หลังรัฐประหาร แอมเนสตี้ฯ เคยรณรงค์ด่วนจี้ คสช.หยุดคุมตัว ปชช.โดยพลการ วันนั้น 'แรมโบ้' อาจอยู่ในค่าย
ในวันที่ 'เสกสกล' ประกาศเดิมพันตำแหน่งไล่แอมเนสตี้ฯ ชวนย้อนไปดูเมื่อ 7 ปีที่แล้ว หลังรัฐประหารแอมเนสตี้ฯ เองเคยรณรงค์ด่วนทั่วโลกจี้ คสช.หยุดคุมตัว ปชช.โดยพลการ ซึ่งวันนั้น 'แรมโบ้' อาจตกเป็นเป้าด้วย ก่อนที่ต่อมาเขาจะออกมาจับมือกับทหารพร้อมปฏิญาณตนต่อหน้าย่าโมว่าจะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต
26 พ.ย.2564 จากกรณีกลุ่มการเมืองอนุรักษ์นิยมขวาจัดรณรงค์ล่าล้านรายชื่อประชาชนปกป้องสถาบันกษัตริย์ ขับไล่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (Amnesty International Thailand) ออกจากประเทศไทย หลังเปิดตัวแคมเปญ "Write for Rights" หรือ "เขียน เปลี่ยน โลก" เชิญชวนประชาชนทั่วโลกเขียนจดหมายหลายล้านฉบับให้กำลังใจผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือครอบครัวโดยตรง โดยความไม่พอใจของกลุ่มการเมืองอนุรักษ์นิยมขวาจัดเกิดจาก แคมเปญของแอมเนสตี้ฯ มีชื่อ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ผู้มีบทบาทสำคัญในการรณรงค์เรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์แต่กลับซึ่งตกเป็นจำเลยคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ หรือ ม.112 และถูกคุมขังในทัณฑสถานหญิงกลางระหว่างการพิจารณา
เมื่อวันที่ 25 พ.ย.64 ไทยรัฐออนไลน์ไลน์ [1]และมติชนออนไลน์ [1]รายงานว่ากลุ่มพสกนิกรปกป้องสถาบันและศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เดินทางไปยื่นเรื่องกับศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล ขอให้ตรวจสอบการทำงานขององค์กรแอมเนสตี้ฯ โดยมี เสกสกล อัตถาวงศ์ หรือแรมโบ้ อีสาน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาเป็นตัวแทนรับหนังสือร้อง
"หากตนไล่แอมเนสตี้ฯ ออกจากประเทศไทยไม่ได้ ตนจะลาออกจากตำแหน่ง โดยไม่ออกนอกประเทศ เพราะต้องการมาขับเคลื่อนการไล่แอมเนสตี้ฯ ออกจากประเทศ ร่วมกับพี่น้องประชาชน" แรมโบ้ อีสาน กล่าว
เสกสกลกล่าวเพิ่มเติมว่าตนมี 2 แนวทางในการขับไล่แอมเนสตี้ ประเทศไทย คือ อย่างแรก ใช้วิธีกดดันด้วยกฎหมาย และอย่างที่สอง คือ กดดันด้วยพลังของประชาชนที่จงรักภักดีกับสถาบันกษัตริย์ พร้อมเน้นย้ำกว่าตนเป็นผู้ที่รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และพร้อมพลีชีพหากมีใครคิดล้มล้างสถาบันฯ
ทั้งนี้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุตัวเองว่า "เป็นองค์กรที่รณรงค์ในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนโดยไม่ฝักใฝ่อุดมการณ์ทางการเมือง หรือลัทธิใดๆ เน้นทำงานเกี่ยวกับการรณรงค์เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม และการให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนแก่ประชาชนทั่วไปเท่านั้น เนื่องจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีพันธกิจเพียงเพื่อให้สังคมเกิดการตระหนักถึงสิทธิมนุษยชน"
ภาพที่ถูกเผยแพร่วันที่ 23 พ.ย.2557 หรือ 1 วันหลังรัฐประหาร
อนึ่ง หากย้อยกลับไปหลังรัฐประหารปี 57 แกนนำเสื้อแดง นักการเมือง นักเคลื่อนไหว ผู้สื่อข่าว นักวิชาการ และผู้ชุมนุม จำนวนมากถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือทหารควบคุมตัวโดยพลการ ซึ่งหนึ่งในนั้นปรากฏ แรมโบ้ อีสาน ประธาน อพปช. หนึ่งในแกนนำเสื้อแดง ถูกทหารควบคุมตัวด้วย โดย 23 พ.ค.2557 หลังรัฐประหาร 1 วัน สื่อโพสต์ทูเดย์ [2] ข่าวสดออนไลน์ [3]และสนุก [4] รายงานว่า ทหารควบคุมตัวที่บ้านพัก โดยมีภาพที่ถูกส่งต่อในกลุ่มคนเสื้อแดงด้วยกันทางโซเซียลมีเดีย จนต่อ 30 พ.ค. 2557 โพสต์ทูเดย์ [5]รายงานภาพ แรมโบ้ อีสาน จับมือกับทหารหน้า อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา พร้อมระบุว่า เขาปฏิญาณตนว่าจะเลิกเล่นการเมือง เลิกยุ่งเกี่ยวกับการเมืองตลอดชีวิต
