Published on ประชาไท Prachatai.com (https://prachatai.com)

Home > ประชุม กมธ. พ.ร.บ.อุ้มหาย-ซ้อมทรมาน นัด 2 ถกนิยาม-เตรียมผลักดันให้ทันประชุมสภา พ.ย. นี้ > ประชุม กมธ. พ.ร.บ.อุ้มหาย-ซ้อมทรมาน นัด 2 ถกนิยาม-เตรียมผลักดันให้ทันประชุมสภา พ.ย. นี้

ประชุม กมธ. พ.ร.บ.อุ้มหาย-ซ้อมทรมาน นัด 2 ถกนิยาม-เตรียมผลักดันให้ทันประชุมสภา พ.ย. นี้

Submitted by Rat and Lion on Tue, 2021-10-12 21:15

เปิด 10 ข้อแนะนำหลังการประชุม กมธ. พิจารณาร่าง พ.ร.บ.อุ้มหาย-ซ้อมทรมาน ครั้งที่ 2 ถกคำนิยาม 'การทรมาน' หลักการและบทลงโทษ พร้อมเชิญผู้เชี่ยวชาญและผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมหารือ ด้าน ประธาน กมธ. เผยเตรียมผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เสร็จทันประชุมสภาเดือน พ.ย. นี้

12 ต.ค. 2564 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้แทนภาคประชาชนในคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …  รายงานว่าวันนี้ (12 ต.ค. 2564) เวลา 09.30 น. ณ สภาผู้แทนราษฎร กมธ. ได้จัดการประชุมครั้งที่ 2 ตามวาระกำหนด เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย ในวาระที่ 2 ให้แล้วเสร็จก่อนจะส่งเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ทันสมัยประชุมหน้า ซึ่งจะมีขึ้นในเดือน พ.ย. นี้ เพื่อมีมติผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวและประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

โดยที่ประชุมวันนี้ ได้รับเกียรติจาก ศ.กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ ศาสตราภิชานประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ ได้มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (ICPPED) ซึ่งอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับนี้เป็นที่มาของการร่างกฎหมายอนุวัติการที่มีเนื้อหาในการบัญญัติให้การทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดในทางอาญา และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการทบทวนรายมาตราอย่างละเอียดถี่ถ้วนในชั้น กมธ.วิสามัญ เพื่อให้นิยามความหมายของการกระทำผิด หลักการกฎหมาย และบทลงโทษมีความสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยมีพันธะผูกพัน

นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานราชการ อาทิ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม หน่วยงานอิสระ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น สมาคมเพื่อการป้องกันการทรมาน (APT) และภาคประชาชนอย่างเครือข่ายครอบครัวผู้เสียหายจากการทรมานและการบังคับสูญหาย เข้ามาร่วมสังเกตการณ์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … เพื่อนำไปใช้ในการพิจารณาร่างกฎหมายรายมาตราต่อไป

หลังการประชุมเสร็จสิ้น เวลา 11.30 น. ชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส. จ.นครพนม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ. แถลงข่าวกับสื่อมวลชนว่า วันนี้ กมธ. พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย ได้จัดการประชุมเป็นครั้งที่ 2 เพื่อดำเนินการให้ร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านกระบวนการในวาระที่ 2 โดยได้นำร่างกฎหมายที่มีชื่อเดียวกันมาร่วมพิจารณาทั้งสิ้น 4 ฉบับ ได้แก่ 1. ร่างของรัฐบาล โดยกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นร่างหลัก 2. ร่างของพรรคประชาชาติ 3. ร่างของพรรคประชาธิปัตย์ และ 4. ร่างของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน โดย สิระ เจนจาคะ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐและคณะ

“โดยที่ประชุม กมธ. วันนี้ ได้ปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่าการพิจารณาในวาระที่ 2 นี้ ควรเสร็จสิ้นภายในเดือน ต.ค. เพื่อให้ทันเสนอเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสมัยหน้าที่จะมีขึ้นเดือน พ.ย. นี้ และเพื่อให้ร่างนี้ผ่านการพิจารณาโดยรอบคอบ ก็อาจจะต้องทุ่มเท โดยอาจต้องเพิ่มวันประชุมเพื่อให้ร่างกฎหมายนี้ กลไกนี้ผ่านไปด้วยความรอบคอบ และเมื่อขณะเดียวกัน สังคมก้อยากให้กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ หลังจากที่มีคดี อดีต ผกก. ที่ จ.นครสวรรค์ การแถลงข่าววันนี้จึงเป็นการยืนยันว่า กมธ.มีความตั้งใจอย่างมากที่จะให้กฎหมายฉบับนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสมบูรณ์ และที่สำคัญคือต้องเป็นไปตามอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยได้ลงนามไว้” ชวลิต กล่าว

