'เร็งโง' สหพันธ์แรงงานที่ทรงอิทธิพลของญี่ปุ่น เลือกผู้หญิงคนแรกเป็นประธาน
'โทโมโกะ โยชิโนะ' ผู้หญิงคนแรกที่ได้รับเลือกเป็นประธานของ 'เร็งโง' สหพันธ์แรงงานที่ทรงอิทธิพลของญี่ปุ่น ระบุว่าจะผลักดันการแก้ไขปัญหาช่องว่างระหว่างเพศในที่ทำงาน เพื่อช่วยเสริมศักยภาพผู้หญิงญี่ปุ่น
'โทโมโกะ โยชิโนะ' ผู้หญิงคนแรกที่ได้รับเลือกเป็นประธานของ 'เร็งโง' สหพันธ์แรงงานที่มีสมาชิกทั่วประเทศญี่ปุ่นกว่า 7 ล้านคน | ที่มาภาพ: JTUC-RENGO [1]
29 ต.ค. 2564 โทโมโกะ โยชิโนะ ผู้หญิงคนแรกที่ได้รับเลือกเป็นประธานของ 'เร็งโง' (RENGO) สหพันธ์แรงงานที่ทรงอิทธิพลของญี่ปุ่น ระบุว่าเธอจะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาช่องว่างระหว่างเพศทั้งด้านค่าจ้างและสภาพการทำงาน เพื่อช่วยเสริมศักยภาพของผู้หญิงในญี่ปุ่นให้มากขึ้น
โยชิโนะ ผู้ได้รับเลือกอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือน ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา ให้ดำรงตำแหน่งประธานเร็งโง ซึ่งเป็นสมาพันธ์แรงงานที่มีสมาชิกทั่วประเทศกว่า 7 ล้านคน กล่าวว่า "ฉันจะทำให้การดำเนินกิจกรรมทั้งหมดของเร็งโง มุ่งไปในทิศทางที่ส่งเสริมความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ"
โยชิโนะ ผู้นำหญิงคนแรกของเร็งโง ซึ่งเป็นสหพันธ์แรงงานที่เกิดจากการรวมตัวกันของสหภาพแรงงานและองค์กรแรงงานต่าง ๆ ในญี่ปุ่นในปี 2532 ก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเช่นกัน เพราะเธอทำงานในโรงงานผลิตจักรเย็บผ้าขนาดกลางหลังจากสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย และเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานที่ประกอบด้วยบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากผู้นำองค์กรแรงงานรุ่นก่อน ๆ ในญี่ปุ่น ที่มักเป็นผู้ชายที่ทำงานในบริษัทและเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่ใหญ่ ๆ เท่านั้น
ก่อนหน้านี้ในปี 2558 เธอได้รับเลือกเป็นรองประธานสมาคมแรงงานโลหะ เครื่องจักรและการผลิตแห่งประเทศญี่ปุ่น (JAM) ซึ่งยังเป็นครั้งแรกที่ตัวแทนของ JAM ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานของเร็งโง
โยชิโนะ วัย 55 ปี กล่าวว่าในตอนแรกแม้แต่เธอก็ยังสงสัยว่าภูมิหลังของเธอจะมีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งนี้หรือไม่
"แต่แล้วฉันก็นึกถึงผู้หญิงที่มีความสามารถหลายคนที่ต้องออกจากงานไป เพราะพวกเธอไม่ได้รับความก้าวหน้าในอาชีพ" โยชิโนะ กล่าว "ฉันควรทำต่อไป และตัดสินใจว่าจะไม่พลาดโอกาสนี้ที่จะทลายเพดานช่องว่างระหว่างเพศในญี่ปุ่น"
ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 120 จาก 156 ประเทศ ในการจัดอันดับช่องว่างทางเพศในปีนี้โดย World Economic Forum และแม้จะมีกฎหมายความเท่าเทียมทางเพศในญี่ปุ่น แต่ผู้หญิงกลับได้รับค่าจ้างต่ำกว่าผู้ชาย พวกเธอยังถูกกีดขวางไม่ให้ดำรงตำแหน่งบริหารในที่ทำงาน เช่น โรงเรียน และที่อื่น ๆ
ผลสำรวจคนทำงานเอกชนในญี่ปุ่น พบตำแหน่ง 'ผู้จัดการ' เป็น 'ผู้หญิง' เพียง 8.9% [2]
เผยคนทำงานภาครัฐในญี่ปุ่นตำแหน่ง ผอ. เป็นผู้หญิงเพียง 5.9% เท่านั้น [3]
ภารกิจสำคัญประการแรกของโยชิโนะ ได้แก่การเจรจาประจำปีระหว่างสหภาพแรงงานต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกของเร็งโงกับบริษัทต่าง ๆ เกี่ยวกับการเพิ่มเงินเดือนและปรับปรุงสภาพการทำงานให้ดีขึ้น รวมทั้งการเข้าร่วมการประชุมด้านเศรษฐกิจที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ 'ฟุมิโอะ คิชิดะ' เข้าร่วมด้วย โดยมีการเรียกร้องให้ภาคธุรกิจช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้วยการกระจายรายได้ผ่านการขึ้นเงินเดือนที่สูงขึ้นให้แก่พนักงาน
ในญี่ปุ่นผู้หญิงหลายคนต้องทำงานพาร์ทไทม์หรือทำงานชั่วคราว เนื่องจากบริษัทในญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมกีดกันกันไม่ให้พวกเธอกลับเข้าไปทำงานเต็มเวลาหลังจากลาคลอดและเลี้ยงดูบุตร ซึ่งเป็นบทบาทที่ผู้ชายญี่ปุ่นไม่กี่คนเท่านั้นที่จะช่วยภรรยาเลี้ยงดูบุตร และกลุ่มคนเหล่านี้คือผู้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากวิกฤต COVID-19
โยชิโนะ กล่าวว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องทบทวนแนวคิดดั้งเดิมเหล่านี้ รวมทั้งประเด็นค่าจ้างที่สมเหตุสมผลด้วย
"สังคมที่มีการสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานให้น่ารื่นรมย์สำหรับผู้หญิง จะเป็นที่พึงพอใจสำหรับทุกคน" เธอกล่าว "การเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้หญิง จะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้"
ที่มาเรียบเรียงจาก
First female to head Japan labor union vows to empower women (Japan Today, 23 October 2021) [4]
Yoshino to be 1st woman to chair Japan’s largest labor group (MARI FUJISAKI, The Asahi Shimbun, 29 September 2021) [5]