ภาพวันที่ 30 พ.ค.2557 แรมโบ้ อีสาน จับมือกับทหารหน้า อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา พร้อมระบุว่า เขาปฏิญาณตนว่าจะเลิกเล่นการเมือง เลิกยุ่งเกี่ยวกับการเมืองตลอดชีวิต (ที่มาภาพโพสต์ทูเดย์ [5])
ระหว่างที่มีแกนนำเสื้อแดง นักการเมือง นักเคลื่อนไหว ผู้สื่อข่าว นักวิชาการ และผู้ชุมนุม จำนวนมากถูก ทหาร คสช.ควบคุมตัวโดยพลการ นั้น 28 พ.ค.2557 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออก ‘ปฏิบัติการด่วน’ (Urgent Action) เชิญชวนสมาชิกทั่วโลก ส่งจดหมายถึงหัวหน้า คสช. โดยระบุว่าประชาชนกว่าร้อยคนมีความเสี่ยงถูกควบคุมตัวโดยพลการ
โดยข้อเรียกร้องในจดหมายของแอมเนสตี้ฯ ขณะนั้นคือ
- เรียกร้องให้ทางการต้องไม่ควบคุมตัวบุคคลเพียงเพราะเป็นการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสงบ การชุมนุมหรือการสมาคมอย่างสงบ รวมทั้งการเป็นสมาชิกของกลุ่มการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
- เรียกร้องให้กองทัพตั้งข้อหาอาญาตามกฎหมายต่อบุคคลที่ถูกควบคุมตัว หรือไม่เช่นนั้นต้องปล่อยตัวโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข
- เรียกร้องให้ทางการอนุญาตให้บุคคลที่ถูกควบคุมตัวสามารถเข้าถึงทนายความ ศาลพลเรือนที่เป็นอิสระโดยทันที เพื่อให้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการจับกุม และเพื่อแจ้งให้ครอบครัวทราบ และให้สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่จำเป็น
- เรียกร้องทางการให้ประกาศรายชื่อบุคคลที่ถูกควบคุมตัวและสถานที่ควบคุมตัวอย่างเป็นทางการ
เกี่ยวกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล 25 พ.ย.ที่ผ่านมา ฝ่ายสื่อสารของแอมเนสตี้ฯ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรต่อสื่อมวลชนดังนี้
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล คือขบวนการของคนธรรมดามากกว่า 10 ล้านคนทั่วโลกที่ร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคมที่เท่าเทียมและยุติธรรมสำหรับทุกคน เป็นอีกหนึ่งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หรือ เอ็นจีโอ ที่เข้ามาบทบาทในประเทศไทย จากการทำกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ เพื่อเรียกร้องสิทธิให้แก่ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ แต่ถึงกระนั้นหลายคนก็ยังคงมีความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
วันนี้เราจึงขอพาทุกคนมาทำความรู้จักกับองค์กรของเรากันอีกครั้ง ผ่าน 6 ความจริงที่หลายคงยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
แอมเนสตี้เข้ามามีบทบาทในไทยจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519
- จดหมายนับแสนฉบับที่ถูกส่งมายังรัฐบาลไทยเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักศึกษาและประชาชนที่ถูกจับกุมจากการประท้วง ซึ่งจดหมายเหล่านั้นมาจากผู้สนับสนุนแอมเนสตี้ทั่วโลก
สำนักงานใหญ่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
- สถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่หลายคนยังคงมีความเข้าใจผิดที่ว่าตั้งอยู่ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งในความเป็นจริงแอมเนสตี้มีจุดกำเนิดมาจาก ปีเตอร์ เบเนนสัน ทนายความชาวอังกฤษผู้เขียนบทความเรียกร้องปล่อยตัวนักศึกษาชาวโปรตุเกสสองคนที่โดนรัฐบาลเผด็จการจับติดคุกเพียงเพราะดื่มเหล้าและชนแก้วสดุดีเสรีภาพ ดังนั้นจึงทำให้สำนักงานใหญ่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลตั้งอยู่ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
เงินสนับสนุนของแอมเนสตี้
- เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชนให้แก่ผู้ที่ถูกละเมิดผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งอาจทำให้หลายคนสงสัยว่าเรามีเงินจัดกิจกรรมเหล่านั้นได้อย่างไร และบางคนมีความเข้าใจผิดที่ว่าแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นองค์กรที่รับเงินมาจากรัฐบาลต่างประเทศ แต่ในความเป็นจริงเงินทุนสำหรับการจัดกิจกรรมของเราล้วนแต่มาจากการรับบริจาคของบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจด้านสิทธิมนุษยชน และค่าสมัครสมาชิกในแต่ละปี เพราะแอมเนสตี้เป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหาผลกำไร และปฏิเสธที่จะรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล หรือแหล่งทุนอื่นๆ
เป็นองค์กรที่ไม่ฝักใฝ่ทางการเมือง
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นองค์กรที่รณรงค์ในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนโดยไม่ฝักใฝ่อุดมการณ์ทางการเมือง หรือลัทธิใดๆ เน้นทำงานเกี่ยวกับการรณรงค์เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม และการให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนแก่ประชาชนทั่วไปเท่านั้น เนื่องจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีพันธกิจเพียงเพื่อให้สังคมเกิดการตระหนักถึงสิทธิมนุษยชน
มีสำนักงานกระจายตัวอยู่ทั่วโลก
- เนื่องด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในสังคมเราในปัจจุบันยังคงมีผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิอยู่มากมาย จึงทำให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลที่มีสมาชิกและผู้สนับสนุนกว่า 10 ล้านคน ในกว่า 150 ประเทศทั่วโลก และมีสำนักงานกระจายตัวอยู่กว่า 70 ประเทศ ยังคงต้องยืนหยัดที่จะต่อสู้เพื่อความถูกต้องและเพื่อให้สังคมเกิดความเท่าเทียมกันทางด้านสิทธิมนุษยชน และการที่เรามีสำนักงานกระจายตัวอยู่ในหลายประเทศก็สามารถทำให้เราทราบได้ว่าสถานการณ์ของโลก ณ ตอนนี้เป็นอย่างไร
ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมาแล้วกว่า 60 ปี
- ตลอดระยะเวลาการทำงานเพื่อสังคมที่ผ่านมาแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนมาแล้วกว่า 6 ทศวรรษ เรายังคงยืนหยัดที่จะต่อสู้เพื่อให้สิทธิมนุษยชนเกิดความเท่าเทียมมากกว่าที่เป็น จนทำให้เกิดความสำเร็จมากมาย อาทิการได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญในการปกป้องเสรีภาพ ความยุติธรรม และสันติภาพในโลกในปี 2520 หรือล่าสุด ฆาลิด ดราเรนี นักข่าวชาวแอลจีเรียได้รับการปล่อยตัว หลังจากถูกคุมขังเพียงเพราะทำหน้าที่รายงานข่าวเมื่อปี 2563
นอกจากนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังคงทำหน้าที่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้กับบุคคลที่ถูกละเมิด เพราะเรามีความเชื่อมั่นว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาล้วนมีความเท่าเทียม ไม่ควรมีใครถูกกดให้ต่ำลง