  • 'รังสิมันต์ โรม' ชี้รูรั่ว 5 ข้อของร่าง พ.ร.บ.อุ้มหายฉบับ ครม.-บก.ลายจุด เผย ตร.ใหญ่เคยล็อบบี้ถอน กม. [1]
  • #ประชุมสภา ผ่านวาระ 1 พ.ร.บ.ซ้อมทรมาน-อุ้มหาย พร้อมย้อนดูอภิปราย ส.ส. พูดอะไรบ้าง [2]

ด้าน รังสิมันต์ โรม รองประธาน กมธ. คนที่ 4 กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ได้รับการติดตามอย่างมากจากหน่วยงานระหว่างประเทศ อาจสรุปได้ว่า โลกกำลังจับตามองว่าการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้จะเป็นอย่างไร ในขั้นตอนการพิจารณาของ กมธ. เรามีความตั้งใจอย่างดีที่สุด เพื่อให้ร่างกฎหมายเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ทันสมัยประชุมหน้า เดือน พ.ย. นี้ และทำให้การพิจารณาร่างกฎหมายวาระที่ 2 และ 3 ผ่านพ้นไปได้อย่างรวดเร็วและลุล่วงไปได้ด้วยดี

“โดยกฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่กฎหมายที่มีขึ้นเพื่อคนบางคนหรือคนเฉพาะกลุ่ม แต่เราต้องการสร้างหลักประกันว่าสังคมของเราจะต้องปลอดภัย โดยเชื่อว่าถ้าเราสามารถผลักดันร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ให้ก้าวหน้าและประกาศใช้อย่างเป็นทางการได้เมื่อไร สังคมไทยก็จะมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น” รังสิมันต์กล่าว

รังสิมันต์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก Rangsiman Rome - รังสิมันต์ โรม [3] ระบุว่าวิทิตให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนากฎหมายป้องกันปราบปรามการทรมาน-อุ้มหายของไทย ซึ่งในบางเรื่องยังไม่มีในร่างฉบับของ ครม. ไว้ 10 ข้อด้วยกัน ได้แก่

  1. ต้องกำหนดนิยามความหมายของการทรมาน และการบังคับให้บุคคลสูญหาย ให้ชัดเจน ครอบคลุมทุกองค์ประกอบ รวมถึงกำหนดเรื่องของการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และลดทอนศักดิ์ศรี เอาไว้ด้วย
  2. ต้องกำหนดให้สิทธิในการไม่ถูกทรมาน-อุ้มหาย เป็นสิทธิเด็ดขาด จะอ้างเงื่อนไขใดๆ มายกเว้นไม่ได้ ไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องความมั่นคง
  3. การบรรจุหลักการห้ามผลักดันผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นทาง หากมีเหตุเชื่อได้ว่าการทำเช่นนั้นจะทำให้ได้รับอันตรายจากการทรมาน-อุ้มหาย ตามร่าง พ.ร.บ. นี้ (Non-refoulement)
  4. กำหนดให้ความผิดตามร่าง พ.ร.บ. นี้ครอบคลุมการกระทำผิดนอกราชอาณาจักรด้วย (Universal Jurisdiction)
  5. พัฒนากระบวนการสืบสวนสอบสวนให้เกิดความโปร่งใส เช่น มีอุปกรณ์บันทึกการสืบสวนสอบสวนอย่างรัดกุม
  6. กำหนดให้ความผิดตามร่าง พ.ร.บ. นี้เป็นความผิดต่อเนื่อง เริ่มนับอายุความเมื่อรู้เบาะแสพอสมควรถึงชะตากรรมของผู้ถูกกระทำ
  7. การตอบสนองและให้การคุ้มครองต่อเหยื่อ รวมถึงให้น้ำหนักแก่ครอบครัวผู้ถูกกระทำในฐานะที่เป็นเหยื่อด้วย
  8. การกำหนดโทษให้ได้สัดส่วนเหมาะสมกับความผิด
  9. การให้มีหน่วยงานตรวจสอบที่โปร่งใส โดยเฉพาะผู้ทำงานระดับปฏิบัติการที่มีความเป็นอิสระ
  10. การปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมาย โดยหวังว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะช่วยสร้างความเข้าใจใหม่ให้กับเจ้าหน้าที่ ว่าจริงๆ แล้วการมีกรอบกำหนดขอบเขตการใช้อำนาจนั้นจะเป็นผลดีต่อเจ้าหน้าที่เอง ในทางกลับกัน การให้อำนาจที่มากเกินไปเสียอีกที่อาจเป็นพิษภัยต่อบรรดาเจ้าหน้าที่ได้

