอาผิดข่าวปลอม
สนธิญาหอบรายชื่อคนดังกว่า 20 รายชื่อ เข้าร้องเรียนต่อ ผบช.น. ให้ตรวจสอบการแสดงความคิดเห็นของศิลปินดาราและบุคคลที่มีชื่อเสียง ขานรับคำพูดเมื่อวานนี้ของ 'ชัยวุฒ' รมว.ดีอีเอส ที่เตือนคนดังในวงการบันเทิงให้ระวังการโพสต์ข้อความโจมตีรัฐบาล โดยคนดังที่ปรากฏชื่อในเอกสาร ได้แก่ มิลลิ (MILLI), เอกชัย ศรีวิชัย, ปุ้ย พิมลวรรณ, แม็กซ์ เจนมานะ, เพชร กรุณพล และมดดำ คชาภา ด้าน 'มิลลิ' เตรียมเข้ารับฟังข้อกล่าวหาคดีโพสต์ข้อความอันเป็นเท็จที่ สน.นางเลิ้งพรุ่งนี้ (22 ก.ค. 2564) เวลา 10.00 น.
21 ก.ค. 2564 มติชนออนไลน์ [1] และไทยรัฐออนไลน์ [2]รายงานว่าวันนี้ (21 ก.ค. 2564) สนธิญา สวัสดี ที่ปรึกษากรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนสภาผู้แทนราษฎร และอดีตผู้สมัครสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เดินทางไปที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ให้ตั้งคณะกรรมการติดตาม กำกับ ดูแล ตรวจสอบการแสดงความคิดเห็นของดารา นักร้อง และผู้มีชื่อเสียงเกี่ยวกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ในปัจจุบันที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดต่อ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ
สนธิญา กล่าวว่า การยื่นหนังสือในครั้งนี้ไม่ใช่การแจ้งความเพื่อดำเนินคดี แต่ตนเพียงต้องการให้ตำรวจตรวจสอบการแสดงความคิดเห็นของบุคคลที่มีชื่อเสียง เนื่องจากในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มคนมีชื่อเสียงจำนวนมากได้แสดงความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง จึงขอให้กองบัญชาการตำรวจนครบาลตักเตือนและตรวจสอบเพื่อให้เกิดข้อเท็จจริงในสังคม พร้อมกันนี้ สนธิญาได้นำรายชื่อดารา นักร้อง และผู้มีชื่อเสียง จำนวนกว่า 20 รายชื่อแนบประกอบมาในเอกสาร เพื่อให้ตำรวจดำเนินการตรวจสอบพฤติกรรม และยืนยันว่าการแสดงความคิดเห็นเป็นเรื่องที่คนไทยสามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบความถูกต้อง คำนึงถึงความเป็นจริง รวมถึงข้อบังคับทางกฎหมายด้วย
ต่อมาเวลา 16.08 น. ข่าวสดออนไลน์ [3] รายงานว่า ดนุภา คณาธีรกุล หรือมิลลิ (MILLI) นักร้องวัย 18 ปี ผู้เข้าประกวดในรายการเดอะแร็ปเปอร์ ซีซันที่ 2 และเจ้าของเพลงดังอย่างพักก่อน, สุดปัง เป็นหนึ่งในบุคคลที่มีชื่อเสียง ซึ่งปรากฏชื่ออยู่ในหนังสือที่สนธิญาส่งถึงผู้บัญชาการตำรวจนครบาล นอกจากนี้ ข่าวสดออนไลน์ยังรายงานเพิ่มเติมว่าก่อนหน้านี้ มิลลิได้รับหมายเรียกจาก สน.นางเลิ้ง ให้เข้ารับฟังข้อกล่าหาเรื่องการโพสต์ข้อความอันเป็นเท็จ และจะเดินทางไปรับฟังข้อกล่าวหาดังกล่าวในวันพรุ่งนี้ (22 ก.ค. 2564) เวลา 10.00 น.
