Published on ประชาไท Prachatai.com (https://prachatai.com)

Home > 'พีมูฟ' ชู 12 ข้อเรียกร้อง ปักหลักชุมนุมหน้ายูเอ็น 20 ม.ค. จี้ทวงคืนอำนาจประชาชน > 'พีมูฟ' ชู 12 ข้อเรียกร้อง ปักหลักชุมนุมหน้ายูเอ็น 20 ม.ค. จี้ทวงคืนอำนาจประชาชน

'พีมูฟ' ชู 12 ข้อเรียกร้อง ปักหลักชุมนุมหน้ายูเอ็น 20 ม.ค. จี้ทวงคืนอำนาจประชาชน

Submitted by XmasUser on Wed, 2022-01-19 16:41

รายงาน : พชร คำชำนาญ

พีมูฟ แถลงชู 12 ข้อเรียกร้องเชิงนโยบาย ประกาศปักหลักชุมนุมหน้ายูเอ็น 20 ม.ค. นี้ จี้ทวงคืนอำนาจประชาชน ยันทุกกรณีให้ ครม. รับทราบ ประธานพีมูฟย้ำ ชุมนุมครั้งสุดท้ายในรัฐบาลเผด็จการ พร้อมขับเคลื่อนให้สังคมได้รับความยุติธรรม

 

19 ม.ค. 2565 พชร คำชำนาญ รายงานวันนี้ (19 ม.ค.) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ (P-MOVE) แถลงข่าวประกาศปักหลักชุมนุมหน้าองค์การสหประชาชาติ หรือ UN ตั้งแต่ 20 ม.ค.นี้เป็นต้นไป หลังชุมนุมครั้งสุดท้ายเมื่อ มี.ค. 64 ที่ต่อสู้เรียกร้องจนได้บันทึกข้อตกลงการแก้ไขปัญหารายกระทรวง แต่ก็ยังไม่อาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหารายกรณี และเชิงนโยบายได้ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่รัฐบาลเปิดให้มีการเจรจาทางช่องทางออนไลน์

“สถานการณ์การละเมิดสิทธิยังคงปรากฏอยู่ทั่วทุกหัวระแหง พวกเรายังคงเผชิญความลำบากยากแค้น ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ในขณะที่รัฐบาลและข้าราชการยังคงใช้ลมปากหลอกลวงหล่อเลี้ยงเราให้อยู่ได้ด้วยความหวังไปวันๆ สถานการณ์ทางนโยบายยังคงเดินหน้ากดทับ ลดทอนสิทธิอันพึงมีของพวกเราอย่างต่อเนื่อง กฎหมายหลายฉบับกำลังเรียงแถวออกมามีผลบังคับใช้ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องของพวกเราว่าเราไม่ต้องการ ในขณะที่กฎหมายและนโยบายที่พวกเราลงแรงผลักดัน กลับไม่ได้รับการเหลียวแล” แถลงการณ์ระบุ

จำนงค์ หนูพันธ์ ประธานคณะกรรมการบริหารพีมูฟ ได้แถลง 12 ข้อเรียกร้องเชิงนโยบายทั้งหมด อาทิ การเดินหน้าโฉนดชุมชน การผลักดันร่างพระราชกฤษฎีกานิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวกับปัญหาป่าไม้และที่ดิน การทบทวนพระราชบัญญัติป่าชุมชน พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 การแก้ปัญหาที่ดินการรถไฟ การผลักดันแนวทางธนาคารที่ดินตามเจตนารมณ์การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ผลักดันกฎหมายคุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ กรณีกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเขตเศรษฐกิจแม่สอด และกรณีปัญหาการละเมิดสิทธิชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จ.เพชรบุรี เป็นต้น โดยทุกประเด็นต้องนำขึ้นสู่การเจรจาและเข้าสู่คณะรัฐมนตรีให้มีมติเห็นชอบเท่านั้น

จำนงค์ หนูพันธ์ ประธานคณะกรรมการบริหารพีมูฟ

“เรายืนยันว่าในการชุมนุมปักหลักในครั้งนี้ ทุกกรณีจะต้องนำเข้า ครม. เพื่อให้เห็นชอบเท่านั้น และยืนยันว่า การบริหารประเทศของรัฐบาลนี้ตั้งแต่ยึดอำนาจเมื่อปี 2557 จนถึงเลือกตั้งเมื่อปี 2562 การแก้ไขปัญหาของพี่น้องไม่ได้รับการแก้ปัญหา แม้แต่เรื่องปากท้อง เรื่องค่าครองชีพ ซึ่งทำให้ข้าวยากหมากแพง เราก็ ยืนยันอีกครั้งว่าการชุมนุมครั้งนี้จะเป็นการชุมนุมเพื่อเจรจากับพลเอกประบุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรัฐบาลที่เป็นเผด็จการ เป็นการชุมนุมและเจรจากับรัฐบาลนี้ครั้งสุดท้าย โดยเปิดให้มีการเจรจาโดยเปิดเผย เราพร้อมที่จะขับเคลื่อนให้สังคมได้รับความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม” จำนงค์กล่าว

ประธานคณะกรรมการบริหารพีมูฟยังยืนยันว่า การกลับมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่ใช่การร้องขอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่รัฐและกลุ่มชนชั้นนำได้สร้างขึ้นมาเพื่อกดทับคนจน แต่คือการที่พวกตนในนามประชาชนอันเป็นผู้ทรงสิทธิ์บนผืนแผ่นดินนี้จะกลับมาทวงคืนสิทธิอันพึงมีที่ถูกพรากไป จักประกาศให้สังคมตระหนักว่า สิทธิในที่ดิน ที่อยู่อาศัย และการจัดการทรัพยากรธรรมชาตินั้นคือรากฐานตั้งต้นแห่งความเป็นคนในสังคมประชาธิปไตย และพีมูฟจักเป็นองค์กรนำเปิดศักราชการเคลื่อนไหวในปี 2565 นี้อย่างไม่ยอมจำนน จนกว่าคนจะเท่ากัน จนกว่าประชาชนจะมีอำนาจกำหนดชีวิตตนเอง

แถลงการณ์ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)

เรื่อง พีมูฟทวงสิทธิ สร้างอำนาจกำหนดชีวิตประชาชน

เป็นเวลาเกือบหนึ่งปีภายหลังการชุมนุมครั้งสุดท้ายของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ขณะนั้นพวกเราได้ต่อสู้เรียกร้องจนได้บันทึกข้อตกลงการแก้ไขปัญหารายกระทรวง ที่ดูเหมือนจะเป็นความหวังนำไปสู่การแก้ไขปัญหารายกรณีและเชิงนโยบายที่เรื้อรังมาหลายชั่วอายุในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย

เป็นเวลาเกือบหนึ่งปีที่พวกเราให้โอกาสรัฐบาลชุดนี้ที่นำโดยประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้แก้ไขปัญหาของพวกเราผ่านระบบออนไลน์ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 อย่างไรก็ตามสถานการณ์การละเมิดสิทธิยังคงปรากฏอยู่ทั่วทุกหัวระแหง พวกเรายังคงเผชิญความลำบากยากแค้น ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ในขณะที่รัฐบาลและข้าราชการยังคงใช้ลมปากหลอกลวงหล่อเลี้ยงเราให้อยู่ได้ด้วยความหวังไปวันๆ

สถานการณ์ทางนโยบายยังคงเดินหน้ากดทับ ลดทอนสิทธิอันพึงมีของพวกเราอย่างต่อเนื่อง กฎหมายหลายฉบับกำลังเรียงแถวออกมามีผลบังคับใช้ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องของพวกเราว่าเราไม่ต้องการ ในขณะที่กฎหมายและนโยบายที่พวกเราลงแรงผลักดัน กลับไม่ได้รับการเหลียวแล

จนถึงวันนี้ พวกเรา ขปส. ไม่อาจทนรอให้โอกาสรัฐบาลแก้ไขปัญหาด้วยระบบออนไลน์อีกต่อไป แม้จะต้องฟันฝ่าอุปสรรคหลากหลาย เผชิญความเสี่ยงจากสถานการณ์โรคระบาด เราก็ไม่อาจทนรออยู่ในพื้นที่ได้อีกต่อไปแล้ว เราจึงขอประกาศปักหลักชุมนุม ณ หน้าองค์การสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2565 เป็นต้นไปโดยไม่มีกำหนดกลับ พร้อมแถลงข้อเรียกร้องเชิงนโยบายที่ต้องได้รับความชัดเจนและมีหลักประกันทั้งสิ้น 12 ข้อ ดังนี้

1. ต้องยกระดับการจัดการทรัพยากรที่ดินในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” ให้เป็นหนึ่งในรูปแบบการกำกับดูแลการ บริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินโดยทั่วไป ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) มาตรา 10 (4) และขอให้สำนักงาน คทช. รับพื้นที่โฉนดชุมชน โดยเริ่มจากพื้นที่สมาชิก ขปส. ที่เสนอเป็นพื้นที่การจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชนอยู่แล้ว 193 กรณี 

2. ต้องเร่งออกพระราชกฤษฎีกานิรโทษกรรมคดีความที่เกี่ยวกับปัญหาไม้และที่ดินอันเกิดจากการดำเนินการตามนโยบายรัฐ ทั้งนี้ในระหว่างรอการออกกฎหมายดังกล่าว ขอให้ยุติการดำเนินคดีชาวบ้าน และเยียวยาประชาชนให้ได้รับความธรรมและให้กลับไปทำกินในที่ดินเดิมของตนเองได้ 

3. ต้องแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อทบทวนเนื้อหาของ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562, พ.ร.บ.อุทยาน แห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ให้สอคคล้องกับเจตนารมณ์ของ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และให้ชะลอการเสนอร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ตลอดจนขอให้ยกเลิกมติ

คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เรื่อง พื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัย และทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) เนื่องจากไม่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ 

4. กรณีการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้นำมติคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2543 มาเป็นนโยบายการแก้ปัญหาชุมชนทั้ง 36 จังหวัด 397 ชุมชน 39,848 หลังคาเรือน ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวต้องนำเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศให้เป็นนโยบายแห่งชาติในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่อยู่ในที่ดินของ รฟท. 

5. รัฐบาลต้องผลักดันร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ฉบับที่ร่าง โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) และรัฐบาลต้องสนับสนุน “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครอง สิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ..... ฉบับเข้าชื่อเสนอกฎหมาย 10,000 รายชื่อ เพื่อยกระดับการขับเคลื่อนนโยบายคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยง 

6. ข้อเสนอต่อการปฏิรูปที่ดิน ตามกลไกสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) บจธ. ต้องทบทวน ปรับปรุงคณะกรรมการ บจธ. พัฒนา สร้างนวัตกรรมรูปแบบกรรมสิทธิ์ในการจัดการที่ดินและถือครองที่ดินใหม่รูปแบบ ใหม่ๆ พัฒนาช่องทาง กลไกในเข้าถึง ทั้งการสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย และให้เร่งดำเนินการจัดซื้อที่ดินในพื้นที่ตามแผนงานระยะสองซึ่งเป็นสมาชิกของ ขปส. ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม

7. ต้องนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ชุมชนสมาชิกของ ขปส.ที่อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหา สามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา ทะเบียนบ้าน และปรับปรุงที่อยู่อาศัยได้ 

8. ปรับปรุงองค์ประกอบคณะทำงาน 2 คณะ ได้แก่ คณะทำงานศึกษาร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎร คณะทำงานแก้ไขปัญหาและศึกษาแนวทางการจัดที่ดินทำกินให้กับชุมชนในรูปแบบ โฉนดชุมชนภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และขอให้เร่งรัดจัดการประชุมคณะทำงานฯ ดังกล่าว เป็นกรณีเร่งด่วน