นอกจากนี้ ยังมีผู้ให้ความเห็นท่านอื่นๆ ซึ่งรวมถึงตัวแทนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) และที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการ ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เช่น เรื่องการกำหนดให้ไม่มีอายุความ, การให้คณะกรรมการมีอำนาจสอบสวน มีสัดส่วนมาจากตัวแทนผู้เสียหาย, กระบวนการสอบสวนต้องไม่ได้มาจากหน่วยงานที่อาจเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด หรือหน่วยงานใต้บัญชาการของรัฐบาล, การให้ภาระรับผิดชอบในการทำกระบวนการสอบสวนให้โปร่งใสเป็นของฝ่ายเจ้าหน้าที่ เป็นต้น

ผู้จัดการออนไลน์ [4] รายงานเพิ่มเติมว่า ชวลิต แถลงข่าวหลังการประชุมเสร็จสิ้น โดยระบุว่า กมธ. มีแนวทางในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อุมหาย-ซ้อมทรมาร ใน 8 ประเด็น ได้แก่ 1) การกำหนดข้อยกเว้นการรับผิดหรือข้อแย้งกับ พ.ร.บ. 2) บทนิยามเกี่ยวกับการทรมาน การกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การควบคุมตัว การกระทำให้บุคคลสูญหาย ผู้เสียหาย เจ้าหน้าที่ของรัฐและคณะกรรมการ 3) มาตรการป้องกันและการแจ้งจับ 4) การสืบสวน สอบสวนเป็นคดีต่อเนื่อง การกำหนดอายุความ 5) อำนาจสอบสวนคดีความผิด 6) ความรับผิดของผู้บังคับบัญชา และการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ 7) การห้ามไม่ให้รับฟังพยาน หลักฐานจากการทรมาน และ 8) องค์ประกอบ การสรรหา และคุณสมบัติของคณะกรรมการ

นอกจากนี้ ไทยรัฐออนไลน์ [5] ยังรายงานโดยอ้างอิงคำพูดของศิริภา อินทวิเชียร รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษก กมธ. ซึ่งระบุว่าในการประชุมครั้งถัดไป กมธ. จะพิจารณากฎหมายเป็นรายมาตรา และพิจารณาการให้นิยามคำว่า “การทรมาน” ให้ครอบคลุมตามที่อนุสัญญาระหว่างประเทศ เนื่องจากกฎหมายไทยปัจจุบัน ไม่ได้ให้นิยามของคำว่า “การทรมาน” ไว้ โดย กมธ. จะยึดหลักการสร้างกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มีวิธีการคุ้มครองผู้ต้องหาให้ปลอดภัยจากการถูกกระทำทรมาน หรือทำให้สูญหายจากเจ้าหน้าที่รัฐ

ข่าว [6]
การเมือง [7]
สิทธิมนุษยชน [8]
ข่าว [9]
การเมือง [10]
สิทธิมนุษยชน [11]
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม [12]
รังสิมันต์ โรม [13]
ชวลิต วิชยสุทธิ์ [14]
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย [15]
พ.ร.บ.อุ้มหาย [16]
การซ้อมทรมาน [17]
กมธ. [18]
คณะกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร [19]
อุ้มหาย [20]
ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

Source URL: https://prachatai.com/journal/2021/10/95434

Links
[1] https://prachatai.com/journal/2021/10/95325
[2] https://prachatai.com/journal/2021/09/95010
[3] https://www.facebook.com/rangsimanrome
[4] https://mgronline.com/politics/detail/9640000101215
[5] https://www.thairath.co.th/news/politic/2217766
[6] https://prachatai.com/category/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7
[7] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87
[8] https://prachatai.com/category/%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99
[9] https://prachatai.com/category/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7-0
[10] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87-0
[11] https://prachatai.com/category/%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99-0
[12] https://prachatai.com/category/%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B8%A5%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%9C%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1
[13] https://prachatai.com/category/%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%8C-%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%A1
[14] https://prachatai.com/category/%E0%B8%8A%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%95-%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%8A%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B9%8C
[15] https://prachatai.com/category/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%84%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A2
[16] https://prachatai.com/category/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A2
[17] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%8B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%99
[18] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B8%98
[19] https://prachatai.com/category/%E0%B8%84%E0%B8%93%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3-%E0%B8%AA%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%81%E0%B8%97%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%8E%E0%B8%A3
[20] https://prachatai.com/category/%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A2