ทั้งนี้ ประชาไทได้ตรวจสอบภาพศิลปินดาราที่ปรากฎในเอกสารที่สนธิญาแสดงต่อหน้าสื่อมวลชนก่อนส่งมอบให้แก่ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พบว่า เป็นภาพที่ปรินต์มาจากข่าวของสำนักข่าวประชาชาติธุรกิจ [4] ที่รวบรวมเสียงสะท้อนและความเห็นของบุคคลในวงการบันเทิงที่มีต่อการจัดการโควิด-19 ของรัฐบาล ซึ่งนอกจากมิลลิแล้ว ยังมีเอกชัย ศรีวิชัย นักร้องลูกทุ่ง, พิมลวรรณ หุ่นทองคำ (ปุ้ย) พิธีกร, ณัฐวุฒิ เจนมานะ (แม็กซ์) นักร้อง, กรุณพล เทียนสุวรรณ (เพชร) นักแสดง และคชาภา ตันเจริญ (มดดำ) พิธีกร รวมอยู่ด้วย

'ชัยวุฒิ' รมต.ดีอีเอส เตือนคนดังอย่าโพสต์การเมือง พร้อมเดินหน้าเอาผิดคนโพสต์หมิ่นฯ #ม็อบ18กรกฎา
วานนี้ (20 ก.ค. 2564) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เผยแพร่ข่าวผ่านเว็บไซต์ [5] ซึ่งระบุว่า ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ กล่าวว่า จากกรณีสถานการณ์การชุมนุมที่ผ่านมา และมีการโพสต์หรือส่งต่อข้อความที่เข้าข่ายการกระทำความผิด ศูนย์เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การชุมนุมและใช้โซเชียลมีเดีย กระทรวงดิจิทัลฯ พบว่ามีการโพสต์หรือแชร์ข้อความที่เข้าข่ายการกระทำความผิด ทั้งหมด 147 ราย แบ่งเป็นจากเฟซบุ๊ก 15 ราย จากทวิตเตอร์ 132 ราย ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการตามข้อกฎหมาย
สำหรับการโพสต์หรือแชร์ข้อความผิดกฎหมายลงในระบบคอมพิวเตอร์หรือผ่านโซเซียลมีเดีย จะมีโทษตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) การนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดใดอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
"ผมอยากเตือนผู้ใช้สื่อออนไลน์ทุกคนด้วยความห่วงใยว่า ให้เพิ่มความระมัดระวังในการโพสต์ เพราะหากโพสต์ข้อความที่เป็นเท็จ สร้างข่าวปลอมในระบบคอมพิวเตอร์ รวมถึงการแชร์ข้อความเท็จนั้น ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย รวมทั้งให้มีความตระหนักในการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการฝ่าฝืนข้อกำหนดหรือกฎหมายในช่วงสถานการณ์วิกฤติโควิด" ชัยวุฒิกล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ และกองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานติดตามความเคลื่อนไหวสถานการณ์ชุมนุมโดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ นอกจากติดตามแล้วก็จะสืบค้นถึงต้นโพสต์ แม้จะเป็นอวตารก็จะหาตัวให้ได้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนำไปดำเนินคดีต่อไป
"ที่สำคัญกลุ่มดารานักแสดง Influencer เป็นบุคคลสาธารณะที่ประชาชนรักและศรัทธา ขอความกรุณาอย่าใช้สิ่งเหล่านี้เคลื่อนไหวทางการเมืองโจมตีรัฐบาล เพราะสิ่งที่ทำเป็นการบิดเบือนข้อมูล เป็นการสร้างเฟคนิวส์ขึ้นในระบบโซเชียลมีเดีย ท่านพูดแต่ว่าทุกวันนี้มีคนตายเป็นจำนวนมากเพราะโควิดเนื่องจากวัคซีนไม่ดีเป็นความผิดของรัฐบาลแล้วมันจริงหรือไม่ ขอให้อย่ามองเพียงด้านเดียว ต้องนึกถึงสิ่งที่รัฐบาลได้ทำมาได้จัดหาวัคซีนมาอย่างดีตามมาตรฐาน เทียบกับประเทศเพื่อนบ้านเราตอนนี้" ชัยวุฒิกล่าว พร้อมระบุเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน หากมองภาพรวมในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทย ได้รับการฉีดวัคซีนเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคนี้ ซึ่งช่วงวิกฤติที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนของประเทศไทย ได้ช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่เพื่อให้สถานการณ์การระบาดโควิด-19 คลี่คลายให้เร็วที่สุด จึงจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ร่วมแรงร่วมใจกันต่อสู้กับภัยโควิด บนพื้นฐานความปลอดภัยและความรับผิดชอบต่อสังคมในสถานการณ์นี้