9. ข้อเรียกร้องกลุ่มแม่สอดรักษ์ถิ่น ผลกระทบจากเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จังหวัดตาก ให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงและเยียวยาผลกระทบรายกรณีในทุกมิติ

10. รัฐบาลต้องสั่งการให้มีการแก้ไขปัญหาที่ดินทุกประเภทที่ประชาชนได้รับผลกระทบให้มี แนวทางที่ชัดเจน เช่น ที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ดินรถไฟ ที่ราชพัสดุ ที่ดินในเขตป่า ที่ สปก. และอื่นๆ 

11. แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติ กำกับ ขับเคลื่อนการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและ กะเหรี่ยงตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 และ 3 สิงหาคม 2553 

12. กรณีชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ให้นายกรัฐมนตรีลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย หมู่ที่ 1 ตำบล

ห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยในทุกด้าน ตลอดจนให้ยุติกระบวนการทางคดีของชาวบ้าน 28 คน ชาวบ้านเยาวชน 2 คน และสมาชิกภาคีเซฟบางกลอย 10 คน

ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องทั้งสิ้น 12 ข้อจะต้องได้รับคำตอบที่ชัดเจน และต้องนำเรื่องเข้าสู่การประชุมของคณะรัฐมนตรีให้มีมติเห็นชอบทั้งหมด 

ในการเคลื่อนไหวของ ขปส. ครั้งนี้ พวกเราจะเชื่อมโยงเครือข่ายขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาชนทุกกลุ่ม ให้พื้นที่ปักหลักหน้าองค์การสหประชาชาติเป็นพื้นที่ศูนย์รวมผู้ทุกข์ร้อนและผู้ได้รับผลกระทบจากรัฐบาลเผด็จการ หวังสร้างแนวร่วมการเคลื่อนไหวเพื่อทวงคืนสิทธิความเป็นคนในทุกมิติ

สุดท้ายเราขอยืนยันว่า การกลับมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่ใช่การร้องขอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่รัฐและกลุ่มชนชั้นนำได้สร้างขึ้นมาเพื่อกดทับพวกเราคนจน แต่คือการที่พวกเราในนามประชาชนอันเป็นผู้ทรงสิทธิ์บนผืนแผ่นดินนี้จะกลับมาทวงคืนสิทธิอันพึงมีที่ถูกพรากไป เราจักประกาศให้สังคมตระหนักว่า สิทธิในที่ดิน ที่อยู่อาศัย และการจัดการทรัพยากรธรรมชาตินั้นคือรากฐานตั้งต้นแห่งความเป็นคนในสังคมประชาธิปไตย และพวกเราจักเป็นองค์กรนำเปิดศักราชการเคลื่อนไหวในปี 2565 นี้อย่างไม่ยอมจำนน จนกว่าคนจะเท่ากัน จนกว่าประชาชนจะมีอำนาจกำหนดชีวิตตนเอง

ข่าว [1]
การเมือง [2]
สิทธิมนุษยชน [3]
สิ่งแวดล้อม [4]
พีมูฟ [5]
ยูเอ็น [6]
ที่ดินการรถไฟ [7]
สิทธิชุมชน [8]
พ.ร.บ.ป่าไม้ [9]
พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ป่า [10]
พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ [11]
บางกลอย [12]
ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

Source URL: https://prachatai.com/journal/2022/01/96878?ref=internal_relate

Links
[1] https://prachatai.com/category/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7
[2] https://prachatai.com/category/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87
[3] https://prachatai.com/category/%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99
[4] https://prachatai.com/category/%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1
[5] https://prachatai.com/category/%E0%B8%9E%E0%B8%B5%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B8%9F
[6] https://prachatai.com/category/%E0%B8%A2%E0%B8%B9%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B9%87%E0%B8%99
[7] https://prachatai.com/category/%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%96%E0%B9%84%E0%B8%9F
[8] https://prachatai.com/category/%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%99
[9] https://prachatai.com/category/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%89
[10] https://prachatai.com/category/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B9%8C%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2
[11] https://prachatai.com/category/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4-0
[12] https://prachatai.com/category/%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%A2