อย่างไรก็ตาม ประชาไทตรวจสอบเพิ่มเติมเรื่องข้อมูลการฉีดวัคซีนล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2564 จากเว็บไซต์ Our World in Data [6] ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยด้านข้อมูลที่ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของสหราชอาณาจักร และเป็นหนึ่งในฐานข้อมูลเปิดออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก พบว่า ประเทศภูมิภาคอาเซียนที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงสุด 3 อันดับแรก คือ สิงคโปร์ กัมพูชา และมาเลเซีย ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 5 ไม่ใช่อันดับ 2 ตามคำกล่าวของรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯ

ทางด้าน พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยโดยรวมของประเทศ จากการชุมนุมที่ผ่านมา ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้มีการแจ้งเตือนประชาชนผู้ร่วมชุมนุมที่ผ่านมาหลายครั้ง โดยแจ้งว่าผู้ที่มีการชักชวน เชิญชวน ไม่ว่าด้วยประการหนึ่งประการใด ผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้งสื่อโซเชียล จะเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อีกส่วนหนึ่งด้วย รวมทั้งได้มีการประสานข้อมูลกับ รมว.ดีอีเอส เพื่อดำเนินการพิจารณาดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาได้ประสานงานกับศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) อย่างใกล้ชิดเพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ
"ขอย้ำเตือนอีกครั้งว่า การโพสต์เชิญชวนด้วยประการใดๆ ให้มีการร่วมกระทำผิดโดยเฉพาะการชุมนุมหรือการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นความผิดทางกฎหมาย ผู้โพสต์ ผู้เชิญชวน ผู้ประกาศส่งต่อด้วยประการหนึ่งประการใด จะเป็นความผิดตามกฎหมายที่ได้กล่าวไปแล้ว" พล.ต.ต.ปิยะกล่าว
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2564 กระทรวงดิจิทัลฯ รายงานว่า [7] พบการโพสต์หรือแชร์ข้อความที่ผิดกฎหมาย มีรายละเอียดข้อมูลที่รับแจ้งจากสื่อโซเชียล พบว่ามีข้อความที่น่าจะเข้าข่ายตรวจสอบทั้งหมด 67 เรื่อง แบ่งเป็นจากเฟซบุ๊ก 52 เรื่องทวิตเตอร์ 6 เรื่อง ยูทูบ 6 เรื่อง เวบบอร์ด 2 เรื่อง และคลับเฮาส์ 1 เรื่อง โดยเข้าข่ายกระทำความผิดตามพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จำนวน 4 เรื่อง
"ขอฝากเตือนไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมทุกท่านว่าการใช้โซเชียลมีเดีย ที่สร้างความเสียหายต่อบ้านเมือง และผิดกฎหมาย ทางกระทรวงดิจิทัลฯ ได้มีการติดตามความเคลื่อนไหว ตรวจสอบ รวบรวมพยานหลักฐานไว้ทั้งหมด แม้แต่ในคลับเฮาส์ที่ท่านใช้เป็นช่องทางในการนัดหมายรวมตัวกัน เราก็มีคนเข้าไปเป็นสมาชิก เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของท่านทั้งหมด โดยจะมีการดำเนินคดีกับแกนนำรวมถึงขบวนการที่ใช้โซเชียลในทางที่ผิดให้ถึงที่สุด" ชัยวุฒิกล่าว
สำหรับการโพสต์หรือแชร์ข้อความผิดกฎหมายลงในระบบคอมพิวเตอร์หรือผ่านโซเซียล จะมีโทษตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) (5) และมาตรา 16 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท รวมถึงมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท